23 พ.ย. 2020 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
การเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจ ด้วย “กลยุทธ์ทะเลสีน้ำเงิน”
คนทำธุรกิจ ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าตลาดแต่เพียงผู้เดียว
เพราะนั่นหมายถึงการไม่มีคู่แข่ง ไม่มีแรงกดดัน และไม่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น
ดังนั้นกำไรจึงตกอยู่ในกำมือของธุรกิจ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
3
แต่ในโลกความเป็นจริง เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำธุรกิจโดยปราศจากคู่แข่ง ?
เรากำลังพูดถึง กลยุทธ์ทะเลสีน้ำเงิน หรือ Blue Ocean Strategy
ซึ่งผู้คิดค้นแนวคิดนี้ คือ นักวิชาการสองคน ชื่อ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne
โดยทั้งคู่เป็นอาจารย์จากสถาบันด้านการบริหารธุรกิจชื่อดังในฝรั่งเศส
หลักแนวคิดของ Blue Ocean จะไม่มุ่งเน้นความต้องการที่มีอยู่ในตลาด
แต่จะเน้นในการสร้างความต้องการ หรืออุปสงค์ขึ้นใหม่
พูดง่ายๆ คือ เน้นการหาตลาดใหม่ ผ่านความต้องการใหม่ ที่ซ่อนอยู่ในตัวของผู้บริโภค
ซึ่งตรงกันข้ามกับ Red Ocean ที่จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดเดิม
เป็นการแข่งขันด้วยสงครามราคาที่ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าคู่แข่งอีกรายจะยอมแพ้ และออกจากตลาดไป
1
อุตสาหกรรมที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็น Red Ocean อย่างที่เรารู้กันก็คือ ตลาดอีคอมเมิร์ซ
ที่กำลังแข่งขันแย่งชิงการเป็นเจ้าตลาด ระหว่าง Shopee, Lazada และ JD Central
3
หรือตลาดขนส่งและโลจิสติกส์ อย่าง ไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, Flash Express, DHL, SCG Experess และ GrabExpress ก็เป็นอีกตลาด ที่แข่งขันกันด้วยสงครามราคา เช่นกัน
1
ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากตลาด Red Ocean ก็คือ “ผู้บริโภค”
จากการที่ผู้เล่นในตลาด ต่างต้องส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค ทั้งในแง่ของประสบการณ์และความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไป
ดังนั้นผู้บริโภค ก็จะได้ของที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล
3
ข้อเสียของตลาดแบบ Red Ocean คือการแข่งขันที่รุนแรง
ผู้เล่นต้องมีวิสัยทัศน์ เก่งทั้งการวางกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาว
มีความยืดหยุ่น และปรับตัวไวต่อการเปลี่ยนแปลง
2
ส่วนในมุมของตลาด Blue Ocean
อาจยกตัวอย่างสถานการณ์จริง ที่ใกล้เคียงแนวคิดดังกล่าว ด้วยตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน
2
ซึ่งผู้บุกเบิกตลาดนี้ คือ บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ที่เปิดตัว เครื่องดื่มวิตามินซี 200% “ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์” ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นการสร้างความต้องการ หรืออุปสงค์ใหม่ขึ้น
ด้วยการสร้างทางเลือกให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และยังคงอยากดื่มน้ำเปล่าอยู่
อย่างไรก็ดี ยันฮี มีความสุขกับทะเลสีน้ำเงินได้ไม่นาน
ก็มีผู้เล่นรายที่ 2 เข้ามาในตลาด นั่นคือ แบรนด์วิตอะเดย์ ภายใต้บริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด
2
และหลังจากนั้น ตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน ก็ได้กลายเป็น Red Ocean โดยสมบูรณ์ จากการเข้ามาของ แบรนด์ พีเฮช พลัส 8.5 ของเครืออิชิตัน กรุ๊ป และแบรนด์บูล ในเครือบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน)
1
สรุปแล้วในโลกของความเป็นจริง ตลาด Blue Ocean สามารถเกิดขึ้นได้จริง
แต่อาจเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
2
เพราะเมื่อเชนธุรกิจใหญ่ เห็นศักยภาพของตลาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะไม่เข้ามาลงเล่นในตลาด ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ๆ
2
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตลาด Blue Ocean ยังคงความสวยงามอยู่ได้ ก็คือ “นวัตกรรม”
ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จในตลาด Blue Ocean ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ สตีฟ จอบส์ ผู้ซึ่งคิดค้นนวัตกรรม
ที่ทำให้ทุกอย่างสามารถสั่งการ และควบคุม ได้เพียงปลายนิ้ว
2
โดยในช่วงยุคบุกเบิกของสมาร์ตโฟน จอบส์ คือผู้ที่ทำให้ iPhone และ ระบบปฏิบัติการ iOS
ไม่สามารถมีใครแข่งขัน และเลียนแบบได้
ก่อนที่หลังจากนั้น คู่แข่งจำนวนมาก จะพากันทุ่มทุนไปกับการวิจัยและพัฒนา และการตลาด
จนตลาดสมาร์ตโฟน กลายเป็นตลาด Red Ocean ในที่สุด
สรุปแล้ว แนวคิดของ Blue Ocean คือ การสร้างนวัตกรรม หรือโมเดลธุรกิจที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวของผู้บริโภค
2
แต่หากคู่แข่ง เริ่มตามนวัตกรรมทันเมื่อไร
ตอนนั้นตลาดก็จะกลายเป็น Red Ocean อย่างเลี่ยงไม่ได้
และธุรกิจ ก็ต้องมองหาความต้องการใหม่ๆ อุปสงค์ใหม่ๆ เพื่อสร้างตลาด Blue Ocean ใหม่ต่อไป..
โฆษณา