9 ม.ค. 2021 เวลา 02:09 • ท่องเที่ยว
ช๑๐๙_วัดข่วงกอม เมืองปาน
อดีตอนาคตของล้านนา
.....เพื่อนเจ้าถิ่นคนเมืองลำปาง พาเพื่อนกลุ่มใหญ่ไปทำกิจกรรมอนุรักษ์น้ำที่ม่อนพระยาแช่ คืนนั้นเราเข้าไปนอนที่วนอุทยานแจ้ซ้อนขากลับออกมาผ่านอำเภอเมืองปานแวะไหว้พระที่วัดแห่งหนึ่ง รูปพรรณสัณฐานจากรูปแบบเป็นวัดเก่าแต่จัดทำใหม่ สีไม้สักที่ใช้ในงานเช่นเสาและการตกแต่งยังใสสด วิหารทำอยู่บนที่ถมสูงเกือบจะเป็นม่อนหรือเนินเขา หน้าวัดมีกำแพงก่อก้อนหินเปลือยเป็นก้อนใหญ่ๆ มีระเบียงคตรอบรูปทรงเป็นตัวยูจังหวะคล้ายวัดต้นเกว๋นที่เชียงใหม่ แต่ป้ายด้านหน้าเป็นป้ายเก่าชื่อวัดคือวัดข่วงกอม
.......คำว่าข่วงแปลว่าลานกว้าง ในภาษาเหนือหมายถึงมีลานอยู่(ด้านหน้า)ของวัดนี้ ส่วนคำว่ากอมไม่ทราบเหมือนกันอาจจะเป็นศัพท์ชื่อเฉพาะ แต่นึกถึงลัวะอ้ายก้อมตะหงิดๆ เปิดดูน่าจะเป็นชื่อพรรณไม้ ได้ความที่รู้สึกแปลกเพราะเป็นวัดทำใหม่สร้างใหม่แต่คงลักษณะวัดแบบโบราณไว้ ที่สำคัญคือการจัดทำและฝีมืออยู่ในลักษณะที่ประณีต มีการประยุกต์การใช้วัสดุรุ่นใหม่(ปัจจุบัน) มาใช้ในหลายรายละเอียด ใช้ขนบวิธีการนำเสนอหรือผังแม่บทของวัดโบราณมาทั้งหมดทำให้ภาพรวมของงานดูมีระบบระเบียบ เมื่อกลับมากรุงเทพฯเลยลองค้นประวัติวัดท่านดู
ระเบียงคตรูปตัวยูดูจะรับแนวความคิดของที่ต้นเกว๋นมาพอสมควร
.......ผมคงไม่เล่าอย่างจับลึกลงไปในรายละเอียดด้วยปัจจุบันคนอ่านอาจใช้ระบบค้นก็ทราบเรื่องได้ออกมาทันใจ โดยสรุปย่อว่าเป็นวัดเก่าแก่มาร่วม200ปีสร้างโดยครูบาศรีวิชัย ผ่านมาจนสภาพทรุดโทรมมากเกินกว่าจะซ่อมแซม เลยต้องสร้างขึ้นมาใหม่ โดยชุมชนชาวเมืองปานเองและสถาปนิกนอกพื้นที่ การร่วมแรงร่วมใจทำให้ภาพของวัดล้วนเป็นมิตรต่อชุมชน สิ่งที่น่าสนใจในสายตาของคนผ่านทางก็คือการสืบทอดของงานช่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของจารีตเราจะใช้คำว่าอะไรดีอีกล่ะหรือคำว่าขนบ ของการจัดทำวัดของล้านนาในยุคสมัยปัจจุบันโดยการสร้างใหม่ให้มีชีวิต สมยุคสมเวลาของล้านนา อย่างที่ล้านนาควรจะมีชีวิตจริงจริง จากการสืบต่อของสกุลช่างของตนๆ หลายเรื่องหลายบทเราอาจจะต้องพิจารณาอย่างยาวว่าด้วยคำว่าล้านนาคืออะไรและล้านนาที่ว่านั้นอยู่ในช่วงเวลาไหนของยุคสมัย
เจดีย์เหลี่ยมเป็นเจดีย์ที่มาจากความคิดของยุคสมัยหริภุญไชยต่อเนื่องไปถึงเงินยางเชียงแสน
๏๑.อินแปงเหยาะหยดฟ้า ลงดิน
เพรงพระเจ้าอมรกฏ เสกคว้า
รอยรูปราวเยิรยิน สุวรรณ โคมคำ
สรีสุดพุทธสาดท้า แทกสวรรค์ ฯ
๏๒.แสงจับประติมาเร้น ลอดลาย
ตื่นใจตกจากฝัน กี่แย้ง
มิดมนมืดม้างหมาย ผกผัน
ลิบส่ำแสงจุ่งแจ้ง ต่อฝัน ฯ
๏๓.วันที่เราจักก้าว สืบเสริม
ผีปู่ผีย่าดัน เดินดั้น
ยุคสมัยกระแสเหิม เหิมกระแส
ทางแห่งคนก่อนคั้น เคี่ยวเคียง ฯ
๏๔.กลับมาเกิดใหม่แล้ว สล่าเมือง
กลับมาสง่าเวียง สรีเค้า
หลอมรากรวมเร่งเรือง ต่อเหง้า
หยดน้อยหยาดร่วมเร้า ชเลโต ฯ
๏๕. จึ่งหวังอารยธรรมหั้น ส่งต่อ
จึงหวังหยั่งรากโพธิ์ คืนแก้ว
สานประเวณีล้อ เก่าก่อน
