14 พ.ย. 2020 เวลา 01:57 • ท่องเที่ยว
#ผู้ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัย สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ
ขึ้นดอยสุเทพทุกครั้งก็ยังรู้สึกทึ่งถึงความสามารถของผู้สร้างถนนซึ่งก็คือ ครูบาศรีวิชัย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะสร้างได้ แต่ด้วยความสามารถและ “บารมี” ของครูบาศรีวิชัย ถนนสายนี้ก็สำเร็จขึ้นได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นในแต่ละวันมีผู้แวะกราบไว้แสดงความระลึกถึงครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนหลักพันหลักหมื่นคน ที่อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยก่อนขึ้นดอยสุเทพ
การที่ผู้คนกราบไหว้จำนวนมากเช่นนี้ แม้จะเสียชีวิตไปนับ ๖๐-๗๐ ปีเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ธรรมดาหากคนธรรมดาทั่วไปการจะดำรงตนให้เป็นที่เคารพนับถือย่อมเป็นเรื่องยาก บางคนสร้างสรรค์สังคมได้รับการเชิดชู แต่เมื่อเสียชีวิตไปก็ลืมเลือนกันไป
การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพของครูบาศรีวิชัย ย่อมต้องมีเบื้องหลัง โดยเฉพาะความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนทั่วไปและที่สำคัญ คือ แกนนำในการร่วมก่อสร้าง
คนหนึ่ง คือ ครูบาเถิ้ม อดีตเข้าอาวาสวัดแสนฝางและวัดพระธาตุดอยสุเทพ มรณภาพปี พ.ศ.๒๔๗๘
เป็นเรื่องแปลกที่ภาพถ่ายของครูบาเถิ้ม ไม่ปรากฏให้เห็น แม้แต่ที่วัดแสนฝาง ซึ่งครูบาเถิ้มเป็นเจ้าอาวาส เมื่อเปรียบกับภาพของครูบาศรีวิชัยที่มีให้เห็นแพร่หลาย จึงเป็นไปได้ว่า ครูบาเถิ้ม ไม่ชอบถ่ายภาพเอาเสียเลย คราวที่มีช่างภาพขอบันทึกภาพครูบาศรีวิชัยกับคณะ ครูบาเถิ้มก็คงต้องเดินหนีมีเพียงภาพถ่ายรูปเหมือนที่ทางวัดแสนฝางถ่ายจากรูปเหมือนที่อยู่บนวัดดอยสุเทพเท่านั้น
ครูบาเถิ้ม ชื่อเป็นทางการ คือ พระครูบาโสภาณุมหาเถระ เป็นบุตรของนายสุภา – แม่คำมา มีเชื้อสายกระเหรี่ยง เกิดที่บ้านฮ่อม ตำบลช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่นี่เอง เป็นคนอยู่ในความดูแลของหลวงโยนการพิจิตร หลวงโยนการพิจิตร หรือ นายปันโหย่ เป็นต้นตระกูล อุปโยคิน ซึ่งมีอาชีพตัดและค้าไม้สัก จนมีฐานะร่ำรวย ได้สร้างประโยชน์ไว้หลายอย่าง เคยเป็นเจ้าของตึกเก่าของโรงแรมเพชรงาม เสียชีวิตปี พ.ศ.๒๔๖๙ (จากหนังสือเพ็ชรล้านนา รวบรวมไว้โดยคุณปราณี ศิริธร) เมื่อโตขึ้น หลวงโยนการพิจิตร ได้บรรพชาให้เป็นสามเณรและเมื่ออายุครบเกณฑ์บวชก็บวชที่วัดแสนฝาง ครูบาเถิ้มได้ศึกษาอักขระล้านนาและหลักธรรมต่างๆ ตลอดทั้งวิปัสสนากัมมัฏฐานจากครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง นอกจากนั้นยังศึกษาวิชาโหราศาสตร์ จนมีความรู้แตกฉาน สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ถูกต้องแม่นยำ เป็นที่เคารพยกย่องของข้าราชการและประชาชนทั่วไป
เล่ากันว่าที่วัดเจดีย์หลวงสมัยนั้น กุมภัณฑ์ที่สร้างเป็นรูปยักษ์คอยปกป้องเสาอินทขิลมีอิทธิฤทธิ์นัก คราวหนึ่งชายชาวจีนมาขายของปัสสาวะรดวิหารอินทขิล ถูกผึ้งที่อยู่บนต้นยางใหญ่บริเวณนั้นต่อยจนบาดเจ็บ อีกคราวหนึ่งชาวบ้านขนหมูใส่รถบรรทุกผ่านหน้าวัด หมูร้องเหมือนถูกทุบแล้วก็ตายอยู่บนรถนั่นเอง ชาวเมืองจึงต้องนิมนต์ครูบาเถิ้มมาประกอบพิธีแก้ไข ครูบาเถิ้มจึงว่าคาถา และตัดเศียรของกุมภัณฑ์หลังจากนั้นก็ต่อเข้าใหม่ นับแต่นั้นผึ้งก็ไม่รังควานผู้ใดอีก จึงเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อถือของครูบาเถิ้มว่าไม่มีใครเทียบได้ในยุคนั้น (พระครูโสภณกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง, สัมภาษณ์)
ที่สำคัญและเป็นที่ทราบกันดีของชาวเมืองเชียงใหม่ คือ ครูบาเถิ้มมีความสามารถทางเป็น “สล่า” เป็นช่างก่อสร้างที่เก่งทั้งการคำนวณวัสดุและวางแผนก่อสร้าง ดังนั้นการสร้างวิหาร สร้างอาคารจึงไม่ต้องจ้างสล่าจากที่อื่นมาสร้าง ครูบาเถิ้มดำเนินการทั้งหมด
เมื่อครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดแสนฝางมรณภาพ ครูบาเถิ้มได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน ได้สร้างวิหารและบูรณะวัดจนมั่นคงแข็งแรง
ต่อมาทางคณะสงฆ์หาคนไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดดอยสุเทพสมัยเมื่อยังไม่สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ทางไปมาลำบาก ไม่มีพระองค์ใดอยากไป นอกเหนือจากการขึ้นลงลำบากแล้ว ความเป็นอยู่ก็ลำบากอีกด้วย ละแวกนั้นไม่มีชุมชนที่จะตักบาตรภวายอาหารพระ อีกทั้งน้ำดื่มน้ำใช้ก็ไม่สะดวก วัดพระธาตุดอยสุเทพขณะนั้นก็ทรุดโทรมมาก พระหลายรูปปฏิเสธที่จะไปอยู่ ท้ายที่สุดมอบหมายให้ครูบาเถิ้มเป็นเจ้าอาวาส โดยทางคณะสงฆ์มอบเงินให้ ๑,๐๐๐ แถบ (รูปี-หนึ่งรูปีประมาณ ๘๐ สตางค์) เพื่อนำไปบูรณะ อีกเหตุผลหนึ่งเพราะได้รับการนิมนต์จากเจ้าแก้วนวรัฐ
คุณยายซิวเฮียง โจลานันท์ ที่ทันได้ทำบุญกับครูบาเถิ้ม เล่าว่า “ที่บ้านค้าขายที่ตลาดวโวรสหรือเรียกว่ากาดหลวง ตอนนั้นยังเด็กตามแม่ไปทำบุญ พวกในกาดหลวงไปทำบุญที่ดอยสุเทพกันบ่อย ไปกัน ๑๐-๒๐ คน นัดกันไป ขึ้นรถจากที่กาดหลวงไปลงรถที่ตีนดอยและเดินขึ้นไป ครูบาเถิ้ม สมัยนั้นอยู่องค์เดียว ไม่มีพระรูปอื่นและไม่มีเณรมีขโยม (เด็กวัด) แค่ ๒ คน น้ำดื่มน้ำใช้ต้องไปตักที่ดอยปุย ภายหลังครูบาเถิ้มทำท่อไม้ไผ่ทำรางน้ำลงมา สมัยนั้นก่อนสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพตอนที่ขึ้นไปกับแม่ ครูบาเถิ้มกำลังบูรณะสร้างวิหารใหญ่ ส่วนวิหารเก่าไม่ทันได้เห็นอาจจะรื้อแล้วในตอนนั้นหรืออาจพังไปแล้วก็ได้ เมื่อสร้างวิหารใหญ่เสร็จแล้ว ต่อมาจึงสร้างวิหารทั้ง ๔ ทิศที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ คนที่เป็นศรัทธาหลัก คือ หลวงโยนการพิจิตร เป็นศรัทธาใหญ่ช่วยเหลือเงินค่าก่อสร้าง โดยเป็นศรัทธาตั้งแต่อยู่วัดแสนฝางแล้ว และขึ้นไม่เป็นศรัทธาร่วมสร้างที่วัดดอยสุเทพด้วย ศรัทธาย่อยคือ ชาวบ้านชาวตลาดทั่วไป
“ไปทำบุญที่วัดดอยสุเทพแต่ละครั้ง มักนอน ๑ คืนหรือ ๒ คืน หากน้ำใช้ไม่มีก็บอกครูบาเถิ้ม ครูบาจะเดินไปที่ดอยปุย ดูท่อน้ำที่ใช้ไม้ไผ่ต่อมาที่วัดจัดการไม่นานน้ำก็มาให้ใช้ หรืออยากกินเมี่ยง ก็บอกครูบา ครูบาจะเดินไปเก็บที่ดอยปุย นำกลับมาปรุงกินกัน”
“เรื่องสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เกิดจากหลวงโยฯ กลับพม่าและนำครูบาเถิ้มไปด้วย ไปพบวัดบนเขาแห่งหนึ่งที่พม่าทำถนนขึ้นและมีรถขึ้นได้จึงนำแบบอย่างมาคิดทำถนนขึ้นวัดดอยสุเทพ นำความคิดมาหารือกับเจ้าแก้วนวรัฐและหลวงศรีประกทศ ตอนนั้นเพิ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ใหม่ๆ (ได้รับเลือก พ.ศ.๒๔๗๖) แต่ตอนแรกมักไม่มีคนสนใจ เนื่องจากทำยาก ใช้งบประมาณมาก ครูบาเถิ้มคงไปปรารถกับครูบาศรีวิชัยบ้างแล้ว เมื่อเจ้าแก้วฯและหลวงศรีประกาศ มาปรึกษาครูบาศรีวิชัยว่าจะนำไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพ ครูบาศรีวิชัยบอกว่า น่าจะทำถนนจะสำเร็จดีกว่า จึงตกลงทำถนนกัน”
“ครูบาเถิ้ม สำรวจมาก่อนแล้ว ว่าจะตัดถนนไปทางไหน เป็นคนวางแผน นำไม้ปักเป็นช่วงๆ แบ่งแต่ละช่วงให้ชาวบ้านที่มาช่วยทำหน้าที่รับผิดชอบ จึงทำให้เสร็จเร็ว ส่วนครูบาศรีวิชัย เป็นหลักในการรวมจิตใจของคนที่มาช่วย”
“ครูบาเถิ้มมรณภาพก่อนที่ถนนขึ้นดอยสุเทพจะเสร็จเรียบร้อยไม่ทันได้ขึ้นรถยนต์ไปกับครูบาศรีวิชัยขึ้นดอยสุเทพในครั้งแรก ท่านเป็นโรคภูมิแพ้กลิ่นดอกมณฑา คล้ายดอกบัวแต่โตกว่า มีคนนำมาถวาย ทำให้มีอาการป่วยและเป็นลมมรณภาพ ตอนงานศพ ลากประสาทศพคนเยอะไปณาปนกิจที่สุสานช้างคลาน หัวขบวนถึงสุสานแล้ว ประสาทยังอยู่ที่แยกวัดอุปคุตอยู่เลย ความศรัทธากันมากรองจากครูบาศรีวิชัย เพราะทำงานจริงมีผลงานมาก แต่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง อีกส่วนหนึ่งที่น่าแปลกใจ คือ ไม่มีการถ่ายภาพครูบาเถิ้มไว้เลย ไม่เคยเห็นที่ไหน ความจริงน่าจะมีบ้างเมื่อมีการถ่ายภาพรวมครูบาศรีวิชัยกับคณะ แต่ก็ไม่เห็น เป็นไปได้ว่าเป็นพระที่ไม่ชอบถ่ายรูป”
ครูบาเถิ้ม ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยอย่างมากในด้านเชิงช่าง คือ การสำรวจเส้นทาง การวางแผนการทำถนนเป็นช่วงๆ ด้วยการปักไม้ไว้เป็นแนว และมัก “ลุย” ล่วงหน้าไปก่อนจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ หากขาดครูบาเถิ้มงานทำถนนขึ้นดอยสุเทพคงยุ่งยากและใช้เวลามากขึ้น ครูบาเถิ้มมรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๗๘
ขึ้นดอยสุเทพครั้งหน้า นอกจากยกมือไหว้ระลึกถึงคุณงานความดีของครูบาศรีวิชัยแล้ว ส่วนหนึ่งระลึกถึงครูบาเถิ้มสักนิดก็จะเป็นมงคลกับตัวเอง
การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพของครูบาศรีวิชัยตามคำนิมนต์ของเจ้าแก้วนวรัฐ ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ระยะทาง ๑๒ ก.ม. ใช้เวลาเพียง ๕ เดือนเศษก็สำเร็จเรียบร้อย
ด้วยบารมีของครูบาศรีวิชัยที่ผู้คนเชื่อถือว่าหากร่วมทำบุญด้วยแล้วจะได้บุญมาก จึงมาร่วมทำทางกันมากมาย คุณป้าซิวเฮียง โจลานันท์ ที่ทันเหตุการณ์การสร้างถนนสายนี้เล่าเหตุการณ์ระหว่างทำถนนว่า
“ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านจากนอกรอบต่างอำเภอที่มาร่วมแรงกับครูบาฯบางส่วนเป็นแม้ว เป็นยาง มักจะหาบผักหาบข้าวมาด้วยหมู่ หมู่ละประมาณ ๑๐ กว่าคน มักมาแวะกินข้าวกินน้ำกันที่หน้าตลาด ก่อนที่จะเดินไปช่วยครูบาฯ สร้างถนน พวกนี้เองที่ทำให้คนในเมืองรู้ว่าครูบาฯ กำลังสร้างทางบางส่วนจึงไปร่วมด้วย
“บริเวณตรงวัดศรีโสดา เป็นจุดที่ครูบาฯ ใช้เป็นที่พัก ได้สร้างศาลาไว้ก่อนที่จะสร้างเป็นวัดศรีโสดา หมู่ศรัทธาก็มาร่วมแรงกัน ครูบาเถิ้มจะเป็นคนวางแผนและกำหนดเส้นทาง ปักไม้แบ่งเป็นช่วงๆ หมู่ใครหมู่มันรับผิดชอบคนละช่วง ทำให้เสร็จเร็ว เส้นทางนี้เป็นเส้นทางใหม่ เดิมทางขึ้นดอยสุเทพเป็นทางเดินเส้นทางเก่าแก่ที่ค่อนข้างชัน เลยต้องตัดเส้นทางใหม่ ตัดต้นไม้ทำเป็นทาง บางช่วงมีหินใหญ่ขวางก็ใช้ดินปืนจุดระเบิดหินซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น มีปัญหาให้ครูบาฯอยู่เหมือนกัน บางช่วงที่ครูบาฯ ให้ตัดต้นไม้เล็กๆน้อยๆ เพื่อปรับเป็นที่พักชั่วคราวกึ่งที่ทำการก็ถูกเจ้าหน้าที่บางคนหาว่าตัดไม้ทำลายป่า ต้องเปลี่ยนสถานที่ก็มี
“เรื่องอาหารการกิน ชาวบ้านที่มาช่วยก็ถือมาหาบมา มีทั้งข้าว ผัก ปลาแห้ง ก็จะมีการทำเพิงเก็บข้าวของ ใครขาดก็มาเอาจากที่นี่ไปปรุงอาหาร การปรุงอาหารก็ปรุงของกลุ่มใครกลุ่มมัน กินง่ายๆ ไม่เดือดร้อน การหลับนอนก็ง่ายๆ แบบชาวบ้าน สร้างเพิงบ้าน นอนใต้ต้นไม้บ้าง ใช้เสื่อ ใช้ผ้าปูนอนกัน รุ่งขึ้นก็ทำกันต่อ พวกที่ข้าวของหมดก็กลับไปหาข้าวหาผักเพิ่มเติมกันใหม่ แต่ละวันก็จะมีศรัทธาถือกระป๋องรับเงินบริจาคเงิน พวกที่มาก็ช่วยกันบริจาคไม่ใช่บริจาคมากเป็นร้อยเป็นพันเหมือนสมัยนี้ คนละสตางค์สองสตางค์แต่ก็ได้ทุกวันนำถวายครูบาฯเป็นค่าใช้จ่าย”
นอกเหนือจากบารมีของครูบาศรีวิชัยที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสจากผู้คนทั่วไปทำให้มีประชาชนหลายเผ่าพันธ์มาร่วมแรงกันสร้างแล้ว ความสำเร็จส่วนหนึ่งเพราะมีศรัทธาหลักร่วมสนับสนุนกันหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแก้วนวรัฐ หลวงศรีประกาศ ขณะเป็น ส.ส.เชียงใหม่ พระยาอนุบาลพายัพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น ครูบาเถิ้ม ขุนกันชนะนนท์ เถ้าแก่โหงวเตี่ยเมี่ยงไถ่ ขุนกันชนะนนท์และคนอื่นๆ
หากพิจารณาความสำคัญของผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยแล้ว ครูบาเถิ้มน่าจะมีส่วนอย่างมากในความสำเร็จครั้งนี้ เนื่องจากมีความสามารถทางสล่าหรือช่าง ได้ร่วมวางแผนตัดเส้นทางคร่าวๆ จนถึงดอยสุเทพ อีกทั้งได้ปักแนว แบ่งระยะ มอบหมายงานให้ผู้มาช่วยแรงจนส่งผลให้งานรุดนี้อย่างรวดเร็ว
ผู้ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยรองมาเป็นอันดับที่สอง น่าจะต้องเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง หากขาดผู้นี้แล้วงานครั้งนี้คงยากที่จะสำเร็จอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เจ้าของวัสดุก่อสร้างครั้งนี้ คือ เถ้าแก่โหงวหรือนายโหงว แซ่เตียน ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น เตี่ยเมี่ยงไถ่ เจ้าของร้านวัสดุก่อสร้างย่านสันป่าข่อย ชื่อร้านเตี่ยเมี่ยงไถ่ ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น
เถ้าแก่โหงว เป็นศรัทธาที่ใกล้ชิดกับครูบาศรีวิชัยมานาน ตั้งแต่ครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดพระสิงห์มาแล้ว มักติดตามครูบาฯ ไปเสมอ ช่วงที่ครูบาศรีวิชัย ตกลงใจทำถนนขึ้นดอยสุเทพ เถ้าแก่โหงวนำจอบเสียบมาบริจาคนับเป็นคันรถ และเนื่องจากเป็นศรัทธาหลักมีความซื่อสัตย์เป็นที่ยอมรับของครูบาศรีวิชัย จึงได้รับมอบหมายให้จัดการเรื่องเงินและด้านการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ทุกเย็นเถ้าแก่โหงวจะขับรถไปรับเงินจากผู้ที่จัดเก็บเงินมาไว้จ่ายค่าวัสดุต่างๆ ที่ครูบาฯสั่งการให้จัดซื้อเพิ่มในการสร้างถนน
เถ้าแก่โหงว มีรถยนต์อยู่คันหนึ่ง จึงใช้เป็นพาหนะรับส่งครูบาฯไปที่ต่างๆ สมัยนั้นรถยนต์มีไม่กี่คัน
เถ้าแก่โหงว เป็นเจ้าของร้านเตี่ยวเมี่ยงไถ่ อยู่สันป่าข่อย นอกจากเป็นตัวแทนขายน้ำมันเชลล์ ขายปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างทั่วไปแล้วเถ้าแก่โหงวยังนำเครื่องยนต์และตัวรถคอกหมูมาจำหน่ายด้วยราคาประมาณ ๑ พันกว่าบาท เมื่อมีผู้ซื้อก็ต่อท้ายเป็นโครงที่เรียกว่า คอกหมูให้ สมัยนั้นรถเก๋งก็มีแล้ว แต่ราคาแพงคือ คันละ ๓ พันถึง ๔ พันบาทไม่ค่อยมีใครซื้อมาใช้ นอกจากเจ้าแก้วนวรัฐ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีและคนรวยอีกไม่กี่คน คิวรถที่เจ้าของรถนำรถคอกหมูมาจอดกันประจำ คือ บริเวณถนนติดริมปิงด้านหน้าคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ ต่อมาคือ ตลาดนวรัฐของเถ้าแก่โอ๊ว สมัยนั้นมีพื้นที่กว้างมีต้นไทรใหญ่รถคอกหมูมักมาจอดใต้ต้นไทร (ยายซิวเฮียง โจลานันท์, สัมภาษณ์)
เถ้าแก่โหงว แซ่เตียน เดินทางมาจากเมืองซัวเกา ประเทศจีนเมื่ออายุ ๑๖ ปี มาอยู่กรุงเทพฯก่อน ต่อมาอายุ ๒๐ ปีเศษ จึงมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐
อาจด้วยมีประสบการณ์การค้าขายจากกรุงเทพฯส่วนหนึ่ง และมีทุนมาบางส่วน ทำให้การค้าขายเจริญรุ่งเรืองโดยใช้เวลาไม่นานก็เป็นเจ้าของที่ดินและสร้างอาคารเป็นตึก ๒ ชั้น ๖ ห้องย่านสันป่าข่อยถัดจากตึกอนุสารสุนทรของหลวงอนุสาร (ปัจจุบันเป็นอาคารบริเวณร้านพิกุลซาละเปา) เปิดเป็นร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง อะไหล่รถยนต์ ชื่อร้าน “เตี่ยวเมี่ยงไถ่” อีกทั้งเป็นเอเยนต์จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัทเชลล์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยน้ำมันส่งทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มาไว้ในคลังน้ำมันที่ถนนเจริญเมือง ไม่ไกลจากร้าน แต่ละอำเภอที่จำหน่ายน้ำมันต้องมารับน้ำมันไปจำหน่ายจากเถ้าแก่โหงว
กิจการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ เป็นคนแรกที่นำรถยนต์บรรทุกที่เรียกว่า “รถคอกหมู” มาจำหน่ายในเมืองเชียงใหม่ มีอู่ต่อกระบะรถบรรทุก กิจการค้าวัสดุก่อสร้างและธุรกิจอื่นของร้านเตี่ยวเมี่ยงไถ่ได้รับการยอมรับว่าใหญ่โตกว่าร้านใดในเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น
เถ้าแก่โหงว มีภรรยา ๒ คน คือ ภรรยาจากเมืองจีน ชื่อ แม่จิงจู แซ่แต้ ไม่มีบุตรธิดา และภรรยาคนสันป่าข่อย ชื่อ แม่อุษา สกุลเดิมคือ ศรีวิชัย มีบุตรธิดา ๕ คน คือ นางจันทัย สัตวีระ, นายอินทชาติ เตี่ยวเมี่ยงไถ่, นางเยาวลักษณ์ ศิรินิรันดร์ (สมรสกับคุณประสพ ศิรินัรันดร์ ทำกิจการร้านทองแม่บุญเรือง) และนายธานี สุวรรณธนาทิพย์ (เจ้าของร้านสยามกิ๊ฟ สมรสกับคุณสมพร บูรณุปกรณ์)
เถ้าแก่โหงว เสียชีวิต ปี พ.ศ.๒๔๙๔ ขณะนั้นอายุ ๙๖ ปี ด้วยโรคมะเร็ง กิจการต้องประสบปัญหา เนื่องจากไม่ได้บุตรรับช่วงต่อ ส่วนบุตรสาวยังเล็กเกินไปไม่สามารถรับผิดชอบกิจการต่อได้ แม้ว่าแม่อุษาจะดำเนินกิจการแทนแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิม กิจการบางส่วนถูกโกงจึงต้องหยุดร้าน ร้านที่สันป่าข่อยจึงปิดปล่อยให้เช่าและบางส่วนขายปี พ.ศ.๒๕๐๑ แม่อุษามาเปิดร้านขายทองรูปพรรณ ชื่อ ร้านทองเรืองสุวรรณ ที่ถนนวิชยานนท์แลพทำกิจการจำหน่ายทองเรื่อยมา ภายหลังเมื่อแม่อุษาเสียชีวิต คุณเยาวลักษณ์ บุตรสาวและครอบครัวมาเปิดร้านทองที่ตรอกข่วงเมรุ ชื่อ ร้านทองแม่บุญเรือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ เรื่อยมา
นอกเหนือจากทำการค้าแล้ว เถ้าแก่โหงวยังศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัยมาก และเพิ่มแรงศรัทธามากขึ้นเมื่อคราวหนึ่งถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงที่หน้าท้องจนเกือบเสียชีวิต จากปัญหาด้านการแข่งขันทางการค้า แต่ครูบาศรีวิชัยให้พรว่าไม่เป็นไร ไม่นานก็หายทำให้มุ่งรับใช้ครูบาศรีวิชัย เรื่อยมา (คุณเยาวลักษณ์ ศิรินิรันดร์, สัมภาษณ์)
ดังนั้น หากนับความสำคัญของผู้ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ อันดับรองจากครูบาเถิ้มนายช่างนักวางแผนผู้ไม่ชมชอบการถ่ายรูปแล้ว รองลงมาที่มีความสำคัญเสมือนเป็นเลขาของครูบาศรีวิชัยยินยันกันว่าคือ เถ้าแก่โหงว เตียวเมี่ยงไถ่ผู้นี้ ผลบุญสืบถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ครูบาศรีวิชัย เป็นหลักในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ หลังจากบูรณะวัดพระสิงห์ วัดสวนดอกเรียบร้อยแล้ว หากนับไปแล้วก็เป็นเวลาถึง ๖๘ ปีมาแล้ว ผู้ที่อยู่ทันเหตุการณ์ต่างก็ล้มหายตายจากกันไปมากต่อมาก คนที่อยู่ทันเหตุการณ์ส่วนใหญ่ขณะนั้นก็มักยังเป็นเด็กได้มีโอกาสติดตามพ่อแม่ไปช่วยครูบาศรีวิชัยบ้าง บางคนในขณะนั้นก็เริ่มเป็นวัยรุ่นพอทราบเหตุการณ์
