Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
D-Faxtory
•
ติดตาม
29 ธ.ค. 2020 เวลา 15:22 • ความคิดเห็น
โสเภณีถูกกฎหมาย (1) บทนำ
ขายตัวถูกกฎหมายใครๆ ก็เป็นโสเภณีได้ง่ายจัง (1)
บทนำ
เนื่องจากประเด็น "การทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายในประเทศไทย" ถูกยกขึ้นมาพูดถึงกันบ่อยขึ้นช่วงนี้ แถมสื่อหลายแห่งมักจะนำเสนอแต่ในแง่ดีและชูประเด็นสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงเพื่อชักจูงให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่เท่าที่เห็นยังไม่มีสื่อไหนชี้ผลเสียจากการเปิดให้ขายบริการทางเพศถูกกฎหมายอย่างเป็นกิจจะลักษณะเลย
ผู้เขียนจึงรวบรวมข้อมูลจาก ข่าว งานวิจัย บทความ หนังสือสารคดี ผนวกกับความคิดเห็นและประสบการณ์ที่มีผู้บอกเล่าทางช่องทางต่างๆ นำมาวิเคราะห์ กลั่นกรองและเรียบเรียงเป็นบทความนี้ ซึ่งความรู้ของผู้เขียน ณ ขณะที่เขียนอาจไม่สามารถเรียบเรียงออกมาได้ครบถ้วนและข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
และอย่างที่ผู้เขียนเคยบอกเสมอว่า “ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกสิ่งในที่ผู้เขียนเขียน” และผู้เขียนจะยินดีมากหากผู้อ่านนำคีย์เวิร์ดไปค้นข้อมูลจากหลายๆ ที่อ่านเพิ่มเติมแล้วหาข้อสรุปด้วยตัวเองเพราะมันเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
ภาพโดย Gerd Altmann https://pixabay.com/images/id-114441/
หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศมีเนื้อหาและประเด็นค่อนข้างเยอะ ผู้เขียนจะแบ่งทยอยลงเป็นส่วนๆ ดังนี้
1) เหตุผลที่คนบางส่วนสนับสนุนให้มีการค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย
2) Germany model – กรณีศึกษาจากเยอรมนีหนึ่งในประเทศที่โสเภณีถูกกฎหมาย แนวคิดแบบที่ผู้สนับสนุนในไทยต้องการ
3) ข้อโต้แย้งประเด็น “สิทธิเสรีภาพในขายตัวควรเป็นของผู้หญิงทุกคน”
4) ข้อโต้แย้งประเด็น “โสเภณีเป็นอาชีพมีเกียรติมีศักดิ์ศรีและสมควรได้รับการยกย่องเหมือนอาชีพอื่นๆ”
5) ข้อโต้แย้งประเด็น “เมื่อถูกกฎหมายโสเภณีจะได้รับสวัสดิการ เข้าถึงประกันสังคมและมีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง”
6) ข้อโต้แย้งประเด็น “เมื่อถูกกฎหมายหน่วยงานรัฐจะเข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานการโสเภณีกับวงการค้ากาม”
7) ข้อโต้แย้งประเด็น “เมื่อถูกกฎหมายรัฐสามารถเก็บภาษีอาชีพโสเภณีได้”
8) ข้อโต้แย้งประเด็น “โสเภณีเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยลดความเครียดให้ผู้ชายในสังคม”
9) ข้อโต้แย้งประเด็น “การค้ากามถูกกฎหมายไม่มีผลต่อสถาบันครอบครัว”
10) ข้อโต้แย้งประเด็น “การค้ากามถูกกฎหมายไม่มีผลต่อค่านิยม บรรทัดฐาน ศีลธรรม จรรยา”
11) ข้อโต้แย้งประเด็น “โสเภณีถูกกฎหมายแล้วใครอยากขายตัวก็ขายไป ใครไม่อยากขายก็ไม่ต้องขายไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน”
12) ข้อโต้แย้งประเด็น “การค้ากามถูกกฎหมายจะช่วยจำกัดวงการค้ามนุษย์”
13) ข้อโต้แย้งประเด็น “โสเภณีถูกกฎหมายเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นสังคมอารยะ”
14) ภาคผนวก - ธุรกิจค้ากามถูกกฎหมายกับการเหยียดผู้หญิงและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
15) ภาคผนวก - การค้ากามกับการค้าอวัยวะ, การขายเลือด, การรับจ้างอุ้มบุญ
16) ภาคผนวก - ทำไมไทยเพิ่งมีกฎหมายห้ามให้ค้าประเวณีเมื่อปี พ.ศ. 2539 ทั้งที่โสเภณีมีมาแต่สมัยโบราณแล้ว
