1 ธ.ค. 2020 เวลา 11:05 • การศึกษา
อย่าให้ความโลภอยู่เหนือความกลัว
ความโลภและความกลัว (Greed and Fear) สองคำนี้น่าจะเป็นคำที่เริ่มต้นคู่มากับคำว่าลงทุน
โดยความโลภมักโผล่มาเสมอเมื่อเราเห็นโอกาส และความกลัวมักจะตามมาเมื่อเราเริ่มคิดตกผลึกกับสิ่งที่เราจะลงทุน
หากทั้งสองอย่างนี้อยู่ในคนที่มีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่จะลงทุน ความโลภและความกลัวมักจะตัวเท่ากันเพราะเค้ามองเห็นความเสี่ยงในโอกาสที่เข้ามาเหล่านั้นเสมอ หรือเศรษฐีบางคนความโลภอาจจะตัวใหญ่กว่า เพราะหากพลาดขึ้นมาเค้าก็ยังมีเงินเพื่อใช้ชีวิตต่อไปได้
แล้วคนธรรมดาแบบเราล่ะควรทำยังไง?
เชื่อหรือไม่ครับคนที่ล้มเหลวจากการลงทุนที่ผมเคยพบเจอและได้คุยกัน ส่วนมากความโลภของเขามันตัวใหญ่กว่าความกลัวในตอนเริ่มลงทุนอะไรสักอย่าง หัวใจมันพองโตคิดแต่เพียงว่ากำไรเท่านั้นเท่านี้ และจะวางแผนป้องกันความเสี่ยงแบบหลวมๆหรือไม่วางแผนเลย และความโลภนั้นก็พองไปเรื่อยๆเหมือนลูกโป่ง จนกระทั่งลูกโป่งใบนั้นแตกเสียก่อนที่ความกลัวจะเข้ามาทัน หมดตัวสิครับพี่น้อง!!!
ถ้ามัวแต่กลัวก็ไม่ได้ทำอะไรเลยสิ!! คำพูดนี้ก็มันจะลอยมากระแทกหน้าผมเสมออีกนั่นแหละ ใช่ครับคำพูดนี้ถูกต้องถ้ามัวแต่กลัวก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลยชีวิตนี้
ผมอยากให้เอาความกลัวนี้มาเปลี่ยนเป็นคำว่า “วิเคราะห์” แทนครับ โดยขั้นตอนเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์แบบเฉียบขาดฟังดูเหมือนง่ายนะครับ แต่ยากทีเดียวเลยแหละ โดยให้เปลี่ยนคำว่า ความโลภและความกลัว เป็น ความโลภและการวิเคราะห์ (Greed and Analyst) โดย
1.ทำให้หัวใจคุณให้พองโต
ทำให้คุณมีความอยากลงทุนให้มากที่สุดแบบเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ คิดถึงแง่ดีให้มากเข้าไว้ หากมีอุปสรรคใดๆเข้ามาคุณก็จะไม่ยอมแพ้ แต่ๆๆๆๆ อย่าเพิ่งลงทุนนะครับ
2. เราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อคุณอินกับอะไรมาก ๆ (ถ้าคุณยังมีสติอยู่โดยความโลภไม่ครอบงำคุณไปหมดแล้ว) คุณจะเริ่มศึกษาสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้ง นั่นและครับ ศึกษาและศึกษามันเข้าไป หากเป็นการลงทุนที่มีอยู่แล้วบนโลกนี้ ก็ให้ศึกษาคนที่ผิดพลาดเยอะๆ ศึกษาคนที่สำเร็จควบคู่กันไปเพื่อเป็นแนวทางให้เราต่อยอด จนเราเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในทฤษฎีของการลงทุนนั้น หากเป็นการลงทุนที่มี DEMO ให้เล่นก็เล่นไปก่อนลงสนามด้วยเงินสมมุติไป สนุกจะตาย (เช่น หุ้น ,CFDs ฯลฯ) แต่ๆๆๆๆ อย่าเพิ่งลงทุนด้วยเงินจริงนะครับ
3. สร้างระบบและวางแผนในการลงทุน
นี่แหละครับจุดสำคัญที่สุดของการลงทุน คือเมื่อเรามีความรู้ที่ศึกษามาอย่างดี เราจะมองเห็นจุดเสี่ยงต่างๆที่สร้างความกลัวให้กับเรา ซึ่งคนที่ตกผลึกกับความรู้เหล่านั้นแล้วจะเปลี่ยนความกลัวให้กลายเป็นการวิเคราะห์ โดยจะวิเคราะห์ทั้งหมดตั้งแต่ เงินที่เรามี ,การยอมรับและเอาตัวรอดอย่างไรหากเกิดความเสี่ยงหรือผิดแผน และแผนสำรองของเราคืออะไร (ลองย้อนไปอ่านบทความเรื่อง Paradigm of Money ก็ได้นะครับ ขายของซะหน่อย 555) และวางแผนมันให้รัดกุมที่สุด
เมื่อพร้อมโดยผ่านทั้ง 3 ข้อข้างต้นแล้วก็ ลุยครับ!!! แต่ผมบอกก่อนเลยครับจากประสบการณ์เมื่อคุณลงทุนไปแล้วความโลภของคุณก็จะพองตัวเรื่อยๆ ฉะนั้น “อย่าให้ความโลภอยู่เหลือความกลัว” กันนะครับ
หากคิดว่าบทความนี้ดีหรือมีประโยชน์ช่วยกดไลค์และกดแชร์ให้เราเพื่อเป็นกำลังใจให้เราด้วยนะครับ
ท่านสามารถอ่านบทความและความรู้ต่างๆของเราเพิ่มเติมได้ที่
#6paradigms #ไม่หวือหวาแต่อยู่รอด #greedandanalyst
โฆษณา