7 ธ.ค. 2020 เวลา 02:35 • ธุรกิจ
Start-Up จะโตได้อย่างไร เมื่อมียักษ์ใหญ่จ้องเขมือบอยู่ ?
1
วันนี้ LAWSUIT คุยคดีโลก นำคดีที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ดินแดนแห่งโอปป้า มาเล่าให้ท่านได้ศึกษาถึงวิธีจัดการกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่คอยจ้องกัดกินเหล่าธุรกิจรายเล็กรายน้อยกันนะครับ
เราท่านคงคิดว่า ใครก็ตามถ้าเก่งจริง ไปทำธุรกิจอะไรก็สำเร็จหมดแหละ คำพูดนี้มีส่วนถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด บรรดาธุรกิจเกิดใหม่ ความสามารถอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการอยู่รอด
ก็เพราะทุกหนทุกแห่งมักมีธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ชอบรวมหัวกันกระทืบธุรกิจน้องใหม่ให้อ่อนกำลังลง จนไม่อาจก้าวขึ้นมาแข่งขันกับพวกเขาได้อยู่นะสิ
อย่าเพิ่งสิ้นหวังไปครับทุกท่าน โลกใบนี้ยังพอมีเกราะป้องกันที่เรียกว่า “กฎหมายแข่งขันทางการค้า”
1
หากให้อธิบายคร่าว ๆ กฎหมายนี้พยายามเข้ามาควบคุมและลงโทษ “ธุรกิจยักษ์ใหญ่ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” ที่มีพฤติกรรมชอบกีดกันผู้อื่นไม่ให้แข่งขันกับตน (กินอิ่มอยู่ฝ่ายเดียว) เช่น
- รวมหัวกันไม่ทำธุรกิจกับผู้ประกอบการรายอื่น เรียกว่าปิดช่องทางการเจริญเติบโตของคนอื่นกันเลยทีเดียว
- ฮั้วกันกำหนดราคาสินค้า ทำให้ลูกค้าอย่างเราซื้อของแพงขึ้น
- ซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการบริษัทอื่น เพื่อให้ตนมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นไปอีก (กลืนกินคู่แข่งลงไป)
- แบ่งพื้นที่กันทำธุรกิจ เช่น A ตกลงให้ B ขายสินค้าเพียงผู้เดียวในภาคเหนือ โดย A จะไม่เปิดสาขาแข่งในภาคเหนือ แลกกับการที่ A ได้ขายสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในภาคกลางแทน จะได้กินกันแบบเต็ม ๆ
- กำหนดราคาขายต่อ ผู้ผลิตสินค้ากำหนดราคาให้ตัวแทนจำหน่ายต้องขายสินค้าในราคาที่เขากำหนดเท่านั้น (ไม่ทำตาม ไม่ส่งสินค้าให้ขายทำกำไรนะเออ)
สิ่งเหล่านี้ หากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงเลยละ เพราะเราอาจต้องจมอยู่กับคนเก่งไม่จริง แต่มากด้วยอำนาจบารมี ไม่ชอบพัฒนาตัวเอง แต่กลับชอบทำให้สินค้าราคาแพงและด้อยคุณภาพอยู่เสมอ
นานเข้าจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าที่แท้จริงหายไป บรรดาผู้บริโภคอย่างเรา ๆ อาจต้องแบกรับกันจนหลังแอ่น ซ้ำร้าย บรรดา Startup จะกลายเป็นเพียงวิญญาณ ไม่มีทางได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียว
2
เอาละ มาเริ่มเรื่องราวกันเถิด ก่อนจะช้าไปต๋อย (คำนี้ถ้าเข้าใจ ท่านไม่เด็กแล้วนะ อิอิ)
1
ประเทศเกาหลีใต้ ปี ค.ศ. 1997 ธุรกิจนมผงแปรรูปขนาดใหญ่เวลานั้นมีเพียง 3 บริษัท โดยมีรายได้ส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันมากถึง 232,274 ล้านวอน แบ่งเป็น
- บริษัท N จำนวน 116,097 ล้านวอน หรือ 50 %
- บริษัท M จำนวน 92,050 ล้านวอน หรือ 39.6 %
- บริษัท P จำนวน 24,127 ล้านวอน หรือ 10.4 %
วันหนึ่ง บริษัท M ที่มีวิธีดำเนินธุรกิจ 2 รูปแบบ คือ
1) ขายสินค้าให้แก่ตัวแทนจำหน่ายเพื่อนำไปขายให้ร้านค้าปลีกต่อไป
2) ผลิตสินค้าและจัดส่งโดยตรงให้แก่ห้างสรรพสินค้า
ได้เริ่มกำหนดราคาขายต่อ เชิงบังคับให้ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าต่าง ๆ นำสินค้านมผงไปขายต่อในราคาที่เขากำหนด
บริษัท M ตัดสินใจปรับขึ้นราคาสินค้านมผง โดยแจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าทุกแห่งทำตามแผนราคาขายต่อที่เขาเสนอเท่านั้น
นอกจากนี้ เพื่อความแน่ใจ บริษัท M ส่งพนักงานไปไล่ควบคุมตรวจสอบราคาสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ ว่าได้ขายสินค้าตามราคาที่เขาบอกหรือป่าว
ถ้าไม่ทำตาม ก็จะเตือนและให้กลับไปแก้ไข หากต่อมาไม่แก้ไขก็จะลงโทษโดยการยุติความสัมพันธ์ ไม่ส่งสินค้านมผงมาให้ขายทำกำไรอีกต่อไป
พฤติกรรมของบริษัท M ไปเตะตาต้องใจ “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” ผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าบริษัทใดบ้างมีอำนาจเหนือตลาดและมีลักษณะชอบผูกขาดทางการค้า คณะกรรมการฯ ไม่รอช้า จึงนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาเพื่อมีคำสั่ง
คณะกรรมการฯ พบว่า บริษัท M ไม่เพียงแค่กำหนดราคาขายต่อที่บังคับให้ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้านำสินค้าไปขายตามราคาที่เขากำหนดเท่านั้น แต่บริษัท M และบริษัท Y ยังเคยขึ้นราคาสินค้านมผงในเวลาพร้อมเพรียงกัน อย่างกับนัดหมายกันมาก่อนแหนะ
ทำให้ตลาดสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ต้องซื้อของแพงขึ้น ซ้ำร้าย การขึ้นราคาที่ว่ามาเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชียหรือช่วงต้มยำกุ้ง ราคาวัตถุดิบต่าง ๆ ดีดตัวขึ้นตามกันไป กลายเป็นเพิ่มภาระให้เศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้มากขึ้นไปอีก
เห็นท่าจะไม่ดี บริษัท M รีบแก้ต่างให้ตัวเอง เขาบอกว่าไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรใดเลยที่เขาบังคับให้ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าไปขายสินค้าตามราคาที่เขากำหนด และไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่เขาหยุดส่งสินค้าให้
นอกจากนี้ เขายังบอกว่า บริษัท M ไม่มีอำนาจมากมายอะไรขนาดนั้น จะไปบังคับให้ใครทำตามได้ยังไงกันเล่า อีกทั้ง การส่งพนักงานไปตรวจสอบราคาสินค้าเป็นเพียงการสำรวจราคาสินค้าในตลาด ไม่ได้จ้องจับผิดใครจริง ๆ น้าา
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนคณะกรรมการฯ จะไม่เชื่อและเห็นว่า แม้ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การแจ้งราคาขายต่อและแจ้งบทลงโทษเกิดขึ้นจากฝ่ายบริษัท M ผู้มีอำนาจเหนือตลาด
ย่อมส่งผลทางอ้อมกดดันให้ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าเกิดความกังวลว่า หากไม่ทำตาม ก็จะไม่มีสินค้ามาขายทำกำไรอีกต่อไป (ใครจะกล้าขัดใจ)
ส่วนข้ออ้างที่ว่า การส่งพนักงานไปตรวจสอบราคาสินค้าเป็นไปเพื่อสำรวจราคาสินค้าในตลาดเป็นเพียงข้ออ้างลอย ๆ เท่านั้น คณะกรรมการฯ ถือว่าการกระทำทั้งหมดเป็นการกำหนดราคาขายต่อที่ฝ่าฝืนกฎหมายแข่งขันทางการค้า