17) Nordic model – แนวทางในการช่วยเหลือโสเภณีอย่างเป็นรูปธรรม (เน้นเอาผิดผู้ซื้อไม่ใช่จับกุมผู้ขาย)
ภาพโดย Gerd Altmann https://pixabay.com/images/id-225406/
ก่อนจะเข้าสู่บทความผู้เขียนขอนิยามคำว่า "โสเภณี" และ “ผู้ซื้อ” ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้
“โสเภณี” มีความหมายตามพจนานุกรมคือ “หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี”
“โสเภณี” ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้คือโสเภณีที่เพศกำเนิดเป็นหญิงและ “ผู้ซื้อ” ที่เป็นเพศชายเป็นหลัก
ความจริงนอกจากโสเภณีที่เป็นเพศหญิงแล้วยังมีผู้ชายและผู้หญิงข้ามเพศที่อยู่ในธุรกิจค้ากามและมี “ผู้ซื้อ” ที่เป็นเพศหญิงด้วยแต่มีสัดส่วนที่น้อยกว่ามากและไม่มีกระบวนการนำคนเข้าสู่วงจรอย่างเป็นระบบเท่าโสเภณีหญิง (คนมักเรียกโสเภณีชายว่า “ผู้ชายขายน้ำ” หรือ “ผู้ชายป้ายเหลือง”) โสเภณีชายมีรายละเอียดของปัญหาที่แตกต่างออกไปผู้เขียนจึงขอละกรณีของโสเภณีที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศชายออกไปก่อน
ในขณะที่เด็กและผู้หญิงจำนวนมากถูกบังคับให้ขายตัว, ถูกค้ามนุษย์ แต่กลับมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องต้องการขายตัวถูกกฎหมาย ซ้ำผู้หญิงเหล่านั้นยังอายุน้อยลงเรื่อยๆ บางคนยังใส่เครื่องแบบมัธยมตัดผมสั้นแต่โพสต์ข้อความเสนอราคาตนเองในอินเทอร์เน็ต
โสเภณีหรือผู้หญิงที่เข้ามาขายบริการทางเพศสามารถจำแนกอย่างคร่าวๆ เป็น 2 ประเภทได้แก่
1. กลุ่มที่เต็มใจ – โสเภณีกลุ่มนี้คือคนที่ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินมากขนาดอับจนหนทางจนต้องมาเป็นโสเภณี มักมีแนวคิดแบบเสรีนิยมว่าร่างกายของตน ตนจะทำอย่างไรก็ได้รวมกระทั่งขายหรือให้ผู้อื่นเช่า, ต้องการใช้ร่างกายแลกเงินมาปรนเปรอความฟุ้งเฟ้อ, แลกชื่อเสียง, ผูกมัดคนมีเงินเพื่อให้เขายอมรับเลี้ยงดู, มีความต้องการทางเพศมากกว่าผู้หญิงปกติหรือชอบมีเพศสัมพันธ์กับคนมากหน้าหลายตา, ประชดครอบครัวและสังคม
โสเภณีกลุ่มแรกนี้แม้จะมีทางเลือกให้ประกอบอาชีพอื่นแต่มักจะยืนยันที่จะขายตัวต่อไป
2. กลุ่มที่ไม่เต็มใจ – โสเภณีกลุ่มนี้คือคนที่ไม่อยากขายตัวแต่ถูกปัจจัยรอบข้างบีบให้ต้องมาอยู่ในวงจรนี้ ส่วนใหญ่ถูกหลอกหรือถูกบังคับจากขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนยากจน, คนต่างด้าว, เด็กหญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บ้างก็เป็นผู้มีความจำเป็นต้องใช้เงินด้วยเหตุผลที่น่าเห็นใจ, ไม่มีทางออกอื่นในชีวิตขนาดที่ถ้าไม่ขายตัวก็อดตาย (survival sex – มีเซ็กซ์เพื่อความอยู่รอด)
โสเภณีกลุ่มนี้หากมีทางเลือกให้ประกอบอาชีพอื่นซึ่งแม้จะได้เงินน้อยกว่าก็พร้อมจะเลิกขายตัวทันที
โสเภณีกลุ่มที่สนับสนุนให้มีการขายบริการทางเพศอย่างถูกกฎหมายมักเป็นกลุ่มแรกเพราะคิดว่าตนจะได้ประโยชน์หากสามารถค้าบริการได้อย่างเสรี โสเภณีกลุ่มแรกนับเป็น "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" ของโสเภณีทั้งหมดที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในขณะที่กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นโสเภณีส่วนใหญ่ต่อให้มีการผ่านกฎหมายรับรองการค้ากามก็แทบจะไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของพวกเธอดีขึ้นเลย
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
LGBT and Feminism
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย