5 ธ.ค. 2020 เวลา 19:54 • ศิลปะ & ออกแบบ
มีเรื่องที่ต้องทำให้เปิดหนังสือที่เคยทำไว้เมื่อสมัยที่กรุงเทพฯ อยากเป็นเมืองแฟชั่น และทำให้ได้นึกถึงเพื่อนสนิทที่เสียชีวิตไปแล้วคนนึง
หน้าปก Stone หนังสือเล่มที่ 3 ของซีรีส์ Bangkok Fashion Now & Tomorrow
Stone คือหนังสือเล่มที่ 3 ในซีรีส์ทั้งหมด 6 เล่มของ Bangkok Fashion Now & Tomorrow ถ้าไล่ตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้ายก็คือ Scream (Haute couture) Street (Ready-to-wear) Stone (jewellry) Spun (fabric and textile) Skin (Leather) Speed (Up & Coming young designer) ส่วน Stone เป็นเล่มที่พรีเซนต์ถึงอุตสาหกรรมเครื่องประดับและจิวเวลรีของไทยในสมัยนั้น
ภาพปกโดย ณัฐ ประกอบสันติสุข
พรีเซนต์เครื่องประดับแบรนด์ไทยออกมาตามการตีความและตามรสนิยมของช่างภาพและสไตลิสต์แต่ละคน
ที่ทำให้นึกถึงเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้วก็คือ hello hi-so ที่อยู่ตรงกลางเล่ม
คู่แรกของ hello hi-so
hello hi-so คือเนื้อหานึงในเล่มที่ตอนนั้นเสนอไอเดียกับบรรณาธิการ (พี่ฟอร์ด) แล้วพี่เค้าเอาด้วย ก็คืออยากทำออกมาเป็นหน้าที่ล้อกับหน้าข่าวสังคมไฮโซในนิตยสารผู้หญิงแบบดิฉัน พลอยแกมเพชร เพียงแต่ใน hello hi-so โฟกัสไปที่เครื่องประดับและเครื่องเพชรของเหล่าไฮโซที่มาออกงานเท่านั้น
สร้อยคอไฮโซเป็นหน้าคู่ที่ 2
และคงสนุกดีถ้าเปิดดูเครื่องเพชรอยู่ๆดี ภาพจะตัดไปที่เบื้องหลังเครื่องเพชรพวกนั้นว่ามันผ่านอะไรมาบ้างก่อนไปประดับบนร่างกายของพวกเค้า ต้องผ่านทั้งมือ เหงื่อ คราบความสกปรก เครื่องมือช่างเจียระไน ความร้อน กล้ามเนื้อคออักเสบเรื้อรัง หมอนรองกระดูกหมดสภาพ ทักษะและฝีมือของแรงงานราคาถูก
ทีมงานส่งภาพถ่ายข่าวไฮโซมาให้เลือกเป็น DVD 4 แผ่น ที่ขอมาจากมีเดียที่เคยลงภาพพวกนี้ไปแล้ว ต้องค่อยๆ เลือกทีละรูป crop เฉพาะเครื่องประดับแต่ละประเภทที่น่าสนใจ หน้าและชุดคนใส่ต้องเลือกไม่ให้ซ้ำ
แต่ปัญหาคือภาพเบื้องหลังการผลิตเครื่องประดับมากกว่า ทั้งเวลา ทั้งคิว ทั้ง budget ของเล่มคือไม่พอที่จะจ้างช่างภาพโปรแล้ว เพราะมันคือเนื้อหาที่งอกขึ้นมาระหว่างทำ lay out และถือเป็นโชคดีที่มีเพื่อนสนิทบ้านใกล้อย่างโจที่กิจการบ้านมันขายจิวเวลรี ชั้นบนสุดของบ้านมันที่สีลมเป็นโรงงานขนาดย่อมที่ทำเครื้องประดับตามออเดอร์ โชคดีอีกต่อก็คือ ช่วงนั้นโจกำลังบ้าถ่ายรูป
ให้มันถ่ายชั้นบนที่บ้านตัวเองมาลงหนังสือแฟชั่น ใช้เวลาประมาณชั่วโมงสองชั่วโมงพอ และไม่ต้องรีทัชรูปมาให้ คือสิ่งที่บรีฟอย่างลวก
ภาพของช่างทำทองที่ถอดเสื้อเป็นภาพที่ไม่ผ่านการเซ็ตอะไรเลย พวกเค้านั่งทำกันยังไงก็ถ่ายแบบนั้น ผมไปดูตอนถ่ายด้วยเพราะกลัวออกมาไม่ได้แบบที่คิดไว้ในหัว เลยได้ความรู้ใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้จากช่างที่บ้านมัน ว่าเค้าใช้กระดองของหมึกกระดองในการขึ้นรูปทอง นั่นน่าจะเป็นเมมโมรี่เดียวที่ยังเหลืออยู่ถึงตอนนี้ ภาพชุดนั้นก็น่าจะเป็นภาพชุดเดียวที่โจถ่ายและถูกตีพิมพ์สู่สาธารณะ
และผมก็จำอะไรระหว่างถ่ายไม่ได้จริงๆ นอกจากเรื่องหมึกกระดอง
เปิดไปที่หน้าเครดิตมี ชื่อ-นามสกุลจริงของโจอยู่ต่อจากชื่อพี่ติ๋ม ซึ่งจำได้ว่าผมเป็นคนพิมพ์เองกับมือ และต้องโทรไปถามตัวสะกดนามสกุลมันด้วย นี่เป็นหลักฐานอย่างเดียวที่ยังคงอยู่ว่าตอนนั้นมันเป็นช่างภาพคนนึงในหนังสือเล่มนี้จริงๆ
โฆษณา