ตาหลับต่อเหง้าแล้ว สมานสมัย ๚ะ
......เราคงจะเลือกหยิบตอนใดตอนหนึ่งในอารยธรรมล้านนามาเป็นที่ตั้งก็ได้และไม่ได้ด้วยเช่นกัน แต่ละยุคของล้านนาต่างมีสีสันของตัวมันเอง ประวัติศาสตร์ต่างมีกรอบเวลาในแต่ละช่วงขณะหนึ่งแม้แต่ก่อนที่พระนางจามเทวีเข้ามาตั้งอาณาจักรหริภุญไชยในดินแดนนี้ล้านนาก็มีช่วงเวลาของตนเอง มีช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์หลายสมัย โดยเฉพาะช่วงเวลาของตำนานสิงหนวัตตำนานลวจักราชหรือเรื่องราวของแคว้นโยนก ที่พวกเรายังไม่กระจ่างและต้องตีความไปอีกนาน ตราบมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน สมัยผมเด็กๆที่เห็นแทบจะไม่มีคนเขียนอักษรล้านนาได้เลย ถ้าจะมีก็มีอยู่เป็นจำนวนน้อยมากหรืออยู่ในวัดวาอารามเท่านั้น กระแสดูราวจะมาเมื่อสักยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมานี่เอง ตอนนี้คนเหนือเขียนอักษรล้านนาได้มากทีเดียวและพยายามเอามาใช้จริงในเรื่องทุกเรื่องในพื้นที่ การใช้ภาษาถิ่นในกลุ่มก็ดูจะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกันและอย่างภูมิใจ สมัยก่อนนี่คนใช้ภาษาถิ่นดูจะเขินอายถ้ามีคนต่างพื้นที่เข้าไป เมื่อเข้ารายละเอียดก็มีการฟื้นฟูกระแสวัฒนธรรมขึ้นมาอย่างน่าสนใจ การเติบโตของวิถีคิดนี้อาจจะเป็นปฎิกริยาของสังคม แม้ถ้าเป็นก็เป็นปฎิกริยาที่ดีแม้หลายเรื่องจะไม่ได้หล่นจากต้นของมันเอง เราคงไม่ค่อยได้พูดกันถึงประวัติศาสตร์ของล้านนาจริงจริงในมุมของล้านนาเอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รัตนะกลืนกินนั้นมันมีรสขมในมุมมองของชาวล้านนา ไม่เพียงแต่เท่านั้น การกลืนกินของรัตนะกับเรื่องวัฒนธรรม ศาสนาและสถาปัตยกรรม ก็มีรสชาติที่ไม่ต่างกันนัก
พระเจ้าในกู่ไม้เป็นพระแก้วมรกต พระเจ้าอินแป๋งหรืออินทร์แปลง
......เกือบสามสิบปีที่แล้วผมทำงานออกแบบอาคารอยู่เชียงใหม่เชียงรายในช่วงเวลาสั้นๆช่วงหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อสักห้าปีที่ผ่านมาก็มาหวนรำลึกและมาเดินท่อมๆอยู่ในกรอบเมืองเชียงใหม่ แม้จะไปมาอยู่เป็นประจำแต่ก็ไปมัวไปทำธุระเรื่องอื่นหมด หนนี้นอนปักหลักอยู่ที่โรงแรมที่แจ่งสรีภูมิ เพื่อดูวัดให้ได้ทุกวัดในกรอบเมืองและในคติของทักษาเมืองโดยไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น ช่วงเวลานั้นเห็นวัดที่สร้างใหม่ในลักษณะนี้คือวัดโมฬีโลก วัดปราสาท และแม้แต่วัดต้นเกว๋น การมาพบวัดข่วงกอมนี้ หลังจากนั้นไม่นานจึงเห็นการต่อเนื่องของช่วงเวลา เห็นการกระตุ้นเตือนของจิตวิญญาณแห่งล้านนา กระทั่งยังมีสายของครูบาศรีวิชัยที่สร้างวัดที่เมืองปานนี้ในอดีต เป็นธงชัยของศาสนาในพื้นที่มาต่อเป็นภาพใหญ่ด้วย ในงานสถาปัตยกรรมมีการกลับมาของวัฒนธรรมเดิมซึ่งอาจจะไม่เหมือนเดิมหรือมีการพัฒนาออกไปให้สมกับสิ่งแวดล้อมที่ต่างเวลากัน การถูกกระตุ้นในอีกสมัยหนึ่งหรือเป็นกระแสทั้งในเรื่องต่างๆ เช่นวัฒนธรรมศิลปะหรือบทความบทกวีและวิธีคิดของผู้คนด้วย ในศัพท์ฝรั่งที่เขาใช้คือคำว่า POST Post บางทีก็ชัดเจนหรือไม่ชัดเจน Post Roman Post Modern โพสต์สุโขทัยอันหลังนี้ผมตั้งเอง อันหมายถึงงานสถาปัตยกรรมในอยุธยาหลังพระมหาธรรมราชาและพระนเรศลงมา ด้วยสายของราชวงศ์สุโขทัยเข้ามาเป็นกษัตริย์ในอยุธยา พื้นของสถาปัตยกรรมก็เปลี่ยนแปรไปตามผู้ปกครองในช่วงเวลานั้นๆ หรืออาจหมายถึงการตีความในรุ่นจอมพลแปลกฯหรือหลวงวิจิตรฯว่า สุโขทัยคือราชธานีแรกของคนไทย กรุงเทพในยุคหนึ่งรุ่นท่านจอมพลคนที่2หรือไม่ผมจำไม่ได้เหมือนกัน ที่กรมศิลป์มีการทำแบบมาตราฐานของโบสถ์วิหารในยุคต่อมาดูจะมีเลือกกันอยู่สองสามแบบ ที่จะให้วัดทั่วประเทศใช้เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นประเทศไทย และทฤษฎีนี้ทำให้การพัฒนาสถาปัตยกรรมประเพณีพื้นถิ่นของแต่ละภาคต้องลดบทบาทลง จนแม้แต่สถาปัตยกรรมในภาคกลางเอง ก็แทบหยุดนิ่งกับการพัฒนาหรือการเติบโตไปอย่างที่ผมเคยบ่นให้ฟังบ่อยๆว่า มันน่าแปลกที่วัดรุ่นใหม่ๆ ทำไมทำแล้วสวยงามสู้วัดในอดีตแทบไม่ได้เลย ทั้งที่เรามีเทคโนโลยี่ เรา(เหมือนมี)วิชาการใหม่ๆก้าวหน้ามากมายกว่าในอดีตอย่างที่พวกเราชอบคุยกัน เราอาจจะขาดแรงงานระดับฝีมืออย่างอดีต แต่นั่นเราก็อาจแก้ปัญหาได้ในหลายกรณีสำคัญที่ว่าสกุลช่างของเราลดการพัฒนาสืบต่อลง เราขาดสถาปนิกหรือวิศวกรหรือเปล่าเราไม่ได้ขาดหรอกแต่คนพวกนั้นล้วนไปทำอย่างอื่นกันหมด ตามกระแสของโลกสมัยใหม่ หลายเรื่องที่เราย่ำรอยเท้าของเราอยู่กับที่หยุดการพัฒนาสืบต่อ ถ้าเข้ารายละเอียดลึกลงไป เช่นว่างานสถาปัตยกรรมไทย(รัตนะ)นั้นสิ้นสุดเอาในยุคร.4-ร.5 ก็คงมีคนชวนถกเถียงกันอยู่อีกนาน หรืองานวิหารในวัดหลวงหลายแห่งกลางเมืองเชียงใหม่ ที่สร้างกันใหญ่โตบนความใหญ่โตนั้นล้วนเป็นอิทธิพลจากกรุงเทพฯ ที่กระทบรูปแบบและยัดเยียดความคิดอย่างกรุงเทพฯเข้าไปในช่วงเวลานั้นนั้น อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์ล้วนมีเวลาของตน แม้แต่ในยุคปัจจุบันที่คนเขียนชอบบ่นว่า วัดในปัจจุบันไม่สวย ความเป็นปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลาของตนๆ ที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ต่อเนื่องไปในอนาคต
........วัดเล็กๆหลังหนึ่งในที่ห่างไกลถึงแจ้ซ้อน เมืองปาน จากศรัทธาของชุมชน เป็นตัวต่อเล็กๆตัวหนึ่งในหลายๆตัวที่ทำให้ผมรู้สึกมีกำลังใจว่าคนรุ่นใหม่ เดี๋ยวนี้ก็ทำวัดได้สวยงามและไม่เพียงสวยงามอย่างเดียวยังอยู่ในกรอบของวิธีการ ในกรอบของที่มาที่ไปก็สามารถกอดเอา จิตวิญญาณ ของวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตน ก็ทำได้อย่างไม่อายวัดเก่าๆทรงคุณค่าสมัยโบราณ ตัวต่อเล็กๆพวกนี้เป็นพลังทำให้งานแห่งยุคสมัยมีการสืบต่ออย่างมีเหง้า ที่อาจทำให้เกิดการอภิวัติยุคสมัยต่อมาในรุ่นเราหรือรุ่นลูกที่ไม่ไกลจากนี้ จนอาจสามารถสร้างสกุลช่างศิลปะของตนเองในเวลาปัจจุบันต่อไป ในอนาคตอันใกล้นี้ได้
โคลงชมวัด
ทางแก้ว
๒๕๕๙~๒๕๖๔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา