29 พ.ย. 2020 เวลา 10:16 • ธุรกิจ
ธุรกิจที่นำทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างรายได้โดยไม่ใช้เงินทุน
ธุรกิจที่มุ่งเน้นที่การสร้างรายได้และขยายธุรกิจโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินทางปัญหา ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ฯลฯ เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีในการสร้างธุรกิจใหม่ การสร้างรายได้เพิ่ม การขยายธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุน
Licensing Business Model
Licensing คือ การอนุญาตในการใช้ ครอบครอง หรือกระทำการใดๆภายใต้ขอบเขตที่กำหนดเกี่ยวกับทรัพยากรของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธ์ทางปัญญา (intellectual property : IP)
อันได้แก่ ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ สิทธิบัตร (patent) แบรนด์และเครื่องหมายการค้า (trademark) ภาพและงานออกแบบ เป็นต้น โดยเจ้าของลิขสิทธ์จะได้รับรายได้ที่เรียกว่า royalty เป็นผลตอบแทน
รายได้ที่เกิดขึ้นจะมีวิธีคำนวณหลายรูปแบบ เช่น % ของยอดขาย, % ต่อหน่วยที่ผลิต, ค่าใช้จ่ายรายปีโดยไม่จำกัดจำนวนที่ผลิตหรือใช้, คิดค่าใช้จ่ายตามภูมิภาคที่นำไปใช้งาน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับประเภทของลิขสิทธิ์และเนื้อหาของสัญญา
ธุรกิจ licensing เรียกอีกอย่างว่า ธุรกิจ IP มีการเติบโตที่สูง ข้อมูลจาก LIMA ( the International Licensing Industry Merchandisers’ Association) ในปี 2018 รายได้จากธุรกิจ trademark licensing business มีมูลค่าถึง 271.6 billion USD โดยจำนวนนี้เป็นส่วนของ entertainment/character มากถึง 44.7% ตามมาด้วย corporate/brand fashion และ sports
ลิขสิทธิ์เหล่านี้ได้แก่อะไรบ้าง เช่น superhero จากค่าย Marvel, งานโชว์ Harry Porter, ภาพยนต์ Star Wars โดยมีการนำลิขสิทธิ์ไปใช้การในการผลิตสินค้า ธุรกิจงานอีเวนท์ งานโชว์ ธุรกิจสวนสนุก (theme park) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการหารายได้จากนวัตกรรมที่คิดค้นอีกด้วย
Arm Holdings (ARM) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอังกฤษ หนึ่งในเจ้าของลิขสิทธิ์ CPU อันดับหนึ่งของโลกโดยลิขสิทธิ์ของ Arm Holdings ก็มีตั้งแต่ เทคโนโลยีเครือข่าย เทคโนโลยีช่วยเหลือการขับขี่ เทคโนโลยีอุปกรณ์ IoT และ ที่ใหญ่ที่สุดก็คือ เทคโนโลยี CPU บนสมาร์ตโฟน
ส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ขนาดที่ CPU ใน smart phone ทุกๆ 100 เครื่องจะมีโครงสร้างการออกแบบมาจาก Arm Holdings 90 เครื่อง เรียกได้ว่าครอบครองลูกค้าเกือบทั้งตลาด ตั้งแต่ Apple, HTC, Nokia, Ericsson, Samsung และ Huawei โดยบริษัทมีรายได้ในปี 2018 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 59,000 ล้านบาท
ธุรกิจ licensing จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจหากว่าเรามี งานออกแบบ สิ่งประดิษฐ์ แนวคิดนวัตกรรม และมีการจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรเอาไว้ สามารถนำไปต่อยอด เช่น ขายให้กับนักลงทุนที่สนใจ บริษัทหรือโรงงานที่ต้องการผลิตสินค้า สามารถขยายไปในต่างประเทศได้ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล
Franchising Business Model
Franchising คือการที่เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ (franchisor) ตกลงอนุญาตให้ผู้รับสิทธิแฟรนไชส์ (franchisee) ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อการค้า การบริหาร และระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาขึ้น ผู้รับสิทธิจะต้องดำเนินธุรกิจตามรูปแบบและระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิและจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิ
ระบบธุรกิจจะมีลักษณะเป็นแพ็คเกจคือ เป็นสิทธิที่มีประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น สิทธิในการใช้แบรนด์สินค้า ระบบงาน วัตถุดิบ สินค้า ความช่วยเหลือทางการตลาด การสนับสนุนช่วยเหลือด้านบุคลากร เป็นต้น
เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ (franchisor) ที่มีมาตรฐานจะให้ความสำคัญกับระบบเป็นอย่างมาก ทั้งระบบสนับสนุน เช่น ระบบการผลิตสินค้า ระบบลอจิสติกในการจัดส่งวัตถุดิบและสินค้าไปยังสาขาต่างๆ
มีการทำการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ และขั้นตอนการดำเนินการสำหรับผู้รับสิทธิแฟรนไชส์ (franchisee) โดยมีคู่มือการปฏิบัติงาน หรือที่เรียกว่า standard operating procedure (SOP) เพื่อที่จะให้รูปแบบวิธีดำเนินธุรกิจในทุกๆ สาขาให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
ธุรกิจที่เป็นดำเนินธุรกิจระบบแฟรนไชส์มีทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ได้แก่ 7/11, McDonald’s, KFC, Cafe Amazon เป็นต้น
ร้านสะดวกซื้อ 7/11 เป็นธุรกิจที่ใช้โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทย ในปี 2019 มีสาขาทั้งหมด 10,760 สาขา โดยมูลค่าตลาดของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7/11 มีมูลค่าถึง 740,000 ล้านบาท
KFC เป็นแฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีชื่อเสียงระดับโลกเหมือนกับ McDonald’s มีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการพัฒนานวัตกรรมเมนูใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาดเป็นประจำ ปัจจุบันมีกว่า 13,846 สาขาทั่วโลก
การบริหารในไทยมีผู้รับสิทธิและเจ้าของสิทธิ อยู่ถึง 3 บริษัท ได้แก่ เซ็นทรัล ฟาสท์ฟู้ด, ซีพี เคเอฟซี ดีเวลลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยัม เรสเตอร์รองท์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่เอง ก็ได้บริหารงานด้วยตนเอง
คุมอง (KUMON) แฟรนไชส์ด้านการศึกษาโดยเป็นศูนย์กวดวิชาที่สอนทางด้านวิชาคณิตศาสตร์และภาษาที่มีเครือข่ายมากที่สุดในโลก โดยในปี 2018 มีนักเรียนคุมองทั่วโลกกว่า 4 ล้านคนและมีศูนย์คุมองอยู่ประมาณ 26,000 ศูนย์ใน 50 ประเทศ ประเทศญี่ปุ่นมีสาขาคุงมองกว่า 16,000 แห่ง ในขณะที่ประเทศไทยมีสาขาคุมองกว่า 474 แห่งทั่วประเทศ
โมเดลธุรกิจนี้ทำให้เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ (franchisor) สามารถขยายตลาดอย่างรวดเร็ว โดยใช้เงินลงทุนจากผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์ (franchisee) ทำให้ต้นทุนโดยรวมลดลง เกิด economy of scale ในขณะที่ผู้ซื้อสิทธิ์ก็เริ่มต้นธุรกิจได้เลยโดยไม่ต้องลองผิดลองถูก
ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ได้มีการนำโมเดลธุรกิจนี้ไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร การศึกษา โรงแรม ฯลฯ
โฆษณา