30 พ.ย. 2020 เวลา 09:02 • ธุรกิจ
แนวคิดธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรของคนอื่น (Other People’s Resource)
Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon อีคอมเมิร์สอันดับหนึ่งของโลก ได้ตั้งกฎที่เรียกว่า 70 percent rule สำหรับให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจ โดยกล่าวว่า
“ถ้าคุณมีข้อมูล 70% ของที่ต้องการแล้ว คุณจำเป็นต้องตัดสินใจ เพราะว่าข้อมูล 100% ไม่มีอยู่จริง และก็ไม่มีทางที่จะได้มา”
ความพร้อมในการเริ่มต้นธุรกิจก็เช่นเดียวกัน
หากว่าทรัพยากรของตนเองไม่เพียงพอในการเริ่มต้นหรือดำเนินธุรกิจแล้ว มีความจำเป็นที่ต้องเสาะแสวงหาทรัพยากรจากภายนอก ซึ่งการได้มาซึ่งทรัพยากรเหล่านั้นทำได้ 2 วิธี คือ ซื้อเข้ามา หรือ การนำคุณค่าที่ตนเองมีอยู่ไปแลกมา นั่นเอง
หากเจ้าของกิจการมีเงินมากพอ การซื้อทรัพยากรคงเป็นทางเลือกที่ดีเพราะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินทุนมากพอและบางครั้งการใช้เงินเพื่อซื้อทรัพยากรก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ดังนั้น
แนวคิดธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรของคนอื่น (Other People’s Resource) จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการได้มาซึ่งทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มลูกค้า สินค้า วัตถุดิบ บุคลากร ความรู้ เครื่องมือ ฯลฯ หรือเงินทุนจากคนอื่น ผ่านการวางแผนบริหารคุณค่าอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาใช้ในแต่ละกิจกรรมทางธุรกิจ ในการส่งมอบคุณค่าไปสู่ลูกค้า
แผนภาพ การใช้ทรัพยากรของคนอื่น
การที่บริษัทส่งมอบสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้าก็เพื่อที่จะได้มีรายได้เป็นสิ่งตอบแทน เช่นเดียวกัน การใช้ทรัพยากรของคนอื่น (Other People’s Resource) จะเกิดขึ้นได้ต้องมีสิ่งตอบแทนกลับคืนไป
เพราะ “โลกนี้ไม่มีของฟรี”
ธุรกิจจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายพึงพอใจในเงื่อนไขที่ตกลงกัน
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของเงินเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็น ชื่อเสียง ข้อมูล การขยายฐานลูกค้า การเข้าถึงเทคโนโลยี ฯลฯ
แนวคิดธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรของคนอื่น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1. Partnership พันธมิตร : การร่วมมือกันในการทำธุรกิจที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ แทนที่จะหาซื้อทุกอย่างด้วยตนเอง แต่ใช้ทรัพยากรของพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจแทน
2. Intermediary คนกลาง : เป็นคนกลางระหว่างสองฝ่าย โดยจับคู่ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย, ผู้ใช้ ผู้ให้บริการ โดยเราไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนในการดำเนินธุรกิจเลย
3. Cash Flow Management บริหารเงินสด : การบริหารโดยให้กระแสเงินสดเข้า “เกิดก่อน” กระแสเงินสดออก
1
โดยทั้ง 3 รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คุณค่าที่นำเสนอ = ทรัพยากรที่ต้องการ ดังนั้น คุณค่า (value) จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการได้มาซึ่งทรัพยากรต่างๆ กลยุทธ์ในการสร้างคุณค่าจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ทรัพยากรของคนอื่น Other People’s Resource (OPR)
การดำเนินธุรกิจจะมีกิจกรรมต่างๆมากมายเกิดขึ้นภายใต้ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสินค้า ระบบลอจิสติก การบริหารจัดการ การขายและการตลาด ฯลฯ เพื่อส่งมอบสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้า โดยทรัพยากรเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้น
ธุรกิจร้านอาหารต้องการสถานที่และแม่ครัว
ธุรกิจไอทีต้องการโปรแกรมเมอร์
ธุรกิจผลิตสิ่งของต้องการโรงงานและเครื่องจักร
อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรเหล่านี้ไม่จำเป็นที่บริษัทจะต้องลงทุนในการซื้อมา และไม่จำเป็นที่บริษัทจะต้องดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นเองทั้งหมด ซึ่งกิจกรรมภายใต้ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เหล่านั้น จะเกิดขึ้นในทุกๆองค์ประกอบของโมเดลธุรกิจ
หากพิจารณาโมเดลธุรกิจผ่านเครื่องมืออย่าง business model canvas (BMC) ที่นำเสนอโดย Alexander Osterwalder ซึ่งประกอบไปด้วย
1. value proposition — คุณค่าที่นำเสนอ
2. customer segment — กลุ่มเป้าหมาย
3. customer relationships — รูปแบบความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย
4. channels — ช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
5. key activities — กิจกรรมหลักของธุรกิจ
6. key resources — ทรัพยากรหลักของธุรกิจ
7. key partners — พันธมิตร
8. cost structure — โครงสร้างต้นทุน
9. revenue stream — รายได้หลัก
ในแต่ละวันที่ดำเนินธุรกิจนั้นจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การแชร์ฐานข้อมูลลูกค้า การร่วมมือทางการค้า การเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการ การหารายได้อื่นๆนอกเหนือจากรายได้หลัก ฯลฯ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นในทุกๆองค์ประกอบของโมเดลธุรกิจเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากทรัพยากร key resources — ทรัพยากรหลักของธุรกิจเพียงอย่างเดียวแต่มีการใช้ทรัพยากรของคนอื่น Other People’s Resource (OPR) อยู่ตลอดเวลาโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น การร่วมมือทำการตลาดร่วมกับพันธมิตร การต่อรองเครดิตเทอมจาก supplier การใช้ระบบอีเมลจากผู้ให้บริการฟรี ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจากทรัพยากรของคนอื่นแทบทั้งหมด
การใช้ทรัพยากรของคนอื่นจึงไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ แต่วิธีการเหล่านี้มักจะไม่ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะว่า “การใช้เงิน” เป็นสิ่งที่ง่ายกว่านั่นเอง
โดยทั่วไปเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจแล้ว การของบประมาณ การหาเงินทุนมักเป็นสิ่งแรกที่หลายคนคิด พองบประมาณไม่พอหรือไม่ได้รับการอนุมัติ หลายองค์กรโดยเฉพาะหน่วยงานราชการและบริษัทขนาดใหญ่เลือกที่จะ “หยุด” กิจกรรมเหล่านั้นไว้ก่อน
นอกจากนี้ คนที่อยู่ในองค์กรขนาดใหญ่หรือหน่วยงานราชการมักจะทำงานตามคำสั่งและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพียงอย่างเดียว การคิดพลิกแพลงหรือการดิ้นรนหาหนทางอื่นๆ จะเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น อาจจะด้วยข้อจำกัดของระบบการบังคับบัญชา ทำให้คนรุ่นใหม่ไฟแรงหลายคนที่มีไอเดียใหม่ๆ ก็ล้มเลิกในการผลักดันไอเดียต่างๆ และหันกลับไปทำงานภายใต้กรอบของตนเองต่อไป เพราะการสู้รบกับการเมืองภายในองค์กร
ไม่ง่ายเลย
สิ่งที่คนกลุ่มนี้ใช้บ่อยที่สุดคือการใช้อำนาจต่อรองกับ supplier เพราะชื่อเสียงของบริษัทและอำนาจทางการเงินที่สูงกว่าทำให้ supplier ไม่มีทางเลือก ต้องยอมกับเงื่อนไขที่เสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่ไอเดียการทำธุรกิจใหม่ๆ นวัตกรรม รวมไปถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในการใช้ทรัพยากรของคนอื่นมักเกิดขึ้นกับบริษัทขนาดเล็กและคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว เพราะว่าบริษัทเหล่านี้ไม่เคยมีทรัพยากรและงบประมาณเพียงพอ แต่จำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ เพราะการ “หยุด” หรือเลื่อนอาจหมายถึงการดำรงอยู่ของกิจการทีเดียว
ทรัพยากรของคนอื่นไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดเงินลงทุนและช่วยให้ธุรกิจดำเนินการต่อไปได้เท่านั้น การได้รับความร่วมมือของพันธมิตร คู่ค้า ลูกค้า ยังช่วยขยายมุมมองต่อการดำเนินการธุรกิจได้อีกด้วย
การใช้ทรัพยากรของคนอื่นจึงไม่ใช่มุมมองในเรื่องของการเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นโมเดลธุรกิจ เป็นกลยุทธ์ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถเชิงการแข่งขันได้อีกด้วย
โฆษณา