30 พ.ย. 2020 เวลา 11:57 • ประวัติศาสตร์
ทุกครั้งที่ได้ไปพระราชวังบางปะอิน ผู้เขียนมักจะนึกถึง “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” ผู้ทรงเนรมิตพระราชวังอันงดงามบนเกาะกลางน้ำแห่งนี้
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ที่พระราชวังบางปะอิน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนพระที่นั่งหลังเดิมของพระเจ้าปราสาททอง
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุถึงต้นกำเนิดพระราชวังบางปะอินว่า "ในปีนั้นทรงพระกรุณาให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพอาสน์ ณ เกาะบางนางอิน มีราชนิเวศน์ปราการ ประกอบพฤษาชาติร่มรื่น เป็นที่สำราญราชหฤทัย ประพาศราชตระกูลสุริวงศ์อนงค์นารีทั้งปวงแล้วสร้างพระอารามเคียงพระราชนิเวศน์ถวายเป็นสงฆทาน มีพระเจดีย์วิหารเป็นอาทิสำหรับพระศาสนาเสร็จบริบูรณ์ แล้วให้นามชื่อวัดชุมพลนิกายาราม"(๑)
-
จากพงศาวดารที่ระบุชื่อสถานที่ดั้งเดิมแห่งนี้ว่า "เกาะบางนางอิน" ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเลน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาทางทิศใต้ของพระนครศรีอยุธยา โดยที่มาของชื่อเกาะแห่งนี้ มาจากหญิงนางหนึ่งที่ชื่อ "อิน" แต่จะมีความสำคัญอย่างไรนั้น ยังไม่มีหลักฐานชั้นต้นระบุได้แน่ชัด
-
แต่ก็มีตำนานที่เล่าขานกันต่อๆ มา ซึ่งเป็นเกร็ดเล็กๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ยินภายหลัง และพระองค์ได้ทรงเล่าพระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เรื่องราวนี้เป็นที่เล่าขานกันโดยทั่วไป และถือเป็นจุดกำเนิดตำนานอย่างเป็นทางการของพระราชวังบางปะอิน
“…ในกาลครั้งหนึ่งมีที่เสด็จพระราชดำเนินลงไปข้างใต้ แล้วเสด็จกลับ พอเกิดพายุพัดหนักมืดมัว เรือพระที่นั่งล่มลงตรงเกาะบางปอินนี้ สมเด็จพระเอกาทศรฐ ทรงว่ายน้ำมาขึ้นเกาะนี้ พบบ้านแห่งหนึ่ง เจ้าของบ้านนั่งผิงไฟอยู่ สมเด็จพระเอกาทศรฐเสด็จเข้าไปทรงอาศัยผิงไฟ ทอดพระเนตรเห็นหญิงเจ้าเข้ามีรูปโฉมงามต้องพระทัย ก็เสด็จอยู่ด้วยหญิงนั้นคืนหนึ่ง แล้วจึ่งเสด็จกลับขึ้นไป ตั้งแต่นั้นมาหญิงนั้นก็มีครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย ครั้นโตขึ้น ก็ได้รับราชการสืบมาแต่มิได้ปรากฏว่าเป็นพระเจ้าลูกเธอ…”—จากตำนานพระที่นั่งเกาะบางปะอิน(๒)
-
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสริมต่อประวัติชาติกำเนิดของเด็กผู้นี้ว่า ด้วยความที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงละอาย จึงได้ถวายนางอินและเด็กผู้นี้ให้ขุนนางผู้ใหญ่นายหนึ่งไปเลี้ยงดู (คล้ายกับเรื่องสมเด็จพระนารายณ์ถวายนายเดื่อ พระโอรสลับของพระองค์กับเจ้าหญิงจากเชียงใหม่ให้แก่พระเพทราชา)
-
จากนั้นก็บังเกิดนิทานประเภทพงศาวดารกระซิบ (Oral History) ขยายความต่อจนเป็นความเชื่อที่แพร่หลายกันออกไปว่า หญิงที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพบนั้นชื่อ “นางอิน” และพระโอรสลับผู้นั้นเมื่อเติบใหญ่ขึ้น ก็ได้เป็นขุนนางผู้มีอิทธิพลสูงในราชสำนักสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ก่อนจะใช้อุบายมารยา เล่ห์กลทางการเมือง บวกกับความโหดเหี้ยม ชิงอำนาจล้มล้างราชวงศ์สุโขทัย ก้าวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนาม "สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง"(๓)
-
อีกทั้งชื่อดั้งเดิมของสถานที่ๆ คือ “เกาะบางนางอิน” นั้น ก็กลายเป็นชื่อใหม่คือ “เกาะบางปะอิน” เพื่อให้มีความหมายสอดคล้องกับตำนานคือ พระมหากษัตริย์ได้ทรง “ปะ” กับนางอิน (พบปะ) กันนั่นเอง
1
***************************************************
เรื่องเล่าขานแบบปากต่อปาก ผ่านเวลาอันยาวนานนับร้อยๆ ปี เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีความคลาดเคลื่อนเลื่อนลอยออกไปจากความจริง ดังที่ครั้งหนึ่ง นักวิชาการประวัติศาสตร์จากตะวันตก ออกไปทำวิจัยภาคสนามจากหลายๆ ชนเผ่าในแอฟริกา ก่อนจะมีข้อสรุปที่ตรงกันว่า เรื่องเล่าแบบปากต่อปาก จะถูกเสริมแต่งข้อเท็จจริงไปเรื่อยๆ และความเดิมจะจะถูกเปลี่ยนแปลงเรื่องราวให้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ได้ภายในแค่ชั่วระยะเวลาสามชั่วคน (๔)
-
ผลการวิจัยนี้ ไม่ใช่บทสรุปเฉพาะในแอฟริกาเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในแถบเอเชีย โดยเฉพาะดินแดนที่สังคมยังมิได้ให้ความสำคัญกับการจดบันทึกและความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของผู้คนในสังคม ดังตัวอย่างจากพระราชพงศาวดารที่ชำระกันในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีหลายเรื่องราวที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
-
เยเรมีส์ ฟอน ฟลีต หรือ “วัน วลิต” พ่อค้าชาวฮอลันดาผู้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกคำบอกเล่าจากปากของบุคคลร่วมสมัยที่เห็นเหตุการณ์ทั้งหลายด้วยตาของตน บันทึกของวัน วลิตเล่าถึงชาติกำเนิดของพระเจ้าปราสาททองไว้ว่า พระบิดาของพระองค์คือ ออกญาศรีธรรมาธิราช (Oija Sijdama Thijra-ija) ท่านผู้นี้ “...เป็นพี่ชายคนใหญ่ตามกฎหมายของพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (de Groot Coninck--the Great King)” (๕)
เทวรูปพระเจ้าปราสาททองภายในหอเหมมณเฑียรเทวราช
นั่นหมายความว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยออกญาศรีธรรมาธิราช เป็นพระปิตุลา (ลุง) แท้ๆ ของพระเจ้าทรงธรรม
-
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานแยกความน่าจะเป็นอีกข้อหนึ่งว่า จริงๆ แล้ว หญิงที่สมเด็จพระเอกาทศรถมาพบ อาจเป็นพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งภายหลังคงจะทรงชุบเลี้ยงครอบครัวของนางเรื่อยมา ทำให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และได้รับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กที่ใกล้ชิดกับราชสำนัก จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ขึ้นครองราชย์ ก็คงจะมีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ราชการขึ้น เพราะนับเป็นพระญาติทางฝ่ายพระมารดา(๖) ซึ่งเมื่อพิจาราณาข้อสันนิษฐานตรงนี้แล้ว ค่อนข้างมีความเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว
-
แต่ถึงกระนั้น ข้อสันนิษฐานนี้ ก็ยังไม่มีข้อมูลจากหลักฐานชั้นต้นที่สามารถอ้างอิงเรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เรือล่มที่เกาะบางนางอินหรือความเป็นโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถได้อยู่ดี โดยเฉพาะประเด็น “โอรสลับ” นั้น ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระอินทราชา” การที่พระราชบิดาจะทรงตั้งพระนามให้แก่ “โอรสลับ” อย่างเป็นทางการเยี่ยงนี้ ดูแล้วก็ไม่น่าจะเป็นอะไรที่ลึกลับอย่างที่ตำนานเขาว่ากัน
-
ดังนั้น แง่มุมที่เป็นเหตุผลของการสร้างพระราชวังบางปะอินขึ้นมา คงจะเกี่ยวกับชาติกำเนิดของพระเจ้าปราสาททองเท่านั้น กล่าวคือ เกาะบางนางอิน ที่บ้านเลน เป็นนิวาสถานเดิมของออกญาศรีธรรมาธิราช ผู้เป็นบิดา (ส่วนนิวาสถานเดิมของพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พงศาวดารระบุว่าอยู่ตรงตำแหน่งของวัดไชยวัฒนาราม ที่พระองค์ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระราชมารดา)
แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ตำแหน่งที่วงกลมไว้คือเกาะบางปะอิน อันเป็นที่ตั้งของพระราชวัง
อีกทั้งพงศาวดารตอนสร้างพระราชวังบางปะอินที่ระบุข้อความว่า “เป็นที่สำราญราชหฤทัย ประพาศราชตระกูลสุริวงศ์อนงค์นารีทั้งปวง” และต่อมาก็ได้มีการจัดพระราชพิธีโสกันต์แด่พระเจ้าลูกเธอพระองค์อินทร์ (เจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสนอกราชสมบัติในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) ขึ้นที่บ้านเลน(๗) เป็นข้อชี้ชัดว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงมีพระญาติวงศ์มากมายอยู่ที่เกาะบางนางอิน และที่แห่งนี้ คงเป็นทำเลทอง เหมาะสมกับการสร้างพระราชวังขึ้นอีกแห่งไว้สำหรับประทับยามที่อาจทรงเบื่อๆ เหงาๆ จากพระบรมมหาราชวังในเกาะเมือง
-
ถ้าข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นจริง “นางอิน” ผู้นี้ อาจจะมีความเกี่ยวข้องเป็น “พระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” (ซึ่งเป็นน้องสาวของออกญาศรีธรรมาธิราช) พระนางคงเป็นพระสนมหรือบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยที่พระนางมีพื้นเพเป็นชาวเกาะบางนางอิน แต่พระนางจะได้พบกับสมเด็จพระเอกาทศรถตอนที่พระองค์ทรงเรือแล้วมาล่มที่นี่หรือไม่นั้น ไม่มีสิ่งใดสามารถยืนยันข้อเท็จจริงตรงจุดนี้ได้
-
น่าเสียดายเหลือเกิน ที่ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ – สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีฝรั่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาและจดเรื่องราวเกี่ยวกับราชสำนักมากมาย ดังที่เราได้เห็นบันทึกของวัน วลิตที่เล่าชาติกำเนิดอย่างละเอียดของพระเจ้าปราสาททอง แต่กลับไม่มีฝรั่งคนไหนบันทึกถึงชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอย่างละเอียดเหมือนดังพระเจ้าปราสาททองบ้าง มิเช่นนั้น ปริศนาการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ รวมทั้งเหตุการณ์อันยุ่งเหยิงในช่วงรอยต่อหลังรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถคงจะถูกไขให้กระจ่างมากยิ่งขึ้น
1
******************************************
อนึ่ง มีอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจปรากฏในบันทึกของวัน วลิต คือเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับเรือไปตามแม่น้ำ แล้วต้องทรงติดพายุฝนอย่างหนัก จึงเสด็จฯ เข้าไปหลบพายุฝนในบ้านของหญิงชราตาบอดผู้หนึ่ง ซึ่งหญิงชราผู้นั้น แม้ไม่ทราบว่าผู้มาเยือนนั้นเป็นใคร แต่ก็ได้ให้ที่หลบพายุฝนและเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี ทำให้พระองค์ทรงสำนึกในบุญคุณของหญิงชราผู้นี้ยิ่งนัก ในเวลาต่อมา สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงโปรดฯ ให้ทหารหลวงมาอัญเชิญให้ยายแก่คนนี้เข้าไปชุบเลี้ยงในวังหลวงแล้วยกย่องจนเปรียบเสมือนมารดาของพระองค์(๘)
หอเหมมณเฑียรเทวราช สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อประดิษฐานเทวรูปพระเจ้าปราสาททอง
จะเห็นว่าทั้งเรื่องของพระนเรศวรฯ ทรงหลบพายุฝนที่บ้านหญิงชรา กับ เรื่องของสมเด็จพระเอกาทศรถเรือล่มที่เกาะบางนางอิน มีเค้าโครงเรื่องที่คล้ายคลึงกันอยู่ในแง่ของ 1. พระราชพาหนะ คือเรือพระที่นั่ง, 2. สถานที่เกิดเหตุคือแม่น้ำ และ 3. ตัวละครที่เป็นผู้หญิงอย่างหญิงชราตาบอดกับนางอิน ดังนั้น ถ้านำทฤษฎีงานวิจัยเรื่องเล่าของชนเผ่าในแอฟริกามาจับกับข้อเท็จจริงในเหตุการณ์นี้ เป็นไปได้ไหมว่า เรื่องราวหญิงชราในสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ ถูกเสริมเติมแต่งจนผิดเพี้ยนกลายเป็น “นางอิน” ที่กลายเป็นตำนานพระราชวังบางปะอินในช่วงเวลาร้อยกว่าปีถัดมา
-
ดังนั้น ประเด็นของเรื่องสมเด็จพระเอกาทศรถ “ทรงเรือล่ม พบนางอิน กำเนิดโอรสลับ” คงเป็นเพียงแค่พงศาวดารกระซิบ (Oral History) ที่ไม่ต่างจากเรื่อง “เจ้าตากทรงหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช” เท่าไรนัก และถ้าจะให้เชื่อระหว่างเรื่องราวที่บันทึกจากเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงที่สุด กับเรื่องเล่าแบบปากต่อปากที่ผ่านกาลเวลามาเป็นเวลาร้อยปี เราควรจะให้น้ำหนักกับเรื่องใดมากกว่ากัน...
-
ตำนานเรื่องดังกล่าว ยังเป็นการสร้างสถานะของพระเจ้าปราสาททองขึ้นใหม่ จากขุนนางผู้ใหญ่ที่มิได้มีสายเลือดโดยตรงจากกษัตริย์วงศ์สุพรรณภูมิ-สุโขทัย แต่ใช้ความใกล้ชิดราชสำนักจากเครือญาติทางฝ่ายพระราชมารดาของพระเจ้าทรงธรรม กรุยทางจนสามารถก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ให้กลายเป็นผู้ชอบธรรมเพราะมีเลือดวงศ์สุโขทัยครึ่งหนึ่งในร่างด้วยเช่นเดียวกัน
********************************************
อ้างอิง
๑. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ หน้า ๑๓: สำนักงานสยามบรรณากร จัดพิมพ์จำหน่าย : พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
๒. ตำนานพระที่นั่งเกาะบางปะอิน
๓. เทวรูปพระเจ้าปราสาททองที่บางปะอิน : ส.พลายน้อย : พิมพ์ครั้งแรกในความรู้คือประทีป ฉบับเดือนกรกฎาคม – กันยายน ๒๕๒๙
๔. อ.วินัย พงศ์ศรีเพียร อ้างอิงจาก Ruth Finnegan “A Note on Oral Tradition and Historical Evidence” History and Theory, 9, 2(1970) : หนังสือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ๔๐๐ ปี ของการครองราชย์ โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊ค พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๑
๕. Historical Account of King Prasat Thong : Jeremias Van Vliet : รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต) : นันทา วรเนติวงศ์, ผู้แปล วนาศรี สามนเสน, ผู้แปลร่วม: กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2548
๖. ไทยรบพม่า (หน้า ๒๒๐) : พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ : ฉบับรวมเล่ม พิมพ์ครั้งที่ ๓ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา
๗. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ หน้า ๑๓: สำนักงานสยามบรรณากร จัดพิมพ์จำหน่าย : พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
๘. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับฟาน ฟลีต (Chronicles of the Ayuthian Dynasty) : รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต) : นันทา วรเนติวงศ์, ผู้แปล วนาศรี สามนเสน, ผู้แปลร่วม: กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2548
โฆษณา