9 ธ.ค. 2020 เวลา 02:55 • ธุรกิจ
แทบพุ่ง !! เมื่อดื่มน้ำอัดลม ที่มีหนูตายอยู่ในขวด
1
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ LAWSUIT คุยคดีโลก อยากหยิบยกเรื่องราวเตือนภัยขึ้นมา เพื่อหวังให้ท่านได้ลองตรวจเช็คอาหารหรือเครื่องดื่มสักเล็กน้อย ก่อนกินหรือดื่มอะไร มิเช่นนั้น อาจต้องพบเจอกับเรื่องราวอันน่าสยดสยองเช่นเดียวกับคดีที่จะนำมาเล่าในวันนี้
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มลรัฐเนวาดา หลังจากทำงานมาตลอดทั้งวัน ชายคนหนึ่งนามว่า ลีโอ เดินทอดน่อง มองหาน้ำเย็นดื่ม เพื่อลดอุณภูมิร่างกายที่ร้อนระอุจากการทำงานหนักเยี่ยงเครื่องจักร ให้กลับมาชุ่มฉ่ำอีกครั้ง
ลีโอเดินมาหยุดตรงเครื่องขายน้ำอัตโนมัติซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่ทำงาน ไม่พูดคุยไม่พูดจากับใครทั้งสิ้น เขาเอาแต่ก้มหน้าก้มตายุ่งอยู่กับการหยอดเหรียญ เพื่อนำเอาน้ำอัดลมขวดนั้น ขวดที่เย็นและซ่าส์ที่สุด มาไว้ในความครอบครองให้จงได้
เขาได้น้ำอัดลมมาเรียบร้อย ไม่รอช้ารีบเปิดขวดและเทเข้าปากอย่างรวดเร็วหวังดับกระหาย หลังจากนั้นไม่นาน เขารู้สึกเวียนหัวและล้มป่วยลงอย่างฉับพลัน ด้วยความผิดปกติ จึงได้นำขวดน้ำอัดลมขวดนั้นไปตรวจสอบหาสาเหตุอย่างจริงจัง
ผลตรวจทำให้ทุกคนต้องตกตะลึง เมื่อพบว่า สิ่งที่ทำให้ลีโอล้มป่วย ไม่ใช่สิ่งไกลตัวที่ไหน มันคือ “หนู” ที่ร่างกายเน่าเปื่อย เนื้อหนังหลุดลุ่ยไม่เป็นชิ้นดี (โอ๊ย จะเป็นลม)
3
เมื่อลีโอรู้ความจริง มันทำให้เขาถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อใดก็ตามที่มองเห็นขวดน้ำอัดลม ความรู้สึกดี ๆ ที่เคยมีให้ กลับไม่มีอีกต่อไป เขารู้สึกอยากอ้วกทุกครั้งเมื่อได้เห็น
อาการนี้ไม่ใช่เรื่องตลกขบขัน ลีโอต้องเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์และกินยาแก้อาเจียนอยู่เป็นประจำ สภาพจิตใจเแย่ลงทุกวัน ทำงานทำการอะไรก็ไม่มีประสิทธิภาพไปหมด จนน้ำหนักลดลงไปกว่า 10 กิโล ชีวิตเขาต้องจมอยู่กับความทุกข์ทรมานนี้อย่างยาวนาน นานจนขีดความอดทนของเขาสิ้นสุดลง
1
ลีโอ สืบทราบมาว่า บริษัทโชโชนี เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอัดลมเจ้าปัญหา ลีโอรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรัดกุม หวังจัดการบริษัทโชโชนีให้อยู่หมัด
ลีโอฟ้องร้องบริษัทโชโชนีเป็นจำเลยต่อศาลเรียกร้องให้รับผิดอย่างถึงที่สุด
เขาพยายามกล่าวอ้างว่า เศษหนูเน่าที่เผลอกลืนลงไป หนูมันเดินร่วงไปตายในขวดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตของโรงงานบริษัทโชโชนีแล้ว ผู้ประกอบการทำอย่างนี้ได้อย่างไร กระบวนการผลิตไม่มีความปลอดภัยใด ๆ ทั้งสิ้น ทำไมไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนเอาสินค้าออกมาขาย ผู้บริโภคต้องแบกรับความเสี่ยงนี้เนี่ยนะ
ไม่ว่ายังไงก็ช่าง บริษัทโชโชนีต้องรับผิดชอบให้ได้ ลีโอขอให้ศาลนำหลัก “ความรับผิดโดยเคร่งครัด” (strict liability) มาใช้ตัดสินคดี หลักการนี้หมายความว่า แม้บริษัทจะไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ได้ประมาท ก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น
1
บริษัทโชโชนี ทนการกล่าวหาไม่ไหว ถึงคราวเขาต้องแก้ต่าง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองเสียบ้าง บริษัทโต้แย้งว่า ลีโอกับเขาไม่มีความสัมพันธ์กันในทางกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น อยู่ดี ๆ จะมาเรียกร้องให้รับผิดสุ่มสี่สุ่มห้าได้อย่างไร
และยังบอกต่อไปว่า พยานหลักฐานของลีโอ เลื่อนลอยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะมาพิสูจน์ว่าหนูโชคร้ายตัวนั้นร่วงลงมาตายในขวดตั้งแต่อยู่ในโรงงานของเขา
เหตุผลมันง่ายแสนง่าย เพราะอะไรนะเหรอ ก็เพราะในขั้นตอนการทำความสะอาดขวด โรงงานเราใช้เทคนิคความร้อนสูงทำความสะอาดขวด ถ้ามันเข้าไปจริง มันต้องโดนเผาไหม้หมดแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีเศษซากหนูเน่าหลงเหลืออยู่
ดังนั้น หนูมันต้องเข้าไปในขวดหลังจากผ่านโรงงานเราไปแล้วอย่างแน่นอน นอกจากนี้ บริษัทเราไม่ได้ผลิตและส่งน้ำอัดลมออกไปขายยังสถานที่ทำงานของคุณนะลีโอ อย่ามามั่ว !!
ลีโอ ไม่ปล่อยให้ บริษัทโชโชนี อ้าปากพูดอีกต่อไป เขาสวนขึ้นมาทันควัน ขอโทษด้วยนะ พอดีว่าฉันส่งขวดและเนื้อหนูเน่าให้นักพิษวิทยาตรวจสอบ
และเขาในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ แจ้งว่า หนูมันตายตั้งนานแล้ว และคราบสีดำที่พบตรงก้นขวดมันคืออุจจาระหนู แสดงให้เห็นว่า หนูตกลงไปตายในขวดตั้งแต่ก่อนเติมน้ำอัดลมเข้าไปเสียอีก โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นที่โรงงานคุณแน่นอน
และขอบอกอีกอย่างหนึ่งนะ ฉันสืบทราบมาว่า บริษัทโชโชนีของคุณเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำอัดลมมาขายยังสถานที่ทำงานของฉัน ทำไมถึงรู้นะเหรอ ก็เพราะเมื่อฉันดื่มน้ำอัดลมจนป่วยอย่างเฉียบพลัน คนในที่ทำงานฉันโทรศัพท์ไปหาบริษัทคุณทันที และพนักงานบริษัทคุณเดินทางมาตรวจสอบด้วยตัวเองเลยนะสิ อย่ามาแถ !!
2
หลังจากนั่งฟังคู่กรณีโต้เถียงกันมานานสองนาน ถึงเวลาของศาลทำหน้าที่หย่าศึกเสียที
ศาลมองว่า “ความปลอดภัยของมนุษย์” คือหนึ่งในประโยชน์สาธารณะที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิได้รับ ความปลอดภัยของมนุษย์ในฐานะผู้ใช้สินค้าจึงควรได้รับการปกป้องอย่างสูงสุดเช่นกัน ซึ่งคนที่สามารถมอบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้สินค้าได้ดีที่สุด ก็คือ ผู้ผลิตสินค้า
1
ผู้ผลิตสินค้า เป็นเสมือนตัวแทนของประชาชน ที่ออกมารับรองว่า สินค้าทุกชิ้นมีความปลอดภัยและใช้งานได้อย่างเหมาะสม ผู้ผลิตสินค้าพยายามโฆษณาและแสดงออกทุกหนทุกแห่งว่า สินค้านั้นดีเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าไปใช้ ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าจึงเป็นคนเชิญชวนและร้องขอให้ทุกคนมาซื้อสินค้าไปใช้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
เมื่อความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นจากการใช้สินค้า ผู้ผลิตสินค้าจะมาอ้างว่า ตนไม่ได้ตั้งใจ ตนไม่ได้ประมาท ตนได้ใช้ความระมัดระวังมากเพียงพอแล้ว ตนไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางกฎหมายกับลูกค้าเลย เพื่อเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดไม่ได้
เพราะวัตถุประสงค์ของหลัก “ความรับผิดโดยเคร่งครัด” (strict liability) มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกค้าว่า เมื่อใดก็ตามที่เขาใช้สินค้าและเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ผลิตสินค้าจะเป็นคนชดใช้เยียวยาความเสียหายให้แก่เขา
เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าเป็นคนปล่อยให้สินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหลุดรอดออกมาสู่ตลาดจนมาถึงมือลูกค้า ทั้งๆที่ ผู้ผลิตเองสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ต้นน้ำเลย คือ หากตรวจสอบให้ดีก่อนนำออกจากโรงงาน ความเสียหายก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
2
เมื่อพยานหลักฐานทั้งหมดเป็นที่แน่ชัดว่า ลีโอ ดื่มน้ำอัดลมที่ผลิตโดยบริษัทโชโชนีและล้มป่วยลง ศาลจึงตัดสินให้ บริษัทโชโชนีรับผิดต่อลีโอตามหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (strict liability)
และเมื่อพิจารณาจากความเสียหายที่ลีโอได้รับ ได้แก่ อาการเจ็บป่วยทางกาย ทางจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เขาต้องเกลียดน้ำอัดลมไปแทบทั้งชีวิต ศาลจึงตัดสินให้บริษัทโชโชนีชดใช้เยียวยาค่าเสียหายให้แก่ลีโอ 2,500 ดอลลาร์ (ค.ศ.1966 ค่อนข้างมากทีเดียว)
เป็นอันจบเรื่องราวอันน่าสยดสยองและชวนอ้วกไว้แต่เพียงเท่านี้
แล้วในมุมมองผู้อ่านละ บริษัทโชโชนีสมควรรับผิดหรือไม่ ?
1. ต้องรับผิด ก็คุณเป็นคนควบคุมการผลิตทั้งหมดนี่นา
3
2. ไม่ต้องรับผิด ก็เขาไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ประมาท หนูมันรนหาที่ตายเองนี่หว่า
3. อื่น ๆ แสดงความคิดเห็นได้เลยครับ
สุดท้าย ผู้อ่านท่านใดเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ และเผลอกินอะไรที่น่าสยดสยองเข้าไปบ้าง ?
ส่วนตัวผมเอง เคยดื่มน้ำจากตู้กดน้ำที่มีจิ้งจกนอนตายอยู่ เล่นเอากินข้าวไม่ลงไปหลายวันเลยละครับ >﹏<
1
ก่อนกินหรือดื่มอะไร อย่าลืมตรวจเช็คก่อนนะ
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ หากชอบและเห็นว่าเป็นประโยชน์ อยากส่งต่อให้ท่านอื่นได้อ่านเหมือนกัน สามารถกดแชร์ได้เลยครับ
ขอฝากทุกท่านกดติดตาม LAWSUIT คุยคดีโลก เพื่อจะได้อ่านเรื่องราวคดีใหม่ได้ก่อนใคร และเพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเราได้ค้นหาเรื่องราวดี ๆ มาแบ่งปันกันต่อไป
ติดต่อเรา : lawsuit.talks@gmail.com
อ้างอิงเนื้อหา
[1] Shoshone Coca-Cola Bottling Co. v. Dolinski, 82 Nev. 439,441, 420 P.2d 855, 856 (1966)
อ้างอิงรูปภาพ
[1] Shutterbug75, www.pixabay.com
[2] Frances Goldberg, Miguel Andrade, Remy Gieling, Victoriano Izquierdo, www.unsplash.com
โฆษณา