22 พ.ย. 2020 เวลา 09:38 • การศึกษา
โรคซาร์ส น้ำผึ้งหยดเดียวที่เกือบเป็นหายนะ
คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าปี ค.ศ.2020 คงถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นปีแห่งการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับโรคร้ายอย่างโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและชีวิตผู้คน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรค Sars (ซาร์ส) เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ได้เกือบทำให้โลกตกอยู่ในสภาพแบบเดียวกับในตอนนี้
ซึ่งต้นตอของเหตุการณ์ในครั้งนั้นพอจะเรียกว่าเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวก็ว่าได้ แต่ถือเป็นความโชคดีที่สถานการณ์ไม่ได้ถลำลึก
วันนี้ผมจะพาไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น
ความจริงแล้ว การจะเอาเหตุการณ์ตอนโรคซาร์สกับโควิด-19 มาเทียบกันเป๊ะ ๆ เลยก็คงจะไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะองค์ประกอบหลายอย่างต่างกันมาก
จริงอยู่ที่อาการของทั้ง 2 โรคมีความคล้ายกันในบางเรื่อง แต่จากสถิติทำให้พอจะสรุปได้ว่า โรคซาร์สจะตายง่าย แต่ระบาดยากกว่า ในขณะที่โควิด-19 จะตายยาก แต่ระบาดง่ายกว่า
แรกเริ่มเดิมที โรคซาร์สเกิดการระบาดเล็ก ๆ ในมณฑลกว่างตงของประเทศจีนช่วงปลายปี ค.ศ. 2002
ช่วงแรกก็ยังไม่ค่อยมีใครรู้เท่าไหร่ว่าโรคใหม่นี้มีอาการยังไง ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงพยาบาลไม่ได้ป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด
2-3 เดือนผ่านไป มีชาวบ้านติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหนึ่งในนั้นคือคุณหมอชาวจีนที่ใช้แซ่หลิว ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคซาร์ส
ช่วงนั้นเองที่นายแพทย์หลิวตัดสินใจลางานเพื่อเดินทางไปฮ่องกงเพื่อร่วมงานแต่ง ทั้ง ๆ ที่คุณหมอเริ่มมีอาการป่วยให้เห็นบ้างแล้วแต่ในเมื่อเป็นการออกงานสังคม เขาจึงเลือกถ่อสังขารไป
การตัดสินใจเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและกลายเป็นเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียวของโรคซาร์ส...
คุณหมอเดินทางถึงฮ่องกงและเข้าพักโรงแรม Metropole ที่ชั้น 9 โดยโรงแรมนี้มีอัตราการเข้าพักที่สูงและด้วยสภาพของฮ่องกงที่ผืนดินมีจำกัดอยู่แล้ว ทำให้ห้องพักแต่ละห้องยิ่งอยู่ชิดกันเข้าไปอีก
สถานที่นี้เองที่นายแพทย์หลิวทำหน้าที่เป็น Super-spreader แพร่เชื้อให้กับแขกโรงแรมอีกหลายสิบชีวิต
อย่างที่เราทราบกันดี ฮ่องกงถือว่าเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าที่สำคัญของโลกทำให้มีผู้คนจากทุกภูมิภาคเดินทางเข้าออกเป็นประจำ
หนึ่งในแขกที่พักในโรงแรม Metropole ซึ่งได้รับเชื้อจากคุณหมอได้เดินทางต่อไปยังเวียดนาม ไม่นานก็ล้มป่วยและได้ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล ที่นั่นเขาได้แพร่เชื้อให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหลายคนก่อนที่ตัวเองจะเสียชีวิตลง
แขกอีกคนของโรงแรมคือคนสิงคโปร์ เธอเดินทางกลับประเทศก่อนจะล้มป่วย เชื้อได้กระจายสู่คนจำนวนมาก ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อซาร์สสูงที่สุดในอาเซียน
ถ้าคิดว่าสถานการณ์น่าจะเลวร้ายที่สุดแล้วก็จะบอกว่าคิดผิด
เพราะมีแขกอีกคนเป็นคนแคนนาดา เธอเดินทางข้ามมหาสมุทรกลับเมืองโทรอนโต ภายในเวลาไม่นานก็มีผู้ติดโรคซาร์สหลายร้อยคนที่ทวีปอเมริกาเหนือ
ยิ่งไปกว่านั้น คุณหมอยังได้แพร่เชื้อให้กับคนฮ่องกงอีกด้วย จนทำให้ฮ่องกงมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีนแผ่นดินใหญ่
นายแพทย์หลิวคงคิดไม่ถึงว่าเหตุการณ์จะบายปลายได้ขนาดนี้และเขาเองก็ไม่มีวันได้รู้ความจริง เพราะโรคซาร์สได้คร่าชีวิตเขาในอีกไม่กี่วันต่อมา
อย่างที่เห็น โรคซาร์สใช้เวลาไม่กี่วัน ขยายวงการระบาดจากเมืองจีน ไปฮ่องกง, เวียดนาม, สิงคโปร์และแคนนาดา
ในตอนนั้น หลายประเทศต้องรีบออกมาตรการกักตัวคนป่วย แยกกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงและตรวจคนเข้า-ออกที่สนามบินกันจ้าละหวั่น
นับเป็นเรื่องโชคดีอย่างมากที่ประเทศทั่วโลกสามารถช่วยกันจำกัดวงการระบาดได้สำเร็จ มิฉะนั้นแล้ว เหตุการณ์ที่เรากำลังเจออยู่ อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ไปแล้ว
ก็ไม่แน่ใจว่าถ้ามาตรการ lockdown ถูกใช้ตั้งแต่สมัยนั้น ความลำบากในการใช้ชีวิตจะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน
เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ตั้งแต่ บริการส่งอาหาร, การซื้อของออนไลน์, Social media เพิ่งจะมีบทบาทจริง ๆ ก็เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญว่าทำไมตอนโรคซาร์สระบาดถึงเอาอยู่ ทำไม โควิด-19 ถึงได้บานปลายถึงขนาดนี้ทั้ง ๆ ที่มาตรการหลายอย่างที่เอามาใช้ถือว่าเด็ดขาดกว่าสมัยนู้นอย่างเทียบไม่ได้
มีการวิเคราะห์กันว่าโรคซาร์สจะแพร่เชื้อได้ดีที่สุดก็คือตอนที่ออกอาการแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าตอนนั้นมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผิดกับโควิด-19 ที่ช่วงไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้มากเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ตอนผู้ป่วยติดเชื้อโควิดไปแล้วแต่ยังไม่รู้ตัว สามารถแพร่กระจายให้กับคนอื่นได้
จนท้ายที่สุดก็ระบาดไปทั่วทั้งประเทศ ทั่วทั้งโลกอย่างที่เห็น...
ติดตามพวกเรา ก ไก่กำลังสอง เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา