14 ธ.ค. 2020 เวลา 14:35 • ท่องเที่ยว
🍀”กลางสัปดาห์พาเที่ยวสุพรรณ”🍀
✨ชมศิลปะวัตถุชิ้นเยี่ยม สร้อยลูกปัดย้อนยุค
🧋ดื่มด่ำรสกาแฟกลางทุ่งบัว
⛵️ล่องเรือกลับสู่อดีตอู่ทอง
ทุ่งบัวที่ เดอะ เทอเรส คาเฟ่ อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี
วันนี้พาไปกินกาแฟกันก่อนค่ะ
ที่ เดอะ เทอเรส คาเฟ่ อยู่ในตัวเมืองสุพรรณบุรี ไปไม่ยาก(ให้กูเกิ้ลช่วยพาไปนะคะ 😀) พี่เขียนไปตอนบ่ายหลังกินอาหารเที่ยง แดดก็จะร้อนจัดหน่อย รีบเดินออกไปแป๊บเดียว ก็ต้องหลบเข้าที่ร่มแล้ว😅
ถ้าไปในช่วงเวลาเย็นๆ น่าจะดีกว่าค่ะ เดินทอดน่องไปบนสะพานไม้ทอดที่ไปกลางน้ำ กลางท้องทุ่งเขียวๆ ลมเย็นๆโชยอ่อนๆ มีมุมให้ถ่ายภาพเยอะเลย 🥰
สดชื่นกระปรี้กระเปร่า แล้วเราก็จะไปล่องเรือ
กลับสู่อดีตกันค่ะ ....
เดี๋ยวนี้นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ไม่ได้มีแต่สิ่งของวางไว้ให้ชมเฉยๆ แต่มีฉาก มีภาพประกอบเสียงให้เราได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ด้วยค่ะ😀
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตั้งอยู่บนถนนมาลัยแมน อ. อู่ทอง ใกล้กับที่ว่าการอำเภอ
แผนที่เมืองโบราณอู่ทอง
อู่ทอง : เมืองโบราณอันยิ่งใหญ่ ในสมัยเริ่มแรก
ที่มีความเจริญรุ่งเรือง ในช่วง 1000-1400 ปีมาแล้ว
เป็นบ้านเมืองยุคแรกที่มีการวาดผังเมืองเกิดขึ้น
ทำเลที่ตั้งที่อยู่บนแม่น้ำสายรองที่แยกมาจากแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งชุมชนบนผืนดินที่มีความสูง 3.5-4 เมตร
เมืองกว้าง 1 กิโลเมตร ยาว 2 กิโลเมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ และป้อมปราการ (มีการการฉายวงรีแสงสีเขียวลงบนแผนที่)
เมืองอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพัน มีความอุดมสมบูรณ์ (แสงไฟสีน้ำเงินกระพริบขึ้นมาตามแนวแม่น้ำในแผนที่)
เชิงเขาสลับซับซ้อนกันหลายลูก ทางทิศตะวันตก เป็นกำแพงใหญ่ต้านข้าศึก และรับน้ำมาจากลำห้วยสายเล็กๆรับน้ำจากเนินเขาที่สูง มายังตัวเมือง
คูเมืองเป็นที่เก็บกักน้ำ ถ้าล้นก็ระบายลงสู่แม่น้ำจระเข้สามพันได้
จากห้องนี้ เราก็ไปลงเรือกันต่อเลยค่ะที่ชั้น 2
ห้องจัดแสดงชั้นบนส่วนที่ 2 “สุวรรณภูมิการค้าของโลกยุคโบราณ”จำลองเหตุการณ์การค้าทางทะเลจากคาบสมุทรอินเดียสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อราว 3,000 ปีที่ผ่านมาโดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ แสดงถึงการเดินเรือของพ่อค้าชาวต่างชาติ เส้นทางการค้าและเมืองท่าสำคัญในเวลานั้น ซึ่งส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเมืองอู่ทองโบราณโดยตรง
บนเรือบรรทุกสินค้า
น้องที่นำชมนิทรรศการ ก็พาไปนั่งที่หัวเรือเลยค่ะ😀นั่งห้อยเท้าเตรียมชมวิดิทัศน์ การค้าขายทางเรือ มีกระแสลมเรือโคลงไปมา คล้ายกับว่าเรานั่งเรือไปด้วยจริงๆค่ะ
ไปล่องเรือจำลองจากเรือสำเภาที่แล่นมา
ค้าขายกับเมืองโบราณอู่ทองกันค่ะ
การค้าขายที่อู่ทองรุ่งเรืองมาก มีการขุดพบเหรียญกษาปณ์โรมัน และพบลูกปัดที่ทำจากหินมีค่า แก้ว ดินเผา และทองคำ
มีความสวยงาม และมีเทคโนโลยีในการทำ อันแสดงว่า มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ
ลูกปัดทองคำขนาดเล็กทรงกลมพร้อมจี้ทองคำฝังพลอย
ได้ชมลูกปัดแล้วทึ่งมากค่ะ ที่สมัยก่อนมีการเจาะรูลูกปัดขนาดเล็กได้
“ดูสีสดใสมากเหมือนเพิ่งผลิตจากโรงงานเลยนะคะ” มีใครคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต
“แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะคะ ว่าลูกปัดไหนของเก่าจริง?”
“ดูที่รูตรงกลางก็ได้ครับ ของเก่าใช้มือเจาะรูจากคนละข้าง แล้วไปเจอกันข้างใน มันก็จะไม่เป็นเส้นตรงเหมือนใช้เครื่องจักรเจาะครับ “ น้องไกด์ผู้น่ารักตอบ 😀
เรือจำลองจากเรือสำเภา บรรทุกสินค้าในยุคอู่ทองโบรา
ต่อมาก็ไปชม ห้องจัดแสดง“อู่ทองศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา”จัดแสดงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อประมาณ 1,600-1,800 ปีที่ผ่านมา “เมืองโบราณอู่ทอง อรุณรุ่งแห่งอารยธรรมไทย”
อู่ทองเป็นเมืองสำคัญยุคแรกที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธจากอินเดีย ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรมทวารวดีในเวลาต่อมา มีหลักฐานว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานที่เมืองโบราณอู่ทองเป็นจุดแรกในดินแดนประเทศไทย
แบบจำลอง ธรรมจักรพร้อมแท่นและเสา
จัดแสดงโดยใช้โบราณวัตถุสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แบบจำลองเจดีย์ธรรมจักร และการขุดค้นทางโบราณคดีที่มีเมืองโบราณอู่ทองด้วยเทคนิคการจัดแสดงอันทันสมัย
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม
1. แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุอุ้มบาตร ศิลปะอินเดียแบบอมราวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 (หรือราว 1,600-1,700 ปีมาแล้ว) ลักษณะแผ่นดินเผาภาพภิกษุ 3 องค์ ยืนอุ้มบาตรครองจีวรคลุม จีวรมีลักษณะเป็นริ้ว แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอมราวดีของอินเดีย สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อประดับศาสนสถาน
“แผ่นดินเผา พระภิกษุอุ้มบาตร”โบราณวัตถุอิทธิพลศิลปะอินเดีย ที่เก่าแก่ที่สุด ที่พบในไทย
2. แผ่นดินเผารูปเทวดาเหาะ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 หรือประมาณราว 1,300-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะแผ่นดินเผาทำเป็นภาพนูนต่ำรูปบุคคลเอียงตัวทำท่าเหาะ ยกแขนและขาข้างขวาไปด้านหลัง ขาซ้ายยื่นไปทางด้านหน้า สวมเครื่องประดับศีรษะแสดงถึงความเป็นบุคคลชั้นสูง ซึ่งน่าจะหมายถึงเทวดา มีสายคาดเอวพันรอบตัวโดยขมวดเป็นปม มีแถบผ้าพลิ้วไปทางด้านหลังคล้ายกับศิลปะอินเดียแบบคุปตะ
แผ่นดินเผารูปเทวดาเหาะ
3. แผ่นดินเผาภาพกินรี ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-12 หรือราว 1,400-1,600 ปีมาแล้วลักษณะแผ่นดินเผาภาพกินรีสวมเครื่องประดับศีรษะ อยู่ในท่าเคลื่อนไหว ยกมือขวาและขาซ้ายขึ้นไปด้านหลังเนื่องจากแผ่นภาพชิ้นนี้ค่อนข้างลบเลือนและบางส่วนแตกชำรุดไป จึงไม่สามารถทราบรายละเอียดที่ชัด
แผ่นดินเผาภาพกินรี
4.สิงห์สำริด ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200-1,300 ปีก่อน
สิงโตเป็นสัตว์สำคัญที่ปรากฏในงานศิลปะตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดีย
เนื่องจากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ปรากฏสัตว์ดังกล่าวอยู่ในธรรมชาติ สิงโตสำริดชิ้นนี้เป็นของหายาก นอกจากจะมีขนาดเล็กและหล่อด้วยโลหะสำริดแล้ว ฝีมือในการปั้นยังแสดงถึงอารมณ์ และลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
สิงห์สำริด
5. เหรียญกษาปณ์โรมัน ลักษณะด้านหน้ามีรูปพระพักตร์ด้านข้างของจักรพรรดิซีซ่าร์วิคโตรินุส สวมมงกุฎยอดแหลมเป็นแฉกมีตัวอักษรล้อมรอบอยู่ริมขอบเหรียญ IMP C VICTORINUS PF AUG ซึ่งเป็นคำย่อของ Emperor Caesar Victorinus Felix Augusteแปลว่าจักรพรรดิซีซ่าร์วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข เป็นสง่า ส่วนด้านหลังของเหรียญ เป็นรูปเทพอาธีนา สำหรับจักรพรรดิวิคโตรินุสนั้น เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรโรมันครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 812-814
เหรียญกษาปณ์โรมัน
6.แผ่นดินเผารูปหน้าต่างจำลอง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง
Uthongmuseum
การติดต่อ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ถนนมาลัยแมน ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160
โทรศัพท์/โทรสาร 035-551021
การเดินทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตั้งอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภออู่ทอง บนถนนมาลัยแมน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 30 กิโลเมตร
แผนที่เส้นทาง สุพรรณ - อ.อู่ทอง
เวลาเปิด-ปิด
วันเวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลา 9.00 น.-16.00 น.
ปิด : วันจันทร์-วันอังคาร
ค่าเข้าชม
ค่าธรรมเนียมเข้าชมชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
หมายเหตุ ยกเว้นค่าธรรมเนียม นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร และนักบวชใน ศาสนา ต่างๆและผู้สูงอายุ เกิน 60 ปี
ค่าพิกัด GPS 14.372751, 99.89126
home suphanbiz
เอกสารอ้างอิง
หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา