16 พ.ย. 2020 เวลา 00:11 • ประวัติศาสตร์
กว่าจะเป็นสยามประเทศ
ตอนเด็กๆชั้นประถม ผมเรียนวิชาสังคมศึกษา ครูสอนว่า คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ในมองโกเลีย ถูกรุกรานถอยร่นลงมาจนถึงดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันนี้ จึงได้ตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองกลายเป็นแว่นแคว้น อาณาจักร ประเทศสยามและประเทศไทยในที่สุด
ตอนนั้นไม่เคยคิดอะไร เพราะถูกสอนให้ท่องจำตามตำรา ขืนคิดมาก สงสัยมากเดี๋ยวจะพาลสอบตกเอา ก็เลยจำมาตลอดว่าอย่างนั้น
พอขึ้นชั้นมัธยม ตำราเรียนเริ่มเปิดแนวความคิดกว้างขึ้นว่า มีนักประวัติศาสตร์บางคนให้ความเห็นว่าคนไทยไม่ได้อพยพมาจากเทือกเขาอัลไต แต่อยู่ที่ดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่แรกน่ะแหละ และมีบางคนให้ความเห็นว่า คนไทยอพยพมาจากทางใต้อีกด้วยซ้ำ
ตอนนั้นเองที่ผมได้เริ่มสงสัยว่า ไอ้เทือกเขาอัลไตนี่มันอยู่ตรงไหน ใครเป็นคนรุกรานให้คนไทยถอยหนีลงมาตั้งแต่เมื่อไร ระยะทางมันไกลมากอยู่นะนั่น จากมองโกเลียมาถึงไทย หลายพันกิโลเมตร กว่าจะมาถึงต้องผ่านอะไรต่อมิอะไรตั้งมากมาย กำแพงเมืองจีน แม่น้ำหวงเหอ แม่น้ำแยงซีเกียง ป่าเขาสารพัด อีกทั้งยังเมืองต่างๆอีกตั้งหลายเมือง เพราะประเทศจีนเขาเจริญก้าวหน้ามาตั้งสี่พันว่าปีก่อนแล้ว หรือคนไทยมีอารยธรรมของตัวเองจนบอกได้ว่านี่คือคนไทยมาก่อนอารยธรรมจีน
นึกดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้เอาเสียเลย
อ่านหนังสือหลายเล่มก็ยังไม่เคยเจอว่ามีนักโบราณคดีไทยคนไหนเดินทางไปสำรวจที่เทือกเขาอัลไตด้วยตัวเองเลยสักครั้ง เอ... หรือจะเพราะเห็นว่าชื่ออัลไตมีคำว่าไต อาจเป็นที่มาของคำว่า ไท และกลายเป็น ไทย ในที่สุด
ถ้าเพราะเหตุนี้ยิ่งไม่น่าเชื่อเข้าไปใหญ่
อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ความเห็นไว้ว่าคนไทย เริ่มต้นกันที่ตรงดินแดนแห่งนี้แหละ ไม่ได้อพยพมาจากไหน อ้างอิงหลักฐานทางโบราณคดี ข้อมูล และการวิเคราะห์ อย่างละเอียด ผมว่าน่าสนใจดีเลยเอามาเล่าให้ฟังกันต่อครับ
หลักฐานที่บอกว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ มีอายุเก่าแก่มากกว่าหมื่นปีเลยทีเดียว
ซากฟอสซิลกระโหลก และฟันของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย มีอายุมากกว่าหมื่นปี แต่ไม่พบหลักฐานว่ามีการสร้างบ้านเรือน หรือการเพาะปลูกอะไร
หลักฐานอื่นๆที่พบ ประเภทภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน เมล็ดข้าว และโครงกระดูก ทำให้เชื่อได้ว่า แปดพันถึงเก้าพันปีที่แล้ว จึงได้เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นที่ ตามถ้ำต่างๆ เมล็ดข้าวที่ถูกเผาทำให้รู้ว่ามีการกินข้าวกันมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่เป็นต้นข้าวที่ขึ้นเองในป่า
