12 ธ.ค. 2020 เวลา 05:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อคนเสพติด ‘คนละครึ่ง’
“ร้านนี้รับคนละครึ่งหรือเปล่าครับ” ผมคนหนึ่งล่ะที่ถามคำถามนี้จนชินในรอบสองเดือนที่ผ่านมา นโยบาย "คนละครึ่ง" ส่งเงินตรงถึงคนจำนวนมากตามแต่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตจะไปถึง ขณะที่ "เราเที่ยวด้วยกัน" กับ "ช๊อปดีมีคืน" ก็มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนไม่น้อย เว้นเสียแต่ "รถเก่าและรถใหม่" ซึ่งถูกพักไว้อย่างน่าสนใจว่าเงื่อนไขและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ถ้าไม่ใช่เพราะ Covid-19 นโยบายลดแลกแจกแถมเหล่านี้คงจะถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม กระนั้นในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ Post-Covid ยังเป็นไปได้อีกหรือที่นโยบายเศรษฐกิจจะไม่ออกมาในลักษณะนี้
หนำซ้ำยังต้องเตรียมนโยบายเพิ่มฐานเสียงในระบอบประชาธิปไตยเตรียมตัวเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นในไม่ช้าก็เป็นได้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงประชานิยมจึงเป็นสูตรตายตัวแกมบังคับสำหรับรัฐบาลทั้งปีกซ้ายปีกขวา ก้าวหน้าหรืออนุรักษนิยมว่าจะต้องสานต่อโครงการเหล่านี้เพื่อกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเป็นนโยบายระยะสั้น เคนส์ (John Maynard Keynes) บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาคบอกไว้ว่าถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ (รัฐแทรกแซงเอกชน) มันก็ควรจะเป็น Countercyclical Fiscal Policy หรือกระตุ้นตอนที่เศรษฐกิจเป็นขาลง และปล่อยให้ตลาดทำงานเมื่อเศรษฐกิจเป็นขาขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเงินเฟ้อโดยไม่จำเป็น (Hyperinflation) ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นอย่างชัดเจนสำหรับรัฐบาลเผด็จการในอเมริกาใต้
1
กระนั้น ในกรณีของไทย เนื่องในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ที่จะเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ตกหล่นให้ได้รับรายละ 3,500 บาท และระยะที่ 2 ของผู้มีสิทธิเดิมที่ได้เพิ่มอีก 500 บาท โดยขยายเวลาใช้เงินไปจนถึงเดือนมีนาคม 64 หลายคนใช้สิทธิ 'คนละครึ่ง' รวมถึงแอพ 'เป๋าตัง' กันจนชิน และส่วนร้านค้าที่อาจไม่อยากให้ร้านของตนยุ่งเกี่ยวกับรัฐแต่ก็จำใจต้องเข้าร่วมตามคำถามของลูกค้า "ร้านนี้รับคนละครึ่งหรือเปล่าคะ/ครับ" จน 'เป๋าตุง' ไปตามๆกัน
จึงต้องมาติดตามกันว่าเงิน 500 บาทนี้จะอยู่พ้นสิ้นปีไปสู่ปีหน้าหรือเปล่า และหากไม่พอรัฐบาลจะทนต่อเสียงเรียกร้องและโอกาสในการหาเสียงกลายๆด้วยการสานต่อหรือสรรหาโครงการใหม่แต่ในลักษณะเดิมๆ นี้มาอีกหรือไม่
มิวายต้องคิดถึงเรื่องรัฐบาลถังแตกจากวัฏจักรของเงินคงคลังที่ลดลง การจัดเก็บรายได้ที่ลดลงแน่นอน และกว่าเงินจากภาษีนิติบุคคลจะเข้ารัฐก็ไตรมาสที่ 2/64 ไปแล้ว
นั่นล่ะนะ 'คนละครึ่ง' อาจเป็นการเอาอุปสงค์ (Demand) ในอนาคตบางส่วนมาใช้ก่อน ซึ่งหากโครงการหมดและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นก็คงได้เห็นสภาวะที่เป็นจริงว่าอุปสงค์มวลรวมของสังคม (Aggregate Demand) ลดลงไปเพียงใด และเราอาจได้เห็น 'คนละเสี้ยว' หรือ 'รัฐจัดให้' อะไรทำนองนี้ในปีหน้าก็ได้นะ แต่นั่นอาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่ยังคงเป็น ครม. พลเอก ประยุทธ์ฯ เท่านั้นก็ได้
1
ติดตามเราบน Facebook : www.facebook.com/theseriousth
โฆษณา