3 ธ.ค. 2020 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
เทคนิคเปิดร้านหมูกระทะ (แบบไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์)
ถ้าถามหาร้านยอดฮิตชนิดขวัญใจวัยรุ่น วัยเรียน ร้านที่เหมาะกับการเลี้ยงสังสรรค์หมู่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คำตอบส่วนใหญ่บอกว่าให้ไป “ร้านหมูกระทะ” หลายคนบอกว่าเปิดร้านหมูกระทะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าที่ร้านหมูกระทะสักแห่งจะประสบความสำเร็จได้มีสูตรเด็ดเคล็ดลับที่ใครอยากลงทุนเปิดร้านควรศึกษาให้เข้าใจ
 
www.ThaiSMEsCenter.com จึงมีเทคนิคการเปิดร้านหมูกระทะแบบไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์มาฝาก แต่ข้อมูลที่นำเสนอนี้อ้างอิงในลักษณะของร้านขนาดเล็กที่ไม่ใหญ่มาก และตัวเลขหลายอย่างเป็นแค่ประมาณการและการเฉลี่ยเบื้องต้น ถ้าสนใจลงทุนจริงๆ ต้องลองเจาะลึกหรือปรึกษาคนที่มีประสบการณ์เปิดร้านจะได้ความมองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เปิดร้านหมูกระทะ 1 ร้านต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง
ภาพจาก facebook.com/YangNoeyOfficial
นิยามคำว่าร้านหมูกระทะ สิ่งที่ต้องเตรียมคือวัตถุดิบ เช่น เนื้อหมู เนื้อหมู หมูสามชั้น คอหมูหมักงา ไก่ ตับหมู เซี่ยงจี๊ ปลาหมึกสด ปลาหมึกหลอด ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นไก่ เนื้อปลาสด ฯลฯ ซึ่งต้นทุนของร้านหมูกระทะจะแปรผันกับขนาดของร้าน คำว่าร้านขนาดเล็กประมาณ 10 โต๊ะ , ร้านขนาดกลางประมาณ 20-30 โต๊ะ , ร้านขนาดใหญ่ประมาณ 30 โต๊ะขึ้นไป งบการลงทุนในส่วนของร้านแตกต่างกันไปตามการตกแต่ง
 
ทีนี้ลองมาดูอุปกรณ์เบื้องต้นและราคาอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมี เช่น
1. กระทะย่าง ราคาประมาณ 160 บาท/ใบ
2. เตาอั้งโล่หมูกระทะ ราคาประมาณ 210 บาท/ใบ
3. ที่คีบถ่าน ราคาประมาณ 15 บาท/ชิ้น
4. ไม้คีบยกเตาถ่าน ราคาประมาณ 105 บาท/ชิ้น
5. ตะแกรงรองเตา ราคาประมาณ 65 บาท/ชิ้น
6. โต๊ะ เก้าอี้-เตา กระทะ (แบบสั่งทำ) ราคาตามแต่แบบที่ต้องการ
7. โต๊ะยาวตั้งอาหาร
8. จาน ช้อน ถ้วยน้ำจิ้ม
9. ตะกร้าใส่ผัก ถาดลึกใส่อาหาร
10. โถใส่น้ำจิ้ม ตะเกียบ
11. หม้อขนาดใหญ่สำหรับใส่น้ำจิ้ม และต้มน้ำซุป
** ราคาดังกล่าวอ้างอิงจากข้อมูลร้านค้าแบบออนไลน์ ซึ่งราคาที่แท้จริงต้องสอบถามจากผู้ขายโดยตรง **
เปิดร้านหมูกระทะ 1 ร้านลงทุนเท่าไหร่?
ภาพจาก facebook.com/AjummaGrill
เราคำนวณจากการเปิดร้านขนาดเล็กไม่เกิน 10 โต๊ะคนสนใจลงทุนต้องเตรียมอุปกรณ์เบื้องต้นตามที่กล่าวไปซึ่งเงินทุนสำหรับค่าอุปกรณ์ประมาณ 30,000 – 40,000 บาท (ตามคุณภาพสินค้า) เป็นต้นทุนที่ยังไม่รวมค่าเช่า ค่าปลูกสร้างร้าน – ที่ดิน และควรมีทุนหมุนเวียนประมาณ 7,000 – 10,000 บาท/วัน โดยควรจะมีการจ้างแรงงานประมาณ 3 – 4 คนหากเป็นร้านขนาดเล็ก
 
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือวัตถุดิบที่หลากหลายและวัตถุดิบนี่เองที่จะเป็นตัวแปรสำคัญของกำไรร้านหมูกระทะ ต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยต่อวันในแต่ละร้านนั้นไม่เท่ากัน บางร้านมีวัตถุดิบเดิมเหลือมากก็ซื้อเติมน้อยต้นทุนในวันนั้นก็จะน้อย ซึ่งหลักการที่ทำให้ร้านหมูกระทะมีกำไรควรให้ต้นทุนอาหารควรอยู่ที่ 25-30% และต้นทุนด้านแรงงานควรอยู่ที่ 15-20% นอกจากนี้ยังมีเรื่องต้นทุนคงที่ได้แก่ ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน เฉลี่ยแล้วควรอยู่ที่ 15-20% รวมถึงต้นทุนผันแปร เช่นค่าแก๊ส ค่าน้ำ ค่าไฟ จิปาถะในแต่ละเดือนควรอยู่ที่ 10-15%
 
ซึ่งร้านหมูกระทะหลายร้านนิยมให้บริการแบบ “บุฟเฟ่ต์” ก็ยิ่งต้องระวังเรื่อง “ต้นทุนอาหาร” และต้องควบคุมในเรื่องวัตถุดิบเหล่านี้ให้ดี เพราะคือตัวชี้วัดกำไรของร้านค้า และหากเป็นบุฟเฟ่ต์ก็ต้องมีเมนูอาหารที่หลากหลาย เช่น ข้าวผัด ส้มตำ ยำต่างๆ ฯลฯ ต้นทุนค่าอาหารในแต่ละวันก็จะสูงขึ้นได้อีกด้วย เราจึงควรคำนวณได้ว่าปริมาณลูกค้าในแต่ละวันที่แท้จริงของเราอยู่ที่เท่าไหร่จะได้ควบคุมต้นทุนวัตถุดิบได้อย่างมีคุณภาพ
รู้ต้นทุนเบื้องต้นแล้วมีวิธีขายอย่างไรร้านหมูกระทะมีกำไร?
ภาพจาก facebook.com/BarBQTerracePhaholyothin41
ยอดขายในแต่ละวันก็ขึ้นอยู่กับขนาดร้านเป็นสำคัญ การตั้งเป้ายอดขายในแต่ละวันขั้นต่ำต้องประมาณ 10,000 บาท ซึ่งยอดขายนี้ หากนำมาหักลบกับต้นทุนเมื่อคิดเปอร์เซ็นต์จะพบว่า ยอดขาย 10,0000
- ต้นทุนอาหารควรอยู่ที่ 2,500 – 3,0000 บาท
- ต้นทุนแรงงานควรอยู่ที่ 1,500 – 2,500 บาท
- ต้นทุนคงที่ ควรอยู่ที่ 1,500 – 2,500 บาท
- ต้นทุนผันแปร ควรอยู่ที่ 1,000 – 1,500 บาท
 
ซึ่งการตั้งเป้า “ยอดขาย” จะทำให้ประมาณการได้ว่าเราจะมีกำไรต่อวันเท่าไหร่ ซึ่งการจะฟันธงว่าให้กำหนดราคาขายต่อหัวของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการควรเป็นเท่าไหร่ต้องคำนึงถึง ค่าเช่าสถานที่ ค่าตกแต่งร้าน ค่าการตลาด ค่าราคาวัตถุดิบในแต่ละวัน รวมถึงคู่แข่งที่อยู่โดยรอบ สิ่งเหล่านี้ผู้ลงทุนต้องอาศัยความชำนาญในการหาเทคนิคลดต้นทุนตัวเองให้ได้มากที่สุดเพื่อโอกาสในการมีกำไรที่มากขึ้น
7 แนวทางทำร้านหมูกระทะให้คนฮิตติดใจ!
ภาพจาก facebook.com/BarBQTerracePhaholyothin41
1. ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า
 
