13 ธ.ค. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
เส้นทาง เถ้าแก่น้อย จากเกาลัด สู่ชานม
ถ้าพูดถึงเถ้าแก่น้อย หลายคนคงนึกถึง ขนมสาหร่ายแปรรูป
แต่รู้ไหมว่า เถ้าแก่น้อยในตอนนี้ กำลังเอาชานมชื่อดังจากต่างประเทศมาขายในไทย
ที่ผ่านมา ตลาดชานม เติบโตมากแค่ไหน
แล้วทำไม เถ้าแก่น้อย ถึงเริ่มขายชานม?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เถ้าแก่น้อย หรือ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จํากัด (มหาชน)
ถูกก่อตั้งขึ้นโดย คุณต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ในปี 2546
ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ คุณต๊อบเริ่มต้นด้วยการขายเกาลัด
แต่ก็ขายได้ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก และเริ่มประสบปัญหาขาดทุน
เนื่องจากยังมีประสบการณ์ไม่มากในการทำธุรกิจ
Cr. Marketeer Online
ต่อมา คุณต๊อบ ได้ย้ายร้านเกาลัดไปขายในห้างสรรพสินค้า
ซึ่งปรากฏว่า รายได้จากการขายเกาลัดกลับจากก่อนหน้านั้นอย่างมาก
ทำให้เขาคิดว่า สินค้าจะขายได้ดีมีปัจจัยสำคัญคือ ทำเลต้องดีด้วย
เมื่อเกาลัดเริ่มขายดี คุณต๊อบก็เริ่มขยายสาขา
รวมถึงเริ่มเอา ลูกท้อ ลำไยอบแห้ง และสาหร่ายทอดกรอบ มาวางขายด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน สินค้าที่ขายดีที่สุดกลับไม่ใช่เกาลัดแล้ว แต่กลายเป็นสาหร่ายทอดกรอบ..
3
จุดนี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขากลับมาศึกษาและค้นคว้า
เพื่อต่อยอดการทำสาหร่ายทอดกรอบ "เถ้าแก่น้อย" อย่างจริงจังนับแต่นั้นมา
กิจการขายสาหร่ายของเขาเติบโตต่อเนื่อง
และประสบความสำเร็จถึงขนาดสามารถจดทะเบียนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ในปี 2558
หรือเพียงแค่ 12 ปี หลังจากเถ้าแก่น้อยก่อตั้งขึ้นมา
1
Cr. ข่าวสด
ปัจจุบัน รายได้ของเถ้าแก่น้อยมาจาก ตลาดต่างประเทศ 60% และจากตลาดในประเทศไทย 40%
ซึ่งรายได้จากต่างประเทศทั้งหมดนั้น มาจากประเทศจีนถึง 36%
3
พอเป็นแบบนี้ จึงต้องบอกว่า ตลาดที่ประเทศจีน มีความสำคัญไม่ต่างจากตลาดในประเทศไทยเลยทีเดียว
ขณะที่ในตลาดขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่ายในประเทศไทย เถ้าแก่น้อยถือว่าเป็นผู้นำในตลาด เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดถึง 68%
1
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากย้อนกลับไป 2 ปีก่อนหน้านี้
ต้องบอกว่า เถ้าแก่น้อย เจอความท้าทายในหลายๆ เรื่อง
ทั้งเรื่องที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทยชะลอตัวลง
และเนื่องจากสาหร่ายของเถ้าแก่น้อย เป็นของฝากที่คนจีนนิยมซื้อเมื่อมาเที่ยวไทย
ยอดขายสาหร่ายของเถ้าแก่น้อยจึงได้รับผลกระทบไปด้วย
1
อีกทั้งในปี 2562 ผู้จัดจำหน่ายสินค้าเดิมของเถ้าแก่น้อยในตลาดจีน มีปัญหาในการจัดจำหน่าย ทำให้ทางบริษัทเถ้าแก่น้อยต้องเปลี่ยนพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ และยังส่งผลให้รายได้บางส่วนขาดหายไป
1
ขณะที่ในปีนี้ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็ส่งผลกระทบกับรายได้ของบริษัทพอสมควร
1
ผลประกอบการของ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 รายได้ 5,697 ล้านบาท กำไร 459 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 5,297 ล้านบาท กำไร 366 ล้านบาท
9 เดือนแรก ปี 2563 รายได้ 3,115 ล้านบาท กำไร 263 ล้านบาท
2
จากการที่ต้องเจอกับความท้าทายหลายเรื่องที่ว่ามา
ทำให้ เถ้าแก่น้อย ต้องมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ มาเพื่อกระจายความเสี่ยง
นอกเหนือจากการขายเพียงผลิตภัณฑ์จากสาหร่าย
ทำให้ตอนนี้ เถ้าแก่น้อย พยายามรุกธุรกิจใหม่
โดยการดึงแบรนด์ชานมที่ชื่อว่า “ฉุน ชุ่ย เฮ้อ” (Just Drink) ชานมจากไต้หวัน ซึ่งถือเป็นต้นตำหรับของชานมไข่มุก เพื่อนำเข้ามาขายในประเทศไทย
5
โดยแบรนด์นี้มีจำหน่ายในฮ่องกง และสิงคโปร์มาแล้วก่อนที่จะเข้ามาในประเทศไทย
Cr. The Standard
แล้ววันนี้ตลาดชานม ใหญ่แค่ไหน?
3
สถิติอ้างอิงจาก Allied Market Research
ปี 2559 ตลาดชาไข่มุก มีมูลค่าประมาณ 62,000 ล้านบาท
ปี 2562 ตลาดชาไข่มุก มีมูลค่าประมาณ 72,000 ล้านบาท
3
จะเห็นว่า มูลค่าตลาดนั้นเติบโต 16% ในระยะเวลา 3 ปี แต่ที่น่าสนใจคือ Allied Market Research ยังได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2570 มูลค่าตลาดชาไข่มุกจะเติบโตไปถึง 130,000 ล้านบาท หรือเติบโตเกือบเท่าตัวจากปัจจุบัน
2
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ
รู้ไหมว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นชาติที่ดื่มชานมไข่มุกมากสุดในเอเชีย
ด้วยจำนวนเฉลี่ย 6 แก้วต่อเดือน
2
ด้วยการเติบโตอย่างมากของตลาดชานมไข่มุกในช่วงที่ผ่านมา
และด้วยแนวโน้มที่ยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต
จึงทำให้เถ้าแก่น้อยตัดสินใจกระโดดเข้ามาร่วมเล่นในตลาดนี้ด้วยนั่นเอง
Cr. Techsauce
ซึ่งเรื่องนี้ ก็น่าติดตามกันต่อไป
ว่า เถ้าแก่น้อย จะขายชานม ได้ดีหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า
เจ้าของธุรกิจที่มีประสบการณ์ จะไม่ได้ยึดติดกับแค่ผลิตภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่ง
ในทางกลับกัน เขาจะพยายามหาช่องทางนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ตั้งแต่ เกาลัด สาหร่าย มาจนถึงชานม
ซึ่งก็เชื่อว่า หากชานมตีตลาดในคราวนี้ไม่สำเร็จ
ในครั้งหน้า เถ้าแก่น้อย ก็น่าจะหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ มานำเสนอให้กับผู้บริโภค อยู่เรื่อยๆ
พูดง่ายๆ ว่า คุณต๊อบน่าจะมีสัญชาตญาณ “ความเป็นเถ้าแก่” สมชื่อกับแบรนด์ของเขา นั่นเอง..
1
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า คุณต๊อบเคยเห็นตู้คั่วเกาลัดของบริษัทญี่ปุ่น
ที่มาออกบูทแสดงสินค้าในประเทศไทย ซึ่งเขารู้สึกสนใจอยากซื้อ
แต่เนื่องจากตู้คั่วเกาลัดมีราคาสูงถึง 500,000 บาท
ซึ่งเขาไม่มีเงินมากขนาดนั้น จึงต้องปฏิเสธไป
2
อย่างไรก็ตาม เขายังคงแวะไปที่บูทนี้เรื่อยๆ ในช่วงที่บริษัทญี่ปุ่นรายนี้มาออกงานแสดงสินค้า เขาสนใจตู้นี้มาก ถึงขนาดไปช่วยขายเกาลัดให้กับบูทบริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้เลยทีเดียว
ซึ่งทำให้คุณต๊อบพบว่า เกาลัดเป็นสินค้าที่ขายดีมาก
ถ้าเขามีตู้นี้ เขาจะต้องขายเกาลัดได้ดีแน่นอน
1
สุดท้ายบริษัทญี่ปุ่นรายนั้น ก็ให้คุณต๊อบเช่าตู้คั่วเกาลัดนั้น ในราคาเดือนละ 50,000 บาท
และได้นำมาเริ่มธุรกิจคั่วเกาลัดขาย และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของเถ้าแก่น้อยนั่นเอง..
1
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2562, บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2563,บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
1
โฆษณา