8 ธ.ค. 2020 เวลา 03:11 • ปรัชญา
Sense ของข้อเรียกร้อง
มนุษย์ดำเนินชีวิตด้วยสัญชาตญาณ และความเชื่อ เป็นพื้นฐาน แล้วค่อยๆ ก่อตัวเป็นกลุ่มคน ชุมชน นครรัฐ อาณาจักร ประเทศ ทวีป โดยมีจารีต วัฒนธรรม ข้อตกลง กฎหมาย กำกับควบคุมดูแล ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามที่ได้กำหนดหรือตกลงไว้
ย้อนกลับมาที่สัญชาตญาณในการดำเนินชีวิต ได้แก่ การทำมาหากินให้พอที่จะอยู่ในสังคมในขณะนั้นได้ เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยสิ่งที่พึงกระทำได้ภายใต้กรอบของชนชั้น/สถานะทางสังคม การยอมรับจากสังคม สุดท้ายคืออำนาจและบารมี เหล่านี้เราจะพบได้ทั่วไป ตามทฤษฎีจิตวิทยา มานุษยวิทยาเบื้องต้น อาจเป็นในรูปคะแนน หรือรูปปิรามิด เพื่อจัดลำดับความสำคัญ เมื่อจัดลำดับเช่นนี้ สิ่งที่มนุษย์ต้องการเรียกร้องเป็นพื้นฐานก็คือ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การทำมาหากิน สภาพความเป็นอยู่ เพราะสัมพันธ์ความเป็นความตาย ถ้ายังกินไม่ดีอยู่ไม่ดี ก็ไม่มีเวลาจะคิดทำหรือเรียกร้องเรื่องอื่น ก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำมหากินดิ้นรน โดยไม่สนใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลอดจนไม่สนใจปัญหาเพื่อนบ้าน บางครั้งทำให้เห็นแก่ตัวด้วยการบีบคั้นทางความคิดเพื่อให้ตัวเองเอาตัวรอดให้ได้ก่อน ตัวอย่างเช่นการชุมนุมกลุ่มอาชีพต่างๆ เมื่อผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ การชุมนุมก็จะสลายไป
เมื่อประเทศพัฒนามากขึ้น มีชนชั้นกลาง-บนมากขึ้น ประชาชรได้รับการศึกษากว้างขวางหลากหลายมากขึ้น สะท้อนถึงมีการยกระดับสถานะทางสังคมของครัวเรือน ครอบครัวกินได้อยู่ดี ลืมตาอ้าปากในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น สิ่งที่คนจะคิดหรือเรียกร้องต่อมาก็คือ สิ่งที่ตัวเองพึงกระทำได้ แยกได้สองส่วนซึ่งก็คือ สิทธิ เสรีภาพ ตัวอย่างเช่นการชุมนุมของนักศึกษา/ปัญญาชน/พ่อค้า/กระฎุมพี ที่คนเหล่านี้เรียกร้องให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างรัฐ การเมือง ความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ ตลอดจนระบบการศึกษา จะสังเกตได้ว่าไม่ให้น้ำหนักเรื่องปากท้องเท่าไหร่ เนื่องจากคนกลุ่มนี้กินดีอยู่ดีพอสมควร สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่ลำบากแล้วนั่นเอง
ข้อเรียกร้องเหล่านี้ ทำให้เห็นถึงพลวัฒน์ทางสังคม โลกาภิวัฒน์ ชนชั้นทางสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ ความต้องการของกลุ่มคนนั้นๆ ซึ่งก็ไม่ผิดแปลกอะไร ส่วนข้อเรียกร้องจะเป็นผลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ผู้ถืออำนาจเป็นสำคัญ
ไม่ต่างอะไรกับแมวของผมที่เรียกร้องอาหารเพื่อปากท้อง พออิ่มแล้วก็เรียกร้องการพักผ่อน และผู้มีอำนาจอย่างผมก็ compromise เพื่อให้เราอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข
โฆษณา