13 พ.ย. 2020 เวลา 12:52 • การเมือง
*** ประชาธิปไตย vs เผด็จการ ฉบับเข้าใจง่าย ***
"นักการเมืองมันโกงทั้งนั้นแหละ เลือกใครมาก็เหมือนกัน คนโง่เยอะพวกมากลากไป สู้ยกย่องคนดีมาเป็นผู้นำดีกว่า การปกครองแบบมีเอกภาพย่อมจะทำให้ชาติเป็นปึกแผ่นรุ่งเรือง ดูอย่างจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจก็มาในแนวทางนี้..."
คุณอ่านข้อความเหล่านี้แล้วคิดอย่างไร?
...เราเติบโตมาในยุคที่ทางหนึ่งมีการบอกว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็มีคำสอนอีกชุดหนึ่งให้การโต้แย้งหลักประชาธิปไตย และยกย่องเผด็จการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังขึ้นในสังคมของเราอยู่เสมอ
แล้วเราควรจะเชื่อฟังคำสอนชุดไหน?
แล้วระบบไหนจึงจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวของเรา?
บทความนี้จะพยายามพูดถึงรากฐานของทั้งสองระบบ และข้อดีข้อเสียของมันนะครับ
โดยปกติรัฐๆ หนึ่งไม่ได้เป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการอย่างขาวกับดำ แต่จะวางตัวอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของ spectrum การกระจายอำนาจ ขึ้นกับกระจายอำนาจให้กลุ่มคนกว้างขนาดไหน
ตามนิยามพื้นฐาน "ประชาธิปไตย" คือการปกครองโดยประชาชนทั้งปวง "คณาธิปไตย" คือการปกครองโดยคนบางกลุ่ม และ "อัตตาธิปไตย" คือการปกครองโดยคนๆ เดียว
ซึ่งสองอย่างหลังจะมีความใกล้เคียงกับนิยามของคำว่า "เผด็จการ" หมายถึงการที่ คนกลุ่มหนึ่ง หรือ บุคคลคนหนึ่ง มีอำนาจเหนือรัฐ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา
1
บางประเทศเช่น ญี่ปุ่น มีพรรคการเมืองใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งติดต่อกันมาเกือบทุกยุคเป็นระยะเวลานาน แต่ผู้ปกครองมีกำหนดเวลาการปกครองแน่นอน มีการเลือกตั้งที่ตรวจสอบได้ ประชาชนสามารถแสดงความเห็นอย่างเสรี จึงยังถือว่าเป็นประชาธิปไตย
บางประเทศเช่น เกาหลีเหนือ มีพรรคการเมืองใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งมาตลอด แต่เนื่องจากไม่ว่าประชาชนเลือกพรรคไหนก็จะได้ท่านผู้นำคนเดิม และท่านผู้นำยังเป็นท่านผู้นำไปตลอดชีวิต ไม่มีกำหนดเวลา จึงถือว่าเป็นเผด็จการ
ภาพแนบ: หีบเลือกตั้งเกาหลีเหนือ
ระบบประชาธิปไตยกับเผด็จการนั้นนอกจากแตกต่างกันเรื่องการรวมอำนาจ-กระจายอำนาจแล้ว ยังแตกต่างกันถึงรากฐานในสามข้อหลักๆ ได้แก่:
1. ความแตกต่างในด้านการแบ่งทรัพยากรให้คีย์แมน หรือผู้ช่วยผู้ปกครอง
2. ความแตกต่างของการสืบทอดอำนาจ
3. ความแตกต่างของศีลธรรมหลักในสังคม
ความแตกต่างดังกล่าวทำให้ระบบทั้งสองมีวิธีคิดที่แตกต่างกันอย่างมาก ในที่นี้จะอธิบายโดยเริ่มจาก "ระบบเผด็จการ" ก่อน
"เรื่องการแบ่งทรัพยากรให้คีย์แมนในระบบเผด็จการ"
เกริ่นว่าไม่มีใครสามารถบริหารรัฐได้ด้วยตัวคนเดียวได้ ผู้ปกครองทุกคนจำเป็นต้องมีเครือข่ายของ "คีย์แมน" หรือผู้ช่วยสำคัญ ไว้คอยช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น ผู้ปกครองมีหัวหน้าตำรวจไว้คอยดูแลความสงบเรียบร้อย, มีหัวหน้าทูตไว้ประสานงานต่างประเทศ, หรือมีหัวหน้านักกฎหมายไว้ช่วยออกกฎหมาย
ผู้ปกครองไม่ว่าในระบบไหนมีหน้าที่ตัดสินใจแบ่งสรรทรัพยากรของประเทศให้แก่คีย์แมนต่างๆ เพื่อสร้างความจงรักภักดี
และผู้ปกครองในระบบเผด็จการยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องแบ่งทรัพยากรให้คีย์แมนทั้งหลายอย่างเพียงพอ
เผด็จการที่เป็นคนดี มีน้ำใจรักใคร่ประชาชนอาจแบ่งทรัพยากรให้ประชาชนมากหน่อย หรือแม้แต่ยอมลดส่วนแบ่งของตนเองลงเพื่อนำไปพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน
แต่ไม่ว่าอย่างไร ระบบเผด็จการจะบังคับให้เขาไม่อาจลดส่วนแบ่งของกลุ่มคีย์แมนที่ค้ำชูบัลลังค์ได้โดยง่าย
กลุ่มคีย์แมนเหล่านั้นก็มีเหตุบังคับให้ไม่สามารถลดการใช้จ่ายทรัพยากรได้ง่ายเช่นกัน เพราะพวกเขาก็มี "รองคีย์แมน หรือคีย์แมนของคีย์แมน" ที่ต้องเลี้ยงดูต่อเนื่องลงไปอีกหลายชั้น
พวกเขาล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างจากผู้นำเผด็จการเท่าใดนัก
...หากเหล่าคีย์แมนเริ่มไม่พอใจพวกเขาอาจจะหันไปสนับสนุนคู่แข่งของเผด็จการคนนั้นให้เป็นใหญ่ แทน โดยกำจัดเผด็จการเก่า และกลุ่มอำนาจเก่า แล้วสถาปนากลุ่มอำนาจใหม่ แบ่งทรัพยากรกันใหม่ในตัวหารที่น้อยลง
ประวัติศาสตร์สอนเราว่า การปฏิวัติที่สำเร็จนั้นมักไม่ได้มาจากชาวบ้านบุกไปถล่มผู้นำเผด็จการ แต่มาจากคีย์แมนบางส่วน "ยุยง" หรือ "ปล่อยให้" ชาวบ้านบุกไปถล่มผู้นำเผด็จการ เพื่อจะได้มีการ reset กลุ่มอำนาจใหม่ และตนจะได้รับทรัพยากรมากขึ้น
ดังนั้นบ่อยครั้งผู้นำเผด็จการจึงมีแรงจูงใจให้เห็นความสำคัญของคีย์แมนมากกว่าประชาชน ทำให้ทุ่มเทพัฒนาความเป็นอยู่ประชาชนไม่เต็มที่นั่นเอง
ต่อมา "เรื่องการสืบทอดอำนาจของระบบเผด็จการ"
แม้จะไม่เสมอไป แต่ระบบเผด็จการมักมีกฎการสืบทอดอำนาจให้ผู้นำใหม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้นำเก่าในทางใดทางหนึ่ง คือหากมิใช่สืบทอดทางสายเลือด ก็อาจมาจากพินัยกรรมของเผด็จการคนก่อน
สาเหตุก็เพราะการสืบทอดอำนาจแบบนี้เป็นคุณต่อทั้งผู้นำเผด็จการ และเหล่าคีย์แมนนั่นเอง
แม้ผู้นำเผด็จการจะไม่มีกำหนดระยะเวลาการปกครองแน่นอน แต่เนื่องวันหนึ่งทุกคนล้วนต้องตาย ทำให้เหล่าคีย์แมนย่อมหวั่นไหวกับ "ความไม่แน่นอน" ที่อาจมากับการช่วงชิงอำนาจของผู้ต้องการเป็นผู้สืบทอดคนต่อไป
การตั้งกฎการสืบทอดอำนาจที่ทุกคนยอมรับได้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ส่วนใหญ่ก็จะให้มีความเกี่ยวข้องกับผู้นำคนเก่าที่ทุกคนเคารพรัก
ยกตัวอย่างเช่นในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่ง มักเน้นให้กษัตริย์คนใหม่เกี่ยวข้องทางสายเลือดกับกษัตริย์คนก่อน
การสืบทอดอำนาจแบบนี้เป็นทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของระบบเผด็จการ คือแม้มีความมั่นคงแต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าทายาทนั้นจะมีความสามารถเท่ากับบรรพบุรุษ
บ่อยครั้งราชวงศ์ต้องล่มลงเพราะได้ทายาทเหลวไหลเจ้าสำราญ โดยที่เหล่าคีย์แมนก็ยากจะยับยั้งการพังทลายได้เพราะถูกลำดับชั้นของระบบกดอยู่เช่นกัน
ภาพแนบ: ทรราชย์โจ้หวาง กษัตริย์คนสุดท้ายของราชวงศ์ซางของจีน เขามัวเมาในสุรานารีมากจนราชวงศ์ล่มจม
ต่อมา "เรื่องศีลธรรมของระบบเผด็จการ"
นิยาม "ความดี" หรือ "คนดี" นั้น เป็นสิ่งที่คลุมเครือพูดยาก มีสำนักปรัชญาให้ความเห็นแตกต่างกัน ทุ่มเถียงกันเรื่องนี้มาตลอดในประวัติศาสตร์
แต่เนื่องจากระบบเผด็จการมอบอำนาจให้คนๆ หนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งอย่างไม่จำกัด ดังนั้่นศีลธรรมหลักที่สังคมเผด็จการเชิดชูจะต้องเป็นอะไรก็ได้ที่สนับสนุนผู้ปกครองผู้ปกครองปัจจุบัน
...และเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ "มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน..."
ศีลธรรมหลักของสังคมเผด็จการนั้นอาจมีได้หลายแบบ เช่น:
- จงเชื่อในคนดี (เพื่อสนับสนุนผู้นำที่เป็นคนดีย์)
- การทำบุญทำทานเป็นเรื่องดี (เพื่อสนับสนุนผู้นำซึ่งเชื่อว่ามีบุญมากที่สุด)
- เอกภาพและความมั่นคงในชาติเป็นเรื่องดี (เพื่อสนับสนุนผู้นำ ซึ่งเป็นผู้สร้างเอกภาพและความมั่นคงให้แก่ชาติ)
- ยิวเป็นซาตาน เราต้องฆ่ายิวให้หมด (เพื่อสนับสนุนผู้นำที่มาฆ่ายิวให้)
ศีลธรรมหลักของสังคมเผด็จการอาจเป็นได้กระทั่ง "อนาคตที่มนุษย์ทุกคนจะเท่าเทียมกันนั้นมีค่ามาก จนสามารถ/ควรใช้ระบบเผด็จการเพื่อนำไปสู่อนาคตดังกล่าว"
...ดังจะเห็นว่าประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์หลายแห่งเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย
พวกเขาเชื่อว่าการนำประชาชนสู่ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องมีผู้นำที่มากความสามารถ และมีคุณธรรมในแนวทางคอมมิวนิสต์นั่นเอง
ต่อมาเราจะพูดถึงระบบประชาธิปไตยบ้าง ระบบประชาธิปไตยแบ่งเป็น:
1. ระบบประชาธิปไตยโดยตรง หมายถึงระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถมาออกเสียงได้ทุกเรื่องในสภาประจำเมือง สิ่งนี้เกิดขึ้นกับกลุ่มนครรัฐกรีกโบราณที่ให้อำนาจประชาชนทุกคน (...เอ่อ ไม่รวมผู้หญิงน่ะนะ) มาโหวตหมด
กับ
2. ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ประชาชนทำการเลือกตั้ง "ผู้แทน" ของตน ไปออกเสียงแทนตนในสภา
เนื่องจากสังคมมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่ซับซ้อนมากขึ้นโดยตลอด ระบบประชาธิปไตยของทุกประเทศในโลกปัจจุบันจึงล้วนเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน และการเลือกตั้งในระบบนี้จึงมีความสำคัญมาก ไม่อาจละทิ้งได้
กล่าวถึง "เรื่องการแบ่งทรัพยากรให้คีย์แมนในระบบประชาธิปไตย"
แน่นอนว่าผู้ปกครองในระบบประชาธิปไตยก็มีคีย์แมนผู้ช่วย โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบข้าราชการ หรือกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งหัวคะแนน
แต่ไม่ว่าอย่างไร ผู้ปกครองในระบบประชาธิปไตยไม่สามารถทิ้งการแบ่งทรัพยากรให้แก่ประชาชนได้ เพราะประชาชนนั่นแหละคือผู้เลือกเขาขึ้นมา
อนึ่งเวลาผู้ปกครองประชาธิปไตยมองประชาชน เขาจะไม่ได้มองเป็นคนๆ แต่จะแยกมองเป็นบล็อคๆ ตามเพศ อายุ อาชีพ เชื้อชาติ รายได้ ฯลฯ เช่นบล็อคผู้หญิงวัยกลางคน, บล็อคพ่อค้าเชื้อสายจีน อะไรแบบนี้
ผู้ปกครองจะต้องเลือกฐานเสียงของเขาอย่างชาญฉลาด เลือกว่าแบ่งทรัพยากรอย่างไรเพื่อเอาใจคนบล็อคไหนจึงจะได้เสียงมากที่สุดและชนะการเลือกตั้ง
อย่าลืมว่าประชาชนทุกคนไม่ได้ขึ้นกับหัวคะแนน และหลายครั้งหัวคะแนนก็เป็นตัวแทนของบล็อคใดบล็อคหนึ่งนั่นแหละ
ผู้ปกครองในระบบประชาธิปไตยบางคนอาจเห็นแก่ประโยชน์ที่คีย์แมนยื่นให้ ออกนโยบายบางอย่างตามใจคีย์แมนแม้ว่าสิ่งนั้นจะขัดแย้งกับเจตนารมย์ของประชาชนที่เลือกเขามา
แต่เขาก็จะต้องเสี่ยงกับการไม่ถูกเลือกในรอบถัดไป เพราะระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ออกแบบให้ผู้ปกครองต้องถูกบีบให้เอาใจประชาชนมากกว่าเอาใจคีย์แมน
1
ผู้ปกครองบางคนอาจพยายามแฮคระบบ โดยเมื่อขึ้นสู่อำนาจแล้วออกกฎการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เป็นคุณกับตน หรือจำกัดสิทธิกลุ่มบล็อคที่ไม่เลือกตน ...เพื่อให้มั่นใจว่าตนเองจะถูกเลือกอีกเรื่อยๆ
แต่สิ่งนี้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน และอีกทางหนึ่งก็จะเป็นการทดสอบว่าประเทศนั้นมีระบบประชาธิปไตยมั่นคงแค่ไหน มีกลไกอะไรมาป้องกันการกระทำดังกล่าวหรือเปล่า
ต่อมา "เรื่องการสืบทอดอำนาจของระบบประชาธิปไตย"
แน่นอนว่าการสืบทอดอำนาจนั้นย่อมมาจากการเลือกตั้ง โดยมีกำหนดระยะเวลาอยู่ในอำนาจแน่นอน
ผู้ปกครองอาจพยายามสืบทอดอำนาจในกลุ่มตน หรือในหมู่ลูกหลานตน แต่เขาไม่อาจละทิ้งความต้องการของประชาชนได้
อีกเรื่องหนึ่งระบบประชาธิปไตยที่ดีนั้น จะต้องมีกลไกมาปกป้องเสียงส่วนน้อย ให้ยังมีสิทธิขั้นพื้นฐาน และสามารถดำเนินการทางการเมืองได้ เผื่อวันหนึ่งอาจสามารถโน้มน้าวคนส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับพวกตน
ดังนี้นักการเมืองจึงไม่อาจละทิ้งบล็อคประชาชนบล็อคไหนได้โดยเด็ดขาด
ระบบที่อนุญาตให้คนส่วนใหญ่กดขี่คนส่วนน้อยนั้นไม่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองโดยฝูงชนป่าเถื่อน อุมบะบะ
ต่อมา "เรื่องศีลธรรมของระบบประชาธิปไตย"
แน่นอนว่าศีลธรรมของระบบนี้คือความเชื่อที่ว่าคนย่อมไม่ได้ดีกว่าคน โดยเพศ ชาติกำเนิด ผิวสี หรือ ฐานะ
คนย่อมมีความเท่าเทียมกัน และย่อมมีสิทธิในการกำหนดการตัดสินใจอนาคตของตนเอง
แม้ว่าหลายครั้งการตัดสินใจของประชาชนจะนำพวกเขาไปสู่หนทางที่ผิด แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของพวกเขาเองที่จะต้องเจ็บปวดกับมัน ...จะต้องเรียนรู้ แก้ไขความผิดพลาดของตนเองอย่างผู้ใหญ่ ไม่ใช่ตกเป็นเด็กที่ต้องให้ผู้ปกครองคอยชี้นำตลอดไป
ระบบประชาธิปไตยหากเข้มแข็งพอ ยังถูกปฏิวัติเปลี่ยนเป็นเผด็จการได้ยาก เพราะ การที่ผู้คนมีหลายบล็อค มีความต้องการแตกต่างกัน ทำให้หาจุดร่วมมาโค่นล้มระบบได้ยาก และการที่ผู้คนเชื่อในสิทธิของตนเองย่อมต่อต้านผู้ทำผิดกติกามาจำกัดสิทธิตน
อย่างไรก็ตามมันไม่มีอะไรดีกว่าอะไรทั้งหมด ระบบประชาธิปไตยก็มีหลายอย่างที่ด้อยกว่าเผด็จการ เช่น:
1. ดำเนินการหลายอย่างได้ช้ากว่า เพราะผู้ปกครองต้องผสานผลประโยชน์หลายฝ่าย ขณะที่ผู้นำเผด็จการสามารถดำเนินการต่างๆ ได้รวดเร็ว ไม่ต้องขอความเห็นสภา
2. ระบบเผด็จการจัดการภาวะบางอย่างได้ดีกว่า เช่นการปราบจลาจล แบบเอาให้สงบไม่ต้องแคร์สิทธิมนุษยชนนัก
