11 พ.ย. 2020 เวลา 10:54 • ประวัติศาสตร์
103 ปีกับจุดกำเนิด #การปฏิวัติรัสเซีย (ตอนที่ 3 - สุดท้าย)
(Pongpon Chuncharoen
Graduate student of Applied Political Science and
Ethnopolitical Process in Contemporary World Program,
Faculty of Political Science, Saint-Petersburg State University.)
รัสเซียใหม่กับรัฐบาลเฉพาะกาลและปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข
อเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี้ (Alexander Kerensky) นายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเฉพาะกาล
หลังการสละราชสมบัติมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากระบอบซาร์ที่เพิ่งสิ้นสุดไปมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่นำโดยพลเรือน จึงได้มีการสถาปนารัฐบาลเฉพาะกาล (Provisional Government – Временное Правительство России) ที่ตัวละครที่มีบทบาทนำส่วนใหญ่มาจากสมาชิกสภาดูมาเดิมสายประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutional Democrat) หรือคณะคาเด็ตส์ (Kadets Party) ที่ประกอบด้วยเหล่าชนชั้นกลางที่มีแนวคิดหลากหลายตั้งแต่อนุรักษ์นิยมไปจนถึงเสรีประชาธิปไตย และทั้งจากฝ่ายซ้ายอย่างโซเวียตเปโตรกราด (Petrograd Soviet) [คำว่า Soviet – Совет “ซาเวี้ยตหมายถึงคำแนะนำหรือสภา ภาษาอังกฤษเทียบได้กับคำว่า Council] ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพทุกสาขาอาชีพตั้งแต่คนงานในโรงงาน ชาวนา และทหารระดับล่างที่มีบทบาทในการลุกฮือล้มระบอบซาร์
โดยทุกฝ่ายได้สร้างฉันทามติในการสถาปนาโครงสร้างอำนาจรัฐบาลใหม่เป็นในรูปแบบ “ดวาเยวลาสเทีย – Двоевластие – Dual Power) กล่าวคือทั้งสองขั้วต่างก็เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนรัฐบาลเฉพาะกาลชุดนี้
เพื่อให้ได้รับคะแนนเสียงจากฝ่ายซ้าย จึงได้มีการเสนอชื่ออเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี้ นักกฎหมายหนุ่มไฟแรงที่กำลังได้รับความนิยม ผู้เคยเป็นสมาชิกสภาดูมาเดิมจากฝ่ายสังคมประชาธิปไตยที่ถือว่าเป็นซ้ายอ่อน ๆ และมีบทบาทเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพระเจ้าซาร์ในสภาดูมาเก่ามาก่อน ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับเลือกในที่สุด
คณะเปโตรกราดโซเวียต - Petrograd Soviet (Council)
ถึงแม้ว่าจะประกาศชัดในเรื่องโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพลเมือง การจัดตั้งองค์กรทหาร-ตำรวจที่อยู่บนพื้นฐานแนวคิดประชาธิปไตย การยกเลิกนโยบายที่เลือกปฏิบัติต่อความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา การเลือกตั้งทั่วไป ฯลฯ แต่สถานการณ์กลับไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น รัฐบาลเฉพาะกาลเดินหน้าทำสงครามกับฝ่ายเยอรมนีต่อไป ซึ่งเป็นการถลุงทรัพยากรไปโดยใช่เหตุไม่ว่าจะเป็นกำลังพลหรืองบประมาณ ในขณะที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนและการปันส่วนอาหารได้ในประเทศ กำลังพลในกองทัพก็สูญเสียขวัญกำลังใจไม่มีกะจิตกะใจที่จะรบอีกต่อไป ทั่วทั้งประเทศจึงระส่ำระสายไปกับเหตุการณ์การหยุดงานประท้วง การปล้นสดมภ์ และความไม่ปลอดภัยในชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ราษฎรเริ่มมองว่ารัฐบาลจะทำตามสัญญานั้นเหมือนกับจะมาเป็นการเกี้ยเซี้ยกันระหว่างชนชั้นนำมากกว่า
เหตุการณ์ลุกฮือเดือนกรกฎาคม ปี 1917 ที่ทหารฝ่ายรัฐบาลเฉพาะกาลใช้กระสุนจริงปราบปรามการจราจลของฝ่ายผู้สนับสนุนบัลเชวิกบนถนนเนี้ยฟสกี้ ปรัสเป็กต์ (Nevsky Prospekt - Невский Проспект) ถนนสายหลักย่าน Downtown ของกรุงเปโตรกราด (เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก)
นายพลคอร์นิลอฟ ผู้หวังทำรัฐประหารรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อควบคุมสถานการณ์ในประเทศแต่ล้มเหลว
การเติบโตของพลพรรคบัลเชวิกและการกลับมาของเลนิน
วลาดิมีร์ อิลิช อูเลียนอฟ "เลนิน" (V.I.Lenin) ผู้นำฝ่ายบัลเชวิกกับเหล่าผู้สนับสนุนขณะปราศรัยที่มอสโก
วลาดิมีร์ อิลิช อูเลียนอฟ “เลนิน” (Vladimir Il’yich Ulyanov “Lenin) ผู้นำกลุ่มบัลเชวิกลี้ภัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่สมัยซาร์ โดยช่วงการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลเฉพาะกาลเลนินได้โอกาสลักลอบเดินทางกลับเข้ามาในรัสเซียด้วยขบวนรถไฟลับผ่านเยอรมนี สวีเดนและฟินแลนด์เข้าสู่รัสเซียเพื่อสร้างแนวร่วมฝ่ายบัลเชวิกให้กว้างมากขึ้น ว่ากันว่าโดยความช่วยเหลือแบบลับ ๆ ของเยอรมนีเองที่กำลังเป็นคู่สงครามกับรัสเซียโดยหวังว่าการส่งเลนินกลับรัสเซียจะทำให้รัสเซียเกิดความวุ่วายและจำเป็นต้องเลิกรบกับเยอรมนีไปเองในที่สุด โดยการประสานงานของฟริตส์ พลัทแทร์น (Fritz Plattern) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สวิส
เลนินขณะที่แถลงการณ์ April Theses ช่วงที่กลับเข้ามาในรัสเซียครั้งแรกในเดือนเมษายน 1917 ก่อนที่จะลี้ภัยรัฐบาลเฉพาะกาลกลับไปที่ฟินแลนด์อีกครั้ง
ในช่วงการลี้ภัยอยู่ที่สวิสของเลนิน ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นานเลนินได้ออก “April Theses” โดยชูคำขวัญอันโด่งดังว่า “ฟฺเซ วลาสถิ ซาเวี้ยตาม” (Все власти советам – All Powers to the Soviets) เพื่อโจมตีระบบ “ดวาเยวลาสเทีย” (อำนาจคู่) และกระตุ้นให้เหล่าบัลเชวิกที่กำลังลี้ภัยนอกประเทศให้กลับเข้ามาเคลื่อนไหวในรัสเซียรวมไปถึงการกล่าวโจมตีการปฏิวัติกุมภาพันธ์ว่าเป็นการปฏิวัติกระฎุมพี เรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน ควบรวมกิจการธนาคารเป็นของรัฐ ให้ขบวนการชนชั้นกรรมาชีพรวมตัวกันตามหลักสากลนิยม (Internationalism) เพื่อสร้างกระแสการปฏิวัติให้กว้างขวาง ฯลฯ และได้กลายเป็นรากฐานอีกอย่างของแนวคิดเลนินนิยม (Leninism) ในเวลาต่อมา ที่สำคัญเริ่มมีการชูคำขวัญ “มีร์. ซิมเลีย อิ เฆล้บ – สันติภาพ ที่ดิน และขนมปัง” (Мир, Земля и Хлеб – Peace, Land and Bread).