จน 5000 ปีที่แล้วจึงได้เริ่มมีการเพาะปลูก ภาพเขียนบนผนังถ้ำบอกถึงการใช้ควายไถนา และพบภาชนะดินเผา เครื่องประดับประเภทลูกปัด ดินปั้นเป็นรูปวัว ควาย ขวานหิน และเครื่องมือจากหินและกระดูกสัตว์อีกหลายอย่าง เช่นหัวธนู เบ็ดตกปลา รวมทั้งการสร้างบ้านเรือนมีเสาสูง มุงหลังคา และเริ่มอยู่เป็นชุมชน
มีการพบหลุมฝังศพและโครงกระดูกมนุษย์พร้อมภาชนะสิ่งของเครื่องในพื้นที่หลายๆแห่งของประเทศไทย ทางเหนือ ทางอีสาน และทางตะวันออกแถบกาญจนบุรี แต่ไม่พบในที่ราบลุ่มภาคกลาง
เพราะ กรุงเทพ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี อยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี เมื่อก่อนนี้มันเป็นทะเล อ่าวไทยนั้นลึกขึ้นไปกว่าทุกวันนี้เยอะมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมน้ำถึงท่วมทุกปี
ตอนนี้ก็มีคนปล่อยข่าวขู่อยู่เรื่อยว่าพื้นที่เหล่านี้จะจมหายกลายเป็นทะเลไปอีก ทำเอาคนไปซื้อบ้านอยู่ทางปากช่อง เขาใหญ่ และทางเหนือกันใหญ่
ตะกอนดินทับถมกันเรื่อยๆหรืออย่างไรไม่ทราบ จนราวสามพันปีที่แล้ว ผืนแผ่นดินจึงงอกออกมาเป็นอย่างในปัจจุบัน
แล้วเมื่อไรมันถึงจะเป็นประเทศไทยซะที ยืดเยื้ออยู่ได้ ใจเย็นสิครับ ทวาราวดี ศรีวิชัย ยังไม่เกิดเลย จะมีประเทศไทยได้ไง
กว่าจะเป็นสยามประเทศ 2
มนุษย์ในดินแดนแถบนี้เริ่มรู้จักถลุงโลหะเมื่อราวสี่พันปีที่แล้ว คือ สัมฤทธิ์ อันมีส่วนผสมของทองแดงและดีบุกหรือตะกั่ว ต่อมาจึงเริ่มรู้จักการถลุงเหล็ก
โลหะสองชนิดนี้ถูกนำมาสร้างเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆมากมาย ขวานหินหายไป กลายเป็นขวานโลหะ โบราณวัตถุทำด้วยสัมฤทธิ์ที่สำคัญที่ค้นพบคือ กลองมโหระทึก เพราะกลองนี้ มีลวดลายประดับและขีดเขียนมากมาย เป็นข้อมูลให้ศึกษาว่าชีวิตคนในสมัยนั้นเป็นอย่างไร
แหล่งที่พบโบราณวัตถุสมัยนี้จำนวนมากได้แก่บ้านเก่า กาญจนบุรี และบ้านเชียง อุดรธานี
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเกลือ แหล่งดินที่มีเกลือสินเธาว์จึงเป็นแหล่งที่มีผู้คนไปก่อสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยรวมกันเป็นชุมชน
เครื่องปั้นดินเผา เหล็ก และเกลือ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดสังคม จากนั้นกระบวนการในการเกิดวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆก็เริ่มต้นขึ้น
ความเชื่อในเรื่อภูติผี เกิดจากจินตนาการของคนเพื่ออธิบายสิ่งที่อธิบายไม่ได้ กลายเป็นการบูชาเทพเจ้า ลัทธิ และศาสนาในที่สุด
ชุมชนเริ่มมีลำดับชั้นทางสังคม มีหัวหน้า ลูกน้อง หมอผี นักรบ นักล่า ชุมชนที่อ่อนแอกว่าถูกชุมชนที่แข็งแรงกว่ารุกราน รวบรวมเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น
ภาพเขียนฝาผนังถ้ำ และหลุมฝังศพที่พบโครงกระดูกและเครื่องประดับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ บอกให้รู้ถึงฐานะที่แตกต่างกันของคนแต่ละคนในสมัยนั้น
จนสองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว ชุมชนแถบนี้จึงได้พบกับนักเดินทางจากดินแดนที่มีอารยธรรมสูงกว่าอย่างมากจากอินเดีย พ่อค้าและนักบวชท่ีเดินทางมา เมื่อพบว่าดินแดนนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากจึงตั้งชื่อว่า สุวรรณภูมิ
ชื่อนี้มันมีที่มาอย่างนี้นี่เอง
สองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว เป็นสมัยพุทธกาลพอดี เวลานั้นอินเดียมีสังคมวัฒนธรรมเป็นระบบ มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ มีกษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า และชนชั้นต่ำสุด สิ่งเหล่านี้แพร่เข้ามาทำให้ชุมชนในแถบนี้เลียนแบบ นำมาเป็นโครงสร้างของสังคม ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีฐานะทางสังคมสูงกว่า ในการปกครองผู้อื่น
นักเดินทางบางคนมาแล้วก็ไม่กลับ เพราะลี้ภัยการเมืองมาก็มี อารยธรรมจากอินเดียจึงซึมซาบเข้ามาในสุวรรณภูมิลึกขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะได้รับการถ่ายทอดระบบการจัดการทางสังคม ทำให้เกิดเป็นเมือง มีเจ้าเมือง และชนชั้นต่างๆอย่างในอินเดีย
ราวพุทธศตวรรษที่ 3 พระสงฆ์สองรูปคือพระโสณะ และพระอุตระ ได้นำเอาศาสนาพุทธเข้ามาเผยแพร่ในสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก
แต่ก็ไม่ได้มาศาสนาเดียว เพราะนักบวชฮินดูก็เข้ามาด้วยเช่นกัน อิทธิพลของพุทธและฮินดูจึงผสมผสานกันอยู่ในดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลานานแล้ว
มิน่าล่ะ เราถึงได้นับถือศาสนาพุทธที่สอนว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไปพร้อมๆกับการบนบานสานกล่าวขอให้เทพเจ้าฮินดูทั้งหลายคุ้มครองช่วยเหลือ
พระพรหมที่แยกราชประสงค์นั่นเป็นตัวอย่าง
ภาษาเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับศาสนา ทั้งพูดและเขียน เมื่อชุมชนมีระบบระเบียบแบบแผน การรวมตัวกันก็ทำได้ง่ายขึ้น เมืองที่มีกำลังแข็งแรงกว่า มีอำนาจเหนือเมืองที่กำลังอ่อนแอกว่า กลายเป็นรัฐ มีกษัตริย์ ปกครอง ทุกอย่างเกิดขึ้นเลียนแบบสังคมและวัฒธรรมอินเดีย
จนพุทธศตวรรษที่ 6 นักเดินทางจากอีกมุมหนึ่งของโลกจึงเข้ามาถึงสุวรรณภูมิ คือพ่อค้าชาวจีน ที่ล่องสำเภามาในสมัยราชวงศ์ฮั่น
ทีนี้ละครับ ทั้งจีนทั้งแขกก็เริ่มมีอิทธิพลในสุวรรณภูมิทั้งคู่ แต่คนละด้าน
กว่าจะเป็นสยามประเทศ 3
การเป็นสถานีการค้าทั้งจากอินเดียและจีน ทำให้การค้าขายในสุวรรณภูมเป็นไปอย่างคึกคักขึ้น เมืองที่อยู่ในจุดสำคัญทางการค้า เช่นเมืองท่าชายทะเล และเมืองที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำ สามารถสร้างอิทธิพลต่อเมืองอื่นๆได้
หลักฐานที่พบว่ามีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-8 เป็นสินค้าจากดินแดนห่างไกลออกไป อย่างเปอร์เซีย และโรม ทั้งข้าวของเครื่องใช้และเครื่องประดับ
สถาปัตยกรรมเป็นวัฒนธรรมอีกอย่างจากอินเดีย ที่เข้ามามีอิทธิพลในสุวรรณภูมิ สถูป เจดีย์ ต่างๆเริ่มเกิดขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
จนถึงพุทธศตวรรษที่ 11 เมืองท่าฝั่งตะวันตก แถบระนอง พังงา เรื่อยลงไปทางใต้ มีความมั่นคงแข็งแรงรวบรวมรัฐต่างๆโดยรอบเป็นอาณาจักรได้คือ อาณาจักรศรีวิชัย
ในขณะเดียวกัน เมืองที่อยู่ริมฝังแม่น้ำในที่ราบลุ่มภาคกลางก็มีการสร้างอิทธพลจนรวบรวมเป็นแคว้นที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในแถบนครชัยศรี และลพบุรี
มีบันทึกของพระชาวจีนในพุทธศตวรรษที่ 12 พูดถึงเมืองในดินแดนแถบนี้ คือเมือง "หลั่งยะสิว" และ "โถโลโปตี" ซึ่งหมายถึง นครชัยศรี และทวาราวดี
ในแถบอีสานและกัมพูชา เมืองต่างๆก็มีการขยายตัวขึ้นเช่นกัน โดยอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียทั้งการค้าและศาสนาทำให้เกิดรูปแบบของสังคมที่คล้ายๆกันขึ้น
ทางตอนเหนือขึ้นไปแถบจังหวัดลำพูน รัฐหริภุญไชย เกิดขึ้นที่ริมแม่น้ำปิง
อ๊ะ เริ่มมีชื่อคุ้นๆเข้ามาบ้างแล้ว ใกล้ละครับ
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 เมื่อจีนได้พัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือได้ดีขึ้นมาก ทำให้การค้ากับจีนขยายตัวขึ้น เมืองเล็กๆบางแห่งที่ต้องพึ่งเมืองใหญ่กว่าในการค้าขายกับจีนก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยตรง ทำให้รัฐบางรัฐเข้มแข็งขึ้น แต่ก็มีบางรัฐที่อ่อนแอลงเพราะหมดความสำคัญในการเป็นตัวกลางทางการค้าไป
อาณาจักรทวาราวดี มีการเปลี่ยนแปลงชนชั้นปกครองเป็นเชื้อวงศ์ที่เป็นญาติกับอาณาจักรพระนคร ในกัมพูชา เปลี่ยนชื่อเมืองจากทวาราวดีเป็นละโว้ เวลานั้นเมืองอู่ทองในแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักก็มีกำลังเข้มแข็งขึ้นเช่นกัน
ถึงพุทธศตวรรษที่ 18 รัฐหนึ่งทางเหนือกำลังเริ่มกำลังเข้มแข็งขึ้นคือสุโขทัย ขณะที่ตอนเหนือขึ้นไปอีกก็เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นรัฐที่เข้มแข็งแล้วเช่นกันคือล้านนา
อโยธยา และ สุพรรณบุรีก็เป็นรัฐที่สร้างความมั่นคงให้ตัวเองจากการเป็นเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำและมีความอุดมสมบูรณ์
แต่อาณาจักรที่มีอิทธิพลสูงสุดทั้งทางวัฒนธรรม การค้า และการทหาร ในสุวรรภูมิเวลานั้น คืออาณาจักรพระนคร หรือ ยโศธรปุระ ที่กัมพูชา หลักฐานและข้อมูลปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในภาพแกะสลักนูนต่ำบนฝาผนังที่นครวัด
การค้ากับจีนและอินเดียนั้นยังดำเนินต่อไป โดยมีการขยายตัวไม่หยุดยั้ง แต่อิทธิพลทางการเมืองของรัฐหรืออาณาจักรต่างๆในสุวรรณภูมิ ต่างชิงอำนาจกันเอง ทั้งแขกและจีนไม่สนใจที่จะยุ่งเกี่ยว เรียกว่าค้าขายอย่างเดียว อย่างอื่นไม่สน
ย่างเข้าพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรยโศธรปุระอ่อนแอลงเพราะการเมืองภายใน ทำให้รัฐต่างๆเป็นอิสระจากอิทธิพลของกัมพูชา ทั้งสุโขทัยและล้านนา ทางตอนเหนือ และรัฐต่างๆทางภาคกลาง จนถึงพุทธศตวรรษที่ 20 เมื่ออโยธยา สุพรรณบุรี และละโว้ รวมตัวกันโดยการเกี่ยวดองทางการแต่งงาน (และความได้เปรียบทางกำลังทหาร) จึงสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เป็นจุดเริ่มต้นของสยามประเทศตั้งแต่บัดนั้นและสืบเนื่องมาจนเป็นประเทศไทยในบัดเดี๋ยวนี้
เวลาตั้งหมื่นปี เล่าให้ฟังสั้นนิดเดียวเอง
โฆษณา