18 ธ.ค. 2020 เวลา 09:24 • ท่องเที่ยว
อุปกรณ์เพื่อการดำน้ำลึก (SCUBA DIVING GEAR)
ก่อนที่จะกระโดดลงสู่ความลึกของทะเลสีคราม เพื่อเพลิดเพลินไปกับการดำน้ำที่ปลอดภัยและสนุกสนาน นักดำน้ำจะต้องมีความรู้และทักษะในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
อุปกรณ์ที่มือใหม่มักมีเป็นของส่วนตัว
อุปกรณ์ที่มือใหม่มักเช่าจากโรงเรียนสอนดำน้ำ
(1) หน้ากากดำน้ำ (Mask) และสน็อร์กเกิล (Snorkel)
อุปกรณ์ชิ้นแรกที่นักดำน้ำมือใหม่มักจะเลือกซื้อมาใช้เป็นของส่วนตัว คือ หน้ากากดำน้ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เพื่อช่วยให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ เมื่ออยู่ใต้น้ำ หน้ากากสำหรับดำน้ำลึกจะต้องครอบหรือปิดจมูกของเรา ซึ่งแตกต่างจากแว่นสำหรับใส่ว่ายน้ำทั่วๆ ไป ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถปรับสมดุลภายในหน้ากากได้ในขณะที่ดำลึกลงไปในน้ำ
หน้ากากดำน้ำที่ดี แผ่นกระจกเลนส์ควรทำจาก Tempered-Glass ซึ่งจะไม่แตกเป็นเสี่ยงแหลม แต่จะแตกออกเป็นเม็ดละเอียด และมีขอบยางที่นุ่มสบายแนบติดกับใบหน้า รวมทั้งมีสายรัดที่สามารถปรับได้ง่ายและสะดวก
หน้ากากที่พอดีนั้น เมื่อเราลองเอามาทาบกับใบหน้าเบาๆ โดยไม่ต้องใส่สายรัดศรีษะ หน้ากากจะต้องถูกแรงดูด ดึงเข้าหาใบหน้าและติดอยู่บนใบหน้าในขณะที่เราสูดลมหายใจเข้า
ในการดำน้ำลึก สน็อร์กเกิลจะมีประโยชน์ในการช่วยให้เราไม่ต้องใช้อากาศจากแทงค์และสามารถพักหรือว่ายน้ำด้วยการคว่ำหน้าลงในน้ำได้เมื่อเราอยู่บนผิวน้ำในช่วงก่อนการดำน้ำ และช่วงที่เราว่ายน้ำเพื่อกลับขึ้นเรือ
(2) ตีนกบ (Fins) และ บูท (Diving boots)
อุปกรณ์ชิ้นถัดมาที่มักจะถูกซื้อเป็นของส่วนตัวต่อจากหน้ากากดำน้ำและสน็อร์กเกิล ก็คือ ตีนกบ หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ฟิน” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการช่วยสร้างแรงส่งให้เราสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วเสมือนเป็นปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำ
สิ่งที่เราพิจารณาในการเลือกซื้อฟินมาใช้งานนั้น นอกจากสีสันที่จะต้องโดนใจแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจอีก 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การเลือกลักษณะในการสวมใส่ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบ Full-foot ที่สามารถสวมเท้าเปล่าได้เลย และแบบ Open-heel ซึ่งต้องใช้ร่วมกับรองเท้าบูท (Diving boots) และการเลือกลักษณะของใบฟิน ซึ่งก็แบ่งออกเป็น 2 แบบ อีกเช่นกัน คือ ฟินแบบใบเต็ม (Paddle fins) และฟินแบบใบแยก (Split fins)
(3) ชุดเว็ทสูท (Wet suit) และถุงมือ (Diving gloves)
ชุดเว็ทสูทและถุงมือ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อช่วยปกป้องผิวหนังและลดการสูญเสียความร้อนของร่างกายในระหว่างการดำน้ำ โดยการเพิ่มชั้นของนีโอพรีนซึ่งมีความยืดหยุ่นและเป็นฉนวนกันความร้อนลงไปในชี้นของวัสดุที่ใช้ในการผลิต เมื่อเรากระโดดลงไปในน้ำ น้ำจะไหลเข้าชุดและถูกกักเก็บไว้ในช่องวางระหว่างชุดกับตัวเรา ร่างกายของเราจะเริ่มถ่ายเทความร้อนกับน้ำที่อยู่ภายในชุดและตราบใดที่น้ำเหล่านั้นยังถูกกักไว้ในชุดโดยไม่มีน้ำจากภายนอกเข้ามาแทนที่ เราก็จะสูญเสียความร้อนในร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องเลือกซื้อเว็ทสูทที่มีขนาดฟิตพอดีกับร่างกายของเรา
นอกจากการรักษาอุณหภูมิเพื่อให้ร่างกายสูญเสียความร้อนมให้น้อยที่สุดแล้ว เว็ทสูทและถุงมือสำหรับดำน้ำยังมีประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ เช่น การป้องกันรังสียูวี การป้องกันผิวหนังจากการขูดขีด และอันตรายจากเข็มพิษของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล
ปัจจุบันมีชุดเว็ทสูทแบบเป็นผ้าขนด้านใน เช่น Fourth Element หรือ Gull ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมาก ชุดแบบนี้จะไม่ถูกบีบให้บางลงเมื่อเราดำลึกลงไปในน้ำ จึงไม่มีผลต่อเรื่องการควบคุมการลอยตัว มีน้ำหนักเบา สวมใส่ง่าย เมื่อเทียบความอุ่นจะเท่ากับเว็ทสูทซึ่งหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร มักทำเป็นสองชิ้น (เสื้อ-กางเกง) เหมาะกับน้ำที่ไม่เย็น
(4) ไดฟ์คอมพิวเตอร์ (Dive Computer)
อุปกรณ์ที่เรียกได้ว่าสำคัญต่อชีวิตของนักดำน้ำ ซึ่งจะคอยช่วยบันทึก แจ้งเตือน และคำนวณค่าต่างๆ เช่น ความลึก อุณหภูมิ ระยะเวลาในการดำน้ำ เวลาที่เหลือในการดำน้ำอย่างปลอดภัย การเตือนการทำ Safety Stop อัตราความเร็วในการขึ้นสู่ผิวน้ำ และระยะเวลาในการพักน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดอาการน็อคน้ำหรือโรคน้ำหนีบ (Decompression Sickness) ซึ่งเกิดจากร่างกายมีการสะสมก๊าซไนโตรเจนมากเกินไป
ข้อควรจำสำหรับนักดำน้ำมือใหม่ คือ หลังจากดำน้ำลึก ห้ามขึ้นเครื่องบินทันที !!
ทั้งนี้ เนื่องจากอากาศที่เราหายใจในการดำน้ำเป็นออกซิเจน 21% ไนโตรเจนประมาณ 78% และอื่นๆ อีก 1% ซึ่งจะสะสมแพร่กระจายตามกระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย หลังการดำน้ำหากร่างกายยังคายก๊าซออกไม่หมด อาจเกิดเป็นฟองอากาศจากการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อและหลอดเลือด อาการที่อาจเกิดขึ้นได้ มีตั้งแต่ปวดในข้อ เวียนหัว หรือตาพร่ามัว ไปจนถึงอาการรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้
PADI มีคำแนะนำสำหรับการหยุดพักน้ำ ดังนี้
- การดำน้ำครั้งเดียว (ไม่มีการดำน้ำซ้ำอีก) แนะนำให้ทิ้งช่วงเวลาของการพักเพื่อผ่อนคลายก่อนการบินขั้นต่ำ 12 ชั่วโมง
- การดำน้ำซ้ำหรือการดำน้ำหลายวัน (การดำน้ำทุกวันเป็นเวลาติดๆ กัน) แนะนำให้ทิ้งช่วงเวลาของการพักเพื่อผ่อนคลายก่อนการบินขั้นต่ำ 18 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังต้องงดการออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังจะทำให้เลือดในตัวเราสูบฉีดอย่างรวดเร็วซึ่งอาจส่งผลให้เกิดฟองก๊าซได้เช่นกัน
(5) อุปกรณ์เพื่อควบคุมการลอยตัว
การปรับสภาพการลอยตัวในระหว่างการดำน้ำ นับเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของนักดำน้ำที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ในการดำน้ำลึกมีอุปกรณ์อยู่ 2 ชิ้น ที่มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมการลอยตัว คือ
- เข็มขัดตะกั่ว หรือ Weight belt ใช้สำหรับร้อยก้อนตะกั่วเพื่อถ่วงให้เราจมลงในน้ำ ซึ่งนักดำน้ำแต่ละคนอาจจะใช้จำนวนก้อนตะกั่วไม่เท่ากัน ลักษณะสำคัญของเข็มขัดตะกั่ว คือ ตรงส่วนหัวของเข็มขัดจะต้องสามารถปลดออกได้ด้วยมือข้างเดียวแบบทันที (Quick release) ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
- เสื้อ BCD หรือ Buoyancy Control Device เป็นอุปกรณ์ที่ต่ออยู่กับระบบจ่ายอากาศผ่านทางสาย Low pressure และมี Inflator เพื่อใช้ในการเติมลมเข้าและปล่อยลมออกจากตัวชุดเพื่อควบคุมการลอยตัว ในท้องตลาดมีเสื้อ BCD ให้เลือกอยู่ 2 รูปแบบ คือ แบบ Jacket และแบบ Wing
สิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือกเสื้อ BCD ประกอบด้วย
(1) ขนาดชุดและขนาดของถุงลมสำหรับพยุงเพื่อการลอยตัว ควรเลือกให้เหมาะสมกับตัวของเรา
(2) ระบบ Weight Integration (ในบางรุ่น) ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถใส่ตะกั่วได้ร่วมกับชุดโดยไม่ต้องคาดเข็นขัดตะกั่ว
(3) กระเป๋า/ช่องใส่ของ และ D-ring สำหรับเกี่ยวอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไฟฉาย ฮุคสำหรับยึดเกี่ยว รอก และ SMB
(6) อุปกรณ์สำหรับการหายใจ
อุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้เราสามารถหายใจได้ในระหว่างการดำนำ้ ชิ้นแรก คือ ถังอากาศ (Tank) ซึ่งใช้บรรจุอากาศเพื่อให้เราสามารถใช้ในการหายใจได้ ประมาณ 45 - 60 นาที โดยก่อนการดำน้ำทุกครั้งจะต้องตรวจสอบว่า ถังอากาศมียาง O-Ring ที่วาล์วเพื่อกันการรั่วซึมของอากาศในระหว่างการใช้งานหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบความดันอากาศในถัง ซึ่งควรมีมากกว่า 200 บาร์ขึ้นไป เพื่อการดำน้ำอย่างปลอดภัย
อุปกรณ์ชิ้นที่สอง คือ ชุดปรับแรงดัน หรือ Regulator ซึ่งจะมีอุปกรณ์พื้นฐานย่อยๆ อยู่ 5 ส่วน คือ
(1) 1st Stage เป็นตัวควบคุมแรงดันและจ่ายอากาศซึ่งติดอยู่กับถังอากาศ มีให้เลือกใช้อยู่ 2 แบบ คือ แบบ Yoke และแบบ DIN
(2) 2nd Stage หรือ Primary Air Source เป็นตัวจ่ายอากาศที่เราใช้คาบเพื่อการหายใจ ซึ่งจะทำงานร่วมกับ 1st Stage
(3) Octopus หรือ Alternate Air Source เป็นตัวจ่ายอากาศสำรอง มักมีสีเหลืองเพื่อให้ง่ายต่อการสังเกต และเชื่อมต่อกับ 1st Stage ด้านเดียวกับ Primary Air Source
(4) สาย Low pressure เป็นส่วนที่ต่อเข้ากับ Inflator เพื่อใช้ในการเติมลมเข้าในชุด BCD
(5) มาตรวัดความดันอากาศ (Pressure gauge) ใช้สำหรับวัดแรงดันอากาศภายในถังเพื่อบอกว่ามีอากาศเหลืออยู่เท่าไหร่ในระหว่างการดำน้ำ ซึ่งจะต่อผ่านกับ 1st Stage ผ่านสาย High pressure
นอกจากอุปกรณ์ดำน้ำที่แนะนำไปข้างต้นแล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายที่ใช้ในการดำน้ำลึก เช่น ไฟฉาย เข็มทิศ เป็นต้น โดยเมื่อเราประกอบอุปกรณ์พื้นฐานเข้าด้วยกันแล้ว ก่อนการดำน้ำในทุกๆ ไดฟ์ เราจะต้องทำ Predive safety check กับคู่บัดดี้ที่จะดำน้ำกับเราด้วยวลี "Begin With Review And Friend" ซึ่งใช้เพื่อการตรวจสิ่งต่างๆ ดังนี้
(1) BCD - ตรวจสอบการเติมลมและปล่อยลมจาก BCD
(2) Weight - ตรวจสอบการความพร้อมของเข็มขัดตะกั่ว
(3) Release - ตรวจสอบความพร้อมของสายรัดในจุดต่างๆ
(4) Air - ตรวจสอบการเปิดวาล์วถังอากาศและความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหายใจ
(5) Final Check - การตรวจดูภาพรวมหนสุดท้ายก่อนกระโดดลงน้ำ เช่น หน้ากาก ฟิน เป็นต้น
ถ้าพร้อมแล้ว โดดลงน้ำได้เลย ตรูมมมมมม !!
ติดตามภาพสวยๆ และเรื่องราวดีๆ จากกิจรรมดำน้ำแสนสนุกในประเทศไทยได้ที่ FB กลุ่ม Go Dive !
โฆษณา