การปฏิวัติ-รัฐประหารเดือนตุลาคม
กองกำลังพิทักษ์แดง (Red Guards) ในช่วงการปฏิวัติเดือนตุลาคม
จากเหตุการณ์กบฎนายพลคอร์นิลอฟทำให้รัฐบาลเคเรนสกี้นิรโทษกรรมพวกบัลเชวิกที่ลุกฮือในเดือนกรกฎาคมออกจากเรือนจำแถมยังติดอาวุธให้อีกด้วยเพื่อป้องกันการยึดอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล สิ่งนี้จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความแข็งแกร่งให้ฝ่ายบัลเชวิกให้มากขึ้นยิ่งไปอีก ในขณะที่ปัญหาของชาวรากหญ้าที่คิดเป็นร้อยละ 80 ของประชากรทั้งประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไขอาทิปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการขาดแคลนอาหารได้ก่อนให้เกิดความไม่พอใจและแปรเปลี่ยนเป็นแรงสนับสนุนที่กว้างขึ้นต่อฝ่ายบัลเชวิก
เหตุการณ์เริ่มสุกงอม ในวันที่ 25 ตุลาคมต่อเนื่องจนถึง 26 ตุลาคม (วันที่ 7 ต่อเนื่องจนวันที่ 8 พฤศจิกายน 1917) ฝ่ายกองกำลังบัลเชวิกได้พร้อมกันลุกฮือหลังได้อาณัติสัญญาณปืนเรือจากเรือรบอัฟโรร่าในช่วงเวลา 21.40 น.ได้เริ่มยึดถนน สะพาน เส้นทางรถไฟ และที่ทำการไปรษณีย์ต่าง ๆ ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปที่พระราชวังฤดูหนาวอันเป็นที่ทำการของรัฐบาลเฉพาะกาลคู่ขนานไปกับการที่ผู้นำฝ่ายบัลเชวิกทั้งวลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) เลฟ ทร็อตสกี้ (Lev Trotsky) โยซิฟ สตาลิน (Iosif Stalin) ยาคอฟ สเวี้ยร์ดลอฟ (Yakov Sverdlov) เลฟ คาเมเนียฟ (Lev Kamanev) ฯลฯ ปรากฏกายขึ้นในวันนี้
การประชุมคองเฟรสแห่งชาติครั้งที่ 2 (Second All Russian Congress of Soviets pf Workers' and Soldiers' Deputies)
มีการเปิดประชุมคองเกรสแห่งชาติ (Second All-Russian Congress of Soviets of Workers' and Soldiers' Deputies - II Всероссийский съезд Советов рабочих и солдатских депутатов) ที่อาคารสโมลนึย เปโตรกราด การบุกยึดพระราชวังฤดูหนาวดำเนินไปทั้งคืน ก่อนที่ฝ่ายรัฐบาลเฉพาะกาลจะยอมจำนนเป็นผลให้กองกำลังฝ่ายบัลเชวิกที่มีทั้งทหารบกและทหารเรือต่างกรูกันเข้าไปภายในพระราชวังฤดูหนาว มีรายงานว่ามีความพยายามที่จะรุมประชาทัณฑ์บรรดารัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกาลด้วยความโกรธแค้นด้วย รัฐบาลเฉพาะกาลภายใต้การนำของอเล็กซานเดอร์เคเรนสกี้จึงสิ้นสุดลง
เมื่อการใช้กำลังบุกยึดอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลเสร็จสิ้นเรียบร้อยดีการประชุมคองเกรสแห่งชาติครั้งที่สองที่ดำเนินมาถึง 3 วันตั้งแต่ 7 ถึง 9 พฤศจิกายนที่จัดโดยฝ่ายบัลเชวิกจึงเป็นสำเร็จด้วยความเรียบร้อยตามไปด้วย ถึงแม้ว่าในระหว่างการประชุมจะเกิดความขัดแย้งระหว่างโซเวียตกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มเมนเชวิกว่าการกระทำของกลุ่มบัลเชวิกไม่ถูกต้องตามหลักการ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามฝ่ายบัลเชวิกได้ใจเหล่าผู้แทนจากโซเวียตในเขตและวิชาชีพต่าง ๆ จากการที่ได้เสนอญัตติที่สำคัญที่สุดสองญัตติ
ญัตติแรกคือญัตติเกี่ยวกับสันติภาพ (Decree on Peace - Дикрет о Мире) ที่รัฐบาลใหม่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดสันติภาพโดยเร็ว โดยยืนอยู่บนหลักการ 3 ประการคือ 1) การเจรจาสันติภาพที่ปราศจากการถูกผนวกดินแดนหรือภาระค่าปฏิกรรมสงคราม 2) รัฐบาลใหม่ต้องปฏิเสธการทูตในทางลับ (Secret Diplomacy) ที่บรรดาจักรวรรดิต่าง ๆ ปฏิบัติกันเรื่อยมาจนกลายเป็นข้อผูกมัดนำไปสู่การสู้รบที่ขยายวงกว้า (อย่างเช่นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) 3) การเรียกร้องให้คู่สงครามยุติการสู้รบโดยไม่ชักช้าและหาทางออกโดยสันติวิธี
ญัตติที่สองคือญัตติเกี่ยวกับที่ดิน (Decree on Land – Дикрет о Земле) ที่ว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน บังคับโอนที่ดินของเหล่าบรรดาเจ้าที่ดิน (Landlord) และบรรดาโบสถ์และวัดวาอารามต่าง ๆ ให้ตกอยู่ภายใต้การจัดสรรของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินและการยกเลิกสถานะของที่ดินให้พ้นจาก “ทรัพย์สินส่วนบุคคล” ไม่สามารถทำการซื้อขายได้รวมไปถึงการประกาศให้การจ้างคนงานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และต่อมาญัตตินี้จะถือเป็นแม่แบบของกฎหมายการปฏิรูปที่ดินในบรรดาประเทศสังคมนิยมอื่น ๆ ด้วย
ญัตติดังกล่าวถือเป็นการนำคำขวัญที่เคยใช้เป็นสโลแกนหาเสียงสนับสนุนมาทำให้เกิดขึ้นให้เห็นผล เป็นผลให้พลพรรคบัลเชวิกครองที่นั่งในสภาครองเกรสแห่งนี้ถึงร้อยละ 60 เปิดทางให้คณะบัลเชวิกแปรสภาพเป็น “คณะกรรมการประชาชนโซเวียต” (Council of People’s Commissars) – Совет Народных Коммисаров) หรือ “โซฟนาร์คอม” ชื่อเรียกรัฐบาลชุดแรกของสหภาพโซเวียตนั่นเอง
บทสรุป
อดีตพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองพร้อมพระบรมวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิดรวมทั้งหมด 11 รายถูกประหารชีวิตหมู่ ณ ห้องใต้ดินบ้านอิปาเที้ยฟ (Ipatiev's House) เมืองเยคาเทรินเบิร์ก (Yekaterinburg) ในเดือนกรกฎาคม 1918
จากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมรัสเซียที่เหลื่อมล้ำและสั่งสมมานานหลายสิบปี ประชากรกว่าร้อยละ 80 คือชาวนาที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ผสมโรงกับความท้าทายจากยกระแสการปฏิรูปต่าง ๆ ที่มาจากยุโรปสะท้อนออกมาในรูปแบบของการลุกฮือ การประท้วง การผละงาน แต่สถาบันกษัตริย์รัสเซียยังคงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น พระเจ้าซาร์ต่างยังคงทรงคิดว่าพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้าบนโลกมนุษย์ที่ยังคงมีพระราชอาญาสิทธิ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ถึงแม้จะบางโอกาสที่องค์เหนือหัวทรงแง้มประตูการปฏิรูปบ้างเล็กน้อย แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดและเป็นไปเพื่อการรักษาพระราชอำนาจเท่านั้น (เพราะบ่อยครั้งทรงแทรกแซงสภาดูมา) ประกอบกับยิ่งนานวันยิ่งมีวิกฤติใหม่ ๆ เข้ามาเผชิญทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การขาดแคลนอาหาร ความอดอยาก ชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงานและชาวนานไม่ได้รับการแก้ไข ทุกอย่างฉุดให้ความนิยมในสถาบันซาร์ให้ตกดิ่งลงอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นความสุขงอมในการปฏิวัติกุมภาพันธ์ปี 1917 ทำให้สถาบันซาร์มาถึงจุดสิ้นสุด พระเจ้าซาร์ต้องสละราชบัลลังก์
ถึงแม้ว่ารัสเซียจะพ้นจากระบอบซาร์มาอยู่ใต้การนำของรัฐบาลเฉพาะกาลแต่รัฐบาลเฉพาะกาลก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ความไม่สงบเกิดขึ้นโดยทั่วไป บวกกับเกิดความขัดแย้งกันในระบบอำนาจคู่ ความนิยมจึงตกต่ำลง สวนทางกับฝ่ายบัลเชวิกที่เริ่มได้การสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากคนฐานล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ในที่สุดฝ่ายบัลเชวิกจึงได้โอกาสในการยึดอำนาจจากรัฐบาลเฉพาะกาลและเรียกประชมคองเกรส จัดตั้งรัฐบาลฝ่ายสังคมนิยมสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก
แต่ถึงแม้จะสถาปนาอำนาจรัฐได้แล้วแต่ความขัดแย้งยังคงมีต่อไป ฝ่ายรัฐบาลบางกลุ่มรวมไปถึงผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อระบอบซาร์ได้ล่าถอยออกไปในเขตต่างจังหวัด และรวมกลุ่มกันเป็นกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวเพื่อช่วงชิงอำนาจคืนจากรัสเซียฝ่ายแดง (โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่าง ๆ ชาติอื่นด้วย เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรเพื่อเป็นการยับยั้งไฟปฏิวัติที่อาจจะแพร่สะพัด) กลายเป็นสงครามกลางเมืองรัสเซียที่กินระยะเวลากว่า 4 ปี ซึ่งในช่วงนี้เองที่อดีตพระเจ้าซาร์และพระบรมวงศ์ที่ย้ายที่คุมขังครั้งแล้วครั้งเล่าต้องถูกจบพระชนม์ชีพด้วยการประหารชีวิตหมู่โดยฝ่ายกองทัพแดงที่เมืองเยคาเทรินเบิร์กในเขตภูมิภาคเทือกเขาอูราล ก่อนที่ในปี 1922 ฝ่ายแดงจะยึดกุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จและประกาศจัดตั้ง “สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต” (Union of Soviet Socialist Republics – Союз Советских Социалистических Республик) ในที่สุด
ผู้เขียนขอนำประมวลภาพ(ย้อม)สีชุดการปฏิวัติรัสเซียเดือนตุลาคมแนบท้ายกับบทความนี้
เลนินกับสตาลินผู้เป็นมือซ้ายของเลนิน
เลนินกับนาเดียชดา ครุปสกายาภริยาคู่ชีวิต
References
V. I. Lenin, "State and Revolution" contained in the Collected Works of Lenin: Volume 25 (Progress Publishers: Moscow, 1974)
Lenin, Vladimir (1975). Tucker, Robert C. (ed.). The Lenin Anthology. London: Norton.
Beckett, Ian F.W. (2007). The Great War (2 ed.). Longman.
Martin Sixsmith, Russia: A 1,000 Year Chronicle of the Wild East, pages 171
Nicholas V. Riasanovsky, A History of Russia, 4th edition, Oxford University Press, 1984.
Harcave, Sidney (1970). The Russian Revolution. London: Collier Books.
Ėduard Nikolaevich Burdzhalov, Russia's second revolution: the February 1917 uprising in Petrograd (Indiana UP, 1987).
Daniel Orlovsky, "Corporatism or democracy: the Russian Provisional Government of 1917." Soviet and Post-Soviet Review 24.1 (1997)
N. N. Sukhanov, The Russian Revolution: A Personal Record, ed. and trans. Joel Carmichael (Oxford, 1955; originally published in Russian in 1922)
Steinberg, Mark D. (2001). Voices of Revolution, 1917. New Haven, Connecticut: Yale University Press.
№ 1. Декрет II Всероссийского Съезда Советов Рабочих, Солдатских и Крестьянских Депутатов. Об учреждении Совета Народных Комиссаров. | Проект «Исторические Материалы». istmat.info.
Доклад петроградского охраного отделения особому отделу департамента полиции, октябрь 1916, Красный архив 17 (1926)
Кондратьев Н. Д. Мировое хозяйство и его конъюнктура во время и после войны. Вологда: Областное отделение Государственного издательства, 1922. Гл. 5
Коротаев А. В., Гринин Л. Е. Кондратьевские волны в мир-системной перспективе Кондратьевские волны. Аспекты и перспективы / Отв. ред. А. А. Акаев, Р. С. Гринберг, Л. Е. Гринин, А. В. Коротаев, С. Ю. Малков. Волгоград: Учитель, 2012. С. 58-109
Photo Sources
โฆษณา