สุดท้าย คณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้บริษัท M หยุดกำหนดราคาขายต่อที่เป็นการบังคับขู่เข็ญตัวแทนจำหน่ายและร้านค้า โดยให้แก้ไขข้อบกพร่องนี้เป็นการด่วน นอกจากนั้น ยังมีคำสั่งให้บริษัท M จ่ายเงินเพิ่มจำนวน 266 ล้านวอน อีกด้วย
1
แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ หลังจากมีคำสั่ง คณะกรรมการฯ พบว่าบริษัท M ฝ่าฝืนคำสั่งและละเมิดกฎหมายโดยการทำแบบเดิมซ้ำเป็นนิสัยมากถึง 7 ครั้ง จึงดำเนินคดีอาญากับบริษัทต่อเลยทันที
บริษัท M ไม่ยอมตายง่าย ๆ ยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งและต่อสู้คดีมาโดยตลอด จนคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา
ศาลฎีกา พิจารณาตรวจสอบอีกครั้งว่า การกระทำของบริษัท M เป็นการกำหนดราคาขายต่อที่ฝ่าฝืนกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือไม่
ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า โดยปกติหากการกำหนดราคาขายต่อเป็นเพียงคำแนะนำทั่วไป เพื่อช่วยเหลือให้ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้านำไปใช้อ้างอิงปรับขึ้นราคาสินค้าที่ปราศจากการบังคับและลงโทษ ก็จะไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายอะไร
แต่กรณีนี้ เห็นได้ชัดว่า บริษัท M กำหนดราคาขายต่ออย่างเป็นระบบ คือ มีการกำหนดราคาชัดเจน มีการติดตามตรวจสอบและควบคุมกำกับดูแลโดยพนักงาน มีการแจ้งเตือนพร้อมบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม
สะท้อนให้เห็นเจตนาชัดเจนว่า ทำเพื่อบังคับให้ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้านำสินค้าไปขายตามราคาที่กำหนด ซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย ทำให้เกิดราคาสินค้าที่ไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม
ศาลฎีกาจึงถือว่าการกระทำของบริษัท M เป็นการกำหนดราคาขายต่อที่ฝ่าฝืนกฎหมายแข่งขันทางการค้า
นอกจากนี้ ศาลฎีกายังเห็นว่า การเรียกเก็บเงินเพิ่มจากบริษัท M จำนวน 266 ล้านวอน เป็นคำสั่งที่ถูกต้องแล้ว ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจกำหนดเงินเพิ่มที่ไม่ถูกกฎหมายตามคำโต้แย้งของบริษัท M แต่อย่างใด
สรุป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งที่ผ่านมา
บริษัท M ก้มหน้ายอมรับคำตัดสิน ผู้บริโภคกลับมาซื้อสินค้าได้ในราคาที่เป็นธรรม ตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าดำเนินธุรกิจได้แบบไม่ต้องกลัวตายอีกต่อไป
แล้วท่านผู้อ่านละคิดว่า มีธุรกิจใดบ้างที่ดูเหมือนกำลังผูกขาดเราอยู่ ?
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ หากชอบและเห็นว่าเป็นประโยชน์ อยากส่งต่อให้ท่านอื่นได้มีโอกาสอ่านเหมือนกัน สามารถกดแชร์ได้เลยครับ
ขอฝากทุกท่านกดติดตาม LAWSUIT คุยคดีโลก เพื่อจะได้อ่านเรื่องราวคดีใหม่ได้ก่อนใคร และเพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเราได้ค้นหาเรื่องราวดี ๆ มาแบ่งปันกันต่อไป
ติดต่อเรา : lawsuit.talks@gmail.com
อ้างอิงเนื้อหา
[1] Young-Soo Shin, “Resale Price Maintenance & Unfair Trade Practice”
[2] KFTC Decision No. 98-111
[3] ศักดา ธนิตกุล, “กฎหมายกับธุรกิจ แนวคิด หลักกฎหมาย และคำพิพากษา”
อ้างอิงรูปภาพ
[1] Ryoji Iwata, Sean Pollock, www.unsplash.com
โฆษณา