30 พ.ย. 2020 เวลา 08:01 • ประวัติศาสตร์
📝 กระดาษแผ่นที่สอง
อนัคซูนามุน : เธอคือใครในประวัติศาสตร์
อนัคซูนามุน จาก The Mummy (1999) แสดงโดย แพทริเซีย เวลาเควซ
ถ้าคุณเคยดูภาพยนต์เรื่อง The Mummy (1999) หรือ The Mummy Returns (2001) คุณจะรู้จักอนัคซูนามุน เพราะตัวเธอและการตายของเธอ เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดในภาพยนต์ทั้งสองภาค
ในภาพยนต์ เราทราบเพียงว่า อนัคซูนามุนเป็นสนมคนโปรดของฟาโรห์เซติ และรักสามเส้าระหว่างเธอ องค์ฟาโรห์ และหัวหน้านักบวชอิมโฮเทป ทำให้รัชสมัยของฟาโรห์เซติสิ้นสุดลง เธอเป็นผู้ปลงพระชนม์กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ และจบชีวิตตัวเองตามไปด้วยในเวลาเดียวกัน - ไม่มีภูมิหลัง พื้นเพชีวิตของเธอให้เรารู้มากไปกว่านี้เลยแม้แต่นิดเดียว
เมนมาอัตเร เซติที่ 1 แห่งราชวงศ์ที่ 19 กล่าวกันว่าทรงเป็นมัมมี่ที่งดงามที่สุดของอียิปต์โบราณ เนื่องจากพระพักตร์ได้รับการรักษาไว้ดีมากจนเหมือนคนที่กำลังนอนหลับ
ถ้าอย่างนั้น อนัคซูนามุนเป็นตัวละครสมมติที่ไม่มีอยู่จริง ผู้สร้างภาพยนต์เพียงอุปโลกน์เธอขึ้นมาจากความว่างเปล่าอย่างนั้นหรือ?
ไม่ใช่เสียทีเดียว
แม้ว่าจะไม่มีอะไรเหมือนกับในภาพยนต์เลยแม้แต่น้อย แต่สตรีที่มีนามว่าอนัคซูนามุนนั้นมีตัวตนอยู่จริง และชีวิตของเธอก็ไม่ได้ประสบความทนทุกข์ และต้องต่อสู้น้อยไปกว่าในภาพยนต์เลย เผลอ ๆ จะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
3
และตั้งแต่นี้ไป เราขอเรียกเธอด้วยนามจริงก่อนที่จะถูกดัดแปลงเป็นอนัคซูนามุน...นามกำเนิดของเธอคือ อังคีเซนปาเตน
อังคีเซนปาเตน (Ankhesenpaaten) กำลังถวายดอกบัวให้แก่ฟาโรห์ทุตอังค์อาเตน พระสวามี
เจ้าหญิงอังคีเซนปาเตน มีชีวิตอยู่ในตอนปลายราชวงศ์ที่ 18 ราว ๆ 1350 ปีก่อนคริสตกาล เธอเป็นพระธิดาองค์ที่สามจากหกองค์ของฟาโรห์อัคนาเตน และราชินีเนเฟอร์ตีตี
ฟาโรห์อัคนาเตนและราชินีเนเฟอร์ตีตี พระบิดาและพระมารดาของอังค์คีเซนปาเตน
ก่อนจะกล่าวถึงอังคีเซนปาเตน เราต้องขอย้อนกลับไปสู่ความยุ่งเหยิงในราชสำนักอียิปต์ช่วงราชวงศ์ที่สิบแปดกันก่อน
พระบิดาของอังคีเซนปาเตนเป็นโอรสของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่สาม ฟาโรห์องค์ที่เก้าแห่งราชวงศ์ที่สิบแปด กับพระนางติเยพระมเหสี ในวัยเยาว์ ทรงมีพระนามว่า อาเมนโฮเทปที่สี่ หรืออาเมนโนฟิสที่สี่
พระมารดาของอังคีเซนปาเตนเป็นเจ้าหญิงจากมิทันนี นามว่าทาดูเคปา นางถูกส่งตัวมาอภิเษกสมรสกับอาเมนโฮเทปที่สามที่อียิปต์เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี กล่าวกันว่ามีการตกลงจะแต่งตั้งนางให้เป็นราชินีองค์หนึ่งในอาเมนโฮเทปที่สามด้วย แต่เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้น นางเดินทางไปถึงอียิปต์ในช่วงท้ายของรัชสมัย ไม่มีผู้ใดรู้ว่าสุดท้ายแล้ว นางได้เป็นพระชายาของอาเมนโฮเทปที่สามหรือไม่ แต่เมื่ออาเมนโฮเทปที่สามสิ้นพระชนม์ลง นางได้อภิเษกกับอาเมนโฮเทปที่สี่ รัชทายาทของว่าที่พระสวามีองค์เดิม และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าเนเฟอร์ตีตี อันหมายถึง นางผู้งดงามได้มาถึงแล้ว
อาเมนโฮเทปที่สี่เป็นฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงมากองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะทรงเปลี่ยนศาสนาจากความเชื่อเดิมของชาวอียิปต์ที่มีเทพเจ้ายุ่บยั่บไปหมด และมีเทพเจ้าราเป็นสุริยเทพเหนือเทพทั้งปวง มาสู่ศาสนาเอกเทวนิยม คือให้นับถือเทพเจ้าเพียงพระองค์เดียว นั่นคือสุริยเทพอาเตน ทรงเปลี่ยนพระนามพระองค์เองเป็นอัคนาเตน (จิตวิญญาณแห่งอาเตน) และห้ามมิให้ประชาชนชาวอียิปต์นับถือเทพเจ้าองค์อื่นอีกต่อไป
อัคนาเตนทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าอาเตน ซึ่งมีลักษณะเป็น solar disc และส่องรัศมีลงมาเป็นหัตถ์ ล้มล้างรูปลักษ์เดิมของเทพเจ้าอียิปต์ซึ่งมีรูปกายเป็นมนุษย์และสัตว์
ไม่มีใครทราบว่าเหตุผลที่แท้จริงของการปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่นี้ของอัคนาเตนมีแรงบันดาลใจมาจากอะไร อาจเป็นเพราะเหล่านักบวช โดยเฉพาะนักบวชในเทพเจ้าอามอน-รา มีอิทธิพลต่อประชาชนและราชสำนักมากเกินไป และทรงมีพระประสงค์จะรวบอำนาจเหล่านั้นกลับสู่ศูนย์กลาง ทว่า ความเชื่อบูชาที่มีมานับพันปีย่อมยากรื้อถอน แม้จะถูกสั่งห้าม ประชาชนและนักบวชต่างก็แอบบูชาเทพเจ้าองค์เดิมของพวกตนอยู่อย่างลับ ๆ และความไม่พอใจนี้ก็สร้างความกดดันแก่ราชวงศ์มากมาย จนกล่าวกันว่าเป็นเหตุผลที่อัคนาเตนย้ายเมืองหลวงของพระองค์ จากธีบส์อันเป็นนครติดแม่น้ำ เข้าไปในทะเลทราย (ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน) สร้างวังขึ้นใหม่ ตั้งชื่อว่า อาเขต-อาตัน (ดินแดนแห่งอาเตน) ปัจจุบันนี้คือเมืองอาร์มานา
ในระยะแรก อัคนาเตนมีมเหสี (เท่าที่รู้) สามองค์ คือ คิยา, สตรีนิรนาม จากหลุมศพ KV35 ที่นักโบราณคดีเรียกขานว่า The younger lady ซึ่งต่อมาเป็นพระมารดาของฟาโรห์ทุตอังค์อาเตน (จากการตรวจ DNA จากพระศพ The younger lady เป็นขนิษฐาร่วมสายโลหิตทั้งฝ่ายบิดาและมารดาของอัคนาเตน) และเนเฟอร์ตีตี เนเฟอร์ตีตีไม่มีโอรส แต่มีพระธิดาทั้งหมดหกองค์ อังคีเซนปาเตนเป็นพระธิดาองค์ที่สามของพระนาง
1
จากหลักฐานอันคลุมเครือ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า อัคนาเตนได้อภิเษกกับพระธิดาของพระองค์เองอย่างน้อยสองพระองค์ คือเมริตาเตน พระธิดาองค์โตที่เกิดกับเนเฟอร์ตีตี และอังคีเซนปาเตนของเรานี่เอง
ในช่วงท้ายของรัชสมัย อัคนาเตนยกให้ชายหนุ่มผู้หนึ่งขึ้นปกครองบัลลังก์ร่วมกับพระองค์ ชายหนุ่มคนนี้ชื่อสเมนกาเร เขาเป็นฟาโรห์ที่มีประวัติความเป็นมาลึกลับที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่มีใครรู้แจ้งว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน อาจจะเป็นอนุชาของอัคนาเตน อาจจะเป็นโอรสที่เกิดจากคิยา อาจจะเป็นนักบวช อาจจะเป็นแม่ทัพ หรืออาจจะเป็นชู้รัก มีจารึกจำนวนมากที่กล่าวคำว่า 'สเมนกาเร ผู้เป็นที่รักแห่งอัคนาเตน' และ 'อัคนาเตน ผู้เป็นที่รักแห่งสเมนกาเร' รวมทั้งภาพฝาผนังของบุรุษทั้งสอง อัคนาเตนเชยคางสเมนกาเร และสเมนกาเรก็คล้องแขนรอบพระศอ รวมถึงภาพที่สเมนกาเรประทับบนตักของอัคนาเตนอีกด้วย
บางบทความบอกว่าในภาพนี้ พวกเขา 'เปลือยกาย' ด้วยนะ
(สำหรับสาววายที่กำลังตั้งท่าจะกรี๊ด มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า สเมนกาเรก็คือเนเฟอร์ตีตีที่ตั้งตนเป็นฟาโรห์ และปลอมองค์เป็นชาย แบบเดียวกับฟาโรห์ฮัทเชปซัทนั่นเอง เรื่องใดจริงเรื่องใดเท็จ ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่อาจค้นพบเพิ่มเติมใหม่ในโอกาสต่อไป)
หลังสิ้นรัชสมัยของอัคนาเตน สเมนกาเรได้ครองราชย์อยู่เพียงหนึ่งปีก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่ก่อนหน้านั้น เขาได้สมรสกับเมริตาเตน เป็นฟาโรห์ที่ถูกต้อง อียิปต์สืบทอดบัลลังก์ตามฝั่งสตรี ดังนั้นหากผู้ใดสมรสกับเมริตาเตน ย่อมได้เป็นฟาโรห์องค์ต่อไป
สเมนกาเรกับเมริตาเตน
แต่ไม่มีหลักฐานว่าเมริตาเตนแต่งงานใหม่ นางหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เช่นกัน ราชสมบัติจึงถูกเวนมาสู่ทุตอังค์อาเตน โอรสของอัคนาเตนกับ The Younger Lady ทุตอังค์อาเตนอภิเษกสมรสกับอังคีเซนปาเตน ทั้งสองมีธิดาด้วยกันสองคน หากแต่แท้งและตายคลอดเสียก่อน พระธิดาทั้งสองถูกทำมัมมี่ไว้ในหลุมศพ KV35 ในหุบผากษัตริย์ร่วมกับมัมมี่ของคิยาและ The Younger Lady
ทุตอังค์อาเตนกับอังคีเซปาเตนล้มล้างเอกเทวนิยมของอัคนาเตนด้วยการประกาศให้ประชาชนชาวอียิปต์กลับมานับถือเทพเจ้าหลายองค์ได้เหมือนเก่า ทรงย้ายเมืองหลวงจากอาเขต-อาตันที่แห้งแล้ง คืนสู่ธีบส์ และเปลี่ยนพระนามเป็นทุตอังค์อามุน และอังคีเซนามุน เพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าอามุน ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นดินอียิปต์มานับพันปี ทรงพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และทำศึกกับบางประเทศ ทรงคืนอำนาจแก่กลุ่มนักบวชเช่นที่เคยเป็นก่อนรัชสมัยของอัคนาเตนด้วย
ทุตอังค์อามุนกับอังคีเซนามุน
หากความสุขสงบหาได้ยืนยาว ด้วยยุวกษัตริย์ทรงมีโอกาสครองราชย์ได้เพียงเก้าปีก่อนสิ้นพระชนม์ในวัยเพียง 18-19 ปี สันนิษฐานว่าทรงล้มจนพระชงฆ์หักและติดเชื้อ หรืออาจถูกรถศึกชนก็ได้ นอกจากนี้ จากการตรวจสอบ พบว่ายุวฟาโรห์องค์นี้ยังมีภาวะผิดปกติทางร่างกายจำนวนมาก เนื่องจากการสมรสกันเองในสายเลือดระหว่างพี่น้องมาหลายรุ่น
สิ้นองค์ฟาโรห์แล้ว อังคีเซนามุนซึ่งขณะนั้นมีชันษาราว 21 ปี มีหน้าที่ต้องอภิเษกสมรสใหม่เพื่อให้มีฟาโรห์องค์ต่อไป แต่ขณะนั้นราชนิกูลซึ่งเป็นบุรุษไม่เหลืออยู่อีกแล้ว ทั้งตัวนางเองก็ไม่มีโอรส ตัวเลือกที่ดีที่สุดของนางในขณะนั้นคืออัย บิดาของเนเฟอร์ตีตี หรืออัยยิกาของนางนั่นเอง เขาเป็นผู้สำเร็จราชการ ทรงอำนาจที่สุดในแผ่นดิน ทั้งยังเป็นหัวหน้านักบวช (ดังปรากฏในภาพพิธีกรรมการเปิดปากศพในสุสานของฟาโรห์ทุตอังค์อามุน ซึ่งอัยเป็นผู้ทำพิธีนั้นถวาย) มีอำนาจทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักร แต่อังคีเซนามุนไม่อยากอภิเษกกับอัย นางอาจเชื่อว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของพระสวามี อังคีเซนามุนจึงตัดสินพระทัยทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการลักลอบส่งจดหมายถึงฮิตไทต์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นศัตรูกัน และวิงวอนต่อกษัตริย์ฮิตไทต์ว่า พระสวามีของนางสิ้นแล้ว และนางไม่มีโอรส นางได้ยินว่ากษัตริย์ฮิตไทต์มีพระโอรสมากมาย นางจึงขอประทานสักองค์หนึ่งเพื่อมาเป็นสวามี เพราะนางไม่ต้องการสมรสกับข้าราชบริพารของนางเอง
อัยทำพิธีเปิดปากพระศพให้ฟาโรห์ทุตอังค์อามุน
กษัตริย์ฮิตไทต์ทรงแปลกพระทัยมาก จนต้องส่งคนไปสืบว่าจริงหรือไม่ ในระหว่างนั้น อังคีเซนามุนได้ส่งจดหมายอีกฉบับมายืนยันความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งความนั้นตรงกับที่ทางฮิตไทต์สืบมาได้ กษัตริย์ฮิตไทต์จึงตัดสินพระทัยส่งเจ้าชายซันนันซาไป น่าเสียดายที่เจ้าชายองค์นี้ไม่มีโอกาสแม้แต่จะข้ามเขตแดนสู่อียิปต์ เพราะทรงถูกลอบปลงพระชนม์ให้ลมพัดทรายกลบอยู่ตรงชายแดนนั่นเอง
อังคีเซนามุนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีเพียงแหวนทองวงหนึ่งที่จารึกไว้ว่าสุดท้ายแล้ว นางได้อภิเษกสมรสกับอัย และบัลลังก์ฟาโรห์ที่แสนยิ่งใหญ่ก็ตกเป็นของเขา หากแต่นางมิได้ครองตำแหน่งราชินี ผู้ที่อัยจารึกนามในฐานะราชินีของตนคือภรรยาเดิมของเขาตั้งแต่ก่อนขึ้นเป็นฟาโรห์นั่นเอง หากด้วยอายุขัย อัยครองราชย์ต่อไปได้เพียงสี่ปี บัลลังก์ก็ถูกเวนสู่โฮเรมเฮป ขุนพลคนหนึ่งของอียิปต์ที่แต่งงานกับน้องสาวคนหนึ่งของอังคีเซนามุน เป็นฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่สิบแปด
ไม่มีใครรู้ข่าวคราวของอังคีเซนามุนอีกเลย นอกจากพบสุสานเล็ก ๆ และโลงใส่พระศพที่เชื่อว่าน่าจะถูกเตรียมไว้ให้นางที่สุสาน KV63 แต่ไม่มีศพของผู้ใดอยู่ในนั้น มีบางคนเชื่อว่าร่างมัมมี่สตรีที่อยู่ในหลุมศพ KV21 เป็นศพของนาง ทว่าก็ปราศจากคำยืนยัน การตรวจ DNA บอกได้แค่เป็นศพสตรีในราชวงศ์อาร์มานาเท่านั้น นางหายไปเหมือนร่องรอยทรายที่ถูกสายลมพัดผ่าน เหลือทิ้งไว้เพียงจารึกและคำบอกเล่าในฐานะราชินีองค์หนึ่งที่ถูกรั้งไปตามกระแสแห่งอำนาจในประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นเท่านั้น
โฆษณา