1 ธ.ค. 2020 เวลา 14:07 • ท่องเที่ยว
🌱กลางสัปดาห์พาเที่ยวไทย🌱
“🚩ตลาดร้อยปี ที่สามชุก”🚩
พี่เขียนมารับไปเที่ยวต่อกันแล้วค่ะ 🥰 พักกินกาแฟกันเสียนานเลย นั่งจนเมื่อยหรือยังคะ ไปเดินตลาดยืดเส้นยืดสายกันดีกว่า😍
จำได้ว่าเมื่อช่วงที่เปิดตลาดใหม่ๆ เมื่อสัก10 ปีก่อน เคยจะแวะเข้าไปครั้งหนึ่ง พอขับรถไปถึง...แค่เห็นรถเรียงแถวยาวรอเลี้ยวเข้าตลาดก็ถอดใจแล้วค่ะ.. กลับบ้าน😀
ได้ไปอีกครั้งเมื่อ5-6ปีก่อน ช่วงบ่ายๆคนเดินเยอะมาก ซื้อของสนุก กินไอสครีมกะทิอร่อย
ครั้งนี้เราจะไปกันตอน ใกล้ๆ 4โมงเย็นค่ะ
เขาว่าตลาดจะวายแล้ว แต่เรากลับคิดว่า ดีสิ คนจะได้ไม่เบียดเสียดกัน เดินชิลล์ชิลล์ ..ตามพี่เขียน เข้าไปดูกันค่ะ
ตลาดสามชุก ภาพจาก http://www.suphan.biz/Samchuk.htm
🍀ทำไมถึงเรียกว่า”สามชุก”?🍀
เดิมบริเวณนี้เรียกว่า “ท่ายาง” เป็นทาง “สามแพร่ง” ริมแม่น้ำที่ไหลลงมาจากอ่างเก็บน้ำกระเสียวบนเขาทางด้านตะวันตกของสุพรรณบุรี ลงมาพบกับ แม่น้ำท่าจีนที่แยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกันไหลลงสู่อ่าวไทย
กะเหรี่ยงชาวดอยได้อาศัยล่องลงมาตามลำน้ำจากบนเขาบ้าง นำเอาของป่ามาขายบ้าง พ่อค้าทั้งไทย จีนมอญ ต่างนำสินค้าจากทางเหนือลงมา เจอกับ พ่อค้าที่ขึ้นมาจากทางใต้ที่ “สามแพร่ง” นี้ ก่อเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา ต่อมาก็เรียกเพี้ยนไปเป็น สามเพ็ง และ สำเพ็ง ในที่สุด
🌱ศึกษาภูมิศาสตร์สักนิดละกันค่ะ🌱 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลุ่มน้ำท่าจีน เป็นแนวเขา ที่มีห้วยกระเสียว ส่งน้ำลงมารวมกับแม่น้ำท่าจีนที่ เกิดเป็นทางน้ำสามแพร่ง ดังรูปข้างล่างนี้ค่ะ
ทางสามแพร่งของแม่น้ำท่าจีน ภาพจาก http://www.thaiwater.net/web/attachments/25basins/13-thachin.pdf
คำว่า “ชุก” น่าจะมาจาก “กระชุก” ซึ่งเป็นภาชนะจักสานทำจากไม้ไผ่ รูปทรงสูง สำหรับบรรจุของใช้ เช่น ถ่าน นุ่น หรือใส่ของกิน ที่นี่มีของซื้อขายกันมาก จึงมีการสานกระชุกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
🚩จากทาง “สามแพร่ง” ที่มีการสาน “กระชุก” จึงกลายมาเป็นชื่อ “สามชุก” ตั้งแต่นั้นมา🚩
(กดเข้าไปฟังเพลง “สามชุกตลาดร้อยปี”คำร้องและทำนองโดย บัญญัติ ทัศนพันธุ์ได้ที่youtube ลิ้งค์ข้างล่างนี้ค่ะ)
เนื้อเพลงเริ่มต้นอย่างนี้ค่ะ
“🌼ท่าจีนไหลหลั่งมาจากแดนไกล
เชื้อชาติจีนไทย กะเหรี่ยงขายค้ามานาน
หลอมรวม ร่วมสร้างแผ่นดินถิ่นฐาน
ปู่ย่ากล่าวขานถึง บ้านท่ายาง
แลกเปลี่ยนความคิด วัฒนธรรม
และ จิตวิญญาณ
สืบสานตำนาน แม่น้ำท่าจีน “🌼
🍀ทำไมจึงเรียกว่า ตลาดร้อยปี ?
ก็เพราะว่าตลาดสามชุกเป็นตลาดค้าขายมาตั้งแต่สมัยร้อยปีก่อนจริงๆค่ะ
มีการกล่าวถึง นามสามชุก ในนิราศสุพรรณ ซึ่งแต่งโดย สุนทรภู่ เมื่อปี พศ 2374 ในสมัยรัชกาลที่ 3
ท่านเขียนตอนที่เดินทางโดยเรือจากกรุงเทพ ขึ้นไปหาแร่ในป่าแถบภูเขาทางตะวันตกของสุพรรณบุรี เป็นนิราศเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่เขียนเป็นโคลง มีทั้งหมด462บท
บทที่กล่าวถึง สามชุกเป็นบทที่ 217 เขียนไว้ดังนี้
“✨นึกนามสามชุกถ้า ป่าดง
เกรี่ยงไร่ได้ฟ่ายลง แลกล้ำ
เรือค้าท่านั้นคง คอยเกรี่ยง เรียงเอย
รายจอดทอดท่าน้ำ นับฝ้ายขายของ ฯ”
สมัยนั้นสามชุกเป็นท่าเรือ ที่กะเหรี่ยงได้เอาฝ้ายลงมาขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน คงจะมีผู้คนพลุกพล่าน ขนข้าวของขึ้นลงจากเรือที่จอดเทียบฝั่งท่าน้ำกันอย่างคึกคัก
ตลาดสามชุก ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ภาพจาก www.siphon.biz
เมื่อถึงหน้าตลาดสามชุก พี่เขียนเดินตรงจากด้านหน้าตลาดที่มีป้ายชื่อเข้าไป ถ้าเดินเลี้ยวไปทางทางขวามือ จะตรงไปยังสะพานพรประชา ที่จะมองเห็นมุมกว้างของแม่น้ำท่าจีนได้
ตลาดสามชุก
แต่พี่ก็ยังคงเดินตรงไปดูซิว่าเขาขายอะไรกันบ้าง ผู้คนก็ยังเดินกันขวักไขว่ ซื้อของกินของใช้กันอย่างหนาตาถึงแม้ว่าจะเกือบ 5โมงเย็นแล้ว
ร้านขายของใช้
ห้องแถวไม้แบบโบราณที่เปิดขายของใช้ในครัวเรือน ทั้งปิ่นโต เครื่องทองเหลือง ขันเงิน
กระป๋องใส่น้ำมันก๊าด ของใช้ย้อนยุคใช้จุดไฟให้ความสว่างได้
🍀ขนมไข่ปลา ทำจากแป้งข้าวเหนียว และแป้งข้าวเจ้า ผสมกับลูกตาล ปั้นเป็นเส้นแล้วขดตัวเข้าหากันดังรูป ต้มในน้ำเชื่อมจนสุก ขึ้นมาคลุกกับมะพร้าวขูด พร้อมรับประทานได้ หอมอร่อยดีค่ะ แต่ห้ามกินเยอะ...เพราะมีแต่แป้งกับน้ำตาล!😀
การทำขนมไข่ปลา
🍀หันไปอีกด้านหนึ่งตรงข้ามกับร้านขายขนมไข่ปลา ก็เจอเข้ากับป้ายนี้ค่ะ “ปลาหมดแรง”
พี่เขียนรีบรี่เข้าไปถามทันทีด้วยความสงสัย
“น้องจ๋า..ทำไมปลาถึงหมดแรงล่ะจ๊ะ?”
“ก็ ปลามันล้า ไงคะ” 😀😀😀 หน้าตาน้องคงอยากจะถามว่า พี่ไม่เคยรู้เหรอ? ปลาหมดแรงก็คือปลาร้า !!!55555
ไปเดินกันต่อค่ะ🥰
ปลาหมดแรง คืออะไรเอ่ย?
ลานกิจกรรมกลางตลาดสามชุก
กลางตลาดจะมี ลานกว้างให้ทำกิจกรรมในชุมชนได้ ข้างๆลานนี้เป็นบ้านของคุณปู่ของเพื่อนที่อยู่ที่สุพรรณ ครอบครัวบูรณากาญจน์ ได้ยกบ้านในตลาดสามชุกให้ใช้ในกิจกรรมของส่วนรวม น่าชื่นชมจริงๆค่ะ
รถโบราณ
รูปถ่ายที่ติดไว้ในบ้าน ของครอบครัว บูรณากาญจน์
มีศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สร้างแบบจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2442
เดินเข้าออกจนครบเกือบทุกซอยแล้วก็มาถึงบ้าน ของ ขุนจำนงจีนารักษ์ ค่ะ
‘บ้านขุนจำนงจีนารักษ์’ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ราวปี พ.ศ.2459 เป็นอาคารไม้ 3 ชั้น อายุกว่า 90 ปี
ปัจจุบันกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการกึ่งถาวร โดยชั้นล่างเปิดโล่งต้อนรับผู้มาเยือน จัดแสดงนิทรรศการถ่ายทอดความเป็นมาของความเจริญจากเมืองหลวงมาสู่ชนบท
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สามชุก สร้างเมื่อปี 2442
แล้วเราก็เดินมาวกมาถึงซอยที่ติดกับแม่น้ำท่าจีนอีกครั้ง เห็นศาลามีตัวอักษรจีน มีแท่นทาสีแดง เขียนไว้ว่า “เทวดา ฟ้าดิน”
มองทะลุเข้าไปก็เห็นแม่น้ำแล้วค่ะ
ขอเดินไปดูสักหน่อยเถอะ
ทางเดินไปท่าน้ำ ของตลาดสามชุก
🍀แทบไม่น่าเชื่อว่า บรรยากาศริมน้ำช่างต่างกับในตลาดราวฟ้ากับดิน!🍀
แค่เดินผ่านศาลา แต่กลับโผล่ทะลุเวลากลับไปอดีตได้อย่างไร?.....ลำน้ำท่าจีนที่เห็นอยู่เบื้องหน้านี้ คงไม่ต่างจากเมื่อร้อยปีก่อนสักเท่าไร สายน้ำไหลเอื่อย สองฝั่งมีต้นไม้เขียวครึ้ม
สิ่งที่ผิดกันอยู่อย่างหนึ่ง คือความจอแจของการซื้อขายของค่ะ สมัยโน้นคนน่าจะมารวมกันทำมาค้าขายที่ท่าน้ำนี้ เสียงจ้อกแจ้กคงจะดังก้องคุ้งน้ำ
ณ วันนี้ แม่น้ำดูสงบนิ่ง มีเพียงเรือลำเล็กๆลอยเงียบๆอยู่ลำเดียว
อากาศยามเย็นคลายความร้อนลง
ขอบฟ้าเรื่อเรืองสะท้อนแสงอาทิตย์อ่อนๆ
ชอบบรรยากาศอย่างนี้จัง😍
แม่น้ำท่าจีนยามเย็น ถ่ายจากท่าน้ำตลาดสามชุก by เขียนตามใจ
เด็กน้อยนั่งเล่นอยู่คนเดียว ที่ท่าน้ำตลาดสามชุก by เขียนตามใจ
จากท่าน้ำ ถ่ายภาพ “สะพานพรประชา” ข้ามแม่น้ำท่าจีน by เขียนตามใจ
ขอจบการนำเที่ยวตลาดสามชุกด้วย เนื้อเพลงท่อนสุดท้ายของคุณ บัญญัติ ทัศนพันธุ์ สรุปความไว้ได้ดีมาก ดังนี้ค่ะ
🌼ท่ายางจึงเปลี่ยนเป็นบ้านสามชุก
จนถึงรุ่นลูก ตามยุค ตามกาล
กระชุกจักสานตำนานท้องถิ่น
ใส่ของกิน ของใช้ ของขายมานาน
หนึ่งร้อยปีผ่าน ยังมีหลักฐาน
เป็นตำนาน สามชุกตลาดร้อยปี🌼
วันนี้ได้วิชาภูมิศาสตร์ กับวรรณคดี ครั้งหน้าไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันค่ะ ....อย่าเพิ่งเตรียมหลับสิคะ ...ไปเที่ยวสไตล์พี่เขียน ต้องเบิ่งตาโตๆไว้ 😀😃😀

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา