2 พ.ย. 2020 เวลา 05:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนในกองทุน หรือ หุ้นทั่วโลกต่างได้หวาดผวากันอีกครั้ง
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในฟากฝั่งยุโรป จนส่งผลให้ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอย่างเยอรมนี และ ฝรั่งเศสประกาศปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอีกครั้ง
ซึ่งทางเยอรมนีนั้นระบุเพิ่มเติมด้วยว่า หากจำเป็นก็จะใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นต่ไปในอนาคต
จังหวะช่างพอเหมาะพอดี เมื่อวันพฤหัส ถึงคิวแถลงการณ์ของนางคสินตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปคนล่าสุด (ECB) ที่ออกมาแถลงการณ์ในเชิงที่ว่า
กำลงพิจารณาที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมเดือนธันวาคมที่กำลังจะมาถึง ก่อให้เกิดความคาดหวังต่างๆ นานา ว่า ECB จะทำอะไรได้บ้าง มาวันนี้เราจึงเรียบเรียงจากสำนักข่าว CNBC มาให้ว่านักวิเคราะห์มองอย่างไร
เริ่มต้นกันที่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้
ซึ่งเดิมทีในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ECB ได้ปล่อยมาตรการที่เรียกว่า TLTRO (Targeted Longer-Term Refinancing Operations) ออกมาเพิ่มเคิม ซึ่งเป็นเงินกู้ที่ให้สถาบันการเงินกู้ไปปล่อยสินเชื่ออีกต่อหนึ่ง
โดยมีเงื่อนไขคือ หากยิ่งปล่อยสินเชื่อมาก จะยิ่งได้อัตราดอกเบี้ยถูกลง เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารนำไปปล่อยสินเชื่อต่อในระบบ ให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้น
ถามว่าถูกแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดของ TLTRO ชุดนั้นระบุเอาไว้ว่า ต่ำที่สุดได้ถึง -1.0% ต่อปีเลยทีเดียว
ครั้งนี้นักวิะเคราะห์คาดว่า ECB น่าจะต่อมาตรการดังกล่าวออกไป พร้อมกับเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถนำหนี้เดิมมารีไฟแนนซ์เพิ่มได้ เพื่อทำให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมถูกลง และสามารถปล่อยกู้เพิ่มเติมได้อีก
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลาง 1 ในมาตรการที่มักพ่วงมาด้วยเสมอก็คือ การเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาล
เพื่อเสริมสภาพคล่องของตลาด และกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น ประหยัดต้นทุนทางการเงินไปได้อีกมาก
โดยเดิมทีนั้น ECB มีการใช้มาตรการดังกล่าวอยู่แล้ว และเพิ่มมาตรการพิเศษขึ้นมาในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เรียกว่า Pandemic Emergency Purchase Programme หรือ PEPP จำนวนรวมกว่า 1.35 ล้านล้านยูโร ซึ่งมีกำหนดครบมาตรการในช่วง มิถุนายน 2021 นี้
ในครั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB จะเพิ่มขนาดอีกกว่า 150,000 ล้านยูโร และขยายระยะเวลาออกไปจนถึงสิ้นสุดปี 2021 แทน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสภาพคล่องจะเหลือเฟือมากพอในระบบ และสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและภาคธุรกิจ
มาถึงประเด็นสุดท้าย อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อย่างที่ทราบกัน ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของยุโรปนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยติดดินอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility Rate) ที่อยู่ที่ระดับ -0.50% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอยู่ในแดนติดลบมาตั้งแต่ 2014 เป็นต้นมา
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่เหลืออย่าง Main refinancing operations และ Marginal lending facility ก็อยู่ที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.0% และ 0.25% ตามลำดับ
ซึ่งเดิมทีนั้นนักวิเคราะห์มองว่าโอกาสที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอีกจะทำได้ยาก เพราะมีผลที่ตามมาอีกมาก อีกทั้งจะทำให้กระสุนในมือของ ECB ที่เหลือน้อยอยู่แล้วนั้น ลดลงไปอีก
แต่ในครั้งนี้ ด้วยสัญญาณจากประธาน ECB เอง สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
อาจเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ ECB เริ่มพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และกลายเป็นมาตรการลดดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรส์ก็เป็นได้
สิ่งสำคัญก็คือ หากนักวิเคราะห์มองเช่นนี้แล้ว แล้วตลาดมองอย่างนี้ด้วยหรือไม่ หรือมาตรการต่างๆ ที่อาจจะเข็นออกมานั้น มากพอหรือเปล่า น่าจะเป็นจุดสำคัญที่สุด แล้วตลาดจะตอบรับอย่างไร ไม่เกินปลายปีนี้คงได้รู้กัน...
Source : CNBC
#แอดลุง #AKN_Blog
โฆษณา