สอบถามผู้สูงอายุที่ทันเหตุการณ์ว่าผู้ที่เป็นหลักในการช่วยเหลือครูบาศรีวิชัย ส่วนใหญ่มักเรียงลำดับให้ครูบาเถิ้ม มาเป็นอันดับแรก ต่อมาคือ เถ้าแก่โหงว เตี่ยเมี่ยงไถ่ ซึ่งความจริงแล้ว คงยากที่จะระบุว่าใครช่วยมากช่วยน้อย แต่ต่างก็ช่วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการในขณะนั้น เชื่อว่าโดยศักยภาพแล้วคงช่วยครูบาฯ ได้มากมาย
เจ้านายฝ่ายเหนือสมัยนั้นที่เป็นหลัก คือ เจ้าแก้วนวรัฐ ส่วนข้าราชการผู้เป็นใหญ่ในเชียงใหม่ คือ หลวงศรีประกาศ อดีตทนายความ ขณะที่ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรชุดแรกของเชียงใหม่อีกคนหนึ่งคือ พระยาอนุบาลพายัพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น
พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ
เจ้านายฝ่ายเหนือสมัยนั้นที่เป็นหลัก คือ เจ้าแก้วนวรัฐ ส่วนข้าราชการผู้เป็นใหญ่ในเชียงใหม่ คือ หลวงศรีประกาศ อดีตทนายความ ขณะที่ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรชุดแรกของเชียงใหม่อีกคนหนึ่งคือ พระยาอนุบาลพายัพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น
พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นเจ้าที่ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย (องค์ที่ ๙) ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๕ เป็นราชบุตรของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ กับแม่เจ้าเขียว นามเดิมว่า “เจ้าแก้ว” รับราชการได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ดังเช่น ปี พ.ศ.๒๔๒๐ รับมอบหมายจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ คุมราษฎรจากเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน จำนวน ๓๐๐ ครอบครัวไปตั้งรกรากใหม่ที่เมืองเชียงแสนซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองร้าง ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๓๓ นำกำลังปราบปรามขับไล่พญาผาบที่ส้องสุ่มผู้คนก่อกบถ ที่เขตสันทรายจนหลบหนีไป ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ตามลำดับ คือ เป็นเจ้าราชภาคินัย เจ้าสุริยวงศ์ เจ้าราชวงศ์ เจ้าอุปราชและเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ ในปี พ.ศ.๒๔๕๔
เจ้าแก้วนวรัฐ สมรสกับเจ้าแม่จามรี ธิดาของเจ้าราชภาคินัย (แผ่นฟ้า) มีบุตรธิดา คือ เจ้าอุตรการกุศล (เจ้าน้อยสุขเกษม ณ เชียงใหม่), เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ (สมรสกับเจ้าราชภาคินัย-เจ้าน้อยเมืองชื่น ณ เชียงใหม่) และเจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่)
ต่อมาสมรสกับเจ้าหญิงไฝ หม่อมบัวเขียว และหม่อมแส กับหม่อมเขียว มีบุตรธิดา ๓ คน คือ เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ (สมรสกับแม่จันทร์สม), เจ้าหญิงศิริประกาย ณ เชียงใหม่ (สมรสกับเจ้ากาวิละวงค์ ณ เชียงใหม่) และเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ (สมรสกับเจ้าหญิงสุคันธา ธิดาเจ้าฟ้ารัตนะ เมืองเชียงตุง)
เจ้าแก้วนวรัฐ มีคุ้มอยู่ที่ริมแม่น้ำปิง เป็นไม้สักสองชั้นอยู่ใกล้ตลาดวโรรส ซึ่งเป็นบริเวณตลาดนวรัฐในปัจจุบันนี้ คือ บริเวณร้านทองโอ๊วจินเฮง เรียกกันว่า “คุ้มเจ้าแก้ว” ซึ่งหลังจากเจ้าแก้วนวรัฐถึงพิราลัยในปี พ.ศ.๒๔๘๒ แล้ว คุ้มเจ้าแก้วขายให้นายชู โอสถาพันธ์ ต่อมาจึงรื้อและสร้างเป็นตลาดนวรัฐ
คุณหญิงระวีพันธุ์ สุจริตกุล ธิดาของเจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าแก้วนวรัฐ เล่าเรื่องคุ้มว่า “เจ้าปู่ชอบทำอะไรที่ทันสมัย ชอบสร้างตึกสมัยใหม่แบบยุโรป ดังนั้นจึงได้เห็นคุ้มที่พักอาศัยรุ่นหลังๆ จึงมักเป็นตึก นอกจากคุ้มที่เป็นไม้สักในตลาด เจ้าปู่ได้สร้างคุ้มเจดีย์กิ่ว (สถานกงสุลอเมริกันในปัจจุบัน) เดิมเจ้าปู่ไปอยู่กับเจ้าศิริประกาย ลูกสาว ซึ่งแต่งงานกับเจ้ากาวิละวงศ์ แต่ตอนหลังเลิกกัน เจ้าศิริประกาย เป็นแม่ของเจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ ต่อมาคุ้มเจดีย์กิ่วนี้มอบเป็นที่พักของพระราชชายาเจ้าดารัศมีหลังจากเสด็จกลับจากกรุงเทพฯ มาประทับที่เชียงใหม่แล้วภายหลังพระราชชายาไปสร้างคุ้มที่แม่ริม ไปอยู่ที่แม่ริมนานแต่กลับมาสิ้น (เสียชีวิต) ที่คุ้มรินแก้ว ที่ถนนห้วยแก้ว”
