15 พ.ย. 2020 เวลา 13:12 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Margin Call (2011) : การเอาตัวรอดในตลาดเงิน แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆ ใครลุกช้าต้องจ่ายรอบวง
ผมเคยเขียนถึงหนังเรื่อง The Big Short (2016) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ไมเคิล เบอร์รี่ (Michael Burry)ชายผู้ทำกำไรจากการมองเห็นอนาคตว่าจะเกิดวิกฤตซับไพรม์ จนทำให้กองทุนที่เขาเป็นผู้จัดการ ทำกำไรได้ถึง 489 %
ถ้า The Big Short เป็นหนังที่ว่าด้วย " โอกาส " ในวิกฤต Margin Call ก็เป็นหนังที่พูดถึงการเอาตัวรอดในภาวะ " วิกฤต " ซึ่งเป็นการเอาตัวรอดแบบที่พร้อมจะถีบหัวส่งทุกคนลงหลุมเพื่อให้ตนเองอยู่รอด
.
" แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆนะ ถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้ " เป็นประโยคที่จ่าเชียรบอกกับแดง ไบเล่ย์ ในหนังเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ประโยคนี้เหมาะที่สุดที่จะนิยามสิ่งที่เกิดขึ้นใน " Margin Call "
หมายเหตุ 1 : สามารถอ่านบทความเรื่อง The Bigshort ได้ที่นี่
หมายเหตุ 2 : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
Margin Call ตีแผ่เรื่องราวของบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน โดยช่วงเวลาในหนังเป็น 24 ชั่วโมงก่อนที่จะเกิดวิกฤตซับไพรม์
เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มขึ้นในเช้าวันหนึ่ง เมื่อ อีริค เดล (Eric Dale) ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารความเสี่ยงถูกปลดออกจากบริษัท เขามีงานที่ทำค้างไว้เรื่องหนึ่ง คือ การคำนวณโมเดลทางคณิตศาสตร์เรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในหลักทรัพย์ MBS (Mortgage-Backed Securities) ที่บริษัทถืออยู่
MBS (Mortgage-Backed Securities) คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ซื้อลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยผู้กู้จะใช้บ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง
.
ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตซับไพรม์ มีการปล่อยสินเชื่อบ้านเป็นจำนวนมาก เนื่องจากธนาคารกลางของสหรัฐใช้นโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ภายใต้การเติบโตนั้น สิ่งที่ซุกไว้ใต้พรมก็คือ การที่ธนาคารท้องถิ่นปล่อยสินเชื่อบ้านอย่างบ้าคลั่ง โดยละเลยปัจจัยเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้
1
มีการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ผ่านการอนุมัติ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะผลประโยชน์ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อบ้านมีมูลค่ามหาศาล สร้างผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย
ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าซึ่งได้ค่าคอมมิชชั่นจากการขายบ้าน ธนาคารท้องถิ่นซึ่งได้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกู้ แถมยังทำกำไรเพิ่มมากขึ้นจากการรวมสินเชื่อบ้านหลายสัญญามารวมกันเพื่อจัดเรตติ้งแล้วขายต่อให้บริษัทการเงินขนาดใหญ่เพื่อนำไปขายทำกำไรอีกทอดหนึ่ง
.
.
เมื่อทุกฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์ก็กอบโกยกันเต็มที่ ไม่มีใครคิดว่าสินเชื่อบ้านจะเกิดปัญหา เพราะต่างก็เชื่อมั่นว่าลูกหนี้จะพยายามหาเงินมาผ่อนบ้าน ไม่มีใครอยากสูญเสียบ้าน และถึงจะมีลูกหนี้บางส่วนที่ผ่อนไม่ไหว แต่ถ้าไม่เกิน 5 % ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด ก็เป็นความเสี่ยงที่คำนวณไว้แล้วว่ารับได้
อีริค เดล ส่งการคำนวณความเสี่ยงของ MBS มาให้ ปีเตอร์ ซุลลิแวน (Peter Sullivan) คำนวณต่อ
เมื่อปีเตอร์คำนวณเสร็จ เขาก็พบว่าสินทรัพย์ MBS มีความเสี่ยงสูงมาก ถึงขั้นที่จะทำให้บริษัทล้มละลายได้เลย ปีเตอร์จึงรีบรายงานเรื่องนี้ให้ผู้บริหารทราบ จนมีการเรียกประชุมผู้บริหารทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วน เพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้
ในตอนนั้นนักลงทุนยังไม่รู้สึกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของสินทรัพย์ MBS เพราะมันเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังไม่มีใครสังเกตเห็น เริ่มจากการผิดนัดชำระหนี้ ที่ไล่มาตั้งแต่สินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือระดับ AAA ไปจนถึงสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือรองลงมา
การประชุมดำเนินไปอย่างเข้มข้นจนถึงเวลาตีสาม CEO ของบริษัทก็ตัดสินใจที่จะขายสินทรัพย์ MBS ออกไปให้ได้มากที่สุด แม้จะต้อง Cut Loss ยอมขายขาดทุน แต่ก็ยังดีกว่าการที่บริษัทต้องล้มละลาย (จากการคำนวณพบว่า หากสินทรัพย์ MSB มีมูลค่าลดลง 25% การขาดทุนจะมีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินของบริษัท ทำให้บริษัทต้องล้มละลาย)
ถึงจุดนี้ มีการถกเถียงกันอย่างหนัก เพราะการเทขายสินทรัพย์ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงให้กับลูกค้า เป็นสิ่งที่ขัดกับจริยธรรมในวิชาชีพ
เป็นเรื่องที่ต้องเลือกระหว่าง " จริยธรรม " และ " ผลประโยชน์ส่วนตัว "
 
ขณะที่ทุกคนกำลังถกเถียงกันอยู่นั้น จอห์น ทูล์ด (John Tuld) CEO ของบริษัทก็ได้กล่าววาทะเด็ด ซึ่งเป็นคำคมของหนังเรื่องนี้ว่า
.
