15 พ.ย. 2020 เวลา 11:06 • ประวัติศาสตร์
แน่นอนว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินตำนานพระแก้วมรกตกันกันพอสมควรนะคะ แต่รู้หรือไม่คะว่ากว่าพระแก้วมรกตจะทรงเสด็จมาประดิษฐานที่วัดพระแก้วในพระบรมหาราชวังอย่างในทุกวันนี้ได้เนี่ย พระแก้วมรกตต้องทรงเดินทางมายาวนานกว่า 350 ปีกันเลยทีเดียวละคะ
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
วัดพระแก้ว เชียงราย
โดยเรื่องราวของพระแก้วมรกตนั้นได้ปรากฏชัดขึ้นในปี พ.ศ. 1977 คะโดยค้นพบที่วัดป่าญะ ตำบลเวียง เมืองเชียงราย ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย นั้นเอง โดยว่ากันว่าในวันหนึ่งฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงได้พบกับพระพุทธรูปที่ถูกพอกด้วยปูนแล้วลงรักปิดทองทับอยู่จึงได้นำไปไว้ในพระวิหาร ต่อมาเมื่อปูนบริเวณพระนาสิก (จมูก) เกิดกระเทาะออกจึงได้เห็นเนื้อหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดั่งมรกตภายใน จึงพากันกระเทาะปูนออกจากองค์ทั้งหมดคะ
2
พระแก้วเชียงรายจำลอง
การเดินทางครั้งที่ 1
ชาวเมืองก็ต่างพากันแตกตื่นฮือฮาไปนมัสการบูชากันอย่างล้นหลาม เมื่อท้าวเพี้ยพระยาผู้รักษาเมืองทราบข่าว จึงได้มีใบบอกไปยังพระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้ปกครองเชียงรายในขณะนั้น จากนั้นพระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้จัดขบวนช้างแห่ไปรับพระแก้วมรกตมายังนครพิงค์เชียงใหม่
เมื่อขบวนช้างได้แห่มาถึงสามแยกทางไปเมืองนครลำปาง ได้เกิดอาการแตกตื่นวิ่งเตลิดเปิดเปิง ไปทางเมืองนครลำปาง ควาญช้างก็ไปนำกลับมาแล้วให้ออกเดินทางไปเชียงใหม่อีกครั้ง แต่ช้างก็ตื่นเตลิดเปิดเปิงไปทางนครลำปางอีก แม้จะเปลี่ยนช้างที่เชื่องมากี่เชือกก็ตาม ช้างก็จะตื่นไปทางเมืองลำปางเช่นเดิม
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีใบบอกไปทางเมืองเชียงใหม่และด้วยความที่พระเจ้าสามฝั่งแกนนั้นที่นับถือผี ทรงวิตกกังวลว่าผีที่รักษาองค์พระแก้วนั้นไม่ยอมมาเมืองเชียงใหม่หาฝืนคงเกิดอาเพศ จึงได้ยอมให้อัญเชิญพระแก้วลงประดิษฐานไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้านครลำปางนั้นเองคะ
1
วัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง
การเดินทางครั้งที่ 2
แก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้าเมืองลำปางเป็นเวลายาวนานถึง 32 ปี ครั้นเมื่อถึง พ.ศ.2011 พระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่พระองค์ใหม่ก็ดำริว่า ถึงเวลาที่ต้องอันเชิญพระแก้วนั้นมายังนครพิงค์แล้ว จึงไดส่งขบวนอันใหญ่หลวงแห่แหนไปอัญเชิญพระแก้วมายังเชียงใหม่
แลได้สร้างปราสาทยอดสูงหวังจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้ว แต่ก็ถูกฟ้าผ่าหลายครั้งจนต้องเลิกล้มความตั้งใจไปในที่สุด จึงได้อัญเชิญพระแก้วนั้นไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารที่มีซุ้มจระนำอยู่ในผนังด้านหลัง พร้อมเครื่องประดับอาภรณ์ต่างๆ มีบานปิดเป็นตู้เก็บรักษาอย่างมิดชิดและเปิดให้ผู้คนนมัสการได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น
1
การเดินทางครั้งที่ 3
หลังจากที่พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่กว่า 84 ปี จนถึง พ.ศ.2095 ก็ต้องทรงเสด็จออกเดินทางอีกครั้ง เมื่อเจ้าไชยเชษฐาธิราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น แลเป็นบุตรของพระเจ้าโพธิสาร เจ้าเมืองหลวงพระบาง และพระนางยอดคำธิดาเจ้านครเชียงใหม่ แลยังเป็นพระราชนัดดาหลานยายในสมเด็จพระอัยยิกาเจ้ามหาเทวีจิรประภาอีกด้วย
เหตุการณ์การโยกย้ายพระแก้วไปยังอาณาจักรล้านช้างนั้น เกิดขึ้นเมื่อครั้นที่พระเจ้าโพธิสาร พระราชบิดาในเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงสิ้นพระชนม์ แผ่นดินล้านช้างไร้ผู้ปกครอง พระองค์จึงต้องทรงเสด็จกลับไปยังล้านช้างเพื่อปกครองต่อจากพระราชบิดา โดยในการนี้พระองค์ได้ทรงเสด็จกลับไปพร้อมพระราชมารดา และสมเด็จพระอัยยิกาเจ้ามหาเทวีจิรประภา ผู้เป็นยายของพระองค์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วยโดยอ้างว่าจะนำไปให้ญาติวงศ์และประชาชนชาวล้านช้างได้นมัสการบูชา แล้วจะนำกลับคืนมาให้ในภายหลัง แต่จนแล้วจนรอดในที่สุดพระแก้วมรกตก็ไม่ได้ทรงเสด็จกลับไปยังนครพิงค์เชียงใหม่อีกเลย
5
หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์
การเดินทางครั้งที่ 4
พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบางราว 12 ปี จนเมื่อเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงลงมาตั้งเมืองแปลงเมืองใหม่ที่กรุงเวียงจันทน์ จีงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตเสด็จลงมาด้วย พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ยาวนานมากถึง 215 ปี
การเดินทางครั้งที่ 5
จนในปี พ.ศ.2321 ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพใหญ่ได้ขึ้นไปตีล้านช้างเวียงจันทน์ จนได้เมืองมาอยู่ในขอบขัณฑสีมาแล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมากรุงธนบุรีด้วย พระเจ้าตากสินมหาราชท่านจึงทรงโปรดให้สร้างหอพระแก้วขึ้นที่หลังพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามในพระราชวัง และนำพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานไว้
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2325 จึงทรงย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
และโปรดให้สร้างวัดพระแก้วขึ้นเพื่อใช้ในประดิษฐานพระแก้วมรกพระราชทานนามว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”
แลใส่นามพระแก้วนั้นไว้ในชื่อเมืองว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา” ซึ่งมีความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีผู้ใดรบชนะได้นั้นเอง
และนี้ก็คือเรื่องราวของการเดินทางที่แสนจะยาวนานขององค์พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา ก่อนที่จะทรงมาประดิษฐานถาวร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมหาราชวังนั้นเองค่ะ
Le Siam
"สยาม ... ที่คุณต้องรู้"
เขียนและเรียบเรียงโดย : Le Siam
อ้างอิง
- จดหมายเหตุการสร้างเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร,กรมธนารักษ์,กระทรวงการคลัง จัดทำ และพิมพ์ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
- หนังสือรัตนพิมพ์วงศ์ พระภิกษุพรหมราชปัญญา แต่งเป็นภาษาบาลีไว้ เมื่อ พ.ศ. 2272
1
- ภาพจาก rattanakosinislandguide , pattamafreedoms , ผู้จัดการ, ไทยรัฐออนไลน์
โฆษณา