9 พ.ย. 2020 เวลา 12:10 • ประวัติศาสตร์
นายพุ่ม สาคร จากเด็กตลาดพลู สู่นักเรียนทุนหลวงคนแรกของสยาม สู่นายทหารม้าแห่งรัสเซีย และก้าวขึ้นสู่การปกป้องราชบัลลังก์ราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย
1
เพราะนายพุ่มพึงระลึกถึงสยามบ้านเกิดเสมอ จึงต้องช่วยปกป้องราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย เรื่องนี้เป็นอย่างไร? วันนี้ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ชะตาลิขิตของ พันเอก นิโคลัย พุ่มสกี้ หรือ นายพุ่ม สาคร นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงคนแรกของสยามผู้นี้ มีความโลดโผนของชีวิตอย่างไม่ธรรมดามากๆ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็วหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการศึก พระองค์ทรงให้ความสำคัญตลอดจนปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนครับ
1
เมื่อถึงช่วง พ.ศ.2453 โรงเรียนทั่วประเทศจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 3,115 แห่ง มีนักเรียนรวม 83,966 คน และนอกจากการปรับปรุงระบบการศึกษาภายในประเทศแล้ว ยังทรงส่งพระราชโอรส จำนวนถึง 19 พระองค์ไปศึกษายังยุโรป
รวมทั้งยังได้คัดเลือกสามัญชนซึ่งมีคุณสมบัติและความสามารถดีไปศึกษายังยุโรปในวิชาแขนงต่างๆ เพื่อนำความรู้มาพัฒนาเพื่อให้เท่าเทียมอารยประเทศครับ อันเป็นต้นกำเนิดของนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ของนาย พุ่ม นี้
1
การรุกรานของฝรั่งเศสและอังกฤษต่อสยามประเทศอย่างหนัก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจุมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามหามิตรประเทศที่ยิ่งใหญ่และมีไมตรีต่อสยามมาเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งในสมัยนั้นคือ รัสเซียนั่นเอง
1
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งอาณาจักรรัสเซียทรงมีความสนิทสนมและไมตรีจิตกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จเยือนสยามเมื่อปี พ.ศ.2433-2434 (สมัยยังดำรงพระอิศริยยศเป็นมกุฎราชกุมารรัสเซีย) ความสนิทสนมในฐานะพระสหายระหว่างสยามและรัสเซีย มีส่วนช่วยสยามให้ฝรั่งเศสมีบทบาทผ่อนคลายท่าทีลดระดับบีบคั้นสยามลงได้บ้างครับ
2
และที่น่ายินดีอย่างยิ่งคือการย้ายสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถจากอังกฤษไปศึกษาต่อที่รัสเซียตามคำขอที่พระเจ้าซาร์ฯ รวมทั้งทรงยินดีรับเลี้ยงดูพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5
ในครั้งนี้เองครับในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอนเฟ้นหาและคัดเลือกนักเรียนสยามซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่อังกฤษเพื่อตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ไปรัสเซียด้วยในฐานะพระสหายครับ
1
ผลสรุปจากการคัดเลือกนักเรียนทั้งหมด 10 คน นายพุ่มถูกเลือกอยู่ในอันดับหนึ่งจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ โปรดเลือกนายพุ่มเป็นอันดับหนึ่ง รวมทั้ง เคอแนลฮยูม ด็อกเตอร์ยาร์ หนึ่งในคณะคัดเลือกก็เลือกนายพุ่มอีกเช่นกัน นายพุ่มจึงได้เป็นพระสหายตามเสด็จและนักเรียนทุนหลวงคนแรกที่ได้ไปศึกษาที่ประเทศรัสเซียครับ
นายพุ่มมีชีวิตความเป็นมาอย่างไร หากแต่ในเนื้อหาทั่วไปที่สามารถค้นคว้าได้จากอินเตอร์เน็ตนั้นระบุว่า เป็นเด็กในครอบครัวสามัญชนชาวตลาดพลู ฝั่งธนบุรีครับ บ้างก็เล่าว่าบ้านของนายพุ่มนั้นอยู่ใกล้คลองบางหลวง ย่านตลอดพลู ถ้าจะให้ผมเดาว่าเป็นบริเวณไหนคงน่าจะเป็นชุมชนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในย่านๆนั้นครับ อาทิเช่น วัดกลาง วัดราชคฤห์ เพราะบริเวณนั้นมีชุมชนจีนหนาแน่นมาเนิ่นนานแล้วครับ
ภาพเก่าคลองบางหลวง ย่านตลาดพลู
อีกประเด็นหนึ่งคือ บิดาของนายพุ่มนั้นมีเชื้อสายจีนครับ และมารดาชื่อชื่น บิดาที่ชื่อ นายซุ้ยนี้ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน และเป็นพ่อค้าตลาดพลูที่ค่อนข้างมีฐานะดี ผมจึงสันนิษฐานความเป็นไปได้ว่าบ้านเก่าของนายพุ่มอาจจะอยู่บริเวณไม่วัดกลาง วัดราชคฤห์ครับ
1
ทางฝั่งมารดานายพุ่ม คือ นางชื่นนี้ก็เป็นครอบครัวข้าราชการครับ ตาของพุ่มชื่อหลวงจำนงทวยหาญ (แย้ม) มีลูกพี่ลูกน้องชื่อ พระวารินพจนสาส์น (วาศ ภมรสมิต)
1
เนื่องจากบิดาพอมีฐานะและทางแม่ก็รับราชการ จึงได้ส่ง นายพุ่ม สาคร มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสายอังกฤษ ตรงจุดนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับโรงเรียนเดิมของนายพุ่มครับ ว่าจริงๆแล้วเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบหรือเทพศิรินทร์กันแน่
ในยุคนั้นโรงเรียนสวนกุหลาบสายอังกฤษ ซึ่งยังไม่ได้ใช้ชื่อว่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยครับ ได้ย้ายออกจากพระบรมมหาราชวังมาใช้ตึกแม้นนฤมิตรของโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นสถานที่ศึกษาครับ ซึ่งต่อมาเรียกว่า "โรงเรียนสวนกุหลาบตึกแม้นนฤมิตร" และต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น "โรงเรียนเทพศิรินทร์ตึกแม้นนฤมิตร" จนเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์ในปัจจุบันครับ
4
ตึกแม้นนฤมิตร
นายพุ่มจึงคล้ายลูกครึ่งของทั้งสองสถาบันนี้ครับ และถ้าไม่มองเรื่องฐานะทางบ้านหรือญาติทางแม่ที่รับราชการแล้ว นายพุ่มนี่ก็เก่งมากๆครับ มีแววเก่งมาตั้งแต่เด็กๆ
นายพุ่มเป็นคนที่เรียนเก่ง เป็นผู้มีบุคลิกดี ตลอดจนมีกิริยามารยาท การพูดจาปราศรัยดี กล้าหาญ จึงได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกให้เป็นบุตรข้าราชการนักเรียนดีเด่นในสมัยนั้นอีกด้วยครับ
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ได้เปิดโอกาสให้นายพุ่มเด็กสามัญชนได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษกับบรรดาลูกหลานขุนนางครับ จุดนี้อาจนับได้ว่า นายพุ่มเป็นนักเรียนทุนคิงสกอลาชิปคนแรกของสยามก็ได้ครับ
2
หลังจากที่พุ่มได้รับคัดเลือกให้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯในฐานะพระสหายไปยังรัสเซียแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงขอร้องต่อทางการรัสเซียให้นายพุ่มได้มีฐานะเท่ากับสมเด็จเจ้าฟ้าจักพงษ์ฯทุกประการเพื่อจะได้ให้เป็นคู่แข่งในการเล่าเรียน
1
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่ม สาคร ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ซึ่งเป็นสำนักศึกษาที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าซาร์นิโคลาสมากที่สุด
ในการเรียนนี้จะต้องมีความมานะพยายามในการเล่าเรียน และ ฝึกอย่างหนัก เพราะจะต้องแข่งกับคนรัสเซียที่เป็นนักเรียนด้วยกันซึ่งเราเสียเปรียบด้านภาษาและความเคยชิน แต่เมื่อผลการเรียนออกมา ผลการสอบไล่ปี พ.ศ. 2443 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงสอบได้เป็นอันดับ 2 และนายพุ่ม สาคร ได้เป็นอันดับที่ 4
2
เจ้าฟ้าทูลกระหม่อมเล็ก และ นายพุ่ม
ทั้งๆ ที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯและนายพุ่ม มักจะต้องไปร่วมงานต่างๆ ของราชสำนักพระเจ้าซาร์นิโคลาส อยู่เสมอ ฉะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และ นายพุ่ม ในข้อนี้เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิที่มาจากต่างแดนได้อย่างดีเลยครับ
ก่อนจบการศึกษาสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯสอบได้เป็นอันดับที่ 1ของนักเรียนนายร้อยทั้งหมด ทรงได้คะแนน 11.75/12 คะแนน ส่วนนายพุ่มนั้นสอบได้อันดับที่ 2 ได้คะแนน 11.50/12 คะแนนครับ และได้รับการบรรจุเข้าเป็น นายร้อยตรีแห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์
ถือเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกันมากครับ
3
จบโรงเรียนนายร้อยรัสเซีย
ต่อมานั้น นายร้อยตรีพุ่ม สาคร ได้ตามเสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กลับมาที่เมืองไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2446 และได้เข้าประจำการกรมทหารม้ารักษาพระองค์กรุงเทพฯ ได้รับยศ ร้อยตรีทหารม้า
จากนั้น ร.ต.พุ่ม สาคร ได้ตามเสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กลับไปศึกษาที่จักรวรรดิรัสเซียอีกครั้ง เพื่อเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูง และ สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2448 ร.ต.พุ่ม สาคร ได้เข้าประจำการใน กรมทหารม้าฮุสซาร์ อีกครั้งหนึ่ง และ ได้รับยศ พันเอก เป็น พันเอก พุ่ม สาคร แห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์ กรมทหารม้าฮุสซาร์นี้ถือว่าที่เป็นที่หนึ่ง และ โด่งดังในด้านการรบของรัสเซียที่สุดครับ
ทหารม้าฮุสซาร์
พันเอกพุ่ม สาคร ในฐานะนายทหารรัสเซีย ได้ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่1 จนได้รับชัยชนะ
ในสมัยนั้นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 มีกองทัพที่เกรียงไกรมาก อยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นายพุ่มถือเป็นนักเรียนทุนสยามที่ใช้ชีวิตอย่างโลดโผนที่สุดผู้หนึ่งเลยก็ว่าได้ครับ
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงเข้าพิธีสมรสกับ หม่อมคัทริน เคสนิคสกี้
ชีวิตของนายพุ่มเริ่มออกห่างกับพระสหายเก่าขึ้นทุกทีๆ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงเข้าพิธีสมรสกับ หม่อมคัทริน เคสนิคสกี้ และแยกทางกับ พ.อ.พุ่ม สาคร เพื่อเสด็จกลับประเทศไทย ซึ่ง พ.อ.พุ่ม สาคร จะขออยู่ต่อเพื่อศึกษาภาษาฝรั่งเศส ในการนี้ทางกระทรวงกลาโหมของสยามไม่ยอมครับ และนี่คือเหตุที่ทำให้นายพุ่มมีฉากชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล
2
พันเอก พุ่ม ปฎิเสธกับทางกระทรวงกลาโหมสยาม จนมีการสั่งดำเนินการความผิดทางวินัยโดยสั่งให้ขัง พ.อ.พุ่ม สาคร ไว้ในสถานทูตไทย ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กรณีนี้เป็นชนวนก่อความแค้นให้เหล่าบรรดานายทหารฮุสซาร์ครับ
ในจุดนี้ผมวิเคราะห์ว่า เพราะ พันเอก พุ่ม เคยไปปฎิบัติงานราชการสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฐานะทหารของรัสเซียครับ จึงมีความสัมพันธุ์กับทหารรัสเซียอย่างแน่นแฟ้น
รวมทั้งเป็นถึงระดับผู้บังคับบัญชาทหารฮุสซาร์อีกด้วย กรมทหารม้าฮุสซาร์ (Hussars) เป็นกองทัพพิเศษของจักรวรรดิรัสเซียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ทหารฮุสซาร์ ฝึกฝนหนักหน่วงเหนือทหารทั่วไป กล้าหาญผิดมนุษย์ เข้าสู่สนามรบโดยไม่กลัวตาย
3
แม่ทัพ Comte de Lassale แห่งกองทัพฝรั่งเศสกล่าวว่า “ฮุสซาร์คนใดที่ยังไม่ตายก่อนอายุสามสิบ เป็นพวกไร้เกียรติ” และพันเอกพุ่ม นำหน่วยทหารรัสเซียรบกับทหารเยอรมัน ปรากฏว่าได้แสดงความสามารถและกล้าหาญในสนามรบ
2
ทหารฮุสซาร์
ฉะนั้นจึงมีทั้งนายทหารด้วยกันและผู้ใต้บังคับบัญชาที่สนับสนุนต่อพันเอกพุ่มที่มองว่าการสั่งขังนี้เป็นการกระทำเสียเกียรติอย่างมาก
จึงได้ทำการลักพาตัวพันเอกพุ่มไปจากสถานทูตไทยครับ เหตุนี้เป็นเรื่องราวใหญ่โต และครั้งนี้เองก็เป็นเหตุให้พันเอกพุ่มตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย รวมทั้งไม่สามารถกลับประเทศไทยได้อีก
ในประเด็นนี้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ทรงโปรดให้พันเอกพุ่ม เข้ารับราชการต่อในสังกัดกรมทหารม้าฮุสเซนต์ของกองทัพบกรัสเซียต่อไปครับ
พร้อมด้วยกันนี้ก็เปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ โดยมีนามในศาสนาว่า นิโคลัส หรือ ชื่อรัสเซียคือ นิโคลัย พุ่มสกี้ ครับ
3
และฉากชีวิตของนายพุ่มก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีกระดับ ในระดับที่เรียกว่าจุดผันของชีวิตอีกครั้งคือ เหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซีย
ปฏิวัติรัสเซีย
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2460 เกิดการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซียเพื่อโค่นพระเจ้าซาร์ ฝ่ายบอลเชวิก หรือคอมมิวนิสต์ที่นำโดย นายเลนิน ปลุกประชาชนรัสเซียที่หิวโหย โค่นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ครับ
1
ขณะนั้นนายพุ่ม นั้นมีตำแหน่งถึงระดับผู้การแล้ว การปฎิวัติในครั้งนี้เองพลทหารรัสเซียได้ลุกขึ้นโค่นอำนาจนายทหารและขอเลือก “ผู้บังคับหน่วย” ด้วยตนเอง
1
ปฏิวัติรัสเซีย
ฝั่งพันเอกพุ่มมีลูกน้องรักเป็นจำนวนมากครับ จึงถูกรับเลือก หากแต่พันเอกพุ่มมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าซาร์ฯ ผู้ที่เคยทรงพระกรุณาโปรดให้ได้รับราชการต่อหลังจากที่ตนเองมีความขัดแย้งกับทางกระทรวงกลาโหมของสยาม
นายพุ่มจึงตัดสินใจไม่ยอมรับการแต่งตั้งให้เป็นนายทหารของฝ่ายปฏิวัติครับ
หากถามว่าทำไมนายพุ่มถึงไม่ยอมรับตำแหน่งนี้จากคณะปฎิวัติ ก็เพราะพระเจ้าซาร์ฯคือผู้มีพระคุณทั้งกับตนเองและกับประเทศสยามบ้านเกิดครับ
