9 พ.ย. 2020 เวลา 16:49 • ประวัติศาสตร์
103 ปีกับจุดกำเนิดการ #ปฏิวัติรัสเซีย (ตอนที่ 1)
(Pongpon Chuncharoen
Graduate student of Applied Political Science and
Ethnopolitical Process in Contemporary World Program,
Faculty of Political Science, Saint-Petersburg State University.)
วลาดิมีร์ อูเลียนอฟ "เลนิน" ผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมก่อตั้งสหภาพโซเวียต
วันปฏิวัติกับการเฉลิมฉลองในความหมายที่เปลี่ยนไป
ภาพจำลองการบุกยึดพระราชวังฤดูหนาวจากภาพยนตร์โซเวียต
หากจะเอ่ยถึงการปฏิวัติอันลือโลกเมือใดก็ตาม หนึ่งในลิสต์ของการปฏิวัติทั้งหลายเหล่านี้คงจะขาดการปฏิวัติรัสเซียไปไม่ได้เป็นแน่
ในคืนวันที่ 7 ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 1917 หรือในวันนี้เมื่อ 103 ปีที่แล้วกองกำลังฝ่ายบัลเชวิกได้มีการใช้เรืออัฟโรร่า (Aurora-Аврора) ยิงปืนเรือเพื่อเป็นอาณัติสัญญาณในให้ติดอาวุธลุกฮือบุกเข้ายึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของกรุงปีโตรกราด (เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ราชธานีของจักรวรรดิรัสเซียในขณะนั้น
ผู้เขียนกับเรือรบอัฟโรร่าเมื่อวันครบรอบ 103 ปีการปฏิวัติรัสเซีย
และในวันที่ 7 พฤศจิกายนของทุก ๆ ปีจึงเป็นวันสำคัญยิ่งดุจวันชาติของสหภาพโซเวียต ที่ทุก ๆ ปีจะต้องมีการจัดขบวนสวนสนามพร้อมแสดงแสนยานุภาพทางทหารและการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำจนกระทั่งวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 1990 จึงเป็นการเฉลิมฉลองพร้อมขบวนสวนสนามครั้งสุดท้ายก่อนที่สหภาพโซเวียตจะค่อย ๆ แตกสลายและหายไปอย่างสมบูรณ์ในคืนวันคริสต์มาสปี 1991 ก่อนเข้าปีใหม่ปี 1992 เพียงไม่กี่วัน แล้วหมดความสำคัญไปในที่สุด
แต่อันที่จริงในความรู้สึกนึกคิดของชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยยังมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับวันดังกล่าว ดังนั้นในปี 2005 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินจึงได้มีความพยายามเชื่อมโยงอัตลักษณ์เก่า (แบบโซเวียตวันปฏิวัติ 7 พฤศจิกายน) ผสานเข้ากับอัตลักษณ์ความเป็นรัสเซียใหม่โดยการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในวันที่ใกล้เคียงกับวันปฏิวัติเดิม นั่นก็คือวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 1612 ที่คุซม่า มินิน (Kuz’ma Minin – Кузьма Минин) และดมิทรี่ โปฌาร์สกี้ (Dmitry Pozharsky – Дмитрий Пожарский) สองวีรบุรุษผู้รวบรวมไพร่พลไว้ที่เมืองยาโรสลาฟล์ (Yaroslavl’) ก่อนที่จะบุกยึดมอสโกคืนจากพวกโปลที่เข้ามาแทรกแซงและครอบงำรัสเซียที่กำลังตกอยู่ในช่วงห้วงเวลาแห่งความวุ่นวาย (Time of Troubles) ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรรัสเซียว่างเว้นบัลลังก์ซาร์และบรรดาชนชั้นสูงต่างย่างชิงอำนาจกันมาอย่างยาวนาน ก่อนที่ทั้งสองวีรบุรุษจะสยบความวุ่นวายทุกอย่างให้ยุติลงและได้มีการสถาปนาราชวงศ์โรมานอฟในปี 1613
ผู้เขียนกับพระราชวังฤดูหนาวในวันครบรอบ 103 ปีการปฏิวัติรัสเซีย
การปฏิวัติสองครั้งสองครา
ผู้คนลุกฮือใหญ่กลายเป็นการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1917
อันที่จริงการปฏิวัติรัสเซียนั้นเกิดขึ้นสองระลอกในปีเดียวกัน คือการปฏิวัติกุมภาพันธ์และการปฏิวัติตุลาคม ปี 1917 โดยการปฏิวัติครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นจากวิกฤตทุกด้านจากทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ติดพันกับเยอรมนี วิกฤติเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง ความอดอยาก ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ฯลฯ ที่จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคประชาสังคมรวมถึงชนชั้นนำหลาย ๆ กลุ่มให้มีการกดดันให้พระเจ้าซาร์นิโคลัย (นิโคลัส) ที่สอง (Tsar Nicholas II – Император Николай II) สละราชสมบัติเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองแก่ราษฎรเพื่อคลี่คลายวิกฤติทุกด้านโดยเร็วผ่านรัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดยอเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี้ (Alexander Kerensky – Александр Керенский)
แต่แล้วผ่านไป 8 เดือนวิกฤตเหล่านั้นก็หาได้คลี่คลายลงไปไม่จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มฝ่ายซ้ายอย่างบัลเชวิกสร้างความชอบธรรมในการปลุกระดมต่อชนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่จนกระทั่งสามารถก่อการปฏิวัติซ้อนต่อระบอบเคเรนสกี้ได้ จึงกลายเป็นการปฏิวัติตุลาคม สถาปนาระบอบสังคมนิยมแห่งแรกของโลกขึ้นที่รัสเซียและจะนำไปสู่การสู้รบระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ในนามสงครามกลางเมืองรัสเซียต่อไปอีกเกือบหกปี
อาจมีการตั้งข้อสงสัยจากผู้สนใจว่าเหตุใดการปฏิวัติตุลาคมนั้น อันที่จริงเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ทำไมจึงไม่ตั้งชื่อว่าการปฏิวัติพฤศจิกายน ?
ข้อเท็จจริงก็คือในยุคก่อนการปฏิวัติสังคมนิยม รัสเซียยังคงใช้ปฏิทินแบบจูเลียน (Julian Calendar) ที่จะทำให้การนับวันช้ากว่าปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian Calendar) ที่ใช้กันเป็นสากลอยู่ราว ๆ สองสัปดาห์ ดังนั้นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม ปี 1917 ตามปฏิทินจูเลียนจึงจะตรงกับปฏิทินสากลวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 1917 เช่นเดียวกับการปฏิวัติครั้งแรกที่เกิดการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของเหล่าผู้ใช้แรงงานขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี 1917 ตามปฏิทินจูเลียนนั้นจะตรงกับวันที่ 7 มีนาคม ปี 1917 นั่นเอง
อาจไม่เกินจริงไปนักถ้าจะกล่าวว่าการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เป็นการปฏิวัติหลอก แต่การปฏิวัติเดือนตุลาคมเป็นการปฏิวัติจริง
เหตุแห่งการปฏิวัติกับทฤษฎีวัฏจักรคอนดราเทียฟ
อันที่จริงการปฏิวัติรัสเซียทั้งสองครั้งไม่ได้เกิดขึ้นเองลอย ๆ หรือเพิ่งจะมีวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ก่อนการเหตุการณ์ปฏิวัติได้ไม่นาน แต่อันที่จริงแล้วสาเหตุของการปฏิวัติสามารถย้อนหลังไปได้กว่า 10 ปีเป็นอย่างน้อย
แต่ก่อนที่เราจะไปดูซีนารีโอในช่วงระยะ 10 ปีก่อนการปฏิวัติ ผู้เขียนใคร่ขอเชิญให้ผู้อ่านร่วมกันซูมภาพออกมาให้มองเห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของการเมืองเศรษฐกิจและสังคมรัสเซียที่เป็นภาพใหญ่สักระยะที่ 200 ปีกันก่อนผ่านทฤษฎีวัฏจักรคอนดราเทียฟ (Theory of Kondratiev’s Cycles / Теория кондратьевских циклов) ที่ตั้งชื่อตามนักเศรษฐศาสตร์ชาวโซเวียตผู้โด่งดังและผู้ที่ต้องสูญสิ้นชีวิตไปกับการกวาดล้างทางการเมืองของสตาลินในช่วงทศวรรษที่ 1930s.
โดยคอนดราเทียฟได้กล่าวไว้ว่าเมื่อห้วงแห่งการปฏิรูปก็จะมีห้วงแห่งปฏิกริยา (ต่อต้าน) การปฏิรูปตามมาเสมอและในที่สุดก็จะกลับไปสู่การปฏิรูปอีกครั้ง เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นโมเดลในการศึกษาการพยากรณ์ความเป็นไปได้ในทางการเมืองในอนาคต
ในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสังคมการเมืองรัสเซียนับย้อนไปได้ถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 18 การปฏิรูปครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงสิบปีแรกสมัยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ผ่านการปฏิรูปสเปรันสกี้ (Speransky Reforms – Реформы Сперанского) เพื่อแยกอำนาจก่อนจะเข้าสู่ยุคปฏิกิริยาในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ที่ซาร์นิโคลัสที่หนึ่ง (Tsar Nicholas I – Император Николай I) ได้รวมอำนาจเบ็ดเสร็จ ก่อนที่จะเข้าสู้ห้วงการปฏิรูปอีกครั้งในสมัยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สอง (Tsar Alexander II – Император Александр II) ผ่านนโยบายโดดเด่นเรื่องการเลิกทาส และวนลูปเข้าสู่ห้วงปฏิกิริยาอีกครั้งในสมัยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สาม (Tsar Alexander III – Император III) ที่กลับมารวบอำนาจรวมไปถึงนโยบายที่เลือกปฏิบัติต่อชนบางชาติเช่นชาวยิว สืบต่อเนื่องมาจนถึงซาร์นิโคลัสที่สองที่ยิ่งคงระบอบปิตาธิปไตยไว้ไม่ปล่อยจนกระทั่งทุกอย่างสุกงอมกลายเป็นห้วงการปฏิรูปผ่านการปฏิวัติรัสเซียโดยผ่านนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy) ในยุคเลนินก่อนที่จะเข้าสู่ห้วงปฏิกิริยาอีกครั้งในสมัยการกวาดล้างใหญ่สตาลิน เป็นต้น
(โปรดติดตามต่อตอนที่ 2)
*** references ทั้งหมดจะอยู่ในตอนสุดท้ายของบทความ ***
โฆษณา