15 พ.ย. 2020 เวลา 12:48 • ประวัติศาสตร์
จูเลียส ซีซาร์ คลีโอพัตรา และมาร์ค แอนโทนี่
การเมืองเป็นเรื่องสกปรกมาตั้งแต่มนุษย์รวมตัวกันอยู่เป็นสังคม นักการเมืองและชนชั้นปกครองล้วนแล้วแต่ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพยายามรักษาตำแหน่งไว้ให้นานที่สุด
อันนี้ไม่ได้พูดถึงเมืองไทยนะครับ แต่หมายถึงทั้งโลกน่ะแหละ ชนชาติไหน ภาษาไหน ยุคไหน สมัยไหน เหมือนกันทั้งนั้น
"โรมัน" เป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่อย่างมากรวมระยะเวลาเกือบพันปี ก่อนจะเสื่อมอำนาจลงในคริสตร์ศตวรรษที่ 5 การเมืองการปกครองของโรมันเป็นเรื่องราวให้ศึกษาทั้งในแง่ระบบ กฏหมาย และสังคม แต่ผมไม่ได้จะมาวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ให้ฟังนะครับ ผมจะมาเล่าถึงบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของโรมันสามคนคือ จูเลียส ซีซาร์ คลีโอพัตรา และ มาร์ค แอนโทนี่
เอ คลีโอพัตรา เป็นราชินีอียิปต์มิใช่หรือ แล้วมาเกี่ยวอะไรกับโรมัน ค่อยๆติดตามไปครับ ก่อนอื่นเรามารู้จักกับโรมันก่อน
โรมัน เป็นอาณาจักรที่ปกครองด้วยกษัตริย์มาตั้งแต่ ปี 753 ก่อน คศ. จนกระทั้งในปี 509 ก่อน คศ. กษัตริย์ทาควินที่สอง ซึ่งเป็นองค์ที่ 7 ของอาณาจักร ได้ถูกโค่นล้มและขับไล่ออกจากโรมโดยกลุ่มการเมือง ซึ่งประกอบด้วยนายทุนและทหาร จากนั้น "สาธารณรัฐโรมัน" ก็เริ่มต้นขึ้น
สาธารณรัฐ หมายถึงรัฐที่ปกครองโดยสาธารณะ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง แต่ชาวโรมันก็ยังแบ่งแยกชนชั้นกันอย่างชัดเจนระหว่างชนชั้นปกครอง นายทุน และนายทหารระดับสูง กับพ่อค้า ประชาชน ผู้ใช้แรงงาน และนายทหารระดับล่าง ชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์เป็นสมาชิกสภาซีเนต สภาจะเลือก "กงศุล" ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารการปกครองของโรม
โรมสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารออกไปกว้างไกลมาก จนชาวโรมันเชื่อว่า โรมเป็นศูนย์กลางของโลก ดังคำกล่าวว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่โรม นอกจากนี้พวกเขายังคิดว่า ชาวโรมันเป็นชนชาติที่สูงส่ง ชนชาติอื่นเป็นพวกป่าเถ่ือน ชั้นต่ำ เหมือนความคิดที่นาซีปลูกฝังให้คนเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไม่มีผิด
จนถึงราว 50 ปีก่อน คศ. ยุคที่โรมมีกงศุลนามว่า ปอมเปอีย์ และมีแม่ทัพผู้มากความสามารถชื่อ จูเลียส ซีซาร์ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสาธารณรัฐโรมันจึงได้เริ่มต้นขึ้น อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน สนุกสนานตื่นเต้น
การเกิดขึ้นของสาธารณรัฐโรมัน เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนจากอำนาจอยู่ในมือคนคนเดียว มาเป็นอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง และคนกลุ่มนี้ก็ประหัตประหารฟาดฟันกันเพื่อแย่งชิงอำนาจและรักษาผลประโยชน์ของตนไม่ต่างไปจากระบอกกษัตริย์ เสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นเพียงคำกล่าวอ้างอันสวยหรูของนักการเมืองเท่านั้น
ปี 79 ก่อน คศ. อำนาจการปกครองโรมอยู่ในมือของ ไกนัส ปอมเปย์ กงศุลแห่งโรม เขาร่วมมือกับนายทหารนามจูเลียส ซีซาร์ และ เครเซียส ควบคุมอำนาจไว้ได้ทั้งหมด
เครเซียสนั้นเสียชีวิตไปก่อน ในขณะทีซีซาร์นำทัพขยายอิทธิพลทางทหารไปกว้างไกลทั่วยุโรป เขาเอาชนะพวกโกล ซึ่งอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน และนำทัพรุกข้ามไปจนถึงเกาะอังกฤษ
ความสำเร็จทางทหารของซีซาร์ ทำให้เขาเป็นที่ชื่นชมของชาวโรมัน ทหารในบังคับบัญชาของซีซาร์รักเขามากเพราะเขาเป็นแม่ทัพที่ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกน้องทุกครั้ง เขาให้ความเป็นกันเองและดูแลทหารในกองทัพอย่างดี เขากลายเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโรมที่ได้รับความนิยมจากประชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ความเป็นที่นิยมของซีซาร์ สร้างความกังวลใจให้ปอมเปย์และสภาซีเนตอย่างมาก ไปไหนใครๆก็พูดถึงแต่ซีซาร์กันทั้งนั้น ปอมเปย์มีหรือจะยอม เขาสั่งให้ซีซาร์หยุดเดินหน้าต่อและกลับมายังโรม แต่ซีซาร์ไม่ทำตาม เขานำทัพบุกไปจนถึงเอเชีย ทำให้ซีซาร์กับปอมเปย์แตกกันเป็นคนละฝ่าย ปอมเปย์มีสภาซีเนตหนุนหลัง แต่ซีซาร์มีประชาชนอยู่ในมือ
เมื่อซีซาร์นำทัพขยายดินแดนไปจนพอใจเขาก็นำทัพกลับมายังโรม ตามกฏหมายของโรม แม่ทัพห้ามนำกองกำลังเขามาในกรุงโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะถือเป็นการกบถต่อสาธารณรัฐ แต่ซีซาร์กลับนำทัพมุ่งหน้าตรงมาที่โรม ปอมเปย์จึงประกาศให้เขาเป็นกบถ ซึ่งซีซาร์ไม่สน เขาเชื่อมั่นว่าประชาชนสนับสนุนเขา
กองทัพของซีซาร์เดินทางมาถึงโรม ปอมเปย์และพรรคพวกจึงไม่กล้าอยู่ ต้องหลบออกไปตั้งหลักที่กรีซและรวบรวมกองทัพเตรียมต่อสู้กับซีซาร์ สงครามครั้งใหญ่ระหว่างชาวโรมันด้วยกันเองจึงเกิดขึ้น
กองทัพของซีซาร์แม้จะเก่งกล้าสามารถเพียงใดแต่ก็มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทัพของปอมเปย์ เพราะอย่างไรเสีย ปอมเปย์ก็เป็นกงศุลผู้มีอำนาจตามกฏหมายของโรม สามารถเรียกรวมพลได้เต็มที่
แม้จะมีกำลังทหารน้อยกว่าหลายเท่า แต่ด้วยขวัญกำลังใจ และความจงรักภักดีของเหล่าทหาร ประกอบกับยุทธวิธีอันชาญฉลาด ทำให้ซีซาร์เอาชนะปอมเปย์ได้ในที่สุด กองทัพของปอมเปย์แตกกระเจิง ตัวเขาเองต้องหลบหนีไปอียิปต์ นายกองและสมาชิกสภาซีเนตคนอื่นๆถ้าไม่หลบหนีไปก็ยอมเข้ามอบตัวกับซีซาร์เพื่อรักษาชีวิต หนึ่งในนั้นคือนายทหารหนุ่มนาม จูนิอัส บรูตัส
จูเลียส ซีซาร์ มีภรรยาชื่อ คัลเพอร์เนีย ในขณะเดียวกันเขามีสัมพันธ์กับสตรีนางหนึ่งนามว่า เซอร์วิเลีย ลูกชายของเซอร์วิเลียคือ จูนิอัส บรูตัส ด้วยความที่ซีซาร์ไม่มีลูก เขาจึงรักและเอ็นดูบรูตัสดั่งลูกชายตนเอง และไอ้ความเอ็นดูนี่แหละที่จะย้อนมาเป็นภัยแก่เขาในภายหน้า
เมื่อเห็นบรูตัสเข้ามามอบตัว ซีซาร์เข้าสวมกอดและต้อนรับบรูตัสราวกับมิได้อยู่คนละฝ่ายในสงครามมาก่อน สร้างความไม่พอใจให้นายทหารบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายทหารคู่ใจมือขวาของซีซาร์นามว่า มาร์คัส แอนโทนิอัส หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อว่า มาร์ค แอนโทนี่
ตัวละครชักเยอะ จำกันไหวไหมนี่ มีอีกหลายตัวนะครับ ยังไม่หมด
ญาติสนิทคนหนึ่งของซีซาร์ เป็นหลานสาวของเขานามว่าแอเทีย โดยซีซาร์มีศักดิ์เป็นอา โดยนางแอเทียนั้นมีสัมพันธ์สวาทอยู่กับมาร์ค แอนโทนี่ ทำให้ช่วงเวลานั้น เธอเป็นสตรีที่มีอิทธิพลสูงมากในโรม เธอมีลูกสองคน คนโตเป็นหญิงนามว่า อ๊อกเทเวีย คนเล็กเป็นชายนามว่า อ๊อคเทเวียน
อย่าเพิ่งงงกับชื่อคนซะก่อนนะครับ สองพี่น้องนี่ชื่อคล้ายกันมาก อ๊อคเทเวียนเวลานั้นเป็นหนุ่มน้อยวัยเพียงสิบสี่สิบห้าปี แต่คนคนนี้แหละที่จะมีบทบาทอย่างมากในเวลาต่อมา
เมื่อทราบว่าปอมเปย์หนีไปที่อียิปต์ ซีซาร์จึงให้แอนโทนี่นำทัพกลับไปโรม ส่วนตัวเขานำกำลังทหารจำนวนหนึ่งติดตามปอมเปย์ไปหมายกำจัดศัตรูให้สิ้นซาก ไม่ให้เป็นภัยต่อไปในอนาคต
เหตุนี้เองที่ทำให้ซีซาร์ได้พบกับหญิงสาวนางหนึ่งซึ่งเป็นราชินีของอียิปต์นาม คลีโอพัตรา อันจะได้เกิดเป็นเรื่องราวตามมาอีกมากมาย เป็นยังไงอดใจรอครับ
ที่จริงแล้วราชินีอียิปต์ที่มีนามว่าคลีโอพัตรามีตั้งหลายคน คนที่เราคุ้นเคยชื่อกันดีนี้เป็นคนที่ 7 และคนสุดท้าย ชื่อเต็มๆของนางคือ คลีโอพัตรา ฟิโลปาเตอร์ หรือ คลีโอพัตราที่ 7 แต่เราเรียกนางเพียงชื่อคลีโอพัตราเท่านั้นก็เข้าใจ
อียิปต์นั้นเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาก่อนโรมหลายพันปี ในขณะที่โรมเรืองอำนาจขึ้นมา อียิปต์ก็ค่อยๆเสื่อมอำนาจลง ราชวงศ์ที่ปกครองอียิปต์เวลานั้นคือราชวงศ์โทเลมี ซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของโรม ต้องพึ่งพาโรมเพื่อสถานะของราชวงศ์ ทั้งด้านการเงินและการทหาร ในขณะที่โรมต้องการเสบียงอาหารจากอียิปต์
เหตุผลที่โรมต้องการขยายอาณาเขตออกไปก็เพื่อทรัพยากรทั้งหลายนี่แหละครับ พืชพันธ์ สัตว์ โลหะ ทอง แรงงานทาส เป็นสิ่งที่ชาวโรมันต้องการเพื่อตอบสนองชีวิตอันหรูหราสุขสบายของชนชั้นสูงในโรม ซึ่งต้องใช้กำลังทหารไปยึดเอาจากชนชาติอื่นๆ
1
เมื่อปอมเปย์รอนแรมไปถึงอียิปต์ เขาคาดว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างดีเพราะเขาสนิทสนมกับฟาโรห์โทเลมีที่ 12 บิดาของคลีโอพัตรา แต่เขากลับถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมทันทีที่ย่างเท้าเหยียบแผ่นดิน
เวลานั้นโทเลมีที่ 12 สิ้นไปแล้วลูกชายวัยสิบเอ็ดขวบเขาครองบัลลังก์เป็นฟาโรห์โทเลมีที่ 14 การปกครองบ้านเมืองทั้งหมดทำโดยเหล่าขุนนาง คลีโอพัตราวัยยี่สิบกว่าต้องแต่งงานกับน้องชายตัวเองเพื่อรักษาสิทธิ์ในการครองตำแหน่ง แต่นางไม่ยอมอยู่ใต้การบงการของขุนนาง จึงถูกขับไล่ออกจากวังไปหลบซ่อนตัวอยู่นอกเมือง
เหล่าขุนนางอียิปต์เห็นว่าปอมเปย์แพ้แก่ซีซาร์ จึงคิดว่าการสังหารปอมเปย์จะทำให้ซีซาร์พอใจ แต่พวกเขาคิดผิดถนัด เพราะเมื่อซีซาร์มาถึงอียิปต์และพบว่าปอมเปย์ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ซีซาร์โกรธมาก และสั่งให้ทางอียิปต์นำตัวคนที่สังหารปอมเปย์มามอบให้ทันที
เพราะอะไรซีซาร์ถึงโกรธที่ปอมเปย์ถูกสังหารทั้งที่เขาเป็นศัตรูทางการเมืองและเพิ่งทำสงครามกันมา
ชาวโรมันนั้นมีความหยิ่งทะนงว่าตนเองเป็นชนชาติที่สูงส่งกว่าชนชาติอื่น แม้ปอมเปย์จะเป็นศัตรูทางการเมืองและการสงคราม แต่เขาก็เคยเป็นถึงกงศุลแห่งโรม ซีซาร์จึงเห็นว่า การมาถูกฆ่าในดินแดนอียิปต์เช่นนี้เป็นการเสื่อมเสียเกียรติอย่างยิ่ง
ความจริงแล้ว หากปอมเปย์ยังไม่ตาย ซีซาร์ก็คงไม่ปล่อยไว้ เพราะเขาเคยพูดว่า ตราบใดที่ปอมเปย์ยังนั่งบนหลังม้าไดั เมื่อนั้นเขายังเป็นตัวอันตราย แต่ทหารที่ตายในการรบ ถือเป็นการตายอย่างมีเกียรติ ซีซาร์จัดงานศพให้ปอมเปย์ตามพิธีกรรมแบบโรมัน เขาให้เกียรติศัตรูของเขาสมกับตำแหน่งแม่ทัพ
เมื่อเสร็จเรื่องปอมเปย์แล้ว ซีซาร์ก็หันมาจัดการเรื่องของอียิปต์ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาขณะที่โรมมีสงครามภายใน อียิปต์ถือโอกาสไม่ส่งเสบียงไปให้ตามข้อตกลงทำให้โรมขาดแคลนอาหาร หากซีซาร์จัดการให้อียิปต์ส่งเสบียงไปได้ ย่อมทำใหัประชาชนชื่นชมเขามากยิ่งขึ้น
สุดยอดนักการเมืองจริงๆ
อียิปต์เวลานั้นมีปัญหาแย่งชิงอำนาจกันอยู่ ระหว่างเหล่าขุนนางที่มีฟาโรห์เด็กน้อยเป็นหนุ่นเชิด กับพระนางคลีโอพัตรา ซีซาร์ต้องการยุติความขัดแย้งนี้ เพื่อให้อียิปต์ดูแลการส่งเสบียงไปได้ตามปกติ เขาจึงให้คนออกตามหาคลีโอพัตราเพื่อนำตัวกลับมา
ฉากการพบกันครั้งแรกของซีซาร์กับคลีโอพัตรา ถูกบรรยายเอาไว้อย่างรัญจวนใจ ทหารโรมันเอาตัวคลีโอพัตราห่อใส่กระสอบจนมิดชิด เพื่อไม่ให้ใครเห็น เมื่อมาถึง ทหารวางกระสอบบนพื้นต่อหน้าซีซาร์ แกะกระสอบออก คลีโอพัตราราชินีผู้เลอโฉมนอนอยู่บนพื้นใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น เปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ นางหันมามองตาซีซาร์ ส่งยิ้ม แล้วยื่นมือให้ซีซาร์ช่วยดึงนางขึ้น
แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งกองทัพโรมันถึงกับตกตะลึงนิ่งอึ้งพูดอะไรไม่ออกเพราะผู้หญิงตัวเล็กๆคนเดียว นานนับปีที่อยู่ในสนามรบ ไม่มีโอกาสใกล้ชิดสตรี เมื่อมาเจอสถานการณ์เช่นนี้ซีซาร์จะรู้สึกอย่างไรได้
เมื่อได้พบคลีโอพัตรา จูเลียส ซีซาร์ คงไม่ลังเลที่จะเลือกสนับสนุนฝ่ายไหนให้มีอำนาจในอียิปต์ โตเลมีที่ 14 และเหล่าขุนนางทั้งหลายโดนเชือดหมดทั้งแก๊งค์
คลีโอพัตราเป็นคนฉลาดพอที่จะรู้ว่า ต้องสร้างสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับซีซาร์ เพื่อให้สถานะราชินิของนางมั่นคงและทำให้อียิปต์ปลอดภัยจากการรุกรานของโรม นางพยายามรั้งซีซาร์ไว้ในอียิปต์ให้นานที่สุด จนกระทั่งนางคลอดบุตรชายให้ซีซาร์หนึ่งคนนามว่า ซีซาเรียน
ความจริงซีซาร์สามารถอยู่ในอียิปต์ไปเรื่อยๆได้อย่างสุขสบาย มีแต่คนปรนิบัติเอาใจ แต่เป้าหมายของเขาคือมีอำนาจสูงสุดในโรม การมาอยู่ในอียิปต์นานเป็นปีทำให้ประชาชนนิยมในตัวเขาลดลง ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านเขาอาจแข็งแรงขึ้น เขาจึงตัดสินในเดินทางกลับ
ซีซาร์โชคดีมากที่มีลูกน้องซื่อสัตย์อย่างมาร์ค แอนโทนี เพราะแอนโทนีดูแลทุกอย่างในโรมไว้อย่างดีเพื่อรอให้ซีซาร์กลับมา
จูเลียส ซีซาร์ ตั้งตัวเองเป็นผู้ปกครองแห่งโรม (The Dictator) ซึ่งมีอำนาจสูงสุดเหนือกงศุลและสภาซีเนต ทำให้สมาชิกสภาซีเนตหลายคนไม่พอใจ หาว่าเขาทำลายระบบสาธารณรัฐและกำลังพยายามทำตัวเป็กษัตริย์ ทำให้เกิดกลุ่มใต้ดินวางแผนต่อต้านซีซาร์อยู่เงียบๆ
ผมรู้สึกว่า การเมืองเมื่อสองพันกว่าปีก่อน แทบไม่ต่างอะไรกับสมัยนี้เลยจริงๆ
ในพิธีฉลองตำแหน่งของซีซาร์ เขาเชิญคลีโอพัตราและลูกชายมาร่วมพิธีด้วย นางคาดหวังว่าซีซาร์จะประกาศให้ซีซาเรียนเป็นทายาทของเขาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกอย่างของซีซาร์ เมื่อเขาตาย แต่ซีซาร์ไม่ได้ทำเช่นนั้น ทำให้คลีโอพัตราเสียใจมาก และกลับไปอียิปต์ด้วยความผิดหวัง
หรือเสน่ห์ยวนใจของนางหมดมนต์ขลังเสียแล้ว ยังหรอกครับ นางยังมีบทบาทต่ออียิปต์และโรมอีกเยอะ
แม้ซีซาร์จะเป็นนักการเมืองที่ทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของตน แต่แนวคิดในการบริหารจัดการการปกครองโรมของเขาก็มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มิใช่ทำเพื่อกลุ่มชนชั้นสูงชาวโรมันอย่างที่เคยเป็นมา
เขาให้ชนชั้นล่างมีโอกาสเลือกหัวหน้าชุมชนเอง แบ่งปันทรัพย์สิน เงินทอง อาหาร ที่ดินทำกินให้คนทุกระดับ และยังแต่งตั้งชนชั้นล่างรวมถึงชนเผ่าโกลเข้าไปเป็นสมาชิกสภาซีเนตอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้ชนชั้นสูงในโรมไม่พอใจ แม้มาร์ค แอนโทนีจะทัดทานเขาก็ไม่ฟัง
สิ่งนี้ยิ่งทำให้กลุ่มต่อต้านซีซาร์ที่เคลื่อนไหวอยู่ลับๆพยายามหาทางโค่นอำนาจเขาให้เร็วยิ่งขึ้น ทางหนึ่งที่จะทำได้คือ ต้องชักชวนคนที่ใกล้ชิดซีซาร์มาเป็นแนวร่วม และคนที่เหาะสมที่สุดก็คือ บรูตัส นั่นเอง
ซีซาร์รักบรูตัสดั่งลูกชาย เพราะความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่กับแม่ของบรูตัส แต่การที่บรูตัสเคยเข้าร่วมกองทัพของปอมเปย์ต่อต้านซีซาร์ ทำให้ความสนิทสนมของทั้งสองคนลดลง
อ๊อคเทเวียน หลานชายของซีซาร์โตเป็นหนุ่มแล้วเวลานั้น ซีซาร์พบว่า เด็กหนุ่มคนนี้ฉลาดเฉลียวเกินวัย มีสนใจศึกษาด้านปรัชญา สังคมและการเมือง เขาจึงมักจะถามความเห็นในเรื่องต่างๆจากอ๊อคเทเวียนเสมอ
วิธีการที่กลุ่มต่อต้านทำให้บรูตัสมาเข้าร่วมคือ ปล่อยข่าวลือไปทั่วโรมว่า บรูตัสคิดทรยศต่อซีซาร์ จากที่ไม่ระแวง ก็ทำให้เขาอดคิดไม่ได้ จึงสั่งให้บรูตัสไปปกครองมาซีโดเนีย แม้จะเป็นตำแหน่งใหญ่ แต่บรูตัสรู้สึกว่าเป็นเพราะซีซาร์ต้องการกันเขาให้อยู่ห่างๆมากกว่าเลื่อนตำแหน่ง บรูตัสจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านในที่สุด
ไอ้วิธีการยุแยงตะแคงรั่วนี่มันได้ผลจริงๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้อยู่เลย
เมื่อได้บรูตัสมาเข้าร่วม แผนการกำจัดซีซาร์ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น
มาร์ค แอนโทนีได้รับแต่งตั้งให้เป็น กงศุลแห่งโรม บรูตัส เป็นถึงหัวหน้าคณะผู้พิพากษา ซึ่งน่าจะเทียบได้กับประธานศาลฎีกาของไทยในปัจจุบัน ในขณะนั้นกลุ่มต่อต้านซีซาร์กำลังวางแผนกำจัดซีซาร์อยู่เงียบๆ โดยมีบรูตัสคอยสนับสนุน
การลอบสังหารในสมัยโรมันทำได้ไม่กี่วิธี ยังไม่มี sniper เอาไว้ลอบยิงระยะไกล ถ้าไม่วางยาพิษก็ต้องหาทางเข้าประชิดตัว ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนอย่างจูเลียส ซีซาร์
บรรดาคนสนิทใกล้ชิดของซีซาร์ทุกคน ล้วนระมัดระวังอย่างละเอียดรอบคอบ ข้างกายเขายังมีนายทหารฝีมือดีคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา แอนโทนี ลูกน้องผู้จงรักภักดีก็มีบารมีสูงและคุมกองทัพจำนวนมาก แคสเซียส ผู้วางแผนจึงเห็นว่า โอกาสที่เหมาะที่สุดในการลงมือคือ กลางที่ประชุมสภานั่นเอง
เช้าวันที่ 15 มีนาคม 44 ปีก่อน คศ. จูเลียส ซีซาร์ เดินทางไปประชุมสภาซีเนต กลุ่มต่อต้าน ส่งคนไปก่อกวนให้แอนโทนีเดินทางมาเข้าประชุมช้ากว่าปกติ ซีซาร์เดินเข้าไปยังห้องประชุมโดยนายทหารติดตามไม่ได้เข้าไปด้วย แอนโทนียังมาไม่ถึง ซีซาร์ยืนอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางศัตรูที่เขาคิดว่าเป็นมิตร
แคสเซียสไม่รอช้ารีบลงมือเป็นคนแรก เขาควักมีดสั้นที่ซ่อนไว้ออกมาจ้วงแทงซีซาร์ไม่ให้ทันตั้งตัว ซีซาร์ตกใจมาก ขณะที่ยังงงอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น สมาชิกสภาอีกหลายคนที่ร่วมก่อการก็ควักมีดออกมารุมแทงซีซาร์คนละทีสองที รวมทั้งสิ้น 27 แผล ซีซาร์ล้มลง ในใจเขาเวลานั้นคงยังไม่เชื่อเลยว่าจะเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นได้
ก่อนสิ้นลมหายใจเฮือกสุดท้าย ซีซาร์เหลือบไปเห็นบรูตัสถือมีดเปื้อนเลือดอยู่ในมือ เขาปวดร้าวใจยิ่งนัก คนที่เขารักและเอ็นดูดั่งลูก เคยให้อภัยแม้ไปร่วมกับปอมเปย์มารบกับเขา เคยสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในทางการเมือง แต่วันนี้กลับลงมือสังหารเขาด้วยตัวเอง ซีซาร์จ้องหน้าบรูตัส แล้วเปล่งคำพูดสุดท้ายในชีวิตเป็นประโยคอมตะแห่งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติว่า
"เจ้าด้วยหรือ บรูตัส"
โฆษณา