อินทรียสังวร
อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ คือการสำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ สำรวมอย่างไร ขอให้เรามาดูอย่างนี้
คนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ 6 ทาง คือ
1.ตา
2.หู
3.จมูก
4.ลิ้น
5.กาย
6.ใจ
เหมือนกับบ้านก็มีประตูหน้าต่าง เป็นทางติดต่อกับภายนอก
คนเราก็เหมือนบ้านที่มีประตูหน้าต่างอยู่ 6 ช่องทาง สิ่งต่างๆ ภายนอกที่เราจะรับรู้ รับทราบก็มาจาก 6 ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ใจของเราสงบผ่องใสก็มาจาก 6 ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจของเราฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว ก็มาจาก 6 ทางนี้เหมือนกัน ช่องทางทั้ง 6 นี้ นับว่ามีความสำคัญมาก เราจึงควรมารู้จักถึงธรรมชาติของช่องทางทั้ง 6 นี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง 6 ไว้ ดังนี้
1. ตาคนเรานี้เหมือนงู งูไม่ชอบที่เรียบๆ แต่ชอบที่ที่ลึกลับซับซ้อน ตาคนเราก็เหมือนกัน ไม่ชอบดูอะไรเรียบๆ ชอบดูสิ่งที่มีลวดลายวิจิตรสวยงามยิ่งสิ่งที่เขาปกปิดไว้ละก็ยิ่งชอบดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้ว ไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง
2. หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา
3. จมูกคนเรานี้เหมือนนก คือชอบโผขึ้นไปในอากาศ พอได้กลิ่นอะไรถูกใจหน่อยก็ตามดมทีเดียวว่ามาจากไหน
4. ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้าน คือชอบลิ้มรสอาหาร วันๆ ขอให้ได้กินของอร่อยๆ เถอะ เที่ยวซอกซอนหาอาหารอร่อยๆ กินทั้งวัน ยิ่งเปิบพิสดารละก็ยิ่งชอบนัก
5. กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุกเดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้
6. ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ
อินทรียสังวร ที่ว่าสำรวมระวังตัว ก็คือระวังช่องทางทั้ง 6 นี้ เมื่อรู้ถึงธรรมชาติของมันแล้วก็ต้องคอยระวัง ใช้สติเข้าช่วยกำกับ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้ว ก็ให้จบแค่เห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่า สวยจริงนะ หล่อจริงนะ อะไรทำนองนี้ ต้องไม่นึกถึงโดยนิมิต หมายถึง เห็นว่าสวยไปทั้งตัว เช่น “เออ คนนี้สวยจริงๆ” ต้องไม่นึกถึงโดยอนุพยัญชนะ หมายถึง เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสวย เช่น “ตาสวยนะ คมปลาบเลย” หรือแขนสวย ขาสวย อะไรอย่างนี้
อินทรียสังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ ถ้าเรามีอินทรียสังวรดีแล้ว โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจ เหมือนบ้าน ถ้าเราใส่กุญแจดูแลประตูหน้าต่างอย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรมาเอาไปได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีย์ ไปดูในสิ่งที่ไม่ควรดู ฟังในสิ่งไม่ควรฟัง ดมในสิ่งไม่ควรดม ลิ้มรสในสิ่งไม่ควรลิ้ม จับต้องสัมผัสในสิ่งที่ไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด แม้เราจะมีความตั้งใจรักษาศีลรักษาคุณธรรมต่างๆ ดีเพียงไร ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตูหน้าต่าง แม้จะใส่กุญแจตู้ลิ้นชักดีเพียงไร ก็ย่อมไม่ปลอดภัย โจรสามารถมาลักไปได้ง่าย
วิธีที่จะทำให้อินทรียสังวรเกิดขึ้นนั้น ให้เราฝึกให้มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป โดยคำนึงถึงชาติตระกูล อายุ วิชาความรู้ ครูอาจารย์ สำนักศึกษาของเรา และอื่นๆ ดังรายละเอียดในมงคลที่ 19 (งดเว้นจากบาป)