1
พระเจ้าซาร์นิโคลัสพระองค์นี้ ผู้มีส่วนช่วยป้องกันสยามจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ในข้อนี้ที่นายพุ่มพึงระลึกเสมอมา
1
ผู้การพุ่มจึงพยายามสนองคุณด้วยการนำหน่วย ทำการรวบรวมทหารม้าฮุสซาร์ที่ยังมีความภักดีมาปกป้องรักษาราชบัลลังก์ครับ
การกระทำนี้ ทำให้พระเจ้าซาร์ฯทรงมีความศรัทธาในตัวผู้การพุ่มที่จงรักภักดีอย่างมาก
1
แต่เมื่อผู้การพุ่มนำกำลังต่อต้านการโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 โดนจับคุมขัง นางสนองพระโอษฐ์ชื่อ แอนนา ไวรูโบวา แอบนำคำตรัสของพระเจ้าซาร์ฯ มาบอกให้พันเอกพุ่มถอนตัวออกไปจากสงครามกลางเมืองเพราะ “มันเรื่องของคนรัสเซีย”
พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 และพระราชวงศ์
และในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2460 พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 และพระราชวงศ์ก็ถูกสังหาร
ภารกิจสุดท้ายที่พันเอกพุ่มได้รับมอบหมายก่อนหนีไปอยู่ฝรั่งเศส คือ การพานางสนองพระโอษฐ์ผู้ซึ่งเขาเคารพรัก หนีภัยการปฏิวัติไปอยู่ในฝรั่งเศส จุดนี้ผมมองว่านายพุ่มคงจะเสียใจไม่ใช่น้อยเลยครับ
1
พออยู่ในฝรั่งเศส นายพุ่มใช้ชีวิตเป็นเสมียนธนาคารหาเงินเลี้ยงชีพ ช่วงเวลาที่พันเอก พุ่มสกี้ อยู่ที่ฝรั่งเศส สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ที่เสด็จกลับมาสยามนานแล้ว ท่านเสด็จไปราชการที่ประเทศสิงคโปร์และท่านเสด็จทิวงคตที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2463 ด้วยพระชนม์เพียง 37 พรรษา
ซึ่งหลายปีต่อมาพระโอรสของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงชักชวนพันเอก พุ่มสกี้ ไปเป็นเลขานุการประจำตัวหม่อมคัทริน ทำงานในฝรั่งเศส
5
นายพุ่มกับพระองค์จุลฯ
ในกาลต่อมาพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ทรงจัดการพานายพุ่มกลับเมืองไทย โดยสารเรือ Rajputana ของบริษัทอังกฤษ พี แอนด์ โอ ออกจากท่าเรือเมืองมาร์เซยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2480 เรือมาถึงเกาะปีนังเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2480 แล้วโดยสารรถไฟเข้าสู่สยาม การจากแผ่นดินแม่ไปนานกว่า 33 ปี คงทำให้นายพุ่มน้ำตาไหลเมื่อได้กลับมาอีกครั้ง
4
และภายหลังจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงเสนอเรื่องขอเปลี่ยนสัญชาติให้ นายพุ่มสกี้ กลับมาเป็นคนไทยอีกครั้งหนึ่งในชื่อ นายพุ่ม สาคร
1
นายพุ่ม
การกลับมาในครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญของคนไทยอย่างมาก ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญ และ ขอร้องนายพุ่ม สาคร ให้เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดยให้ยศพันโททหารประจำกองทัพไทย แต่ว่านายพุ่ม สาคร ตอบปฏิเสธ
3
ต่อมาจึงได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษ พร้อมกับการเสด็จกลับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ไปพำนักอยู่ที่บ้านพักเทรเดซี่ของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบอดมินห์ ประเทศอังกฤษ
และนายพุ่มก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เมื่ออายุ 70 ปี ด้วยอาการหัวใจวายครับ โดยศพของเขาถูกฝังอยู่ณ สุสานในประเทศอังกฤษ
1
จะว่าไปแล้วชีวิตนายพุ่มนี้ถือว่าได้ข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ระดับโลกเลยครับ รวมทั้งได้ผ่านสมรภูมิรบมาจริง
2
ในใจลึกๆของนายพุ่มคงรักชาติ แต่ในการรักชาติของนายพุ่มนั้นหมายถึงสองชาติ สองชาติที่เป็นดั่งมหามิตร สยามและรัสเซีย
1
พระเจ้าแผ่นดินสยาม,รัสเซีย
การดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 5 นับเป็นการดำเนินการที่ชาฐฉลาดมากครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งพระราชโอรสและบุคคลสามัญที่มีความรู้ไปศึกษาต่างประเทศ นอกจากจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นการยกระดับประเทศสยามให้นานาอารยประเทศได้ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับรัสเซีย จนทำให้ชาติต่างๆที่ประสงค์ร้ายกับสยาม เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ลดกระแสความรุนแรงลงไป
ในส่วนของการส่งพระโอรสกับนายพุ่มไปศึกษานั้น แสดงให้เห็นพระราชหฤทัยที่กว้างขวางครับ ที่พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างพระราชโอรสและเด็กสามัญชน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อนายพุ่ม ซึ่งเป็นการเสียดายบุคคลากรอย่างนายพุ่มมาก
พระเจ้าแผ่นดินสยาม,รัสเซีย
แม้ว่าจุดพลิกผันของชีวิตนายพุ่มนั้นจะเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีใครคาดคิด แต่เนื้อแท้ข้างในนั้นผมเชื่อแน่ว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากความเป็นผู้นำ ความเฉลียวฉลาด และความกล้าหาญ ซึ่งขนาดทหารรัสเซียยังยอมรับ หากนายพุ่มได้กลับมาทำงานเพื่อสยามประเทศได้คงจะนำความเจริญมาสู่เป็นแน่ครับ
และผมชวนท่านผู้อ่านคิดตามนะครับ หากนายพุ่มกลับมารับราชการที่สยามตั้งแต่ต้นหลังจบการศึกษาระดับเสนาธิการ
ไม่แน่ว่าเหตุการณ์ พ.ศ.2475 ที่มีคณะราษฎร์ ซึ่งนำโดยนายทหารสายที่จบจากประเทศเยอรมัน เป็นผู้นำเช่น พันเอก พระยาทรงสุรเดช พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ในเหตุการณ์ปฎิวัติสยาม 2475 อาจจะมีทามไลน์หรือแนวโน้มที่เปลี่ยนไปเนื่องจากมีนายทหารสายรัสเซียอย่างพันเอกพุ่มวางรากฐานอยู่ก็เป็นได้
1
และนี่คือชีวิตของนายพุ่ม เด็กตลาดพลู ผู้มีชีวิตที่โลดโผนและผันแปรต่อโชคชะตา ผู้เป็นผู้นำ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ต่อสยาม และ รัสเซีย ในมุมที่หลายท่านอาจไม่เคยรู้ครับ
2
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง
- เกิดวังปารุสก์ ประพันธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม
- สยามสโกเย ปาโซลสตวา ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดย วัฒนะ คุ้นวงศ์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก
- นักเรียนนอก ข้อมูลสำคัญในประวัติศาสตร์สังคมไทย โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ อยุธยา สำนักพิมพ์แสงดาว,2551
- เล่าเรื่องเมืองไทย, พลเอกทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์
โฆษณา