3.ตระกูลโมหะ คือความหลง เป็นอาการที่จิตมืดมน ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบุญบาป ส่วนความไม่รู้วิทยาการต่างๆ ไม่ใช่โมหะ คนที่มีความรู้วิทยาการมากเพียงใด มีปริญญากี่ใบก็ตาม หากยังไม่รู้จักบุญบาป ไม่รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำละก็ ได้ชื่อว่าตกอยู่ในโมหะทั้งนั้น กิเลสตระกูลโมหะ มีตั้งแต่หยาบถึงละเอียดดังนี้
3.1 มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น
3.2 โมหะ ความหลงผิด ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
3.3 สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เช่น คิดว่าร่างกายนี้เป็นของเราจริงๆ
3.4 วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม เช่น ยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าบุญบาปมีจริงไหม ทำสมาธิแล้วจะหมดกิเลสจริงหรือ
3.5 สีสัพพตปรามาส ความติดอยู่ในศีลพรตอันงดงาม เช่น เชื่อหมอดู เชื่อศาลพระภูมิ เชื่อพระเจ้า
3.6 มานะ ความถือตัว ถือเขาถือเรา
3.7 อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เป็นอาการที่จิตไหวกระเพื่อมน้อยๆ ยังไม่หยุดนิ่งสนิทบริบูรณ์ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่านไม่รู้เหนือรู้ใต้ อย่างที่คนทั่วไปเป็น
3.8 อวิชชา ความไม่รู้พระสัทธรรม เช่น ไม่รู้ว่าตัวเรามาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน
ตั้งแต่ข้อ 3.3-3.8 เป็นธุลี กิเลสอย่างละเอียดในตระกูลโมหะ
โดยสรุป ธุลี หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดทั้ง 3 ตระกูล รวม 10 ประการ ได้แก่
1. สักกายทิฏฐิ
2. วิจิกิจฉา
3. สีลัพพตปรามาส
4. กามราคะ
5. ปฏิฆะ
6. รูปราคะ
7. อรูปราคะ
8. มานะ
9. อุทธัจจะ
10. อวิชชา
ทั้ง 10 ประการนี้เรียกว่า สังโยชน์ 10 พระโสดาบันจะสามารถละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ มีความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัยเต็มที่ ไม่มีความลังเลเลย ส่วนพระสกิทาคามีก็ละได้ 3 ข้อแรก เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่กิเลสข้อที่เหลือเบาบางลง ส่วนพระอนาคามีละได้เพิ่มอีก 2 ข้อ คือกามราคะและปฏิฆะมีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ละสังโยชน์ธุลีกิเลสทั้ง 10 ประการ ได้อย่างสิ้นเชิง มีจิตผ่องใส บริสุทธิ์ตลอด