7 ธ.ค. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“คลองผดุงกรุงเกษม” คลองสุดท้ายที่ขุดขึ้นก่อนการทำ "สนธิสัญญาเบาริ่ง" ซึ่งส่งผลให้กรุงรัตนโกสินทร์มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาอย่างมาก คือ "เปลี่ยนระบบสัญจรทางน้ำมาเป็นทางบก"
#ภาพเก่าในอดีต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการขยายเขตพระนครออกไปอีกจากแนวคลองรอบกรุง ตั้งแต่วัดเทวราชกุญชรทางทิศเหนือ ไปยังวัดแก้วฟ้าทางทิศใต้ โดยการจ้างชาวจีนขุดคูพระนครอีกชั้นหนึ่ง และใช้เวลาในการขุด ๑๐ เดือน จึงแล้วเสร็จแล้วพระราชทานนามว่า "คลองผดุงกรุงเกษม"
การขยายเขตพระนครในครั้งนี้ ไม่ได้มีการก่อสร้างกำแพงเมืองด้วย เนื่องจากไม่ได้มีการศึกษาสงครามกับพม่าเหมือนในยุคต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ซึ่งประชาชนในยุคนั้นได้ใช้ประโยชน์ในการคมนาคม พักผ่อนหย่อนใจ และลงเรือเล่นสักวาตามประเพณีด้วย
ต่อมายังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดอีก ๒ แห่งริมคลองนี้ด้วย คือ วัดโสมนัสราชวรวิหาร และวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร รวมทั้งวัดอื่น ๆ ในละแวก คลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อเนื่องจากคลองมหานาค การสร้างวัดดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนเมืองออกไปตามทั้งตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมและพื้นที่รอบนอก
ที่ได้แจ้งไว้ในเบื้องต้นว่า "คลองผดุงกรุงเกษม" นับเป็นคลองสุดท้ายที่ขุดขึ้นก่อนทำสนธิสัญญาเบาริ่งนั้น เป็นเพราะว่าภายหลังที่ รัชกาลที่ ๔ มีพระราโชบายในการเปิดประเทศทำการค้ากับชาติตะวันตก ด้วยการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษเป็นชาติแรก ในปี พ.ศ.๒๓๙๘ นั้น ระบบเศรษฐกิจของชาติได้เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจเพื่อยังชีพไปสู่เศรษฐกิจเพื่อการค้าเสรี ทำให้มีการขุดคลองเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกและเพื่อลำเลียงผลผลิตจากพื้นที่ภายนอกเข้าสู่พระนครมากขึ้น
นอกจากนี้แล้ว ทำให้มีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ชาวตะวันตกเหล่านี้ไม่เคยชินกับการดำรงชีวิตแบบคนไทย รัชกาลที่ ๔ จึงทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาอารยธรรมของชาวตะวันตก เพื่อเป็นรากฐานการปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ ทั้งด้านการค้า การเมืองการปกครอง
การปรับตัวที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้กรุงรัตนโกสินทร์มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาอย่างมาก คือ การเปลี่ยนระบบสัญจรทางน้ำมาเป็นทางบก ซึ่งได้มีการพัฒนาถนนควบคู่ไปกับคลอง และใช้ดินที่ขุดคลองถมเป็นถนนขนาน เส้นทางถนนเส้นแรกที่ใช้ดินมาจากการขุดคลอง คือ "ทางถนนตรง" (ถนนพระราม ๔ ในปัจจุบัน) โดยเป็นการขุดคลองเป็นเส้นตรงจากคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบางนา
โฆษณา