6 พ.ย. 2020 เวลา 10:18 • ประวัติศาสตร์
ถอดรหัสตำราสร้างพระพุทธรูปของโบราณ (ตอนที่ 1 พระพุทธรูปยืน)
เคยสังเกตไหมว่าทำไมประติมากรรมอย่างพระพุทธรูปหรือเทวรูปสมัยโบราณที่พบในประเทศไทย จึงมีสัดส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก ทั้งที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะที่สมจริงอิงกับหลักกายวิภาคของมนุษย์ นั่นเป็นเพราะว่าประติมากรรมเหล่านี้ได้รับการกำหนดสัดส่วนให้เป็นมาตรฐานหรือแบบอย่างในการสร้างมาแล้ว
การศึกษาสัดส่วนของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมเหล่านี้อยู่ในขอบข่ายของการศึกษา "ประติมานมิติวิทยา" (iconometry) การศึกษาแนวนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในการศึกษาศิลปะตะวันตกหรือศิลปะของเอเชีย ต่างจากบ้านเราที่ยังมีการศึกษาไม่มากนัก ประติมานมิติวิทยาเป็นการทำความเข้าใจระเบียบแบบแผนของขนาดและสัดส่วนที่ปรากฏครอบคลุมกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรร หรือสถาปัตยกรรม เพื่อเป็นแนวทางให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานตามสัดส่วนที่บรมครูได้เคยกำหนดไว้แล้ว
สัดส่วนเหล่านี้บางครั้งได้บันทึกไว้เป็นตำราหรือคัมภีร์ให้เป็นมาตรฐานด้วย
ตัวอย่างเช่นการกำหนดสัดส่วนของสถาปัตยกรรมโรมัน ในหนังสือ De architectura (On architecture) ของ Marcus Vitruvius Pollio หรือการกำหนดสัดส่วนของเทวรูปในคัมภีร์ศิลปศาสตร์ของอินเดีย
สำหรับตำราประติมานมิติของไทยพบว่ามีตำราสร้างพระพุทธรูปของโบราณที่น่าจะเข้าข่ายดังกล่าว มีชื่อว่า "ตำราสร้างพระพุทธรูปและตำราหุงน้ำมัน" ประวัติของหอพระสมุดฯ ระบุว่าซื้อมาจากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทายาทของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถ สุประดิษฐ์ สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นราวรัชกาลที่ 4 อนุมานจากลายมือในสมุดไทยซึ่งเป็นแบบพระอาลักษณ์ในสมัยนั้น โดยกล่าวถึงนามครูช่างในคำฉันท์ไหว้ครูตอนต้นของตำราซึ่งเป็นช่างครั้งอยุธยาและรัตนโกสินทร์รัชกาลก่อนอยู่หลายท่าน แต่สัดส่วนที่ใช้ในการสร้างพระพุทธรูปน่าจะสืบทอดมาก่อนหน้านัันย้อนไปได้จนถึงสมัยอยุธยา ซึ่งภายหลังได้นำมาตีพิมพ์รวมกับหนังสือโบราณฉบับอื่นๆ ในประชุมหนังสือเก่าภาคที่ 2
ต้นฉบับ "ตำราสร้างพระพุทธรูปและตำราหุงน้ำมัน" เขียนขึ้นราวรัชกาลที่ 4 หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
ตำราสร้างพระพุทธรูป ฉบับตีพิมพ์ในประชุมหนังสือเก่า ภาคที่ 2
ในที่นี้จะได้นำเสนอการศึกษาสัดส่วนสำหรับสร้างพระพุทธรูปที่ปรากฏในตำราสร้างดังกล่าวซึ่งอันที่จริงแล้วก็เคยมีการศึกษาในตำราสร้างพระพุทธรูปของล้านนาเช่นกัน โดยทดลองถอดข้อความในตำราเป็นสูตรคณิตศาสตร์สำหรับใช้ในการคำนวณเพื่อศึกษาพระพุทธรูปได้ ซึ่งนับเป็นมิติและแนวทางใหม่สำหรับการศึกษาพระพุทธรูปเพิ่มเติมจากที่เคยศึกษาจากพุทธลักษณะและวิวัฒนาการของรูปแบบในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน
ตอนที่ 1 พระพุทธรูปยืน
ตอนที่ 2 พระพุทธรูปประทับ (นั่ง)
แบบแผนการสร้างพระพุทธรูปในตำราฯ จะใช้ความสูงของพระพักตร์ตั้งแต่ไรพระศก (ไรผม) จนถึงปลายพระหนุ (คาง) เป็นตัวกำหนด “ส่วน” ที่ใช้สร้างพระพุทธรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปยืน ประทับ ไสยาส หรือทรงเครื่อง ถึงพระพุทธรูปจะเหลือเพียงเศียรก็ยังใช้ความยาวของพระพักตร์ที่เหลืออยู่หรือ “ส่วน” กำหนดขนาดความยาวของหน้าตักและความสูงของพระพุทธรูปเมื่อเต็มองค์บริบูรณ์ได้ ดังตัวอย่างจากเศียรพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ซึ่งรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จากพระเศียรและพระบาทที่เชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ช่างก็สามารถใช้ความยาวพระพักตร์กำหนดความสูงของพระพุทธรูปเพื่อปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนเป็นพระพุทธรูปยืนสมบูรณ์ทั้งองค์และมีขนาดสูง 9 ส่วนของความยาวพระพักตร์ได้
ภาพถ่ายเก่าเศียรพระร่วงโรจนฤทธิ์ขณะพบพร้อมพระบาทที่เมืองศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย พระพักตร์ยาวจากไรพระศก (ตีนผม) ถึงพระปลายหนุ (ปลายคาง) ประมาณ 0.80 เมตร เมื่อนำมาซ่อมแปลงใหม่มีความสูงประมาณ 7.40 เมตร หรือคิดเป็น 9 ส่วนพระพักตร์ (7.4/0.8=9)
กรณีพระพุทธรูปยืน ตำราสร้างพระพุทธรูป ระบุว่า “แล้วให้เอาดวงพระภักตร์สอบลงไปตั้งแต่ใต้พระหณุถึงฝ่าพระบาทให้ได้หกส่วน แต่ให้ไขออกไว้บ้าง”
หมายความว่าการสร้างพระพุทธรูปยืนจะสร้างให้มีความสูงตั้งแต่ใต้พระหนุ (คาง) ลงไปจนถึงฝ่าพระบาทเท่ากับ 6 ส่วนพระพักตร์หรือ 6 เท่าของความสูงพระพักตร์ (ต่อไปจะเรียกว่า “ส่วน”) สำหรับความสูงที่เหลือตั้งแต่พระหนุขึ้นไปจนถึงพระรัศมีเปลวตำราไม่ได้บอกส่วนไว้ แต่พบว่าใช้ความสูงเท่ากับ 2 ส่วน คือ ความยาวพระพักตร์ตั้งแต่พระหนุจนถึงไรพระศก 1 ส่วน และตั้งแต่ไรพระศกจนถึงพระรัศมีเปลวอีก 1 ส่วน รวมแล้วพระพุทธรูปยืนจะมีความสูงตลอดทั้งองค์เท่ากับ 8 ส่วน ที่เกินจากส่วนปกติคือส่วนของพระรัศมีเปลวที่ช่างสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม สำหรับพระวรกายส่วนอื่นช่างสามารถปรับสัดส่วนให้ดูงามได้เช่นกันดังที่ตำราบอกว่า “ให้ไขออกไว้บ้าง”
ตัวอย่างเช่น พระอัฏฐารสวัดสระเกศ สูงตั้งแต่ปลายพระหนุถึงพระบาทเท่ากับ 6 ส่วน พระพักตร์ยาว 1 ส่วน พระเศียรตั้งแต่ไรพระศกถึงต้นพระรัศมีเปลว 1 ส่วน รวมทั้งหมด 8 ส่วน ที่เกินมาจากปกติอีกเล็กน้อยคือปลายพระรัศมีเปลว นอกจากส่วนของพระพุทธรูปยืนซึ่งมีขนาดความสูงเท่ากับ 8 ส่วนที่กล่าวถึงในตำราสร้างพระพุทธรูป แล้ว ยังพบการสร้างพระพุทธรูปยืนที่มีส่วนตั้งแต่ 7-10 ส่วนด้วยเช่นกัน ดังตัวอย่างจากพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่มีความสูงตลอดทั้งองค์ถึง 9 ส่วน แต่โดยทั่วไปแล้วนิยมสร้างพระพุทธรูปยืนอยู่ที่ 8 ส่วน
พระอัฏฐารสในพระวิหารวัดสระเกศ กรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 ทรงเชิญจากวัดวิหารทอง จ.พิษณุโลก สูงตั้งแต่พระบาทถึงปลายพระรัศมีประมาณ 8 ส่วน (ปรับปรุงจาก: ภาพ scan ด้วยเทคนิค Photogrammetry ของ สุรเชษฐ์ แก้วสกุล)
พระโลกนาถศาสดาจารย์ วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์ท่าเตียน) วัดความสูงจากพระบาทถึงปลายพระรัศมีเปลวด้วยเทคนิค Point Cloud ซึ่งมีความแม่นยำสูงได้ประมาณ 10.00 เมตร พระพักตร์สูงประมาณ 1.20 เมตร จึงสูงจากพระบาทถึงต้นพระรัศมีเท่ากับ 8 ส่วน (8X1.20) หรือเท่ากับประมาณ 9.60 เมตร ที่เหลืออีก 0.40 เมตร เป็นส่วนของพระรัศมีเปลวที่ช่างปรับให้สูงขึ้นเกินจากส่วนปกติ
พระโลกนาถศาสดาจารย์ จากวัดพระศรีสรรเพชญ ประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันออก วัดพระเชตุพน สูงตั้งแต่พระบาทถึงปลายพระรัศมีประมาณ 10.00 เมตร พระพักตร์ยาวประมาณ 1.20 เมตร มีความสูงทั้งองค์เท่ากับ 8 ส่วนสอดคล้องกับความสูงของพระพุทธรูปยืนตามตำราสร้างพระพุทธรูป (ปรับปรุงจากภาพ scan ด้วยเทคนิค Point Cloud ผสม Photogrammetry โดย บานาน่าสตูดิโอ)
つづくโปรดติดตามต่อตอนที่ 2 พระพุทธรูปประทับ (นั่ง)...
1
โฆษณา