28 พ.ย. 2020 เวลา 09:42 • ธุรกิจ
ไม่ง้อเงินทุน — ธุรกิจที่พึ่งพิงระบบ
การเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่ใช้เงินทุนนั้น นอกจากจะใช้ความรู้ความสามารถของเราในการสร้างธุรกิจแล้ว เราสามารถเริ่มต้นธุรกิจจาก “ระบบ” ที่มีบริษัทออกแบบเอาไว้ได้ จากนั้นก็นำคุณค่าของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย คอนเน็คชั่น เวลา แรงกายและความรู้การตลาด มาใช้ร่วมกับระบบในการเริ่มต้นธุรกิจนั่นเอง
งานประเภทนี้ส่วนมากเป็น งานขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทเหล่านั้นต้องการมากที่สุด จึงสร้างระบบและเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนงานขายต่างๆไม่ว่าจะเป็นระบบไอที ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า ระบบการขนส่ง ระบบการชำระเงิน สื่อสิ่งพิมพ์ คู่มือ วีดีโอ ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนที่ต้องการสร้างรายได้
งานเหล่านี้อาจจะได้กำไรไม่มาก การแข่งขันสูง และหลายคนทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับงานประจำ อย่างไรก็ตามประสบการณ์จากการขายในรูปแบบนี้สามารถเป็นบันไดในการเริ่มต้นธุรกิจอื่นๆในอนาคตได้
ธุรกิจออนไลน์ (Online Business)
ข้อมูลจาก We are social และ Hootsuite ในปี 2019 พบว่า มีประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 4 พันล้านคนจากประชากรโลกมากกว่า 7 พันล้านคน โดยเกือบทั้งหมดเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ สำหรับประเทศไทยมีจำนวนคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากถึง 57 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 69 ล้านคน โดย 51 ล้านคนเข้าใช้งาน social media เป็นประจำ
ตลาดที่มีขนาดมหาศาลนี้เองที่ทำให้การทำธุรกิจออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะใช้ความรู้ด้านการตลาดดิจิตอลซึ่งสามารถหาความรู้ได้จากอินเตอร์เน็ตและคอร์สต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถทำที่ไหนก็ได้จึงเหมาะสำหรับการเริ่มต้น โดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำอยู่
ธุรกิจออนไลน์เริ่มต้นได้โดยใช้ “ระบบ” และทรัพยากรของบริษัทอื่น โดยตัวเรามีหน้าที่แค่ “ขาย” เพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันระบบไอทีและเครื่องมือต่างๆได้ถูกพัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น แม้ไม่มีความรู้ด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็สามารถใช้งานได้ไม่ยาก
รูปแบบของธุรกิจออนไลน์หลายประเภทที่แทบไม่ต้องใช้เงินทุนในการเริ่มต้นเลย ได้แก่ drop shipping, affiliate program, pre order มาดูกันว่าแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร
แผนภาพ drop shipping
ชื่อนี้ฟังดูอาจจะไม่คุ้น แต่ไม่ใช่สิ่งใหม่ในแวดวงธุรกิจออนไลน์ มีคนทำธุรกิจนี้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและระบบการขนส่งที่ทันสมัย
Drop shipping เป็นวิธีการซื้อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ต โดยการนำสินค้าของคนอื่นมาขายผ่านหน้าเว็บไซต์ของเรา โดยเราทำหน้าที่เปรียบเสมือนนายหน้าหรือตัวแทนจำหน่าย
จุดเด่นหลักๆคือ ไม่ต้องลงทุนในการซื้อสินค้ามาตุนไว้ พอมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามา ก็ติดต่อไปยังเจ้าของสินค้า จากนั้นเจ้าของสินค้ามีหน้าที่จัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าแทนเรา เรามีหน้าที่ประชาสัมพันธ์และขายสินค้า โดยรับผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายตามเงื่อนไขต่างๆที่ได้ตกลงกันไว้
บางคนทำเว็บไซต์เสมือนกับตนเองเป็นเจ้าของร้านขายสินค้าจริงๆ มีข้อมูลต่างๆเชิงลึก มีเว็บไซต์ที่ดูดีน่าเชื่อถือ แต่จริงๆแล้วเป็นเพียงแค่นายหน้า ที่เห็นบ่อยๆ คือ เจ้าของเว็บไซต์อยู่ใกล้แหล่งซื้อสินค้าชื่อดัง เช่น สะพานเหล็ก คลองถม รู้จักกับเจ้าของร้าน มีราคาตลาดและแหล่งขายสินค้าราคาถูก พอมีคำสั่งซื้อเข้ามาก็โทรหาเฮียให้ช่วยจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของตนเอง
ข้อดีในมุมเจ้าของสินค้า คือ มีคนช่วยขายให้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง
ข้อดีในมุมเจ้าของเว็บไซต์ คือ ไม่ต้องลงทุน ไม่มีความเสี่ยงหากสินค้าขายไม่ได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อดีก็ย่อมต้องมีข้อเสียควบคู่กัน
ข้อเสียหลักๆของการทำธุรกิจแบบนี้ คือ กำไรน้อย เพราะการซื้อของทีละชิ้น ย่อมมีต้นทุนที่สูงกว่าพวกร้านค้าต่างๆ ที่มีคำสั่งซื้อทีละเยอะๆ นอกจากนี้ ข้อมูลต่างๆไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเชิงลึกของสินค้า สถานะของสินค้าคงคลัง สถานะการจัดส่ง จำเป็นต้องมีการสอบถามไปยังเจ้าของสินค้าเรื่อยๆ ทำให้ไม่คล่องตัวในการทำธุรกิจ
Affiliate Marketing
แผนภาพ affiliate marketing
เป็นวิธีการทำธุรกิจออนไลน์ประเภทหนึ่ง คล้ายๆกับ drop shipping คือไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ามาตุนไว้ ไม่ต้องมีเว็บไซต์เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ไม่ต้องจัดส่ง ไม่ต้องทำกิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม
สิ่งที่ต้องทำมีเพียงอย่างเดียว คือ ทำการตลาดออนไลน์
หรือพูดอีกอย่างก็คือ ช่วยเจ้าของสินค้าขายของให้เขา
ตัวอย่างเช่น การเขียนบล็อกที่เกี่ยวข้องกับสินค้า เขียนบทความหรือความเห็นตามเว็บบอร์ด ลงเนื้อหาใน facebook เป็นต้น พอมีคนที่สนใจกด ลิงค์ (link) หรือแบนเนอร์ (banner) และเข้าไปซื้อสินค้าจากเว็บไซต์เจ้าของสินค้า โดยเจ้าของสินค้าจะเป็นคนจัดส่งสินค้าและติดต่อกับลูกค้าโดยตรง และเราก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้หรือค่าคอมมิชชั่นตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้
จะเรียกรายได้ส่วนนี้ว่า ค่าโปรโมท ก็คงไม่ผิดนัก
แผนภาพ pre order
เป็นการขายสินค้าส่วนมากจะผ่านระบบออนไลน์ เช่น website หรือ social network ต่างๆ โดยให้ลูกค้าสั่งสินค้าและโอนเงินเข้ามาก่อน เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อไปสั่งของจากโรงงานหรือเจ้าของสินค้าอีกทีหนึ่ง สิ่งที่แตกต่างจาก drop shipping คือ เราเป็นคนสั่งซื้อและจัดส่งให้กับลูกค้าด้วยตนเอง
รูปแบบที่นิยมกัน คือ การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เช่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง แว่นตา น้ำหอม เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นของที่หาซื้อจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว การขายสินค้าออนไลน์โดยไม่ได้สต๊อกสินค้า ก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ pre order คือพอมีคนสั่งซื้อสินค้าก็ค่อยไปสั่งซื้อจากผู้ประกอบการตามแหล่งต่างๆ เช่น สะพานเหล็ก คลองถม ประตูน้ำ หรืออีคอมเมิร์ส เช่น alibaba.com อีกทอดนึง โดยสินค้าที่ส่งให้ลูกค้าจะมีการติดแบรนด์ของตัวเองเข้าไปให้เหมือนกับเป็นสินค้าจากร้านของตนเอง
ข้อดีของโมเดลธุรกิจนี้ คือ มีออเดอร์ ได้เงินมาแล้ว ค่อยไปซื้อของ ลดความเสี่ยงในการซื้อสินค้าแล้วขายไม่ออก
จาก 3 ตัวอย่างที่ยกมา เป็นแนวคิดการทำธุรกิจออนไลน์ โดยมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ
สินค้าคงคลังเป็นศูนย์ (zero inventory)
สินค้าคงคลังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ อยู่ หรือ ดับ ได้เลยทีเดียว
การทำธุรกิจแบบดั้งเดิมมักจะสั่งซื้อสินค้ามาเก็บไว้เพื่อจัดจำหน่ายให้กับลูกค้า ซึ่งหากเจ้าของกิจการคาดการณ์ผิด สินค้าขายไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะส่งผลกระทบทำให้กิจการถึงกับขาดทุนหรือล้มละลายได้
อย่างไรก็ตาม การมีสินค้าอยู่ในมือ ก็มีข้อดีหลายอย่างที่มาทดแทน “ความเสี่ยง” ได้
เช่น สามารถจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว, มีสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าได้เห็นของจริง, ต้นทุนต่อหน่วยถูกเพราะสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
ในขณะที่การทำธุรกิจออนไลน์ในรูปแบบข้างต้นค่อนข้างปลอดภัยกว่าการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะสามารถหาสินค้าหรือบริการทุกอย่างได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตก็ตาม แต่การซื้อขายออนไลน์บางอย่าง ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยังคงเคยชินกับสิ่งเดิมๆอยู่
สิ่งที่น่าสนใจในหลายๆประเภทของธุรกิจออนไลน์ คือ “แนวคิดการเปลี่ยนขั้นตอนกิจกรรมธุรกิจแบบดั้งเดิม ก่อให้เกิดแนวคิดธุรกิจแบบใหม่”
ธุรกิจดั้งเดิม : เจ้าของร้านค้าต้องจัดส่งสินค้าด้วยตัวเอง
Drop shipping: ผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้าทำหน้าที่จัดส่งสินค้าแทนเจ้าของร้านค้า
ข้อดี: ลดขั้นตอนการขนส่งจากผู้ผลิตมาที่ร้านค้า จาก ( ผู้ผลิต → ร้านค้า → ลูกค้า ) เป็น ( ผู้ผลิต → ลูกค้า )
ธุรกิจดั้งเดิม : ขายสินค้าโดยพนักงานขาย
Affiliate marketing: ขายสินค้าโดยบุคคลทั่วไปที่ต้องการหารายได้เสริม
ข้อดี : เพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยไม่มีข้อจำกัด
ธุรกิจดั้งเดิม : เจ้าของร้านค้าต้องซื้อสินค้าเข้ามาไว้ในร้านก่อน เพื่อจัดจำหน่าย
Pre order: เจ้าของร้านค้าขายสินค้าก่อน พอมีคนสนใจ ค่อยสั่งซื้อจากทางผู้ผลิต
ข้อดี : ไม่มีสินค้าคงคลัง โดยเปลี่ยนลำดับขั้นตอนกิจกรรมธุรกิจจาก ( ซื้อ → ขาย ) มาเป็น ( ขาย → ซื้อ )
ขอแค่มีไอเดียที่เฉียบคม เงินทุนก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป
Multi-level marketing (MLM)
ธุรกิจ multi-level marketing (MLM) หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า ธุรกิจเครือข่าย แนวคิดหลักๆของธุรกิจนี้ คือ การสร้างเครือข่ายผู้บริโภคโดยสมาชิก และนำส่วนต่างจากการตัดพ่อค้าคนกลางและค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ออกมาแบ่งเป็นรายได้ให้กับสมาชิกในเครือข่ายของตน บริษัทที่ทำธุรกิจนี้ในเมืองไทยมีหลายบริษัท เช่น แอมเวย์ กิฟฟารีน เอมสตาร์ เป็นต้น
MLM เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการหารายได้ โดยใช้เงินลงทุนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้หลักแสนจนถึงหลักล้านต่อเดือน
หากนำแง่มุมอื่นๆหรือทัศนคติที่มีต่อธุรกิจนี้ วางไว้ข้างๆ
ในธุรกิจ MLM สิ่งที่เราต้องทำคือ งานขาย ที่เหลือพึ่งพาระบบที่ทางบริษัทหรือทางกลุ่มมีให้ ไม่ว่าจะเป็นระบบคลังสินค้า ระบบการซื้อขายออนไลน์ หรือระบบการเรียนรู้ สื่อการสอนต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างธุรกิจแบบไม่ง้อเงินทุนและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายในการสร้างรายได้แบบทวีคูณที่คนทั่วไปสามารถทำได้
มีการนำส่วนรายได้ของคนกลาง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด หรือ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รวมทั้งค่าโฆษณา ค่าพรีเซนเตอร์ต่างๆ มาแบ่งให้กับผู้บริโภคในเครือข่ายนั่นเอง
ผมมีคนรู้จักบางคนที่เคยประสบความเสร็จในธุรกิจนี้จริงๆ แม้แต่ในปัจจุบันหลายคนได้เลิกลาไปแล้วก็ตาม
หลักการที่ถูกต้องของธุรกิจ MLM คือ การสร้างเครือข่ายผู้บริโภค ยิ่งเรามีจำนวนสมาชิกอยู่ภายในเครือข่ายและบริโภคสินค้าของบริษัทมากเท่าไหร่ ผลตอบแทนที่มาถึงตัวเรา ก็จะมากขึ้นเท่านั้น รายได้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันไปแล้วแต่บริษัท
ตอนแรกจะงงๆ แต่พอถึงเวลาที่ต้องได้เงินหรือต้องเสียเงิน จะคำนวณเป็นเอง
แล้วเราจะหาคนมากมายขนาดนั้นได้อย่างไร
เราคนเดียวหาไม่ได้หรอกครับ ทุกคนในเครือข่ายจะเป็นคนช่วยกันหาสมาชิก จากหลักสิบคน กลายเป็นหลักร้อย จนถึงหลักหมื่นคน การเพิ่มจำนวนจะเป็นลักษณะ exponential graph ช่วงแรกจะช้าหน่อยแต่พอจำนวนคนในเครือข่ายเริ่มมากขึ้น พลังทวีคูณจะทำงาน
คิดง่ายๆ สมมติว่า เราชวนคนมาเป็นสมาชิก ​10 คน แล้ว 10 คนนี้ ก็ทำเหมือนกัน เราก็จะมีเครือข่าย 100 คน
คน 100 คน ชวนอีกคนละ 10 คน ก็จะกลายเป็น 1,000 คน ทำอย่างเดียวกันซ้ำๆเหมือนๆกัน เครือข่ายก็จะใหญ่ขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้นตามมา
เป็นธุรกิจส่วนตัวที่ใช้ทรัพยากรของคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ นอกจากจะไม่ต้องลงทุนระบบและสินค้าคงคลังแล้ว หากแต่ฟังก์ชั่นการขายที่เราทำอยู่ ยังสามารถถ่ายทอดไปให้คนอื่นทำแทนได้ โดยที่รายได้มีแต่จะเพิ่มขึ้น
ช่างคิดจริงๆ
หากเราไม่มีเงินทุน ไม่มีไอเดียในการทำธุรกิจ แต่อยากมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น MLM เป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ นอกจากรายได้แล้ว ยังเป็นโรงเรียนสอนธุรกิจที่ดี สอนในเรื่องทัศนคติ การขาย การตลาด แนวคิดการทำธุรกิจ เราจะเข้าใจตัวเราเองมากขึ้น ซึ่งเนื้อหาที่สอนหาไม่ได้ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ
ที่สำคัญ เขาสอนฟรีครับ
แต่ถึงกระนั้น ขึ้นชื่อว่าธุรกิจ และยิ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับคน
การบริหารจัดการทัศนคติและอารมณ์ของคนเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือของบริษัท คุณภาพของสินค้า และทีมงานก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อความสำเร็จ
เหมือนการแข่งรถที่นอกจากคนขับจะต้องเก่งแล้ว รถยนต์ต้องมีประสิทธิภาพด้วย
จริงไหมครับ
โฆษณา