11 พ.ย. 2020 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
เรียนรู้ เศรษฐศาสตร์ จากแคมเปญ 11.11 | THE BRIEFCASE
ใครจะไปคิดว่าแคมเปญ 11.11 จะกลายมาเป็นเทศกาลประจำปี
ที่ธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลกต่างก็พากันลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย
สำหรับประเทศไทย เทศกาลนี้ได้กลายมาเป็นตัวกระตุ้นนิ้วของเรา
ให้ไถหน้าแอปพลิเคชัน Lazada และ Shopee ตลอดทั้งวัน
2
รู้ไหมว่า ถ้าเรากำลังเฝ้ารอเทศกาลนี้
หมายความว่า เรากำลังวิ่งเข้าหากับดักทางเศรษฐศาสตร์
กับดักนั้นชื่อว่า “Price Discrimination”
หรือการแบ่งแยกราคาขาย
Price Discrimination คืออะไร?
1
การแบ่งแยกราคาขาย (Price Discrimination) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจสามารถขายสินค้าได้จำนวนมากขึ้นจากการตั้งราคาขายสินค้าชนิดเดียวกันในราคาที่ต่างกัน
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าปกติเราขายของราคา 100 บาท
แต่พอเรานำสินค้าชิ้นเดียวกันมาขายในเทศกาล 11.11 เราจะลดราคาเหลือ 80 บาท
ราคาสินค้าที่ถูกลง เป็นตัวดึงดูดให้เกิดความต้องการ (Demand) ในสินค้านั้นเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งถึงแม้ว่าการตั้งราคาสินค้าให้ถูกลง ธุรกิจจะได้กำไรต่อชิ้นลดลง แต่ถ้ายิ่งขายสินค้าได้มากชิ้นขึ้นก็จะมีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง
แต่ถ้าบริษัททำแคมเปญแบบนี้บ่อยๆ ก็คงจะไม่เป็นผลดีเท่าไร
เพราะลูกค้าจะเฝ้ารอแต่วันที่สินค้าจะลดราคา
ซึ่งอาจส่งผลกับยอดขายในช่วงเวลาปกติได้
ดังนั้น หากเราเป็นธุรกิจเจ้าของแคมเปญ หรือเจ้าของร้านค้าที่ร่วมแคมเปญ
ก็ต้องตัดสินใจให้ดีว่าควรให้มีแคมเปญนี้ถี่มากน้อยแค่ไหน
ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า และเพื่อให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ยังไม่ถูกลดทอนลง
ทีนี้ ลองมาดูตัวอย่างการแบ่งแยกราคาที่พบกันบ่อยๆ เช่น
1
แคมเปญซื้อกางเกง 1 ตัว ราคาตัวละ 89 บาท
แต่เมื่อซื้อ 3 ตัวขึ้นไป จะเหลือตัวละ 80 บาท
ซึ่งการทำแบบนี้ จะสามารถจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้นได้
หรือการแบ่งแยกราคาขายตามกลุ่มผู้บริโภค
เช่น ตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ที่แบ่งเป็นราคาคนไทย และ ราคาคนต่างชาติ
หรือแม้แต่การแบ่งแยกราคาตามภาระการผลิตหรือบริการ เช่น ในช่วงที่มีความต้องการสูงก็จะตั้งราคาแพง ส่วนในช่วงที่มีความต้องการต่ำ ก็จะตั้งราคาถูกลง เช่น ราคาห้องพักของโรงแรมในช่วง High-season และ Low-season
นอกจากที่ว่ามาแล้ว เจ้าของสินค้าหรือบริการ
ยังสามารถใส่เงื่อนไขลงไปในการแบ่งแยกราคาขาย
เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจในสินค้าของเรามากขึ้น
1
โดยวิธีนี้ เราเรียกมันว่า Hurdle Method of Price Discrimination หรือการแบ่งขายโดยการใช้เครื่องมือกีดกัน
ยกตัวอย่างเช่น การที่เราต้องเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ก่อน เราถึงจะได้คูปองส่วนลดจากร้านค้า
หรือการที่เราจะใช้โค้ดส่งฟรีได้ ก็ต่อเมื่อชำระเงินผ่าน AirPay หรือ Wallet ของแพลตฟอร์มเท่านั้น
ซึ่งการทำ Price Discrimination ในกรณีนี้
นอกจากเป็นการทำให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ถูกลงแล้ว ยังทำให้ผู้บริการแพลตฟอร์มชำระเงิน หรือ Wallet (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเครือเดียวกันกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์) ได้รับประโยชน์จากการมีผู้เข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
และถ้าวันนี้ เราเป็นหนึ่งในคนที่เปิดแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ เพื่อหาดีลสินค้าสุดพิเศษจากแคมเปญ 11.11
ก็แสดงว่าเราได้ติดกับดักทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Price Discrimination ไปแล้ว นั่นเอง..
"THE BRIEFCASE" เพจใหม่ของทีมลงทุนแมน เพจที่จะสรุปเรื่องที่ ผู้บริหารยุคนี้ต้องรู้ แบบกระชับ ซึ่งจะรวมไปถึง การพัฒนาทักษะ กรณีศึกษาธุรกิจ ข่าวเศรษฐกิจ ที่จะถูกย่อยในฉบับเข้าใจง่าย เสมือนเป็นกระเป๋าเอกสารคู่ใจ ของผู้นำธุรกิจเช่นคุณ ลองกดติดตามกันได้เลย..
โฆษณา