11 ธ.ค. 2020 เวลา 12:26 • ธุรกิจ
เปิดสูตรสำเร็จ 'เกาหลีใต้' สู่ฮับ 'สตาร์ทอัพ' ระดับโลก
ธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” กำลังเป็นที่สนใจ หลังกระแสซีรีส์เกาหลีเรื่อง “สตาร์ทอัพ” (Start-Up) มาแรงจน “นายกฯประยุทธ์” ชวนครม.นำไอเดียไปต่อยอดทำนโยบายส่งเสริมธุรกิจคนรุ่นใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือ ในโลกจริง เกาหลีใต้ยังเป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพชั้นนำของโลกด้วย
3
เปิดสูตรสำเร็จ 'เกาหลีใต้' สู่ฮับ 'สตาร์ทอัพ' ระดับโลก
ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไม่นานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การส่งเสริมธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” จะทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ในอนาคต พร้อมแนะนำให้ครม.ไปดูซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์ เรื่อง “สตาร์ทอัพ” (Start-Up) และขอให้นำเอาไอเดียจากเรื่องนี้ไปดูว่าจะทำนโยบายอย่างไรต่อไป
“สตาร์ทอัพ” (Start-Up)
ซีรีส์สตาร์ทอัพซึ่งผลิตโดยบริษัทสตูดิโอ ดรากอนของเกาหลีใต้ เป็นแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ และแฝงแนวคิดการทำธุรกิจยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน หรือที่เรียกกันว่า สตาร์ทอัพ เนื้อเรื่องมีทั้งหมด 16 ตอน (Episode) และออกอากาศตอนสุดท้ายในเน็ตฟลิกซ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ จนได้รับความนิยมมากทั้งในไทยและอีกหลายประเทศ
2
แล้วอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ สามารถเป็นแบบอย่างหรือกรณีศึกษาให้กับบรรดาผู้ประกอบการไทยหรือการวางนโยบายส่งเสริมสตาร์ทอัพในบ้านเราได้อย่างไร และอะไรคือปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจเกิดใหม่มาแรงในประเทศนี้?
ฮับระดับโลก
หากว่ากันตามข้อเท็จจริงไม่อิงเนื้อหาในซีรีส์ เกาหลีใต้โดยเฉพาะในกรุงโซล ถือเป็นศูนย์รวมหรือ “ฮับ” ธุรกิจสตาร์ทอัพระดับแถวหน้าของโลก และมีการเติบโตก้าวกระโดดอย่างน่าจับตามองที่สุดในยุคนี้ก็ว่าได้
รายงาน Global Startup Ecosystem Report ประจำปีนี้ของ Startup Genome องค์วิจัยและที่ปรึกษาด้านนโยบายในนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐ ยกให้กรุงโซลติดอันดับ 20 เมืองที่มี Ecosystem หรือระบบนิเวศสตาร์ทอัพใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่า 3,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 117,300 ล้านบาท) หรือเกือบ 4 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก และยังเป็นปีแรกที่โซลติดท็อป 20 ด้วย
ขณะเดียวกัน ปี 2563 แม้จะมีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของระบบนิเวศสตาร์ทอัพในเกาหลีใต้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ซีบี อินไซต์ส (CB Insights) เผยว่า นับถึงวันที่ 19 พ.ย. เกาหลีใต้มี “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 30,000 ล้านบาท) ถึง 12 ราย มากที่สุดอันดับ 5 ของโลก
3
ส่วนฮับอันดับ 1 ของโลกคือ สหรัฐ ที่มียูนิคอร์น 242 ราย อันดับ 2 จีน 119 ราย อันดับ 3 ร่วมคือสหราชอาณาจักรและอินเดียมี 25 รายและอันดับ 4 เยอรมนี 13 ราย
1
ยูนิคอร์นส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงโซลซึ่งมีประชากร 11 ล้านคน และที่สำคัญ รัฐบาลท้องถิ่นโซลสนับสนุนอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพอย่างเต็มที่ หวังเทียบชั้นฮับสตาร์ทอัพหัวแถวของโลกอย่าง “ซิลิคอน วัลเลย์” “นิวยอร์ก” “บอสตัน” และ “ซีแอตเทิล” ของสหรัฐ รวมถึงเทลอาวีฟของอิสราเอลในอนาคต
6
เท่านั้นไม่พอ ทางการโซลประกาศทุ่มทุน 1,700 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 51,120 ล้านบาทจนถึงปี 2565 เพื่อปั้นเมืองหลวงแห่งนี้ให้ติด 1 ใน 5 ฮับสตาร์ทอัพชั้นนำของโลก และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนยูนิคอร์นสัญชาติเกาหลีเป็น 15 รายภายในปี 2565
1
เงินก้อนนี้ใช้ทำอะไร?
งบจำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์นี้จะถูกนำไปใช้ฝึกฝนแรงงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีราว 10,000 คน และเพิ่มจำนวนพื้นที่ประกอบการสตาร์ทอัพอีก 2 เท่าในโซลเป็น 2,200 แห่ง
2
นอกจากนั้น ทางการโซลได้ประกาศตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพต่างหากอีกเกือบ 300 ล้านดอลลาร์เมื่อไม่นานนี้
1
นี่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากสำหรับเศรษฐกิจเกาหลีใต้ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 60 และส่วนใหญ่จะผูกติดกับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่อยู่บนสุดของระบบเศรษฐกิจและธุรกิจร้านขายของชำเล็ก ๆ ซึ่งมีมากเกินความจำเป็นที่อยู่ล่างสุด แต่ชนชั้นกลางของระบบนี้แทบไม่มีส่วนร่วม
1
ลดพึ่งพาแชโบล
2
การที่กรุงโซลหันมาให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพถือเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของความพยายามระดับชาติ เพื่อกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันของเกาหลีใต้ด้วยการสร้างเซ็กเตอร์สตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งไม่น้อยหน้าประเทศหัวแถวโลก
ที่สำคัญ แผนอันทะเยอทะยานของรัฐบาลเกาหลีใต้น่าจะช่วยให้ประเทศ “หลุดพ้น” จากการต้องเอาเศรษฐกิจไปพึ่งพา “แชโบล” หรือบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินการโดยครอบครัวชนชั้นนำ
“โครงสร้างแชโบลรุ่งเรืองมากเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เพราะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจได้ง่ายกว่าการไปรับมือกับบรรดาบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีอยู่มหาศาล” ไมค์ บรีน ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและผู้สังเกตการณ์เกาหลีใต้มากประสบการณ์ กล่าว
“สรุปคือ รัฐบาลทำแค่รับมือกับกลุ่มนักธุรกิจเพียงไม่กี่คนที่ครอบครองทุกอุตสาหกรรมแทนพวกเขา”
แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แชโบลเปรียบเหมือนหัวรถจักรนำเศรษฐกิจเกาหลีใต้ทะยานไปข้างหน้า แต่ก็มักถูกวิจารณ์เรื่องการผูกขาดทรัพยากรและการใช้อิทธิพลในทางที่ผิดอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอิทธิพลของแชโบลนั้นมากมายเกินกว่ารัฐบาลจะควบคุม
จนกระทั่งช่วงวิกฤติการเงินเอเชียระหว่างปี 2540-2541 รัฐบาลขณะนั้นสามารถผลักดันการปฏิรูปครั้งสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างของแชโบลได้สำเร็จ แต่ก็ทำได้เพียงรัฐบาลชุดเดียว
นับแต่นั้นมา นอกจากแชโบลกลายเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ของประเทศแล้ว รัฐบาลหลายสมัยต่อมากลับล้มเหลวในการจัดการกับอิทธิพลของแชโบล ทำให้รัฐต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่
1
แทนที่จะมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแชโบล ขณะนี้รัฐบาลโซลกำลังทำงานเพื่อเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการหันมาส่งเสริมสตาร์ทอัพและใช้อุตสาหกรรมนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน
3
โฆษณา