3 พ.ย. 2020 เวลา 09:42 • ธุรกิจ
CIMBT ชู ‘ทรัมป์’ ชนะเลือกตั้ง ‘ไทย’ ได้ประโยชน์ ชี้โจทย์ใหญ่ ‘จีน’ จ่อขึ้นที่ 1 ของโลก
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 นี้ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ประเมินว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยมากกว่านโยบายของไบเดน แต่จากนโยบายของผู้ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีทั้งผลบวกและลบต่อไทยที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้หากทรัมป์ชนะ น่าจะเป็นผลบวกต่อไทย ได้แก่
สงครามการค้าใกล้จะสิ้นสุดลง
นโยบายของทรัมป์ส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐาน และทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลบวก เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ
เมื่อไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานกับจีน จึงยังต้องสานต่อ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership: ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคคือ อาเซียน+6 (ไม่รวมอินเดีย)
2
ขณะที่ผลเสียหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ได้แก่ แม้ว่าสงครามการค้าใกล้จะสิ้นสุดลง แต่ยังมีความกังวลว่าจะเปลี่ยนกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น
ขณะเดียวกันหากจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปที่สหรัฐฯ อาจนำสินค้าเหล่านั้นมาทุ่มตลาด หรือดัมพ์ราคาที่ไทย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ฯลฯ
ขณะที่หากไบเดนชนะ นโยบายยังมุ่งเน้นการขยายตัวของสหรัฐฯ จากภายใน โดยจะส่งผลบวกต่อไทยในกรณีที่ไทยเข้าร่วม CPTPP ได้แก่ การย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่ไทย หรือสินค้าที่ได้ผลดี เช่น ยางพารา ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง
1
อย่างไรก็ตาม หากไบเดนชนะ การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลง
3
ขณะที่กรณี CPTPP ไบเดนยังไม่ได้มีนโยบายชัดเจนว่าจะกลับมาเข้าร่วม และหากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP จะไม่ได้ประโยชน์จากย้ายฐานการผลิต โดยไทยยังต้องเดินหน้าสัมพันธ์การค้ากับจีนผ่าน RCEP
2
“คำถามที่ว่าไทยควรเข้าร่วมไหม CPTPP ทางทฤษฎีประเทศที่เข้าร่วมมีทั้งผลบวกและผลลบ แต่อยู่ที่ว่าจะมีการชดเชยจากประเทศที่ได้ประโยชน์ให้ประเทศที่เสียประโยชน์อย่างไร ดังนั้นถ้าเข้าร่วม CPTPP ในสมัยไบเดนอาจจะเร่งการลงทุนมากขึ้น”
1
ขณะที่สถานการณ์การเลือกตั้งในระยะสั้น (ตอนนี้ถึงปลายปี) ความไม่แน่นอนจะสูง ส่วนหนึ่ง เพราะผลการเลือกตั้งอาจใช้เวลากว่าจะสรุปผลทางไปรษณีย์ด้วย ดังนั้นอาจจะเห็นการขายหรือเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐได้ ขณะที่ต้นปีถึงกลางปี 2564 มองว่าค่าเงินบาทจะกลับสู่ทิศทางแข็งค่า เพราะมีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลง
ทั้งนี้หากไบเดนชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจจะลดลงต่ำกว่า 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินทุนเคลื่อนย้ายและการเกินดุลบัญชีการค้าของไทยจากการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยุ่ที่ 6 ล้านคน โดยจะเข้ามาช่วงกลางปีหน้าหากมีวัคซีน
1
ขณะที่หากทรัมป์ชนะ เมื่อนโยบายเน้นการสร้างงานในประเทศคาดว่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอยู่ราว 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2564
2
อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่อาจจะส่งผลต่อประเทศไทยในอนาคตคือ ในปี 2573 ทางซีไอเอ็มบีไทยคาดว่าจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และกลายเป็นผู้นำโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ไป ข้อมูลจาก IMF ระบุว่า ปี 2559 จีนมีมูลค่า GDP คิดเป็นสัดส่วน 60% GDP สหรัฐฯ และปี 2563 เพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 73% และภายใน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีสัดส่วน GDP เพิ่มเป็น 90% ของ GDP สหรัฐฯ
1
ดังนั้นจะเห็นว่านโยบายของสหรัฐฯ ผ่านผู้นำทั้งสองคนจะเน้นเรื่องชาตินิยมเพื่อรั้งให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกนานที่สุด โดยจะมีนโยบายต่างๆ เพื่อให้จีนต้องดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยไม่ไ้ดมีนโยบายผู้นำโลกการค้าเสรีเหมือนในอดีต
และในอนาคตเมื่อจีนขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก ย่อมมีอำนาจในการซื้อ การบริโภคมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือ รายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศ โดยแม้ว่าจีนจะขึ้นเป็นที่ 1 ของโลกด้านเศรษฐกิจ แต่คาดว่ารายได้ต่อหัวของจีนคิดเป็น 15% ของรายได้ต่อหัวของสหรัฐฯ ดังนั้นกำลังซื้อของคนยังไม่มาก
ทั้งนี้มองว่านโยบายหลักของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ควรมุ่งเน้นที่ ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’​ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถขยายเศรษฐกิจในหลายทาง แต่โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันคือการย้ายฐานการผลิต การลงทุนในประเทศ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจไทยที่ถือว่ายังอ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2563 GDP ไทยจะหดตัว 7.5% จากปีก่อน โดยคาดว่าไตรมาส 3/63 GDP จะติดลบ 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวติดลบน้อยกว่าไตรมาส 2/63 ที่ติดลบราว 12% แต่ยังมีความกังวลว่าไตรมาส 4/63 การฟื้นตัวยังไม่ต่อเนื่องในรูปแบบไตรมาสต่อไตรมาส
1
ทั้งนี้คาดว่าไตรมาส 4/63 เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวชะลอลง อาจจะติดลบ 8-9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือติดลบ 0.5-0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพราะการส่งออกชะลอตัวตามการล็อกดาวน์ในต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในไทย เช่น การบริโภคในประเทศอาจฟื้นไม่ได้ต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นที่กระทบดับการลงทุนและบริโภค ขณะเดียวกันแรงกระตุ้นนโยบายรัฐอาจยังไม่มากพอที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นและเพิ่มการบริโภค
2
อย่างไรก็ตามมองว่า ปี 2564 GDP ไทยจะขยายตัวที่ 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
เรื่อง: ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์
โฆษณา