27 พ.ย. 2020 เวลา 01:36
เตรียมพร้อม สำหรับภาษีเงินได้ปี 2563
#3 ค่าลดหย่อนประจำปี 2563
สองบทความก่อนหน้าพูดถึงความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของรายได้ที่เราได้รับและภาษีที่เราจะต้องเสียในแต่ละปี เราได้เห็นแล้วว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีสัดส่วน 10% ของเงินรายได้ที่รัฐได้รับจากประชาชน นอกจากนี้เราทราบว่าการปรับเกณฑ์รายได้ภาษีของรัฐในปีที่ผ่านมาทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีภาระด้านภาษีเงินได้ลดลงพอควร แต่เราก็เสียภาษีทางอ้อมผ่านการบริโภคให้กับรัฐไม่น้อยไปกว่ากัน
Credit : Unsplash.com
"ค่าใช้จ่าย" และ "ค่าลดหย่อน" ที่นำมาใช้คำนวณภาษีแตกต่างกัน
"ค่าใช้จ่าย" คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ตามประเภทของเงินได้แตกต่างกัน
ส่วน "ค่าลดหย่อน" เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ตามสถานภาพและภาระของผู้เสียภาษี
บทความนี้จะพูดถึงเรื่องของ"ค่าลดหย่อน" ที่เรามีสิทธิใช้คำนวณภาษีเงินได้ของเรากันครับ ค่าลดหย่อนที่เขียนในบทความนี้ ขอแยกตามกลยุทธและวัตถุประสงค์ของค่าลดหย่อนที่ใช้เป็นฐานสำหรับการวางแผนภาษีในบทความต่อไปที่เป็นหัวใจสำคัญของซีรีย์ครับ
Credit : Unsplash.com
1. ค่าลดหย่อนที่ช่วยลดภาระและเราควรนำไปลดหย่อน
ค่าลดหย่อนกลุ่มนี้ เป็นตัวช่วยหรือห่วงชูชีพที่ลดภาระของผู้เสียภาษี ตามภาระหน้าที่ที่แต่ละคนมีทั้ง การลดหย่อนส่วนตัว การลดหย่อนคู่สมรส(ที่ไม่มีเงินได้) ลูก บุพการี การเลี้ยงดูคนพิการทุพพลภาพ และรวมถึงค่าลดหย่อนในหมวดดอกเบี้ยบ้านด้วย เพราะคงไม่มีใครที่คิดจะตัดสินใจซื้อบ้านเพื่อเอามาลดหย่อนเป็นหลัก
ค่าลดหย่อนบางรายการ จะให้เราเขียนเลขประจำตัวประชาชนของผู้ที่เรานำมาลดหย่อนในแบบ ภงด ปัจจุบันเลขประจำตัวประชาชนสามารถนำไปตรวจสอบความถูกต้องของเงื่อนไขค่าลดหย่อนได้และตรวจการใช้สิทธิซ้ำกับผู้เสียภาษีคนอื่นๆ นะครับ ที่พบกันบ่อยคือเรื่องรายได้ที่เกินเกณฑ์ของคนที่เรานำมาลดหย่อน สำหรับบุพการี หากเรามีพี่น้องหลายคน คนที่มีสิทธิใช้ได้คือคนที่มีบุพการีอาศัยอยู่ด้วย ที่ผ่านมากรมสรรพากรไม่ค่อยตรวจสอบ แต่ช่วงนี้เริ่มเห็นมีการตรวจสอบ ขอแนะนำให้ทำตามเงื่อนไขให้ถูกต้องครับ
สำหรับค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน ต้องเป็นบ้านหลังที่เราเป็นเจ้าของและมีทะเบียนอยู่อาศัย
Credit : Unsplash.com
2. ค่าลดหย่อนที่เป็นประโยชน์ต่อการออมและการวางแผนการเงิน
กลุ่มนี้เป็นค่าลดหย่อนที่รัฐใช้เพื่อกระตุ้นให้เราสร้างการออมและวางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิต กลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่ยังใช้ในการวางแผนการเงินในระยะยาวได้ดีด้วย ฉะนั้นการวางแผนภาษีด้วยค่าลดหย่อนกลุ่มนี้จึงควรมองให้มากกว่าเพียงการใช้สิทธิเท่านั้น และเลือกรูปแบบให้เหมาะกับแนวทางของเรา
ตัวอย่างค่าลดหย่อนหมวดนี้ เช่น RMF SSF SSFX เบี้ยบำนาญ เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ และส่วนที่ได้ทั้งลดหย่อนและเงินออมเพิ่มเติม เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข เมื่อพูดถึงการวางแผนภาษีส่วนมากจะมองค่าลดหย่อนในกลุ่มนี้
ในส่วนของประกันสุขภาพที่ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ในปีนี้(ปีเดียว) 25,000 บาท จะเป็นประกันสุขภาพทั้งของบริษัทประกันภัย และบริษัทประกันชีวิต หลายบริษัท (ส่วนใหญ่) เชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากรในการส่งข้อมูลเบี้ยที่ใช้ลดหย่อนได้ ถ้าเรายื่นคำขอทางออนไลน์ก็จะมีตัวเลขขึ้นมาให้เลยนะครับ ประกันสุขภาพนี้นับรวมอยู่ใน 100,000 บาทของประกันชีวิต
เบี้ยของประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) เฉพาะส่วนของเบี้ยประกันสุขภาพก็ใช้ลดหย่อนได้ครับรวมทั้งเบี้ยส่วนของความคุ้มครองโรคร้ายแล้วด้วย ประกัน COVID-19 ที่เราซื้อกันไว้ก็นำไปเป็นค่าลดหย่อนได้เช่นกัน แต่เบี้ยของPA และโรคร้ายแรงจะมีเบี้ยส่วนความคุ้มครองชีวิตที่อาจไม่สามารถใช้ลดหย่อนได้ขึ้นกับเงื่อนไขความคุ้มครองว่าเป็นตามเกณฑ์ของกรมสรรพากรหรือเปล่า ฉะนั้นไม่สามารถใช้ใบเสร็จที่ไม่ระบุค่าลดหย่อนเป็นหลักฐานได้ ช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปบริษัทประกันจะให้ดาวน์โหลดหนังสือรับรองฯ ซึ่งจะแสดงให้เห็นรายละเอียดส่วนที่ลดหย่อนได้และส่วนที่ลดหย่อนไม่ได้ เราจะต้องใช้ยอดตามนั้น
นอกจากนี้ หากเรามีเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพไม่ถึง 100,000 บาท ส่วนที่เหลือสามารถนำเบี้ยประกันบำนาญมานับรวมไว้ด้วยได้ เช่นถ้ามีเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพ 50,000 บาท เราก็จะสามารถนำเบี้ยประกันบำนาญ 50,000 บาทรวมเข้ากับ 200,000 บาท เป็น 250,000 บาท ได้ แต่ก็ยังอยู่ในยอดรวม 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนรวม RMF SSF กบข กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เรื่องที่ต้องตัดสินใจให้เหมาะกับตัวเราคือ สัดส่วนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข RMF SSF และประกันบำนาญ รายละเอียดของ SSFX SSF RMF ดูในจากบทความตาม link ครับ
Credit : Unsplash.com
3. ค่าลดหย่อนที่สร้างภาระค่าใช้จ่าย และควรใช้เท่าที่จำเป็น
ค่าลดหย่อนหมวดก่อนๆ เปรียบเหมือนห่วงยางชูชีพ แต่ค่าลดหย่อนกลุ่มนี้ ในการวางแผนการเงินอาจเปรียบเหมือนหินที่ถ่วงให้เราหนักยิ่งขึ้น เพราะเป็นค่าลดหย่อนที่การกระตุ้นให้เราใช้จ่าย เหมือนโปรโมชั่นที่เราพบในร้านค้า เช่น ซื้อ 1 ชิ้นคิดราคา 100 บาทเต็ม แต่ถ้าซื้อ 2 ชิ้น ลด 20% แทนที่เราจะจ่ายเงิน 100 บาทเพื่อซื้อ 1 ชิ้นที่พอใช้งาน เรากลับเลือกจ่าย 160 บาทเพื่อเอาอีก 1 ชิ้นที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานมาด้วย
จำนวนเงินที่ลดหย่อน ไม่ใช่จำนวนเงินภาษีที่ลดลง ภาษีที่จะลดลงได้ขึ้นกับจำนวนเงินรายได้ และอัตราภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องเสีย หากเรามีฐานภาษีสูงสุด 10% ค่าใช้จ่ายที่เราใช้สิทธิ 10,000 บาท จะเท่ากับ ภาษีที่ลดลง 1,000 บาท
การวางแผนภาษีที่ดีที่สุดสำหรับค่าลดหย่อนกลุ่มนี้ ก็คือใช้ลดหย่อนตามค่าใช้จ่ายที่เราต้องใช้เป็นหลัก ช่วงนี้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ออกมามากมาย เช่น ช้อปดีมีคืน เป็นต้น และหลายแคมเปญที่ออกมามีเงื่อนไขที่ทับซ้อนกัน
บทความนี้รวบรวมมาเฉพาะค่าลดหย่อนและจัดค่าลดหย่อนตามวัตถุประสงค์ของค่าลดหย่อนแต่ละรายการเพื่อให้เราลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง ทุกคนคงสังเกตุเห็นว่าสถาบันการเงินจะเน้นกลุ่มที่สองคือค่าลดหย่อนที่เป็นประโยชน์ต่อการออมและการวางแผนการเงิน
ก่อนจบบทความตอนนี้ ขอเสริมเรื่องสิทธิประโยชน์ภาษีจำนวน 190,000 บาทของผู้มีอายุ 65 ปี และผู้พิการ ไม่ใช่ค่าลดหย่อน แต่เป็น การยกเว้นรายได้ให้กับ 190,000 บาทแรกนะครับ
อีกเรื่องที่สำคัญและทำได้โดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ(หรืออาจไม่มี) แต่ช่วยลดภาระภาษีได้ดีคือการเลือกประเภทของรายได้ และการวางแผนภาษี ที่มีผลให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ต่างกัน พบกันในบทความหน้าครับ
สามารถอ่านบทความในซีรีย์นี้ ที่ https://www.blockdit.com/series/5fba2fa29115840cad27932
#1 เงินได้ประเภทต่างๆ
#2 เกณฑ์ยื่นแบบและเกณฑ์ภาษี
#3 ค่าลดหย่อนประจำปี 2563
#4 การวางแผนภาษี
#5 การเครดิตภาษี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา