16 พ.ย. 2020 เวลา 15:08 • ประวัติศาสตร์
ศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง สร้างขึ้นเมื่อไร
"...ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า จูงม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใครค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส"
ข้อความนี้ พวกเราส่วนใหญ่คงคุ้นเคยอย่างดี อาจไม่ทั้งหมด แต่ก็มีจำได้เป็นบางส่วน เพราะ เราถูกสอนมาตั้งแต่ประถมว่าเป็นข้อความในศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง ที่ถูกสร้างโดยพ่อขุนรามคำแหง เป็นการแสดงให้เห็นภาพของสังคมสมัยสุโขทัย ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีการค้าขายอย่างเสรี เจ้าเมืิองไม่เก็บภาษี ประชาชนมีแต่ความสุข โอ้...มันช่างเป็นเมืองในอุดมคติเสียจริง
ตามประวัติความเป็นมา ศิลาจารึกหลักที่ 1 ถูกพบในสมับยรัชกาลที่ 3 โดยรัชกาลที่ 4 ก่อนขึ้นครองราชย์ ขณะทรงผนวชอยู่และเสด็จหัวเมืองทางเหนือ แต่ผู้ที่อ่านและแปลเนื้อหาบนศิลาจารึกออกเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปกลับเป็นฝรั่ง ชื่อ นาย ยอร์จ เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและศิลปะวัฒนธรรมเอเชีย เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เซเดส์ สรุปว่า ศิลาจารึกนี้ ถูกสร้างขึ้นใน คริสตร์ศตวรรษที่ 13 โดยพ่อขุนรามคำแหง ทำให้ทุกคนพากันเชื่อตามมาโดยตลอดเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ จากข้อความบางส่วนทำให้มีคนตีความว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา เมื่อ พศ 1826 เป็นอันว่าภาษาไทยเรามีอายุเพียงแค่ 700 ปีเท่านั้นเอง
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่เราเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ครั้งอดีต มีระบบการค้าเสรี มาก่อนประเทศใดในโลก มีกษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เอง มิต้องไปยืมตัวอักษรของใครมา
แต่ช้าก่อนเพื่อนทั้งหลาย เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ได้มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง นำเสนอข้อมูลอันเป็นการทำลายความภาคภูมิใจของคนไทยลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อพวกเขาบอกว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 อาจเป็นรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นเองด้วยซ้ำ
หลังจากนั้นก็มีผู้ถกเถียงกันเรื่อยมา ว่าใครเป็นผู้สร้าง จนปัจจุบันก็ยังมีการเถียงกันอยู่
อาจารย์ พิริยะ ไกรกฤษ์ เสนอความเห็นว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่สี่นี่เอง อาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่สี่เองด้วยซ้ำ โดยให้เหตุผลสนับสนุนหลายข้ออาทิเช่น
ขนาดของศิลาจารึก ที่สูง 45 ซม เท่ากับศิลาจารึกที่สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในขณะที่ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่นๆที่พบอีกหลายหลัก มีขนาดสูงประมาณ 200 ซม ทั้งสิ้น ฟังดูมีเหตุผลนะครับ แต่ยังไม่ชัดเจนเท่าไร
ลักษณะการเขียน เป็นการเรียงพยัญชนะอยู่บรรทัดเดียวกับสระ ซึ่งไม่ปรากฏในศิลาจารึกหลักใดๆเลย (ผมว่าไม่ปรากฏในการใช้ภาษาไทยที่ไหนเลยด้วยซ้ำ) แต่ตรงกับแนวพระราชดำริิของรัชกาลที่สี่ ที่ทรงต้องการปรับปรุงการเขียนภาษาไทย ให้เหมาะกับการสร้างเครื่องพิมพ์ดีดของ หมอบรัดเลย์ อันนี้ก็เข้าเค้า แต่ยังไม่โดนเต็มๆ
ศิลาจารึกหลักนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานที่ จะไม่ระบุชื่อ แต่ศิลาจารึกหลักอื่นในสมัยเดียวกันทุกหลัก เมื่อกล่าวถึงสถานที่ใด จะมีการระบุชื่อชัดเจน รวมถึงระบุผู้สร้างและวัตถุประสงค์ในการสร้างด้วย อืม.... ชักเข้าท่า
การเรียกชื่อต่างๆที่ไม่สอดคล้องกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ อย่างเช่น พระนาม พ่อขุนรามคำแหง ก็มีปรากฎอยู่ที่ศิลาจารึกหลักนี้เท่านั้น ในหลักอื่นเรียกว่า พระยารามราช ช้างของพ่อขุนรามคำแหง ชื่อว่า รูจาคีรี แต่ในหลักอื่นเรียกชื่อ อีแดงพะเลิง ซึ่งไปคนละแนวทางเลย ขณะที่ในพระราชนิพนธ์เรื่องช้างเผือก ของรัชกาลที่สี่ มีช้างชื่อว่า เทพคีรี และจันทรคีรี ซึ่งสอดคล้องกันโดยบังเอิญไปหน่อย นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์อีกหลายคำที่ไม่พบในหลักศิลาจารึกหลักอื่นในสมัยเดียวกัน คงมีแต่ในหลักที่ 1 นี้เท่านั้น
ในศิลาจารึกกล่าวถึง ตรีบูร หรือกำแพงเมือง 3 ชั้น ยาว 3400 วา ซึ่งเมื่อกรมศิลปากรทำการขุดค้นซากเมืองเก่าสุโขทัย ก็พบกำแพงเมือง 3 ชั้นนี้จริงๆ ชั้นแรก สร้างในสมัยสุโขทัย ยาวเพียง 3050 วา ขณะที่ชั้นนอกสุดยาว 3400 วา หลักฐานระบุว่าสร้างในสมัยพระนเรศวร ตอนที่สร้างศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังไม่มีกำแพงเมืองชั้นที่ 3 เลย
เหตุผลอย่างนี้ อ่านดูแล้วชักจะน่าเชื่อเหมือนกันนะครับ
อาจารย์ประเสริฐ ณ นคร มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล มรว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ มจ.จันจิรายุ รัชนี ทั้งสี่ท่านต่างเชื่อว่า เพียงบางส่วนของศิลาจารึกหลักที่ 1 ถูกสร้างขึ้นภายหลัง ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางด้าน มีการกล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหงเป็นบุรุษที่สาม และในลักษณะที่เป็นอดีต เช่น "เมื่อชั่วพระยารามราช"
ถ้ารัชกาลที่สี่ทรงสร้างศิลาจารึกหลักที่ 1 ขึ้นเองจริง พระองค์ทรงทำเพื่ออะไร คนจำนวนมากคิดว่า เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของไทยในอดีตให้ฝรั่งเห็น เพราะทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส กำลังล่าอาณานิคมเข้ามาติดชายแดนไทยแล้ว
แต่ผมว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวเลย ประเทศไหนจะมีประวัติความเป็นมายิ่งใหญ่เพียงใด ฝรั่งมันไม่สนหรอกครับ ถ้ามันจะยึดมันก็ใช้กำลังยึดเอาเลย ประเทศรอบบ้านเราที่โดนยึดไปล้วนแต่ยิ่งใหญ่กว่าเรามาในอดีตทั้งนั้น
เหตุผลที่น่าเชื่อที่สุดก็คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยสมัยนั้น ไม่เหมาะสมในสายตาฝรั่ง แต่ท่านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การอ้างถึงสิ่งที่กษัตรย์ในอดีตเคยทำมาก่อนจะเป็นข้ออ้างที่ดี ที่จะปรับปรุงแก้ไขได้เช่น
การที่ประชาชนสั่นกระดิ่งร้องเรื่องราวต่อพ่อขุนราม รัชกาลที่สี่จึงทรงให้ประชาชนตีกลองถวายฎีกาต่อท่านโดยตรงได้
ทรงต้องการงดภาษีปากเรือแก่อังกฤษ เพราะเกรงจะเกิดสงคราม จึงอ้างถึงสมัยพ่อขุนรามที่ไม่มีการเก็บภาษี
ต้องการยกเลิกข้อห้ามประชาชนเข้าเฝ้าและมองกษัตริย์ จึงอ้างถึงพ่อขุนรามคำแหงที่ให้ประชาชนเข้าเฝ้าดูท่าน เผาเทียนเล่นไฟได้
การแกไขขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยต่างเหล่านี้ ทำให้รัชกาลที่สี่ทรงรับมือกับฝรั่งที่เข้ามาถึงเมืองไทยได้สะดวกขึ้น และสามารถใช้กุศโลบายทางการทูตต่างๆ ทำให้ไทยรอดจาดการเป็นเมืองขึ้นฝรั่งมาได้