3. เผด็จการมีความซับซ้อนน้อยกว่าในการสร้างเอกภาพให้แก่ชาติ
4. ระบบประชาธิปไตยที่มั่นคงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง เพราะต้องทำทั้ง:
- การเลือกตั้ง
- การวางระบบตรวจสอบ
- การให้การศึกษาประชาชน
- ฯลฯ
เผด็จการที่สร้างความเจริญให้ประเทศมีมากมาย ประชาธิปไตยที่สร้างความเสื่อมให้ประเทศมีมากมาย
และหากระบบประชาธิปไตยดำเนินการได้ไม่ดี ก็จะถูกผู้ปกครองแฮคระบบ สับเปลี่ยนเขตเลือกตั้งให้เป็นคุณแก่ตน, ขยายระยะเวลาการปกครองแก่ตนเอง, กำจัดคู่แข่งของตน กลายเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตยได้
แต่ประชาธิปไตยไม่ว่าสร้างมายากเพียงใด ก็ยังมีข้อดีตรงที่:
1. ย่อมปกป้องไม่ให้เกิดการกดขี่คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้มากกว่าระบบเผด็จการ
2. ย่อมมีความยืดหยุ่นในการหาผู้สืบทอดที่ดีมากกว่าระบบเผด็จการ มีความเสี่ยงในการต้องรับรองทายาทที่ไม่ได้เรื่องน้อยกว่า
3. ย่อมยังให้เกิดการทุจริต หาประโยชน์แก่ผู้นำและคีย์แมนได้ยากกว่าระบบเผด็จการ
4. ย่อมเอื้อให้นโยบายต่างๆ เป็นไปตามความต้องการของประชาชน, ย่อมเอื้อให้ประชาชนรู้สึกรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตนเองมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะกำหนดอนาคตของตนอย่างระมัดระวังขึ้น
แน่นอนว่าผู้ปกครองในระบบเผด็จการไม่ใช่มาร และผู้ปกครองในระบบประชาธิปไตยไม่ใช่เทวดา
นักการเมืองหลายคนในระบบประชาธิปไตยมีความเห็นแก่ตัวร้ายกาจกว่าผู้นำเผด็จการที่มีใจโอบอ้อมอารีต่อประชาชน
1
ประเด็นคืออย่างที่บอก ...ตัวระบบประชาธิปไตยนั้นออกแบบให้ประโยชน์สูงสุดของผู้ปกครองเป็นไปในทางเดียวกันกับประโยชน์สูงสุดของประชาชนได้ง่าย
อ่านถึงตรงนี้แล้วคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง?
ผมอยากบอกว่าตัวเลือกของเราไม่ได้มีแค่นี้ เพราะไม่ว่าระบบไหนก็มีช่องโหว่และเงื่อนไขมากมาย ในอนาคตมันอาจมีระบบอื่นที่ดีกว่ามาแทนระบบประชาธิปไตยกับเผด็จการที่เรารู้จัก
แต่ในปัจจุบัน ระบบเผด็จการ และประชาธิปไตยตัวแทน ยังเป็นธีมหลักของขั้วการปกครองในโลก
...ในฐานะประชาชน หากเลือกได้ คุณอยากเลือกเส้นทางไหนให้กับตัวคุณ และลูกหลานในอนาคต?
Credit: ส่วนหนึ่งได้รับแนวคิดและแรงบันดาลใจจาก https://www.goodreads.com/.../11612989-the-dictator-s...
:: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
กรุ๊ปประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ https://www.facebook.com/groups/thewildchronicles/
กรุ๊ปท่องเที่ยว เที่ยวโหดเหมือนโกรธบ้าน https://www.facebook.com/groups/wildchroniclestravel/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา