6 ธ.ค. 2020 เวลา 14:02 • ประวัติศาสตร์
ต้นยาง ต้นแรกของไทย
EP.14 ต้นยาง..แห่งโชคชะตา
เมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าได้สนทนากับสาวปักษ์ใต้ทางโทรศัพท์ เธอเอ่ยประโยคหนึ่งว่า "ฝนตกทุกวันเลย.. แล้วชาวสวนยางจะกรีดยางกันยังไง นิ !"
ทำให้ข้าพเจ้าได้นึกถึงเพลงหนึ่งขึ้นมาในหัว จึงถามกลับไปว่าเธอรู้จักเพลงนี้บ้างไหม คำตอบก็คือ "ไม่รู้จัก"
มันเป็นเพลงที่ชอบฟังในอดีต ชื่อเพลง "ขอยฝน ของคุณ อันดา อาร์สยาม" ที่บอกเล่าเรื่องราวถึงความทุกข์ลำบาก ของหญิงสาวชาวสวนยางคนหนึ่ง ได้อย่างไพเราะจับใจ
กล่าวว่าฝนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ และมีผลต่อการกรีดยางของชาวสวนยางเป็นอย่างมาก และประโยคสุดท้ายของเพลงได้บอกถึงความผูกพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชาวสวนยางกับต้นยางในความสำนึกรู้คุณ ที่ยังตราตรึงอยู่ในใจของข้าพเจ้าจนถึงปัจจุบัน
1
" แสงไฟสลัว ยืนก้มตัวคำนับต้นยาง สองเท้ารีบเดินก้าวย่าง ต้องกรีดยาง ก่อนฝนหล่นมา "
ไช่แล้ว! เพราะต้นยางนั้นคือชีวิต ต้นยางมันคือโชคชะตาของพวกเรา ด้วยเป็นพืชทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่มีภูมิประเทศเหมาะแก่การปลูกต้นยาง
ทุกหนทุกแห่งในภูมิภาคนี้ เราจะเห็นแต่สวนยาง ที่ปลูกเรียงรายอยู่สองข้างทางเต็มไปหมด และหากเรามองจากบนฟ้าลงมา จะพบว่าบางพื้นที่ภูเขาทั้งลูก ภูเขาทั้งเทือก นั้นเต็มไปด้วยป่าต้นยาง ที่ถูกปลูกขึ้นมาแทนที่ ผืนป่าทางธรรมชาติจนเกือบหมดสิ้น
วันหยุดวันนี้ ข้าพเจ้าจึงมีแผนที่จะมุ่งหน้าไปจังหวัดตรัง โดยมีความตั้งใจ จะไปคารวะต้นยางต้นหนึ่ง ได้ชื่อว่า เป็นต้นแรกของประเทศไทย
อย่างที่เคยตั้งใจไว้ เมื่อ2 ปีก่อน ที่ภายหลังได้รับรู้ แท้จริงแล้ว ต้นยางไม่ได้เป็นพืชท้องถิ่นบ้านเรา หากแต่เป็นต้นไม้นำเข้าจากต่างเมืองเพื่อมาปลูกในประเทศไทย เมื่อสมัยก่อน
แล้วเราก็มาถึงที่ตั้งของต้นยางพารา จุดมุ่งหมายของเรานี้วันนี้ ตั้งอยู่ ณ ริมถนน ก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอกันตัง หน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง
แม้จะอยู่ข้างถนนมองเห็นได้ง่าย แต่กลับไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก หากเราไม่สังเกตจะเห็นเป็นเหมือนเป็นต้นไม้ที่อยู่ริมทาง ริมถนนทั่วไป หากเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นเพียงป้ายชื่อ และป้ายบอกถึงความเป็นมา ของการนำต้นยางมาปลูกครั้งแรกเท่านั้น
"ต้นยางพารา"ต้นแรกของประเทศไทยเป็นต้นยาง ที่พระยา รัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเดินทางไปดูงานในประเทศมลายู
เมื่อเห็นชาวมลายูปลุกยางกันมีผลดีมาก ก็เกิดความสนใจที่จะนำยาง อยากนำเข้ามาปลูกใน ประเทศไทยบ้างแต่พันธุ์ยางสมัยนั้น ฝรั่งซึ่งเป็นเจ้าของสวนยาง หวงมาก ทำให้ไม่สามารถนำพันธุ์ยางกลับมาได้
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2444 พระสถล สถานพิทักษ์ เดินทางไปที่ประเทศอินโดเซีย จึงมีโอกาสนำกล้ากลับมาได้ โดยเอากล้ายางมาหุ้มรากด้วยสำลีชุบน้ำ แล้วหุ้มทับด้วยยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้นหนึ่งจึงบรรจุลงลังไม้ฉำฉา ใส่เรือกลไฟซึ่ง เป็นเรือส่วนตัวของพระสถลฯ จึงรีบเดินทางกลับประเทศไทยทันที
ยางที่นำมาครั้งนี้มีจำนวน ถึง 4 ลัง ด้วยกันพระสถลสถานพิทักษ์ ได้นำมาปลูกไว้ที่บริเวณหน้าบ้านพัก ที่อำเภอกันตังจังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานเพียงต้นเดียว อยู่บริเวณหน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง
จากยางรุ่นแรกนี้ พระสถล สถานพิทักษ์ ได้ขยายเนื้อที่ปลูกออกไป จนมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 45 ไร่ นับได้ว่า พระสถลสถานพิทักษ์ คือ ผู้เป็น เจ้าของ สวนยางคนแรกของประเทศไทย
จากนั้น พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้ส่งคนไปเรียนวิธีปลูกยางเพื่อมาสอนประชาชน นักเรียนของ ท่านที่ส่งไปก็ล้วนแต่เป็นเจ้าเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นท่านก็สั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำพันธุ์ยาง ไปแจกจ่ายและส่งเสริมให้ราษฎรปลูกทั่วไป
ในยุคนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคตื่นยาง และชาวบ้านเรียกยางพารานี้ว่า “ยางเทศา”ขณะนั้นมีการปลูกยางพาราไปทั่วทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 9 ล้านไร่ มีผู้ถือครองประมาณ 5 แสน ครอบครัว
จัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญรองลงมาจากข้าวทำรายได้ให้กับประเทศ ปีละนับหมื่นล้านบาทพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี จึงได้รับการยกย่องและให้เกียรติเป็นบิดาแห่งยางพาราไทย
ต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากแถบประเทศ ลุ่มแม่น้ำอะเมซอน ได้กลายมาเป็นต้นไม้สำคัญ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำยางมากมาย และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทยได้อย่างไร
หนึ่งเหตุปัจจัยสำคัญ ก็คือภูมิประเทศร้อนชื้นในแถบปักษ์ใต้บ้านเรา เกื้อกูลต่อการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้เป็นอย่างมาก
และต่อมาต้นยางพารา จึงได้กลายมาเป็นรายได้หลักสำคัญของชาวสวนภาคใต้ และภูมิภาคอื่นๆ บ้างประปราย และที่สำคัญมีอิทธิพลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของไทย และการเมืองไทยเป็นอย่างมาก โดยมีราคายางเป็นเหตุปัจจัย และตัวแปรสำคัญ
ฉะนั้นต้นยาง จึงเป็นชีวิต จึงเป็นโชคชะตาของชาวใต้ และเป็นโชคชะตาของพวกเราชาวไทย อย่างไม่ต้องกังขา...
วันนี้ข้าพเจ้า มาหวนนึกถึงเพลง "ขอยฝน" ที่เคยได้ฟัง แล้วจึงเข้าใจในถ้อยความ การถ่ายทอดความรู้สึกของผู้แต่งได้เป็นอย่างดี
ต้นยางพารา ต้นนี้ ข้าพเจ้าเรียกชื่อว่า "พ่อใหญ่" เพราะทุกสิ่งทางธรรมชาติล้วนมีจิตและวิญญาณ
แม้ท่านจะมิไช่ต้นแรก แต่พ่อใหญ่คือต้นยางกลุ่มแรกที่นำมาปลูกในแผ่นดินไทย ที่ยังหลงเหลืออยู่
สมควรได้รับการยกย่อง เสมือนญาติสนิท เหมือนบุคคลสำคัญของประเทศเรา เพราะเขาได้สร้างคุณประโยชน์นานับประการให้แก่พวกเราชาวไทย
ให้ไอ้ไข่ ได้มีงานทำ ให้พี่หลวงได้มีเงินเลี้ยงลูกเมีย ให้นายหัวได้มีเงินทุนหมุนเวียน จนเกิดรายได้ เกิดการจ้างงานมาหลายชั่วอายุคน
บางทีราคายางที่ตกต่ำ อาจเป็นเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจโลก หรืออาจเพราะความไร้ฝีมือของผู้บริหารจัดการ หรือโชคชะตาฟ้าลิขิต บางทีข้าพเจ้าก็มิอาจเข้าใจได้ ด้วยความซับซ้อนทางเศรษฐศาสตร์
แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ และความสำนึกรู้คุณ ความกตัญญูรู้คุณ ย่อมนำผลลัพธ์ที่ดีมาสู่ชีวิตและสังคม ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับต้นยางกลุ่มแรกอย่างพ่อใหญ่ ต้นยางต้นสุดท้ายในยุคบุกเบิก ก่อนจะมาเป็นสวนยางทั่วภูเขาปักษ์ใต้จนถึงทุกวันนี้
ก่อนนี้ข้าพเจ้าเคยจินตนาการถึงสถานที่แห่งนี้ ว่าต้องเป็นที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จากเจ้าหน้าที่จังหวัดตรัง หรือถูกจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
แต่เมื่อได้มาเห็นพ่อใหญ่ในวันนี้ ที่ไม่ต่างอะไรกับต้นไม้พาดสายไฟฟ้าธรรมดา ที่กำลังยืนต้นอยู่ข้างถนน รอวันล้มครืนมาทับสายไฟ ให้ไฟฟ้าดับเหมือนอย่างต้นไม้ข้างทางทั่วไปในเมืองไทย
ก็อดนึกใจหายไม่ได้ ว่าวันหนึ่งพ่อใหญ่อาจจะเป็นแค่เพียงซากไม้ ในพิพิธภัณฑ์ที่ใดสักแห่งให้ลูกหลานได้เยี่ยมชม หรือไม่ก็เป็นซากไม้อยู่ในโรงงาน
ประโยคสุดท้ายของ เพลง ขอยฝน ของอันดา อาร์สยาม ทำให้หวนนึกถึงความสำคัญ ของวิถีชีวิตชาวสวนยาง
วันนี้เราจึงได้เดินทางมาคาราวะพ่อใหญ่ถึงที่นี่
ข้าพเจ้าเชื่อในแรงอธิษฐาน และเชื่อว่าการอฐิษฐานให้ผู้อื่นนั้น มีพลานุภาพมากกว่า การอธิษฐานให้ตนเองหลายเท่า ทบทวี บทเรียนสำคัญนี้ข้าพเจ้าได้เห็นผลมากจากแม่ของข้าพเจ้าเอง
ผู้ที่หวังแต่ให้จะผู้อื่นมีความสุข
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ได้จะมาขอหวย แต่จะขออะไรสักอย่างเถอะพ่อใหญ่ ?
คือแค่ขอให้ราคายาง แพงอย่างราคาทองก็พอ
ขอให้พี่หลวง ไอ้ไข่ ได้อยู่สุขสบาย จากการทำสวนยาง ขอให้พี่น้องชาวไทยได้ลืมตาอ้าปากกันสักที เอ่อ..แล้วขอให้คนในชาติได้เข้าถึงสิทธิที่เท่าเทียม..อันนี้สำคัญ
และขอให้สาวตรัง มาเป็นแฟน
"พี่ไซตามะ" สักคน ...
เฮ้ย ! อันนี้ล้อเล่น ฮี่ๆ....
จบเลยละกัน....เพราะเริ่มเขียนออกทะเลแล้ว
Love 🥰
..........ไซตามะ
โฆษณา