ข้อควรปฏิบัติในการสนทนาธรรม
1. ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ หรือถ้ารักษาศีล 8 มาล่วงหน้าสัก 7 วัน ก่อนสนทนาได้ยิ่งดี ไม่ใช่เพิ่งสร่างเมาแล้วมาคุยธรรมะกัน หรือว่ากินเหล้าไปก็คุยธรรมะไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้
2. ต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนสนทนาธรรมถ้าได้ทำสมาธิก่อนจะดีมาก เพราะใจจะผ่องใสดี ทำสมาธิจนรู้สึกเหมือนอย่างกับว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวของเราเป็นก้อนธรรมทั้งก้อน ให้ตัวเป็นธรรม ใจเป็นธรรมเสียก่อนแล้วจึงมาสนทนาธรรมกัน
3. แต่งกายสุภาพ ทีแรกที่เราชำระศีลให้บริสุทธิ์นั้น กายกับวาจาเป็นธรรมแล้ว พอเราทำสมาธิบ่อยๆ เข้า ใจของเราก็เป็นธรรมด้วย ถึงเวลาจะสนทนาก็ต้องแต่งกายให้สุภาพ สะอาดตา ยิ่งถ้าเป็นชุดขาวได้ยิ่งดีมาก ไม่ควรใช้เสื้อผ้าสีบาดตา ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องประกอบกายของเราก็เป็นธรรมด้วย
4. กิริยาสุภาพ จะยืนจะเดินจะนั่งให้เรียบร้อย หนักแน่น สงบเสงี่ยม สำรวม มีกิริยาเป็นธรรม ไม่ให้กิริยาของเราทำให้ผู้อื่นขุ่นใจ เช่น เดินลงส้นเท้ามาปังๆ
5. วาจาสุภาพ คือวาจาสุภาษิตดังได้กล่าวมาแล้ว ไม่พูดเสียงดัง ไม่สรวลเสเฮฮา ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่รู้บอกว่าไม่รู้ ควรชมก็ชม ควรติก็ติ แต่ไม่ด่า
6. ไม่กล่าวค้านพุทธพจน์ เพราะพุทธพจน์คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น โดยเนื้อแท้แล้วย่อมถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ อรรถกถาหรือฎีกา*เกือบทั้งหมดก็ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับว่าสติปัญญาของเรามีพอจะไตร่ตรองตามท่านหรือไม่ ถ้าเราไม่กล่าวค้านหรือปฏิเสธโดยเด็ดขาดไว้แล้ว ประการแรก ก็ไม่รู้จะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน ประการที่ 2 หากคู่สนทนาอธิบายหรือชี้แจงถึงเหตุผลให้เราฟัง แม้เราจะเข้าใจก็อาจไม่ยอมรับ เพราะกลัวเสียหน้า มีทิฏฐิ ทำให้เกิดการวิวาทบาดหมางใจกันได้ ดังนั้นสำหรับอรรถกถาหรือฎีกา เมื่อไม่เห็นด้วยก็ควรแสดงเพียงแต่ว่ารู้สึกสงสัย หรือแสดงความเห็นของตนว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มากกว่า พร้อมกับขอความเห็นจากคู่สนทนา
*อรรถกถา คือหนังสือที่พระภิกษุสงฆ์อรรถกถาจารย์ในสมัยก่อน เขียนขึ้นเพื่ออธิบายขยายความเนื้อหาในพระไตรปิฎกให้เข้าใจง่ายขึ้น เหมือนเป็นหนังสือคู่มือพระไตรปิฎกนั่นเอง
*ฎีกา คือหนังสือคู่มือที่อธิบายอรรถกถาให้เข้าใจง่ายขึ้น เหมือนเป็นหนังสือคู่มือของคู่มือพระไตรปิฎก
7. ไม่พูดวาจาที่ทำให้เกิดความแตกร้าว ไม่ใช้คำพูดก้าวร้าวรุนแรง แต่ใช้วาจาที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ประสานน้ำใจ
8. ไม่แสดงอาการโกรธเมื่อถูกขัดแย้ง เราพูดอะไรไปถ้าเขาแย้งมาอย่าเพิ่งโกรธ ให้พิจารณาไตร่ตรองดูโดยแยบคาย เพราะบางทีเราอาจมองข้ามอะไรบางอย่างไป เรื่องบางเรื่องอาจถูกในที่หนึ่ง แต่ผิดในอีกที่หนึ่ง ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ ถ้าเราด่วนโกรธเสียก่อน ความคิดที่จะไตร่ตรองตามก็ไม่มีปัญญาของเราจะถูกความโกรธปิดบังหมด
9. ไม่ปรารถนาลามก คิดที่จะให้ตนมีชื่อเสียง อยากเด่นอยากดังตั้งใจจะฉีกหน้าผู้อื่นเพื่อให้ตนดัง ถ้าวันไหนจะไปสนทนาธรรมแล้วเกิดมีความรู้สึกอยากจะไปฉีกหน้าใคร วันนั้นนอนอยู่บ้านดีกว่า มันไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรมเลย
10. ตั้งจิตไว้ว่าจะสนทนาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา จะเอาความรู้ของเราไปต่อเอาความรู้คนอื่นเขามา ไม่ใช่ไปเพื่ออวดรู้ แต่จะไปแลกเปลี่ยนความรู้กัน
11. ไม่พูดออกนอกเรื่องที่ตั้งประเด็นไว้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอวดดีหรือนินทาคนอื่นไป เช่น พูดเรื่องบาป พูดไปพูดมากลายเป็นว่า “ฉันน่ะไปทำทานไว้ที่นั่นที่นี่” กลายเป็นอวดว่าฉันใจบุญนะ หรือพูดเรื่องทาน พูดไปพูดมากลายเป็นว่า “อุ๊ย! แม่คนนั้นน่ะขี้เหนียว อีตาเศรษฐีคนนั้นก็ขี้เหนียว” ถามว่าใครดี “ฉัน...ฉัน” อย่างใช้ไม่ได้
12. ไม่พูดนานไปจนน่าเบื่อ รู้จักกาลเทศะ เรื่องบางเรื่องแม้น่าฟังแต่ถ้าพูดนานไปมากไป ผลที่ได้กลับจะน้อยลงกว่าพูดพอดีๆ เหมือนคนรับประทานอาหาร แม้เป็นอาหารดีรสอร่อย ถ้ารับประทานอิ่มไปจนจุกท้องเฟ้อ ทีหลังก็จะพาลขยาดไม่อยากจะรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