23 พ.ย. 2020 เวลา 03:00 • ครอบครัว & เด็ก
“ลองนึกถึงความสัมพันธ์แย่ ๆ ที่แฟนคุณอาจจะไม่ยอมให้คุณไปเจอเพื่อนหรือครอบครัว โดยให้เหตุผลประมาณว่าเขาไม่ชอบเพื่อนคนนั้นของคุณ หรือ เพื่อน (หรือครอบครัว) ของคุณเป็นคนไม่ดี”
-
เมื่อกล่าวถึงความรุนแรงในความสัมพันธ์ หลายคนคงจะนึกถึงความรุนแรงทางร่างกาย เช่นการทำร้ายตบตี บางคนอาจนึกถึงความรุนแรงในรูปแบบของการทำร้ายจิตใจ เช่น การใช้คำพูดด่าว่าอีกฝ่ายอย่างรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่ใจ ที่อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวด แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะนึกถึง หรือเคยได้ยิน เกี่ยวกับความรุนแรงในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคือ การพยายามบังคับควบคุมความคิดและพฤติกรรม หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Coercive Control
ก่อนเราจะคุยเรื่องนี้กับ โย๋ ณัฐณิชา บุญญนันท์ ใน Psycholism Live Special ตอน “ความไม่เท่าเทียมในสังคม เริ่มต้นในครอบครัว” ในวันนี้ โย๋ชวนเรามาทำความรู้จักกับประเด็นใหม่ในบ้านเราอย่าง Coercive Control เพิ่มเติมเสียหน่อย
Coercive Control ถูกพูดถึงอย่างจริงจังครั้งแรกในหนังสือของนักสังคมวิทยา ดร. อีแวน สตาร์ค (Evan Stark) ที่ใช้ชื่อว่า “Coercive Control: The Entrapment of Women in Personal Life” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ. 2007 โดยหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการสร้างความตระหนักรู้ ว่าความรุนแรงในความสัมพันธ์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการทำร้ายร่างกายเสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบของการพยายามริดรอนเสรีภาพ ด้วยการพยายามที่จะควบคุมพฤติกรรมของอีกฝ่าย ซึ่งอาจลุกลามไปถึงการพยายามควบคุมความคิด และลดทอนความเป็นปัจเจกบุคคลของอีกฝ่าย
ลองนึกถึงความสัมพันธ์แย่ ๆ ที่แฟนคุณอาจจะไม่ยอมให้คุณไปเจอเพื่อนหรือครอบครัว โดยให้เหตุผลประมาณว่าเขาไม่ชอบเพื่อนคนนั้นของคุณ หรือว่า เพื่อนหรือครอบครัวของคุณเป็นคนไม่ดี ในบางราย ผู้กระทำที่เป็นผู้ชาย อาจห้ามไม่ให้ผู้หญิงมีเพื่อนผู้ชาย หรือแม้กระทั่งคุยกับผู้ชายคนไหน โดยให้เหตุผลเป็นความหึงหวง และอยากให้คุณเป็นของเขาคนเดียว ในบางกรณี ผู้กระทำอาจจะไม่ได้สั่งห้ามคุณชัดเจน แต่อาจพยายามควบคุมคุณอย่างลับ ๆ เช่น แอบแฮ็คเข้าไปในมือถือหรือเฟซบุ๊กของคุณ เพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหว
บางรายอาจถึงขั้นใช้ชื่อบัญชีของคุณส่งข้อความแย่ ๆ ให้กับคนรอบตัว เพื่อให้คนเหล่านั้นรู้สึกไม่ดีกับคุณ และเลิกปฏิสัมพันธ์กับคุณไปในที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกัน ผู้กระทำยังอาจจะพยายามพูดเรื่องแย่ ๆ เกี่ยวกับคนรอบตัวของคุณให้คุณฟังทุกวัน จนในที่สุด คุณอาจจะเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนเหล่านั้น และเลิกติดต่อกับเพื่อนหรือครอบครัวไปในที่สุด ซึ่งการไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวนี่เอง ที่จะทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยว และง่ายต่อการควบคุมจากอีกฝ่าย เขาอาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการควบคุมคุณ เช่น
พยายามควบคุมเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่ อาหารที่คุณกิน โดยพุ่งเป้าไปที่ภาพลักษณ์ของคุณ และทำให้คุณรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ทำไปนาน ๆ เข้า คุณอาจรู้สึกอึดอัด ด้อยค่า ไม่มีทางออกในความสัมพันธ์ นอกจากต้องฟังและทำตามที่อีกฝ่ายบอกอย่างเดียว
โดยในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้อาจฟังดูเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องเล่าขำขันในวงเพื่อน ไม่ผิดศีลธรรมและไม่ผิดกฎหมาย ในขณะที่มีหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ที่ถือว่า Coercive Control เป็นอาชญากรรมที่ผิดกฎหมาย และผู้กระทำจะถูกต้องโทษจำคุกหากคู่กรณีพิสูจน์ได้ว่าผู้กระทำมีความผิดจริง ในประเทศอื่นเช่น สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ที่ Coercive Control แม้จะยังไม่ถูกบรรจุในข้อกฎหมาย ก็กำลังมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในเร็ววัน
ความปกติในความไม่ปกติในมุมมองที่สังคมไทยมีต่อ Coercive Control อาจเกี่ยวพันกับโครงสร้างทางอำนาจในสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่มักเยินยอให้ผู้ชายเป็นใหญ่ เป็นช้างเท้าหน้าในครอบครัว แม้กระทั่งในมิติที่ใหญ่ขึ้นของสังคมและการเมือง และโครงสร้างทางอำนาจนี้เองที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกจำยอมที่จะทำตามที่ผู้ชายบอกโดยไม่มีข้อคัดค้าน ด้วยความกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้ง และทำให้ความสัมพันธ์ของตนดูไม่ดีในสายตาคนอื่น โดยเฉพาะในกรณีที่มีลูกเข้ามาเกี่ยวข้อง
เหยื่อของความรุนแรงในความสัมพันธ์รูปแบบนี้ อาจไม่อยากคัดค้านความพยายามจะควบคุมของอีกฝ่าย เพราะอยากจะสร้างครอบครัวที่เพียบพร้อม และไม่อยากทะเลาะกันให้ลูกเห็น โดยไม่รู้เลยว่า ลูกอาจจะซึมซับโครงสร้างความไม่เท่ากันทางอำนาจเหล่านี้เข้าไปในความรู้สึกนึกคิดและตัวตนของเขา ทำให้เขาเติบโตมากลายเป็นเหยื่อหรือผู้กระทำเสียเอง โดยวงจรความรุนแรงในลักษณะแบบนี้ (มีชื่อเรียกว่า intergenerational transmission of violence หรือ cycle of violence) เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมที่นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังพยายามหาทางออก ผ่านการสอนให้เด็กเข้าใจถึงปัญหาเรื่องโครงสร้างทางอำนาจ ความไม่เท่าเทียมกัน และการตระหนักรู้ว่าความรุนแรง ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ล้วนไม่ใช่ทางออกของปัญหา และไม่มีใครจำเป็นต้องจำยอมต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม โดยไม่คำนึงถึงความสุขและเสรีภาพของตนเอง
หากคุณพบว่าตัวเองสนใจประเด็นนี้
เคยพบเห็นหรือเป็นส่วนหนึ่งในวงจรที่กล่าวมา สามารถฝากคำถามไว้ที่เรา และฟังต่อได้ใน Psycholism Live Special ตอน “ความไม่เท่าเทียมในสังคม เริ่มต้นในครอบครัว” เวลา 20:00 น.
#PsycholismLive Special: ความไม่เท่าเทียมในสังคม เริ่มต้นในครอบครัว
จันทร์ 23 พฤศจิกายน 2563
เวลา 20:00 น.
ทาง Facebook และ Youtube ของ Psycholism
-
ติดตามคอนเทนต์จิตวิทยาและฟังย้อนหลังได้ที่ Psycholism
#psycholismth #psychologyisallaround #coercivecontrol
โฆษณา