3 พ.ย. 2020 เวลา 12:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
IKEA effect 🤗
ภาวะที่เรารักสิ่งที่เราลงแรงไปมากขึ้น
1
☝️☝️☝️
มีใครเป็นแบบนี้ไหมครับ
ซื้อเฟอร์นิเจอร์ IKEA มาต่อ
แต่ด้วยความที่ไม่ชำนาญมากนัก
เมื่อประกอบเสร็จเฟอร์นิเจอร์ ออกมาเบี้ยวเล็กน้อย ตั้งแล้วเอียงหน่อยๆ
แต่เรารู้สึกรักและผูกพันกับเฟอร์นิเจอร์ตัวนั้นมากเป็นพิเศษ
เรารู้สึกรักและผูกพันกว่า เฟอร์นิเจอร์ที่สวยกว่า แพงกว่า เสียด้วยซ้ำ
ถ้าเคยเป็นนะครับ คุณได้รู้จักกับ IKEA effect แล้วครับ
ปรากฎการณ์นี้ได้ชื่อว่า IKEA effect เพราะผู้ที่นำปรากฎการณ์นี้มาทำงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์มีภาวะนี้จริง สามคนคือ Michael I. Norton, Daniel Mochon และ Dan Ariely ทดลองกับเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA
โดยพวกเขาพบว่า ผู้บริโภคจะให้คุณค่ามากเป็นพิเศษ กับสินค้าอะไรก็ตามที่พวกเขาได้ลงแรงในการผลิตด้วย แม้ว่าการลงแรงนั้นจะเล็กน้อยก็ตาม
จริงๆแล้วปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เพิ่งจะรู้กัน แต่นักการตลาดได้พูดถึงกันมาเป็นเวลานานแล้ว (เพียงแต่ไม่ได้นำมาทดลองและจัดกลุ่มเพื่อเข้าในปรากฎการณ์ร่วมไปกับ bias อื่นๆ)
ตัวอย่างคลาสสิคที่ถูกเขียนถึงมานานตั้งแต่ห้าสิบกว่าปีที่แล้ว คือกรณีของ แป้งทำขนมเค้กที่พบว่า ถ้ามีแป้งทำขนมสองแบบให้เลือก
🍰 แบบแรกคือ ใส่ส่วนผสมที่จำเป็นมาให้ครบทั้งหมดรวมไปถึงไข่ไก่แห้ง
🍰 แบบที่สองคือ เป็นแป้งที่เวลาทำต้องตอกไข่ไก่สดเพิ่มเข้าไป
ปรากฎว่า แม่บ้านชอบแป้งแบบที่ต้องตอกไข่เพิ่มลงไปมากกว่า เพราะแม้ว่าจะยุ่งยากเพิ่มขึ้น แต่ช่วยให้รู้สึกว่ามีการลงแรงมากกว่าและรู้สึกว่าเป็นผลงานของตัวเองมากกว่า
แต่ IKEA effect มันก็มีจุดอ่อนของมันอยู่ เช่น ถ้าการต้องลงแรงเพิ่มนั้น มันยากเกินไป จนทำให้ผลงานเราออกมาแย่มาก หรือไม่สำเร็จ ผลจะตรงข้ามทันที คือ เราจะรู้สึกเกลียดของสิ่งนั้น (รวมไปถึงเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้น) มากขึ้น
1
🤔 คำถามต่อไปคือ แล้ว IKEA effect บอกอะไรกับเราบ้าง ?
คำตอบคือ เยอะแยะมากครับ ขึ้นกับบริบทต่างๆเลย
อย่างแรกสุด มองในระดับของบุคคล ถ้าเราเข้าใจจิตวิทยาข้อนี้ มันอาจจะช่วยให้เรามีความสุขขึ้นได้
โดยทั่วไป ถ้าคิดแบบด้วยตรรกะ เราอาจจะมองว่า ถ้าเราจ่ายเงินเพื่อซื้ออะไปแล้ว การไม่ต้องลงมือทำอะไร อาจจะเป็นสิ่งที่คุ้มที่สุด ได้รับบริการดีที่สุด หรือ การจ่ายเงินเพื่อซื้อของมันสะดวกกว่าการต้องลงมือทำเอง
6
แต่จาก IKEA effect เราจะเห็นว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
2
การที่เราลงมือผลิต ออกแบบ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราใช้ประจำ แนว DIY บ้าง หรือเรียนรู้ที่จะซ่อม ตกแต่ง สิ่งต่างๆในบ้าน
แม้ว่าฝีมือเราอาจจะไม่ดีนัก ทำให้ไม่สวยเท่าการไปซื้อมา หรือเสียเวลาในการทำมากกว่าไปจ้างคนอื่นมาทำ พูดง่ายๆคือ เสียเวลาก็เยอะ งานก็ออกมาไม่ดีนัก
แต่มันอาจจะทำให้เราภูมิใจและรักของสิ่งนั้นมากกว่า การที่เราจ่ายเงินเพื่อให้ได้มันมาและเมื่อเรารายล้อมรอบตัวเราด้วยสิ่งที่เรารัก สิ่งที่มีเรื่องราว หรือมีความหมายกับเรามากกว่า มันอาจจะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นได้
1
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราทำมากับมือ เราผูกพันเป็นพิเศษ เราก็มีแนวโน้มจะงานสิ่งนั้นนานขึ้น เช่น รถหรือจักรยานที่เราแต่งมากับมือ บ้านที่เราทาสีผนังเองหรือวาดภาพบนผนังเอง เราก็จะผูกพันกับมันมากขึ้น อยากจะใช้งานสิ่งนั้นให้นานขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยทำให้เราประหยัดจากการ อยากเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้บ่อยๆ
ในมุมของ คนที่ผลิตสินค้าเพื่อขาย ถ้าเราสามารถทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้น อาจจะไม่ต้องถึงกับประกอบเอง เช่น ให้ลูกค้าได้มีส่วนในการออกแบบบ้าง หรือ มีออปชั่นให้เลือกส่วนประกอบของ คือให้รู้สึกว่าต้องลงแรงหรือใช้ความคิดบ้าง
2
ผลที่ได้จะเหมือนสองเด้ง เพราะนอกจากลูกค้าจะรู้สึกว่าได้สินค้าที่ จำเพาะหรือ unique และ ออกแบบมาให้เหมาะกับเขาแล้ว ลูกค้าก็มีแนวโน้มจะรักสินค้านั้นมากขึ้น และยอมจ่ายแพงขึ้นอีกหน่อย
แต่ก็ต้องระวังครับ เพราะส่วนที่ให้ลูกค้าทำเองจะต้องง่าย ทำได้อย่างลื่นไหล เพราะถ้าการต้องลงแรงนั้น กลายเป็นเรื่องยาก รู้สึกไม่สะดวก และใช้เวลานานมากเกินไป ผลจะออกมาตรงข้ามทันที
1
แล้วถ้ามองในระดับที่ใหญ่ขึ้น คือ ระดับของชุมชน จังหวัด หรือประเทศ คือมองในระดับนโยบายของรัฐต่างๆ ก็จะเข้าใจได้มากขึ้นว่าทำไมการให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมจึงมีความสำคัญ
เพราะถ้าเป็นโครงการที่รัฐกำหนดมาโดยคนในชุมชนไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง คนในชุมชนจะไม่สนใจสิ่งนั้นมากนัก
แต่ถ้าเป็นโครงการที่ชุมชนผลักดันกันขึ้นมาเอง รณรงค์กันมาเอง มีส่วนร่วมในการคิด การวางแผน คนในชุมชนก็มีแนวโน้มจะรัก หวนแหนและดูแลพัฒนาโครงการนั้นไปนานๆ ด้วยความภูมิใจ
ตอนที่ IKEA เอง เปลี่ยนจากการขายเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องประกอบเอง เป้าหมายหลักตอนแรกก็แค่เพื่อการลดต้นทุน แต่กลับพบปรากฎการณ์ที่คาดไม่ถึงนี้เป็นของแถม ทำให้ลูกค้ารักและอยากที่จะได้ผลิตภัณฑ์ของ IKEA ชิ้นอื่นๆ มากขึ้น
จะเห็นว่าหลายครั้งทฤษฎีทางจิตวิทยา มันก็เริ่มต้นมาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆตัว มีคนเห็นผ่านไปผ่านมา แค่อาจจะไม่ได้เพ่งดูให้ชัด แต่เมื่อเรานำสิ่งที่เห็นเหล่านี้มาศึกษาวิเคราะห์ดูให้ชัดขึ้น มันอาจจะกลายเป็นทฤษฎีที่น่าสนใจ ซึ่งนำไปปรับใช้ในบริบทต่างๆ ได้มากมาย
4
ถ้าท่านใดมีตัวอย่างในชีวิตจริง หรือประสบการณ์จริง ในรูปแบบหรือบริบทอื่นๆ ช่วยแชร์ให้ฟังในคอมเมนต์กันหน่อยนะครับ เพื่อนๆ จะได้เห็นรูปแบบอื่นๆที่หลากหลายมากขึ้น
อ้อ แล้วถ้าใครชอบเรื่องราวเกี่ยวกับ สมอง จิตวิทยา หรือวิธีคิดแบบนี้นะครับ ผมก็อยากจะขอแนะนำ หนังสือ 500 ล้านปีของความรัก ที่ผมเขียนเอง
สามารถเข้าไปเลือกซื้อได้ที่ลิงก์นี้เลยครับ
โฆษณา