30 พ.ย. 2020 เวลา 02:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
ภัยเงียบ! ห้องไร้หน้าต่าง : สร้างความเครียดและทำลายวงจรการนอนหลับ by ArchiNature
Original Photo by Daniel Mingook Kim on Unsplash
เมื่อสังคมสมัยใหม่ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่แต่ในอาคารมากถึง 80-90% ของวัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่คอยปิดม่านตลอดเวลาหรือที่ทำงานที่ไม่มีหน้าต่าง รวมถึงพฤติกรรมการหลบแดด ส่งผลให้ 1 ใน 3 ของคนไทยวัยทำงานและกว่า 64.6% ของคนกรุงเทพมีภาวะพร่องวิตามิน D จากงานวิจัยของโรงพยาบาลพญาไท 2
แสงธรรมชาติไม่ได้ส่งผลต่อปริมาณวิตามิน D เท่านั้น เมื่อทีมนักวิจัยชาวบราซิลพบหลักฐานการส่งผลต่อสภาพจิตใจ วงจรการนอนหลับ และโรคซึมเศร้า จากการแบ่งผู้หญิง 10 คนให้ทำงานในห้องที่มีหน้าต่างและอีก 10 คนทำงานในห้องไร้หน้าต่างโดยสวมนาฬิกาตรวจจับการเคลื่อนไหวและปริมาณแสงธรรมชาติที่แต่ละคนได้รับ
หลังสิ้นสุดการทดลองเป็นระยะเวลา 7 วัน นักวิจัยได้ทำการวัดปริมาณ melatonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวงจรการนอนหลับและ cortisol ที่สัมพันธ์กับความเครียด ร่วมกับการประเมินคุณภาพการนอนหลับและสภาวะทางจิตเวช
ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่ทำงานในห้องไร้หน้าต่างซึ่งได้รับแสงธรรมชาติไม่เพียงพอ ในเวลาสี่ทุ่มพบปริมาณ cortisol สูงซึ่งสัมพันธ์กับอาการทางจิตเวชและโรคซึมเศร้า ในขณะที่มี melatonin ต่ำในเวลาสี่ทุ่มซึ่งส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าและคุณภาพการนอนหลับ ต่างกับพนักงานที่ทำงานในห้องที่มีหน้าต่าง
จะเห็นได้ว่า "หน้าต่าง" ซึ่งเป็นองค์ประกอบเล็กๆในสถาปัตยกรรม ส่งผลต่อร่างกายของมนุษย์สมัยใหม่อย่างคาดไม่ถึง ในอาคารที่มีหน้าต่างแต่ยังปิดม่านอาจแก้ได้ไม่ยาก แต่สำหรับผู้ที่ต้องอาศัยในห้องไร้หน้าต่างอาจต้องใช้เวลาช่วงเช้าก่อนทำงานและเย็นหลังเลิกงานเพื่อรับแสงธรรมชาติอย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมงจากคำแนะนำวสุธา เชน สถาปนิกอาวุโส RISC
โฆษณา