ลูกค้าส่วนใหญ่อาจไม่ได้สนใจว่าราคาของเราจะถูกหรือแพงแต่เขาสนใจแค่ว่าคุ้มหรือไม่คุ้มมากกว่า ฉะนั้นไม่ว่าเราจะตั้งราคาต่อคนต่อหัวเท่าไหร่ จะ 99 บาท 299 บาท หรือ 399 บาท จงมั่นใจว่าทุกเมนูที่เสิร์ฟให้ลูกค้า จะทำให้เขารู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
 
2. บริหารจัดการต้นทุนให้ดี
 
เราต้องรู้ก่อนว่าในแต่ละเมนูมีต้นทุนเท่าไหร่ มีส่วนประกอบอะไรบ้าง อย่างละกี่กรัม เมนูไหนออกมากหรือออกน้อย การรู้ความต้องการของลูกค้าที่สัมพันธ์กับเมนูสามารถลด food costs ได้
 
3. บริหารของเสียให้เหลือน้อยที่สุด
 
หนึ่งในรูปแบบที่น่าสนใจคือลดขนาดของอาหารให้น้อยลง ก็อาจลดโอกาสที่ลูกค้าจะกินเหลือให้น้อยลงได้ เนื่องจากพฤติกรรมของคนกินมักชอบลองอะไรหลายๆ อย่าง การที่แต่ละเมนูมีขนาดไม่ใหญ่นัก จะทำให้ลูกค้ามีโอกาสลองเมนูอื่นๆ มากขึ้น
 
4. คิดให้ดีก่อนทำโปรโมชั่น
 
โดยเฉพาะพวกโปรลดราคา หรือมา 3 จ่าย 2 อะไรพวกนี้แม้จะดึงดูดลูกค้าได้แต่โอกาสเสี่ยงเจ๊งก็มีสูง วิธิที่ดีที่สุดคือเราต้องรู้ตัวเองว่าขายอะไรและขายใคร โปรโมชั่นอาจทำให้ได้ลูกค้าใหม่แต่ก็อาจเสียฐานลูกค้าเก่าได้เช่นกัน ดังนั้นโปรโมชั่นจึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและไม่ควรมีบ่อยมากจนเกินไป
 
5. ใส่ใจความสะอาดของร้านและอาหารให้ดี
 
ร้านหมูกระทะส่วนใหญ่เป็นแบบบุฟเฟ่ต์ คือ ร้านอาหารแนวบริการตัวเอง จุดอ่อนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องของความสะอาดไม่ว่าจะเป็นตัวสถานที่ หรืออาหารทั้งอาหารสดและปรุงสำเร็จมันมีกรณีเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการไม่สนใจเรื่องความสะอาดและท้ายที่สุดก็จบไม่สวยแน่ๆ
 
6. เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาจากลูกค้า
 
สิ่งที่ต้องเจอแน่ๆ คือปัญหาจากลูกค้า เพราะแต่ละคนที่มาใช้บริการมีความคิดและนิสัยที่แตกต่าง ลูกค้าบางคนก็มีกลโกงร้านค้า เช่น มากิน 3 คน แต่ตอนจ่ายบอกว่ามา 2 คน หรือบางคนกินเหลือกินทิ้ง และก็ไม่ยอมจ่ายค่าปรับให้กับร้านตามกติตาที่กำหนด และอีกหลากหลายรูปแบบปัญหาที่คนเปิดร้านหมกระทะต้องเจอ แต่ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์แบบไหนอย่างไรในฐานะงานบริการเราต้องแก้ปัญหาอย่างใจเย็น ซึ่งการอารมณ์ร้อนไปกับลูกค้าบางคนอาจทำให้ร้านของเราเสียชื่อเสียงได้ยิ่งในยุคโซเชี่ยลแบบนี้ต้องระวังให้มาก
 
7. ปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
 
การที่ร้านหมูกระทะเป็นการลงทุนยอดฮิตเราย่อมหนีไม่พ้นคู่แข่ง สิ่งสำคัญคือเราต้องพัฒนาร้านค้า พัฒนาการบริการ พัฒนาสินค้า เช่น มีเมนูใหม่ๆ บริการใหม่ๆ โปรโมชั่นใหม่ๆ และมีการตลาดยุคใหม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเปิดร้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ตัวอย่างของร้านหมูกระทะที่เริ่มจากศูนย์จนประสบความสำเร็จ
ภาพจาก facebook.com/YangNoeyOfficial
เริ่มกันที่ร้านชื่อดังอย่าง “ย่างเนย” ที่เจ้าของกิจการเริ่มต้นทำธุรกิจตอนอายุเพียง 23 เท่านั้น รีแบนด์มาจากร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ย่านธรรมศาสตร์ที่นับว่าเป็นการตัดสินใจถูกต้อง วันแรกของการเปิดร้านเจ้าของร้านบอกว่าจำนวนโต๊ะในร้านรวมกันยังมากกว่าลูกค้าและพนักงานด้วยซ้ำ แต่จุดเด่นของ “ย่างเนย” คือ กลิ่นหอมและความอร่อย และทำธุรกิจควบคุมต้นทุนอย่างใจเย็นไม่รีบร้อนโตเร็วเกินไปเปิดสาขาแรกอยู่ 6 เดือนก็เริ่มมีสาขาที่ 2 จากนั้นก็ขยายสาขาเพิ่มเติมขึ้นมากเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ย่างเนยกลายเป็นร้านหมูกระทะยอดฮิตที่คนไทยรู้จัก ซึ่งก็มีจุดเริ่มมาจากการเป็นร้านเล็กๆ ธรรมดาๆ เท่านั้น
 
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้านที่เป็นตัวอย่างน่าสนใจและเริ่มต้นจากการเป็นร้านเล็กๆ ไม่ได้ไปซื้อแฟรนไชส์กับใครที่ไหน แต่เริ่มต้นเอง บางคนไม่มีประสบการณ์แต่ศึกษาหาข้อมูลและค่อยๆ ลงมือทำ ประกอบกับมีหัวทางการค้า รู้จักบริหารจัดการร้านให้ดีๆ มีเทคนิคการเข้าถึงลูกค้า ทำการตลาดเป็นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จจากการเปิดร้านหมูกระทะได้
ภาพจาก bit.ly/2V57DIF
หลายคนที่มองเห็นร้านหมูกระทะเปิดกันพรึ่บพรับบางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่าร้านหมูกระทะเขามีกำไรมากมายแค่ไหน ถึงขนาดที่ในเว็บบอร์ดอย่างพันทิป มีการตั้งกระทู้เรื่องนี้ขึ้นมา ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น บางคนถึงขนาดคำนวณต้นทุน รายรับ รายจ่ายให้มองเห็น แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงความคิดเห็น แต่คนที่รู้จริงๆ คือคนที่ได้ลงมือทำและลองเปิดร้านด้วยตัวเอง ในความคิดเห็นส่วนตัว “ร้านหมูกระทะ” การจะมีกำไรหรือเจ๊ง ก็ขึ้นอยู่กับทำเล การตลาด การบริการ และการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ หากทุกอย่างลงตัวก็ถือเป็นไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจเพราะ “หมูกระทะ” ยังไงก็ฮิตไปอีกนาน
 
*** การคิดคำนวณราคาขาย ตัวเลขค่าใช้จ่าย ราคาอุปกรณ์ เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่เอามานำเสนอ การจะบริหารร้านให้สำเร็จมีอีกหลายปัจจัยทั้งค่าการตลาด ค่าเช่าพื้นที่ ต้นทุนผันแปรของแต่ละบุคคล ราคาเบื้องต้นจึงเป็นค่าประมาณการณ์ให้พอมองเห็นภาพและแนวทางในการคิดเบื้องต้นเท่านั้น ***
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaisme
อัพเดทและติดตามข่าวสารได้ที่
Line : @thaifranchise
Twitter : @thaifranchise
โฆษณา