" There are three ways to make a living in this business: be first, be smarter, or cheat "
.
มีสามสิ่งที่จะทำให้อยู่รอดในธุรกิจนี้ คือ จงเป็นคนแรก ฉลาดกว่า หรือไม่ก็โกง นี่ไม่ใช่เรื่องผิด มันก็แค่การตัดสินใจที่จะทำเป็นคนแรก
2
จอห์นต้องพยายามโน้มน้าวให้ทุกคนเห็นด้วย โดยเฉพาะแซม โรเจอร์ (Sam Rogers)ผู้บริหารฝ่ายขาย ซึ่งหน่วยงานของเขาต้องทำหน้าที่ในการเทขาย MBS ออกไปให้ได้มากที่สุด
แต่เขาไม่อยากทำ เพราะไม่ต้องการหักหลังลูกค้า และไม่ต้องการทำลายจรรยาบรรณในวิชาชีพ แต่ความจริงอันโหดร้ายของโลกทุนนิยมสุดโต่ง ทำให้แซมไม่สามารถปฏิเสธได้ เขาจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของบริษัท
เมื่อตลาดเปิดให้ทำการซื้อขาย แซมและลูกน้องก็เทขาย MBS แบบถล่มทลาย โดยขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ รายย่อย ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก
.
ทุกคนหว่านล้อมนักลงทุนเหล่านั้นด้วยผลตอบแทนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความโลภที่ขาด " สติ " และ " ความเข้าใจในตลาด " ทำให้นักลงทุนหลายรายตัดสินใจซื้อ MBS จนฝ่ายขายสามารถระบาย MBS ออกไปได้เกือบหมด
ผลที่ตามมาจากการเทขาย MBS โดยเจ้าใหญ่ในตลาด ทำให้ราคาของ MBSลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว พอราคาของ MBS ลดลง บริษัทการเงินอื่นๆที่ถือ MBSในพอร์ตการลงทุนก็ต้องเทขายตาม สุดท้ายก็เกิดความปั่นป่วนขึ้นกับตลาด จนเกิดเป็นวิกฤตซับไพรม์ในเวลาต่อมา
เป็นอันว่าการเลือกที่จะทำให้บริษัทอยู่รอด ต้องแลกมาด้วยการหมดเนื้อหมดตัวของนักลงทุนมากมาย
บางครั้งการเอาตัวรอดที่ดีที่สุด ก็คือการหนีออกมาให้เร็วที่สุด แม้ต้องทิ้งบางคนให้ต้องทุกข์ระทมอยู่ข้างหลังก็ตาม ถ้าจะมีใครสักคนที่ผิด คงเป็นความผิดของคนข้างหลังด้วยเช่นกัน ในมุมของ จอห์น ทูล์ด (CEO) เขาไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องผิดบาป มันเป็นธรรมชาติของตลาด ถ้าเราไม่ทำก่อน ก็จะมีเจ้าอื่นทำอยู่ดี สุดท้ายผลลัพธ์ปลายทางก็เหมือนกัน คือ มีทั้งผู้ที่อยู่รอดและผู้ที่ล้มตาย เพียงแต่ว่าใครจะเป็นคนตาย " เรา " หรือ " เขา "
จอห์น ทูล์ด ยกตัวอย่างเรื่องนี้ไว้ได้น่าสนใจ
" ทุกคนอยากมีบ้าน มีรถ อยากร่ำรวย ไม่มีใครบีบบังคับ พวกเขาตัดสินใจด้วยตัวเอง ดังนั้นเราไม่มีความผิดซะทีเดียวในการยัดของใส่มือพวกเขาเพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง "
เมื่อคุณเลือกที่จะลงทุน คุณต้องรอบคอบ ระมัดระวัง และสุดท้ายต้องยอมรับในทุกๆความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แล้วก็อย่าลืมกฏสามข้อที่สำคัญในการอยู่รอด
" เร็วกว่า ฉลาดกว่า หรือไม่ก็โกง " แต่ก่อนจะใช้ข้อใดข้อหนึ่ง โปรดพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบที่จะตามมาเสียก่อนว่าสุดท้ายสิ่งนั้นจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองหรือไม่ ?
.
.
เพราะ " โลกนี้มันเถื่อน " จริงๆนะครับ
โฆษณา