ผมจึงคิดว่า หากรัชกาลที่สี่ ทรงเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้จริง นับว่าเป็นพระอัจริยภาพของพระองค์โดยแท้ มิใช่เรื่องเสื่อมเสียแต่อย่างใดเลยแต่กลับน่าจะประกาศให้รู้เพื่อยกย่องพระองค์ด้วยซ้ำ
แต่เรื่องนี้ไม่จบง่ายๆแค่นี้นะครับ
ศาสตราจารย์ ธวัช ปุณโณธก อาจารย์ทางด้านภาษาและโบราณคดี ได้วิเคราะห์ศิลาจารึกหลักที่ 1 โดยวิธีทางอักขรวิทยา ซึ่งจะวิเคราะห์สามสิงประกอบกันคือ คำศัพท์ ตัวอักษร และเนื้อความ กล่าวว่า
ศัพท์หลายคำที่ใช้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นคำโบราณที่คนในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่รู้จัก ตัวอักษรที่ใช้ เมื่อเทียบเคียงกับตัวอักษรในศิลาจารึกหลักอื่น และเทียบเคียงกับตัวอักษรในปัจจุบันก็เหมาะสมแล้วที่จะใช้กันในสมัยสุโขทัย เนื้อความที่จารึก ท่านว่าเป็นลักษณะของ กิติกรรมประกาศ ไม่ใช่บันทึก จึงมีเนื้อหาแบบไม่ประติดประต่อ เป็นเหตุให้นักวิชาการบางคนเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือ
ศ.ธวัช ท่านสรุปว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 สร้างขึ้นในสมัยสุโชทัย โดยพ่อขุนรามคำแหงอย่างแน่นอน แต่ท่านก็ไม่ได้ตอบข้อสงสัยหลายๆข้อของผู้ที่เห็นว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว อีกทั้ง ศ.ธวัชท่านสอนอยู่ที่มหาวิทยัยรามคำแหง ผมว่าท่านน่าจะมีอคติอยู่บ้าง หากมีใครกล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหง และศิลาจารึกหลักที่ 1 (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย) ในทางลบ ท่านย่อมออกมาปกป้องไว้ก่อน บทวิเคราะห์ของท่านจึงยังไม่สามารถจูงใจให้ใครฟันธงตามที่ท่านสรุปได้
ที่ผมว่าท่านมีอคติ เพราะดูจากสำนวนที่ท่านใช้เวลากล่าวถึงคนที่เห็นตรงข้ามกับท่าน ดูจะมีอารมณ์เล็กน้อย
สมเด็ขพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา ทรงมีพระดำริในที่ประุมทางวิชาการคราวหนึ่ง เมื่อปี 2532 ว่าให้พิสูจน์เรื่องนี้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาข้อยุติเสีย กรมศิลปากรจึงร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี พิสูจน์ชนิดของหิน ส่วนประกอบของหิน และการสึกกร่อนของหินแล้ว ได้ผลดังนี้
หินที่ใช้สร้างศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นหินทรายแป้ง ซึ่งต่างจากศิลาจารึกส่วนใหญ่ในสมัยสุโขทัย แต่ก็ตรงกับหลักที่ 3 และ 45 จึงมีการทดสอบองค์ประกอบส่วนผิวและการสึกกร่อนของศิลาจารึกทั้งสามหลัก ด้วยรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต รังสีอินฟราเรด อละกล้องจุลทรรศน์ พบว่ามีความใกล้เคียงกันจนเชื่อได้ว่าถูกสร้างขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากนี้ยังได้มีการทดสอบส่วนผิวของหินและส่วนผิวของร่องตัวอักษรที่จารึก พบว่า มีการสึกกร่อนและองค์ประกอบส่วนผิวเหมือนกัน กรมศิลปาการและกรมทรัพยากรธรณีจึงสรุปว่า
ศิลาจารึกหลักที่ 1 สร้างในสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า สร้างโดยพ่อขุนรามคำแหงหรือไม่
เอ้า.......สรุปกันขนาดนี้ก็น่าจะหยุดเถียงกันได้แล้วนะครับ แต่เปล่าเลย ผู้คนยังคงเถียงกัน ให้ความเห็นกันไม่จบไม่สิ้น เพราะน้อยคนเหลือเกินที่คิดจะไปค้นว่าเขาทำอะไรกันไปแล้วบ้าง เอาแต่เถียงกันไปมาโดยต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีข้อมูล
จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ท่านนะครับ ผมเจออะไรน่าสนใจก็มาเล่าสู่กันฟัง ตามประสาคนปากจัด
โฆษณา