12 ธ.ค. 2020 เวลา 01:58 • ประวัติศาสตร์
ทุ่งพระเมรุ (Phra men Ground) หรือ “สนามหลวง” ในปัจจุบัน
#ภาพเก่าในอดีต
“ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”
ประกาศว่าด้วยท้องสนามหลวงและสนามชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ สมัยรัชกาลที่ ๔
***ที่มาของท้องสนามหลวง***
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ แล้ว พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างราชธานีใหม่บนพื้นที่ฝั่งตะวันออกของบางกอก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งมีความรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
การสร้างพระนครตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๕ – ๒๓๒๘ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) และพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และกำหนดขอบเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ถอดแบบจากกรุงศรีอยุธยา โดยทรงรับสั่งให้รื้อกำแพงเมืองเก่าสมัยธนบุรี ให้คงเหลือไว้แต่คูคลอง และขุดคลองรอบกรุง รวมถึงขุดคลองเชื่อมคลองคูเมืองเดิม หลังจากนั้น โปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อกำแพงเมืองและป้อมปราการรอบพระนคร รวมทั้งหมด ๑๔ ป้อม
การพัฒนาเมืองดังกล่าว ทำให้พื้นที่ภายในเขตคลองคูเมืองเดิมซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของกรุงธนบุรี กลายเป็นหัวใจสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีทั้งพระราชวังและวัดสำคัญ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้ที่ว่างของวังหลวงที่อยู่ด้านหลังวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นทุ่งรกร้างมีน้ำขัง ใช้เป็นที่เผาพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” ซึ่งก็คือ สนามหลวงในปัจจุบัน
ท้องสนามหลวงได้ใช้ประโยชน์เป็นครั้งแรกในงานพระบรมอัฐิพระชนกแห่งรัชกาลที่ ๑ พระบรมศพของพระมหากษัตริย์จะประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อถึงคราวถวายพระเพลิงก็อัญเชิญพระบรมศพออกทางประตูพระราชวังมาตามถนนที่คั่นระหว่างพระราชวังและวัดพระเชตุพนฯ หักเลี้ยวมาตามถนนหลวงที่คั่นอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวังสราญรมย์ มายังพระเมรุมาศที่สนามหลวง ในสมัยนั้นคนทั่วไปจะเรียกชื่อบริเวณที่จัดงานพระเมรุมาศว่า “ทุ่งพระเมรุ” จนกระทั่งสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเรียกว่า “ท้องสนามหลวง”
 
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงยกเลิกพื้นที่ในส่วนวังหน้า รื้อกำแพงและขยายพื้นที่ออกไปอีกครึ่งหนึ่งแล้วจึงแต่งสนามให้เป็นรูปทรงไข่โดยรอบให้ปลูกต้นมะขาม บริเวณด้านข้างสนามหลวง ได้มีการสร้างถนนราชดำเนินขึ้นใหม่ต่อจากถนนสนามไชย
หลังจากนั้นได้มีการใช้สนามหลวงในพิธีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น งานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี (พ.ศ.๒๔๒๕) ก็ได้ใช้เป็นที่ตั้งขบวนแห่พยุหยาตราและจัดให้มีนิทรรศการ “นาเชนแนลเอกซิบิชั่น” ที่เป็นการแสดงสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทยให้ราษฎรได้ชมเป็นระยะเวลา ๓ เดือน นอกจากนี้ยังมีการใช้สนามหลวงเป็นที่จัดกิจกรรมอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น การแสดงโขน การสวนสนาม การเล่นว่าว และยังเคยเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย
ข้อมูลจาก “หนังสือ ๒๒๕ ปี กรุงรัตนโกสินทร์”
โฆษณา