Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
28 พ.ย. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
ตำนานนักสู้สองพ่อลูกแห่งทีมฮอยต์
โดย TERI2947
1
1
หากจะยกรางวัล “คุณพ่อแห่งศตวรรษ” ให้กับนักกีฬาสักคน เรื่องราวต่อจากนี้อาจทำให้คุณมีคำตอบ
จุดเริ่มต้นของตำนานนักสู้สองพ่อลูกแห่งทีมฮอยต์ (Team Hoyt) สหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1977 ริชาร์ด ยูจีน ฮอยต์ (Richard Eugene Hoyt) หรือ ดิ๊ก ลงแข่งวิ่งระยะไกลในงานการกุศลร่วมกับ ริชาร์ด ยูจีน ฮอยต์ จูเนียร์ (Richard Eugene Hoyt Jr.) หรือ ริก ลูกชายของเขา
หลังผ่านความยากลำบากระยะทาง 5 ไมล์หรือประมาณ 8 กิโลเมตร ทั้งสองคนก็ทะยานเข้าสู่เส้นชัยพร้อมกัน
ทว่าการวิ่งครั้งนั้น ริกไม่ได้วิ่งด้วยขาของตัวเองแม้สักก้าวเดียว
ริกเป็นคนพิการ ดิ๊กจึงวิ่งเข็นรถที่มีลูกกึ่งนั่งกึ่งนอนมาตลอดทางเข้าสู่เส้นชัย
2
ริกไม่สามารถขยับเขยื้อน ควบคุมร่างกายหรือพูดคุยได้เหมือนคนปกติ สาเหตุเกิดจากขณะคลอดสายสะดือพันรอบคอจนทำให้สมองบางส่วนตาย
แม้ตระหนักว่าลูกชายอาจต้องนอนติดเตียงไปตลอดชีวิต แต่สองพ่อแม่ตระกูลฮอยต์ก็ตัดสินใจพาลูกกลับบ้าน ทั้งสองคนตั้งปณิธานว่าจะเลี้ยงดูเด็กน้อยคนนี้ให้ดีที่สุด
พ่อและแม่พาริกไปทดสอบพัฒนาการทางสมองเพื่อหาวิธีช่วยให้ลูกสื่อสารกับคนอื่นได้ แม้ช่วงแรกจะได้รับคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญว่า ไม่...เป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งคู่ก็ไม่ละความพยายาม ทั้งคู่รู้ดีว่าริกเข้าใจสถานการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว ที่สำคัญคือมีสติปัญญาไม่แตกต่างจากคนทั่วไป
ริกรู้ว่าตัวเองคือใคร พ่อและแม่ทำอะไรอยู่ที่ไหน จนเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือสะกดคำด้วยการใช้ศีรษะกดปุ่ม ข้อความจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ริกจึงสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้เป็นครั้งแรก
แต่น่าแปลก ประโยคแรกที่ริกใช้หัวพิมพ์สื่อสาร กลับไม่ใช่คำว่า “สวัสดีครับ” หรือคำทักทายทั่วไป หากแต่เป็นคำว่า “บรูอินส์ สู้ สู้ !”
แม้พ่อและแม่จะรู้ว่าริกชอบดูกีฬา แต่ก็ไม่คิดว่าจะคลั่งไคล้ทีมฮอกกี้ประจำเมืองบอสตันมากมายขนาดนี้
3
วันหนึ่งขณะริกอายุ 15 ปี หลังกลับจากโรงเรียนเขาบอกพ่อว่าอยากมีส่วนร่วมในการวิ่งการกุศลเพื่อหาเงินมาช่วยเพื่อนนักกีฬาลาครอสของโรงเรียนที่ประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาตจากการแข่งขัน พ่อซึ่งขณะนั้นอายุ 36 ปีตอบรับลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่เคยวิ่งระยะไกล
ดิ๊กตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันโดยตัดสินใจให้ริกนั่งบนรถเข็น และตนเองเป็นคนเข็นไปตลอดทาง
เขาเริ่มซ้อมวิ่งอย่างจริงจังเพื่อลูกชายตั้งแต่นั้น
เมื่อถึงวันแข่งขัน ทั้งคู่ทำสำเร็จ หลังเข้าสู่เส้นชัย ริกพิมพ์ข้อความบอกดิ๊กว่า “พ่อครับ เวลาวิ่ง ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้พิการ”
ขณะที่ดิ๊กยอมรับในเวลาต่อมาว่า เขาเองต่างหากที่รู้สึกเหมือนกับพิการ เพราะเจ็บไปทั้งเนื้อทั้งตัวนานถึง 2 สัปดาห์หลังลงแข่งครั้งแรก
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการวิ่ง 8 กิโลเมตรด้วยกันอีกถึง 162 ครั้ง และทั้งคู่เริ่มซ้อมและลงแข่งวิ่งมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร สมัครวิ่งติดต่อกันทุกปีต่อเนื่อง 32 ปี จนกลายเป็นขาประจำของบอสตันมาราธอน เพิ่งจะยุติการวิ่งบอสตันมาราธอนเมื่อปี 2557 เมื่อมีอายุมากขึ้น
นอกจากมาราธอนแล้วสองพ่อลูกยังวิ่งและขี่จักรยานไปทั่วสหรัฐอเมริกา พวกเขาวิ่งและขี่จักรยานข้ามประเทศระยะทาง 3,735 ไมล์ หรือประมาณ 6,010 กิโลเมตร และลงแข่งไตรกีฬาที่มีทั้งว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง
เวลาว่ายน้ำ คุณพ่อดิ๊กจะใช้เชือกคล้ายสายไฟมัดติดไว้กับเสื้อกั๊ก โยงเข้ากับเรือยางที่มีริกนั่งอยู่ ดิ๊กจะออกแรงว่ายน้ำลากเรือยางไป
เวลาขี่จักรยาน ดิ๊กจะอุ้มริกขึ้นจากเรือยางมานั่งบนจักรยานที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ
.
เวลาวิ่ง คุณพ่อก็วิ่งเข็นริกที่กึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่ในรถเข็นด้านหน้า เหมือนกับที่เคยทำสม่ำเสมอ
ระหว่างอยู่ในสนาม ริกรับรู้และมีอารมณ์ร่วมไปตลอดทาง เมื่อเข้าสู่เส้นชัยริกจะพยายามชูไม้ชูมือขึ้นฟ้าและส่งยิ้มให้กองเชียร์
มีบันทึกว่าทั้งคู่ลงแข่งไตรกีฬาด้วยกันมากกว่า 257 ครั้ง เอาชนะกีฬากลางแจ้งร่วมกันมากกว่า 1,000 รายการ เรื่องราวของสองพ่อลูกกลายเป็นตำนานเล่าขานของนักสู้ผู้มีหัวใจไม่ยอมแพ้
4
ริกเรียนจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และทำงานในมหาวิทยาลัยเป็นผู้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยเหลือคนพิการ
ครั้งหนึ่งเมื่อมีผู้ตั้งคำถามกับริกว่าถ้าสามารถมอบอะไรคุณพ่อได้สักอย่างหนึ่ง เขาจะมอบอะไร
ริกกลั่นคำตอบจากหัวใจลงไปบนแป้นพิมพ์
“สิ่งที่ผมอยากจะทำ คือให้พ่อนั่งเก้าอี้ แล้วผมจะขอเป็นคนเข็นบ้าง”
ริกเคยให้สัมภาษณ์ว่าคุณพ่อของเขาเป็นคุณพ่อแห่งศตวรรษ ความมุ่งมั่นของท่านหาใครเทียบได้ยาก ยกตัวอย่างเมื่อครั้งลงแข่งไตรกีฬา แม้ต้องทำงานแต่พ่อก็ยังหาเวลาออกกำลังกายมากถึงวันละ 5 ชั่วโมง
ขณะที่พ่อบอกว่า สิ่งที่เขาทำได้คือให้ลูกยืมแขนและขา เพื่อออกไปแข่งขันร่วมกับคนอื่นๆ ถ้าไม่มีลูก เขาก็คงไม่มีพลังใจ
ทุกวันนี้ ใกล้จุดปล่อยตัวบอสตันมาราธอนในรัฐแมสซาชูเซตส์ มีการติดตั้งประติมากรรมสำริดรูปดิ๊กเข็นรถเข็นที่มีริกนั่งอยู่เพื่อแสดงความเคารพและเป็นเกียรติแก่ทั้งคู่ในฐานะที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทั่วโลก
สองพ่อลูกนักวิ่งระยะไกลซึ่งขณะนี้มีอายุใกล้แปดสิบและหกสิบปียืนยันผ่านเว็บไซต์ว่าการแข่งขันของพวกเขายังไม่ถึงคราวสิ้นสุด
.
.
ที่มาของภาพ
www.teamhoyt.com
#TeamHoyt #RichardEugeneHoyt #ทีมฮอยต์ #เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
ฝากติดตาม
https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand
5 บันทึก
61
6
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Let's Run
5
61
6
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย