9 พ.ย. 2020 เวลา 17:37 • ประวัติศาสตร์
103 ปีกับจุดกำเนิดการ #ปฏิวัติรัสเซีย (ตอนที่ 2)
(Pongpon Chuncharoen
Graduate student of Applied Political Science and
Ethnopolitical Process in Contemporary World Program,
Faculty of Political Science, Saint-Petersburg State University.)
ปัจจัยที่หนุนนำการปฏิวัติ
ผู้เขียนขอพาทุกท่านซูมกลับเข้ามาที่ซีนารีโอช่วง 10 ปีก่อนการปฏิวัติรัสเซียอีกครั้ง
ในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 19 กับ 20 นั้นเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก บรรดารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปหลายแห่งเริ่มปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสเสรีนิยมและประชาธิปไตยมากขึ้นกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ บางรัฐที่ปรับตัวไม่ได้ก็ล้มหายตายจากกลายเป็นสาธารณรัฐไป
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งรัสเซียและพระบรมราชวงศ์
ในจักรวรรดิรัสเซียเองก็เช่นกัน หลังจากการปฏิรูปครั้งสุดท้ายของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สอง รัสเซียก็ตกอยู่ในอุ้งพระหัตถ์เหล็กอัตตาธิปไตยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Autocracy) ยังยึดมั่นว่าพระองค์คือศูนย์กลางและเป็นตัวแทนพระผู้เป็นเจ้าบนโลกมนุษย์ไม่เสื่อมคลายอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีตั้งแต่ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สามจนถึงซาร์นิโคลัสที่สองนานวันความเป็นอยู่ของราษฎรรัสเซียมีแต่จะแย่ลงถึงแม้ว่าชาวนา-ทาสติดที่ดินจะได้รับการปลดปล่อยในสมัยการปฏิรูปของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สอง (Emancipation Reform) แต่คนรากหญ้าเหล่านี้ก็ยังถูกจำกัดสิทธิ์หลายประการในการทำนิติกรรมต่าง ๆ กับที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตของตนเอง
เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด
ภาพวาดจำลองเหตุการณ์บาทหลวงกาปอนนำฝูงชนที่จะไปยื่นถวายฎีกาก่อนที่จะถูกปราบปรามด้วยทหารรักษาพระองค์
โดยเฉพาะการแพ้สงครามรัสเซียญี่ปุ่นในปี 1905 เป็นจุดกำเนิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกโดยในวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 1905 บาทหลวงเกรโกรี กาปอน (Gregory Gapon) นักเทศน์ชื่อดังผู้เป็นหลักให้กับเครือข่ายของชนชั้นล่างได้รวบรวมเหล่าพสกนิกรเดินไปถวายฎีกาต่อพระเจ้าซาร์พร้อมกันเดินเปล่งเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี God Save The Tsar ไปจนถึงหน้าพระราชวังฤดูหนาว แต่กลายเป็นว่ากองกำลังทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์กลับเปิดฉากยิงด้วยอาวุธจริงใส่ฝูงชน ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายนับพันคน ทั้งจากกระสุนปืนและจากการเหยียบกันตายจากความโกลาหล การสังหารหมู่นี้จึงเรียกกันว่า “วันอาทิตย์นองเลือด” (Bloody Sunday – Крововое воскресение).
เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือดได้นำไปสู่การจราจลแบบดาวกระจายไปตามเมืองใหญ่ทั่วจักรวรรดิรัสเซีย ทั้งมอสโก ริกา วอร์ซอว์ ทิฟลิส ฯลฯ จนเกิดความปั่นป่วนไปทั่ว ในที่สุดซาร์นิโคลัสที่สองจึงทรงยอมแง้มประตูการปฏิรูปให้เล็กน้อยโดยการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับปี 1906 รวมไปถึงการให้เปิดสภาดูมา (State Duma) เพื่อผ่อนแรงกดดันทางการเมือง แต่ทว่าในความเป็นจริงพระองค์กลับแสดงการกระทำอันสวนทางต่อการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นการสั่งยุบ ๆ เปิด ๆ สภาดูมาตามพระทัย การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผู้เข้มงวดอย่างปีเตอร์ สโตลึยปิน (Peter Stolypin) ที่ถึงแม้จะเริ่มใช้นโยบายปฏิรูปต่าง ๆ โดยเฉพาะปฏิรูปที่ดินอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่กลับมีการสั่งการกวาดจับ อุ้ม ฆ่า ฝ่ายที่น่าสงสัยว่าจะเป็นผู้ต่อต้านระบอบซาร์อย่างโหดเหี้ยมอย่างต่อเนื่อง
ความนิยมของสถาบันกษัตริย์ในหมู่ราษฎรตกต่ำลง
เกรโกรี รัสปูติน นักบวชนอกรีตผู้อื้อฉาวที่มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ราชวงศ์โรมานอฟในสายตาของราษฎรมีมลทินมัวหมอง
ในแง่ชีวิตส่วนพระองค์ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกเชื่องโยงภาคประชาสังคมรัสเซียกับสถาบันกษัตริย์รัสเซียเริ่มถดถอยลงจากปัจจัยหลายประการ เช่น พื้นเพของซารีนา (จักรพรรดินี) อเล็กซานดรา ฟีโอโดรอฟน่านั้นมีเชื้อสายเป็นเจ้าหญิงเยอรมันที่เป็นชาติที่กำลังก่อความเป็นศัตรูกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่เป็นที่นิยมของราษฎร การมีองค์รัชทายาทคือซาเรวิชอเล็กเซย์ที่มีโรคร้ายฮีโมฟีเลียไม่อาจรักษาให้หายขาด จึงนำพาให้ซารีนาอเล็กซานดร้าทรงเครียดและยิ่งพาให้ทั้งครอบครัวโรมานอฟปลีกตัวออกห่างจากทุกคนทุกฝ่าย (พระนางมักจะขลุกพระองค์อยู่แต่ในห้องภาวนา) โดยตลอดรัชกาลครอบครัวโรมานอฟได้ไปทรงพำนักที่ซาร์สโกเย เซโล (Tsarskoye Selo - Царьское Село) พระราชวังนอกกรุงเซ็นต์เปีเตอร์สเบิร์กซึ่งไม่สะดวกต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างยิ่งและยิ่งทำให้ห่างเหินต่อบรรดาขุนนางและพระราชกิจต่าง ๆ (ในอดีตต้องใช้ระยะเวลาเดินทางจากในเมืองหลวงราวครึ่งวัน)
อีกทั้งเปิดโอกาสให้นักบวชผู้อื้อฉาวในมักมากในกามอย่างเกรโกรี รัสปูติน (Gregory Rasputin) ผู้ที่ทรงเชื่อว่าเป็นผู้วิเศษดับอาการป่วยขององค์รัชทายาทได้ ให้เข้ามามีบทบาทในการตัดสินพระทัยต่าง ๆ แต่งตั้งหรือปลดคนที่ชอบหรือไม่ชอบได้ตามใจจึงยิ่งสร้างความเสื่อมศรัทธาต่อระบอบซาร์เข้าไปอีก (แม้ว่าจะมีการสังหารนักบวชผู้นี้โดยกลุ่มชนชั้นสูงแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งไฟปฏิวัติที่กำลังค่อย ๆ จุดติดได้)
สงครามโลกครั้งที่ 1
ทหารรัสเซียในแนวหน้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งส่วนมากมีพื้นเพมาจากชาวนา
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหลังจากที่ออสเตรีย-ฮังการีบุกเซอร์เบีย ซึ่งรัสเซียถือว่าเซอร์เบียเป็นบ้านพี่เมืองน้องจึงมีความจำเป็นต้องรบกับออสเตรีย-ฮังการี ก่อนที่จะกลายเป็นการประกาศสงครามต่อ ๆ กันตามบรรดาพันธมิตรต่ละฝ่าย เช่น ฝ่ายพันธมิตร Triple Entente อันมีอังกฤษ-ฝรั่งเศส-รัสเซีย ฝ่ายหนึ่งและฝ่ายมหาอำนาจกลาง เยอรมนี-ออสเตรียฮังการี-ออตโตมานเติร์กฝ่ายหนึ่ง จึงขยายเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
รัสเซียสูญเสียทรัพยากรในการทำสงครามนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วง 5 เดือนแรกของสงครามรัสเซียสูญเสียชีวิตทหารไปแล้ว 390,000 นาย บาดเจ็บอีกนับล้านนาย ส่วนมากก็คือทหารเกณฑ์ที่ส่วนใหญ่มาจากชาวนา ทำให้ภาคการผลิตต่าง ๆ ชะลอตัวลง เกิดการขาดแคลนอาหาร เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพงไปทั่วจักรวรรดิรัสเซีย แม้เข้าสู่ปีที่สองของสงครามยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงอย่างไร สถานการณ์ในสังคมรัสเซียเริ่มแย่ลง มีการนัดหยุดงานประท้วงถี่ขึ้น มีรายงานว่าเหล่าสตรีผู้ใช้แรงงานต้องเสียเวลาไปกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการเข้าคิวรับอาหาร ในที่สุดความอดทนอดกลั้นของราษฎรรัสเซียจึงหมดลง
ถึงแม้ว่าสภาดูมาจะถวายคำเตือนต่อภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการลุกฮือของเหล่าราษฎรแด่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง แต่พระองค์ก็ยังไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ทรงคิดว่าการกระด้างกระเดื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู “อินเทลลิเกนท์เซีย” (Intelligentsia – Интеллигенция) หรือปัญญาชนเท่านั้น มิหนำซ้ำพระองค์ยังทิ้งหน้าที่การบริหารบ้านเมืองไว้กับซารีนาอเล็กซานดราผู้ไม่เป็นที่นิยมและมักเปิดโอกาสให้รัสปูตินเข้ามามีบทบาทหลายครั้ง เพื่อเสด็จออกไปบัญชาการรบที่แนวหน้าในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยพระองค์เองโดยไม่มีเหตุจำเป็น ในที่สุดจุดสิ้นสุดของราชวงศ์โรมานอฟจึงมาถึง
การ(จำยอม)สละราชบัลลังก์
พระราชหัตถเลขาพร้อมลงพระปรมาภิไธยประกาศสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง ในวันที่ 2 มีนาคม (15 มีนาคมตามปฏิทินสากล) ปี 1917
เช้าวันหนึ่งของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ (7 มีนาคมตามปฏิทินใหม่) คนงานที่เข้าแถวเพื่อรอรับขนมปังไม่ทนอีกต่อไป เกิดเป็นการจุดติดการประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่และขยายตัวลุกลามอย่างรวดเร็วจากการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องขนมปังเริ่มทรงพลังกลายเป็นการเรียกร้องให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสสละราชสมบัติคืนอำนาจให้ประชาชน กลุ่มการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะฝ่ายสังคมนิยมได้เริ่มรวมตัวจัดตั้งกันอย่างแข็งขันก่อตั้งเป็นโซเวียตปีโตรกราด (Soviet Petrograd – Петроградский Совет) ถึงแม้ว่าในกรุงปีโตรกราดจะมีทหารรัฐบาลประจำการถึง 180,000 นายแต่ก็ขาดการบำรุงกำลังโดยเฉพาะชวัญกำลังใจ จึงทำให้ทหารเหล่านี้หันหาปืนกลับไปสู่รัฐบาลพระเจ้าซาร์ มีรายงานว่าแม้จะมีทหารที่ยังจงรักภักดีและมีขีดความสามารถในการปราบปรามอยู่ราว 12,000 นายแต่ก็ไม่สามารถจะไปต้านกับมวลมหาประชาชนนับแสนที่กำลังต่อต้านรัฐบาลได้
ในที่สุดพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองทันที่ที่ทราบข่าวการจลาจลใหญ่จึงรีบเสด็จกลับจากแนวหน้ามายังกรุงปีโตรกราดโดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง แต่เสด็จได้เพียงครึ่งทางก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังเมืองพ์สคอฟ (Pskov) จากการประท้วงหยุดงานของพนักงานการรถไฟ ที่นี่พระองค์ได้รับทราบเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถที่จะรั้งอะไรไว้ได้อีกต่อไป พลเอกนิโคลัย รุสซกี้ (Gen. Nikolai Ruzsky – Ген. Николай Рузский) ผู้บัญชาการทหารบก อเล็กซานเดอร์ กุชคอฟ (Alexander Guchkov – Александр Гучков) ประธานสภาดูมา และแม้แต่นักการเมืองฝ่ายกษัตริย์นิยมอย่างวาซิลี่ ชุลกิน (Vasily Shulgin – Василий Шулгин) ได้พร้อมกันไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าซาร์และได้ถวายคำแนะนำโดยพร้อมเพรียงกันให้พระองค์สละราชสมบัติเพื่อยุติกลียุคในครั้งนี้
ที่สุดแล้วในวันที่ 2 มีนาคม (15 มีนาคมตามปฏิทินใหม่) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองจึงได้ลงพระปรมาภิไธยสละราชสมบัติ ณ เมืองพ์สโคฟ (Pskov) โดยทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าฟ้าชายมาฆาอิล อเล็กซานโดรวิช (Grand Duke Mikhail Alexandrovich – Великий Князь Михаил Александрович) ผู้เป็นพระอนุชาขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์องค์ใหม่แทน (สาเหตุที่พระองค์ยกสิทธินี้ให้กับพระอนุชาแทนที่จะเป็นพระโอรสที่เป็นองค์รัชทายาทเพราะซาเรวิชอเล็กเซย์มีสุขภาพอ่อนแอและยังทรงพระเยาว์)
แต่ในที่สุดเจ้าฟ้าชายมิฆาอิล อเล็กซานโดรวิชก็ปฏิเสธเนื่องจากพระองค์เล็งเห็นแล้วว่ากระแสการปฏิวัตินั้นหนักหนาเกินกว่าที่จะรับมือได้ ในแง่หนึ่งก็อาจเป็นเพราะความน้อยพระทัยด้วยที่ก่อนหน้านี้พระเชษฐาไม่ค่อยได้ให้พระองค์มีบทบาทอะไรมากนัก เมื่อไม่มีผู้สืบสานรักษาและต่อยอดเช่นนี้แล้วราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองจักรวรรดิรัสเซียมา 304 ปีจึงสิ้นสุดลงพร้อม ๆ กับจักรวรรดิรัสเซียที่แตกสลาย บรรดาดินแดนประเทศราชต่างพากันแยกตัวไปเป็นอิสระ เช่น โปลนด์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฯลฯ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองกลายเป็นสามัญชนพลเมืองรัสเซียนามว่านิโคลัส โรมานอฟ ถูกกักบริเวณในวังพร้อมกับครอบครัวภายใต้การคุ้มกันของรัฐบาลเฉพาะกาล
พลเอกนิโคลัย รุสซกี้ (Gen. Nikolai Ruzsky) ผู้บัญชาการทหารบก ผู้นำประธานสภานายอเล็กซานเดอร์ กุชคอฟ (Alexander Guchkov) และสมาชิกสภาดูมาฝ่ายกษัตริย์นิยมนายวาซิลี่ ชุลกิน (Vasily Shulgin) ร่วมกันเข้ากราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองสละราชสมบัติ
(โปรดติดตามตอนต่อไปตอนที่ 3 ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้าย)
***** References ทั้งหมดจะอยู่ในตอนท้ายของตอนสุดท้าย *****
โฆษณา