“คุ้มรินแก้ว ปัจจุบันอยู่ข้างห้างสรรพสินค้ากาดสวนแก้ว ถนนห้วยแก้ว เจ้าปู้สร้างเช่นกัน (สร้างปี พ.ศ.๒๔๗๐) และไปอาศัยอยู่ระยะหนึ่ง ภายหลังมอบให้เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ บุตรชาย ส่วนคุ้มในตลาด เจ้าป้าบัวทิพย์ ลูกของเจ้าปู่พักอาศัย เจ้าป้าบัวทิพย์ไม่มีลูก มีลูกเลี้ยงคนหนึ่ง คือ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่”
“เมื่อเจ้าปู่สิ้น คุ้มในตลาดเป็นทรัพย์สมบัติรวมของรุ่นลูก มีการขายให้นายชู โอสถาพันธ์ ส่วนคุ้มเจดีย์กิ่วเป็นมรดกของเจ้าศิริประกาย ลูกสาวซึ่งเจ้าศิริประกายเสียชีวิตก่อนเจ้าปู่ไม่กี่เดือน คุ้มเจดีย์กิ่วจึงตกเป็นของลูกๆของเจ้าศิริประกาย ซึ่งมี ๓ คน คือ เจ้าพงษ์กาวิล เจ้าศิริประกาย และเจ้ากอแก้วประกายวิล เนื่องจากทุกคนพักอาศัยอยุ่ที่กรุงเทพฯ จึงขายให้กับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกงสุนอเมริกาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ๓๐ ปี ส่วนคุณพ่อ คือ เจ้าราชบุตร แยกไปสร้างคุ้มตรงข้ามเทศบาลนครเชียงใหม่”
เจ้าแก้วนวรัฐ มีความศรัทธาในตัวครูบาศรีวิชัยมาก ร่วมทำบุญกับครูบาศรีวิชัยทั้งการบูรณะทั้งวัดพระสิงห์และวัดสวนดอก นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพประสบความสำเร็จ โดยการสนับสนุนครูบาศรีวิชัย และเชื่อว่าค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยมาจากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าแก้วนวรัฐ ถึงพิราลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ขณะอายุ ๗๗ ปี (หนังสือเพ็ชรล้านนา โดยปราณี ศิริธรและสัมภาษณ์คุณหญิงเจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล)
หลวงศรีประกาศ
หลวงศรีประกาศ ชื่อเดิม คือ ฉันท์ วิชยาภัย เกิดปี พ.ศ.๒๔๒๘ ที่จังหวัดจันทบุรี และเริ่มต้นรับราชการเป็นครู ต่อมาเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีที่อำเภอท่าใหม่ จันทบุรี ไม่นานลาออกติดตามพระยามโหสถศรีพิพัฒน์ ผู้พิพากษาจังหวัดจันทบุรี ซึ่งภายหลังย้ายมาเป็นอธิบดีศาลต่างประเทศและตำแหน่งข้าหลวงพิเศษมณฑลพายัพที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ขณะนั้นนายฉันท์ วิชยาภัย อายุได้ ๒๔ ปี ทำหน้าที่เสมียนศาลและพักอยู่ที่บ้านพักราชการศาลใกล้สะพานนวรัฐและได้พบรักกับแม่เรือนแก้ว ไชยวัณณ์ ซึ่งมีบ้านอยู่เชิงสะพานนวรัฐด้านตะวันออก ฝั่งตรงกันข้ามคนละฝั่งกับแม่น้ำปิง หลังแต่งงาน ได้ไปซื้อที่ดินติดกับบ้านของนายศรีโหม้ วิชัย ใกล้โบสถ์คริสเตียน ต่อมาจึงซื้อบ้านไม้สักของนายศรีโหม้ ซึ่งต่อมา คือ โรงแรมศรีประกาศ
นายฉันท์ วิชยาภัย ยังคงรับราชการอยู่ที่ศาลมณฑลพายัพ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงศรีประกาศ” ขณะเดียวกันก็ศึกษาเล่าเรียนวิชากฎหมายทางไปรษณีย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จนสำเร็จวิชากฎหมายมีสิทธิประกอบอาชีพทนายความ หลวงศรีประกาศ ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพเป็นทนายความอย่างถาวร เมื่อหลวงโยนการพิจิตร คหบดีค้าไม้แห่งย่านถนนเจริญประเทศว่าจ้างให้ว่าคดีเรื่องการค้าไม้ คู่ความคือบริษัทค้าไม้ต่างชาติ และว่าความชนะคดี ว่ากันว่าได้รับเงินค่าจ้างว่าความมากพอสร้างตัวได้ทีเดียว
หลวงศรีประกาศ เป็นทนายความจนมีชื่อเสียง และคาดว่าเป็นที่เชื่อถือของชาวเชียงใหม่ เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ หลวงศรีประกาศสมัครรับเลือกและได้รับเลือกเป็น ส.ส.รุ่นแรกของจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับพระพินิจธนากร (บุญเพ็ง ยุกตะนันท์) จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐ จึงออกจากการเป็น ส.ส.และเปลี่ยนมาเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้รับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลเชียงใหม่หลายสมัย ได้ชื่อว่ามีส่วนในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่มากมาย หลวงศรีประกาศเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ขณะอายุ ๘๓ ปี
หลวงศรีประกาศ สมรสกับแม่เรือนแก้ว ไชยวัณณ์ ธิดาของนายกัณทาและนางสุกัณทา ไชยวัณณ์ ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน และรับแม่บัวซอน วิชยาภัย ซึ่งเป็นหลานสาวมาเป็นบุตรบุญธรรม ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี ขณะเป็น ส.ส.เชียงใหม่ ได้ร่วมกับเจ้าแก้วนวรัฐ ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพจนสำเร็จ
พระยาอนุบาลพายัพกิจ ชื่อเดิม คือ ปุ่น อาสนจินดา (เป็นลุงของนายสมชาย อาสนจินดา นักแสดงที่รู้จักกันในนาม ส.อาสนจิตดา) เกิดปี พ.ศ.๒๔๓๐ (เสียชีวิต พ.ศ.๒๕๑๑) เป็นบุตรของค้วนและนางกิ๋ง อาสนจินดา ภูมิลำเนาเดิมเป็นชาวกรุงเทพฯ การศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ จากโรงเรียนอัสสัมชัญ เข้ารับราชการเป็นเสมียนโท กรมสรรพากรนอก กระทรวงมหาดไทย ต่อมาโอนมาเป็นข้าหลวงมหาดไทย และย้ายไปรับราชการหลายจังหวัด เริ่มรับราชการทางภาคเหนือ โดยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ต่อมาย้ายเป็นปลัดมณฑลจังหวัดน่าน และย้ายมาเป็นปลัดมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ ในปีพ.ศ.๒๔๗๑ ซึ่งก็คือ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่อีก ๙ ปีต่อมาคือ ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เลื่อนเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่
ปีพ.ศ.๒๔๘๑ พระยาอนุบาลพายัพกิจถูกกระทบกระเทือนจากกระแสการเมือง ย้ายไปเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดอุบลราชธานี อีก ๖ เดือนต่อมาจึงลาออกจากราชการ ขณะอายุ ๕๑ ปี และมาพักอาศัยพร้อมครอบครัวอยู่ในเมืองเชียงใหม่จนเสียชีวิต ในปี พ.ศ.๒๕๑๑
ระหว่างที่รับราชการเป็นปลัดมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ พระยาอนุบาลพายัพกิจ ได้สร้างประโยชน์ให้เมืองเชียงใหม่ไว้เช่น ขอสร้างสถานีอนามัยใกล้ตลาดนวรัฐ เริ่มต้นจัดงานฤดูหนาวจังหวัดเชียงใหม่จนสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
ด้านครอบครัว สมรสกับนางละม่อม สกุลเดิม โหมดนิ่มนวล ชาวกรุงเทพฯ ธิดา ๑ คน คือ นางชุ่มใจ อนุบาลพายัพกิจ เมื่อนางละม่อมเสียชีวิต ต่อมาได้สมรสกับคุณหญิงอนุบาลพายัพกิจ นามเดิม คือ รังสาด สกุลเดิม สินธวณิก ชาวกรุงเทพฯ มีบุตรธิดา คือ ศ.พ.อ.พูนพล อาสนจินดา, นายเพิ่มพล อาสนจินดา, นางเสนอบุณย์ อาสนจินดาและบุตรบุญธรรม ๑ คน คือ นางกรรณิการ์ อาสนจินดา
มีบ้านพักอยู่ถนนเมืองสมุทร เป็นบ้านไม้มีบริเวณกว้าง ต่อมามีการสร้างตลาดเมืองใหม่ด้านข้าง รุ่นลูกจึงต้องขายบ้านนี้ (คุณเจริญ ตาคำ, สัมภาษณ์) ช่วงที่ดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนครูบาศรีวิชัยการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ
นอกเหนือจากนี้ยังมีบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือครูบาศรีวิชัย ซึ่งพระครูมงคลศีลวงศ์ ประธานศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นและนายหนานปวงคำ ตุ้ยเขียว ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ “ปรัวัติบุคคลสำคัญที่ได้รับประกาศเชิดชูเกียรติคุณ วันครบรอบ ๕๐ ปีสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ” เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ รวบรวมรายชื่อไว้ คือ
พระสุนทโร เจ้าอาวาสวัดพันตอง เกิดที่บ้างฮ่อม ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีความสารถทางด้านกวีและ พิธีด้านศาสนาล้านนา ได้ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยโดย แต่งบทร้อยกรองเกี่ยวกับประวัติของครูบาศรีวิชัย การบูรณะวัดสวนดอกและการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จึงเสมือนเป็นการประชาสัมพันธ์งานของ ครูบาศรีวิชัยในขณะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและมาร่วมสร้างถนน พระสุนทโร มรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๘๐
พญาไชยธาตุ ชื่อเดิม คือ ไชย เกิดที่ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ บิดาเป็นกำนัน มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลบำรุงพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อบิดาเสียชีวิตลง พญาไชยธาตุจึงรับหน้าที่นี้ต่อไป ในสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ คราวเมื่อมีพายุใหญ่พัดวิหารรอบพระธาตุดอยสุเทพเสียหาย เจ้าอินทวิชยานนท์ได้ประกาศบอกบุญเรี่ยไรเงินมาบูรณะ ก็ได้พญาไชยธาตุนี้เป็นแกนนำในการเรี่ยไรเงินและบูรณะจนสำเร็จ เจ้าอินทวิชยานนท์ จึงตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พญาไชยธาตุ” ต่อมาเมื่อเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ต่อมานิมนต์ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ พญาไชยธาตุ ได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลืออำนวยความสะดวก อีกทั้งนำกำลังชาวบ้านมาช่วยทำถนน นอกจากนี้ยังรับหน้าที่ด้านน้ำดื่ม อาหารการกิน จนถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จด้วยดี หลังจากนั้นไม่นานพญาไชยธาตุก็เสียชีวิต
ขุนกันชนะนนถี มีเชื้อสายพม่า มาประกอบอาชีพค้าขายที่เมืองแม่ฮ่องสอน ต่ามามาค้าขายในเมืองเชียงใหม่และได้ภรรยา คือ แม่วันดี มีบ้านอยู่วังสิงห์คำ ใกล้ที่ทำการเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นศรัทธาของครูบาศรีวิชัยและได้ร่วมกับครูบาศรีวิชัยในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ โดยเฉพาะช่วงที่เป็นทางชันก่อนถึงพระธาตุดอยสุเทพและเป็นเส้นทางโค้ง เส้นทางเป็นหินซึ่งยากลำบากในการสร้าง ขุนกันชนะนนถี ได้อาสาจากครูบาศรีวิชัยขอรับผิดชอบดำเนินการในช่วงนั้น และได้นำลูกน้องและใช้ทุนทรัพย์สร้างเส้นทางช่วงนั้นจนเสร็จสิ้น ทางการจึงเรียกทางโค้งชันก่อนถึงพระธาตุดอยสุเทพนั้นว่า “โค้งขุนกัน” เพื่อเป็นเกียรติประวัติ
ขุนเปาเปรมประชา หรือ กำนันอินถา ไชยซาววงศ์ เป็นชาวอำเภอสันกำแพง เคยเป็นครูสอนที่วัดสันกำแพง และเป็นผู้นำในการช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆขุนเปาเปรมประชา มีความศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา และศรัทธาในครูบาศรีวิชัยเป็นอย่างมาก ได้ร่วมช่วยเหลือครูบาศรีวิชัย ในการบูรณะวัดต่างๆขณะครูบาศรีวิชัย สร้งถนนขึ้นดอยสุเทพ ขุนเปาเปรมประชาได้รวบรวมชาวบ้านเดินทางไปช่วยเหลือทำถนนอย่างต่อเนื่องจากถนนสำเร็จเสร็จสิ้น
พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ ชาวบ้านฮ่อม อำเภอเมืองเชียงใหม่เคยบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพันตอง ต่อมาสนใจด้านกฎหมายจึงเรียนวิชากฎหมายและรับราชการในคุ้มหลวงของเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ช่วยเหลืองานในราชการจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์” และต่อมามีอาชีพทนายความ ผลงานสำคัญของพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ คือโครงการทำฝายกั้นแม่น้ำปิงหน้าค่ายกาวิละเพื่อนำน้ำปิงส่งไปสู่ไร่นาฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิงนับหมื่นไร่ให้มีน้ำใช้ตลอดปี ผลงานนี้ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ได้ทำไร่ทำนาได้ตลอดทั้งปี ประชาชนจึงเรียกเหมืองหรือคลองส่งน้ำนี้ว่า “เหมืองพญาคำ” นอกจากนี้ยังได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัวสร้างศาลาพักสำหรับคนเดินทางและให้ญาติผู้ป่วยได้พักที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ๑ หลัง อยู่มุมทิศตะวันตกของสี่แยกประตูสวนดอก (ในสมัยนั้น) ต่อมาเทศบาลขยายไหล่ทางจึงรื้อศาลาหลังนี้ออกไปสร้างใหม่ที่สุสานหายยาชาวบ้านเรียกศาลาหลังนี้ว่า “ศาลาพญาคำ” พญาคำวิจิตรฯศรัทธาในพุทธศาสนาชอบศึกษาหลักธรรมะ มักไปนอนที่วัดถือศีลเสมอ เมื่อครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ พญาคำวิจิตรฯ ได้ร่วมประสานงานกับทางราชการและเอกชน ช่วยเหลือจนถนนเสร็จเรียบร้อย พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ มีภรรยาชื่อ นางแสนคำ บุตรธิดา ๕ คน เสียชีวิตปี พ.ศ.๒๔๙๒
หากขึ้นดอยสุเทพเพื่อนมัสการพระธาตุดอยสุเทพที่ศักดิ์สิทธิ์นอกเหนือจากแวะกราบไหว้อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยแล้ว ระหว่างการเดินทางที่สูงชันยากลำบากในการเดินทาง หากระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพก็จะเป็นบุญกุศลอีกทางหนึ่งด้วย
cr. เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เชียงใหม่ พ.ศ.2513(สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่ม5)/ พ.ต.อ.อนุ เนินหาด
โฆษณา