10 พ.ย. 2020 เวลา 03:00 • ธุรกิจ
ศึกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
BEM ต้องชนะหากจะไล่จี้ BTS
ถึงแม้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกวงเงิน 128,128 ล้านบาท จะมีการร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อ BTS เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์คัดเลือกการประมูลหลังการขายซองไปแล้วเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม
โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โครงสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ) วงเงิน 96,012 ล้านบาท และงานระบบรถไฟฟ้า งานเดินรถ งานซ่อมบำรุงตลอดเส้นทาง (บางขุนนนท์-มีนบุรี) วงเงิน 32,116 ล้านบาท
โครงข่ายรถไฟฟ้าของ BTS และ BEM (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 10 พ.ย.2563)
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้มีการยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2563 ปรากฎว่ามีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ BEM และ BTS จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 10 ราย
ผู้ชนะการประมูลจะได้สิทธิการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้น ซึ่งจุดเด่นของรถไฟฟ้าสายนี้ คือ มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสายในเส้นทางที่ BEM และ BTS บริหารการเดินรถในปัจจุบันและอนาคต
1.รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และ สถานีบางขุนนนท์
2.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีแยกลำสาลี
3 รถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีมีนบุรี
4.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่สถานีศิริราช
5.รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
6.รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีราชเทวี
7.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ร.ฟ.ท.) ที่สถานีราชปรารภ
หากดูโครงข่ายรถไฟฟ้าในปัจจุบันของ BEM และ BTS พบว่า BEM รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน (หลักสอง-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-ท่าพระ) 38 สถานี 48 กม. เริ่มให้บริการปี 2547
BEM รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) 16 สถานี 23 กม. เริ่มให้บริการปี 2559
รวมแล้ว BEM บริหารเดินรถไฟฟ้า 54 สถานี ระยะทาง 71 กม.
ในขณะที่ BTS รับสัมปทานและรับจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายเขียว ระยะทาง 58.32 กิโลเมตร 52 สถานี เปิดบริการครั้งแรกปี 2542 แบ่งเป็นสายสีเขียวอ่อน (คูคต-เคหะสมุทรปราการ) และสายสีเขียวเข้ม (สนามกีฬาฯ-บางหว้า)
BTS รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-คลองสาน) 1.8 กม. 3 สถานี เปิดบริการ ธ.ค.2563
BTS ร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP Net Cost) รถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายชมพู ระยะทาง 27 กม. 32 สถานี ลงทุน 53,490 ล้านบาท และสายเหลือง ระยะทาง 30 กม. 23 สถานี ลงทุน 55,986 ล้านบาท เปิดบริการปี 2566
รวมแล้ว BTS จะได้บริหารการเดินรถภายในปี 2566 รวม 110 สถานี ระยะทาง 117.12 กม.
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรวมระยะทาง 35.9 กม. แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี และส่วนตะวันออก (บางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร 11 สถานี
แน่นอนว่าหาก BEM ชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าขึ้นมาใกล้เคียงกับ BTS ที่ระยะทาง 106.6 กม. แต่ถ้า BTS ชนะจะทิ้งหางไปถึงเท่าตัวที่ระยะทาง 153 กม.
การประมูลยังต้องรอศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยตามที่ BTS ร้องขอว่าจะใช้เกณฑ์การประมูลเดิมหรือไม่ และ รฟม.คาดว่าจะรู้ผลผู้ชนะประมูลในช่วงต้นปี 2564
#สายสีส้ม
โฆษณา