13 ธ.ค. 2020 เวลา 14:00 • กีฬา
ลีกที่มีผู้สมหวังแค่ 1.2% : นักบาสผู้ล่าฝันต้องเจออะไรบ้างเมื่อไปไม่รอดกับระดับ NBA? | MAIN STAND
ในทุกๆสนามแข่งขัน “ฝีมือในการเล่น” และผลงาน กลายเป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตของนักกีฬา หากพวกเขาโชว์ฟอร์มได้ดี โอกาสมากมาย ชื่อเสียง เงินทอง รอต้อนรับเขาอยู่
แต่น่าเสียดาย ที่ตามความเป็นจริงของวงการกีฬา ต้องมีผู้โชคร้ายไม่สามารถทำผลงานได้แบบที่ผู้คนคาดหวัง ทำให้ชีวิตในอาชีพนักกีฬาไปได้ไม่ไกล ไปได้ไม่ถึงที่สุด ตามที่นักกีฬาคนหนึ่งวาดฝันไว้
หนึ่งในลีกกีฬาที่ขึ้นชื่อกับการจบอาชีพของนักกีฬาก่อนเวลาอันควรคือ NBA ลีกบาสเกตบอลอันดับหนึ่งของโลก จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นลีกแห่งความฝันของนักบาสทั่วโลก
แต่การจะขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการบาสเกตบอลมีความเสี่ยง หากผิดพลาด ล้มเหลวในการไขว่คว้าดวงดาว ณ ยอดภูเขาที่ชื่อ NBA ... เมื่อตกลงมาแล้วชีวิตนักกีฬาของใครหลายคน อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Main Stand จะพาไปพบกับเรื่องราวของลีก NBA ลีกบาสในฝันของคนรักบาสทุกคน กับความฝันที่แตกสลายของนักบาสบางคนที่ไปไม่ถึงดวงดาว บนถนนแสนโหดร้ายที่ชื่อว่า “NBA”
ลีกซึ่งไม่มีที่ว่าง สำหรับผู้แพ้
เป็นที่รู้กันดีในหมู่แฟนบาส และคอกีฬาว่า NBA (National Basketball Association) คือลีกที่โหดเหี้ยมและไร้ความปราณี โดยเฉพาะผู้เล่นดาวรุ่งหน้าใหม่ที่เข้าสู่ลีกได้ไม่นาน
หากไม่สามารถโชว์ผลงานได้ตามที่สื่อ แฟนบาส หรือเจ้าของทีมตั้งความหวังไว้ การถูกเด้งออกจากลีก ในช่วงพริบตาเดียว สามารถเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย
Photo : hoopshype.com
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นใน NBA ต้องแบกรับความคาดหวังจากผู้คนรอบสารทิศมากขนาดนี้ เนื่องจากลีกบาสเกตบอลอันดับหนึ่งของโลก ไม่ใช่ลีกที่ใครจะมาวาดลวดลายได้ง่ายๆ
ในฤดูกาล 2018-19 ของ NBA มีจำนวนผู้เล่นทั้งลีกที่ลงทะเบียนว่าสามารถลงแข่งขันได้เพียง 494 คนเท่านั้น หากนับจากวันที่เปิดฤดูกาล เฉลี่ยจากจำนวน 30 ทีมในลีกแล้ว เท่ากับว่าแต่ละทีมมีผู้เล่นอยู่ในทีมเพียงแค่ 16 คนเท่านั้น
ซึ่งใน 16 คน จะมีคนได้โอกาสออกสตาร์ทเป็นตัวจริงเพียงแค่ 5 คนเท่านั้น เท่ากับว่ามีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะได้เริ่มต้นเล่นตั้งแต่เริ่มเกม หากเปรียบเทียบกับกีฬาฟุตบอลที่ลีกชั้นนำทั้ง ลาลีกา สเปน และพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ซึ่งสามารถลงชื่อได้ 25 คน เฉลี่ยแล้วมีโอกาสได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงที่ 1 ใน 2 เท่านั้น
1
เป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่าผู้เล่นใน NBA ต้องแข่งขันมากพอสมควรเพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ แต่หากย้อนมองเส้นทางของผู้เล่นก่อนเข้า NBA แล้ว ความยากลำบากของพวกเขาได้เริ่มมาตั้งแต่ก่อนเป็นผู้เล่นในลีกด้วยซ้ำ
มีการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา โดยทาง NCAA องค์กรที่จัดการแข่งขันกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลที่แสนน่าตกใจของการเข้าสู่ลีก NBA
Photo : www.timesnews.net
ในฤดูกาล 2018 มีผู้เล่นบาสในลีก NCAA มากถึง 18,712 คน ทว่ากลับมีผู้เล่นเพียง 51 คนเท่านั้น ที่ถูกดราฟต์เข้าสู่ NBA ในปีนั้น
ซึ่งเป็นเหตุผลมาจากธรรมชาติของกีฬาบาสเกตบอลที่ต้องการผู้เล่นลงสนามเพียง 5 คน ทำให้ในแต่ละปี NBA เปิดดราฟต์ผู้เล่นเพียง 60 คนต่อปีเท่านั้น โดยช่องว่าง 9 คนที่เหลือ คือนักบาสเกตบอลที่มีดีกรีการเล่นอาชีพมาแล้วในต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มที่ยอมไม่เข้ามหาวิทยาลัย เพื่อรอวัดดวงกับการถูกดราฟต์
นอกจากนี้ จากการเก็บสถิติของ NCAA มีนักบาสเพียง 1.2 เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่หลังจากจบมหาวิทยาลัยแล้วจะสามารถเข้าสู่การเล่นบาสอาชีพในลีกระดับท็อปอย่าง NBA
โดยถือว่า บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ผู้เล่นในระดับมหาวิทยาลัย สามารถเข้าสู่ท็อปลีกได้น้อยที่สุด จากทุกกีฬาชั้นนำของทาง NCAA เพราะในขณะที่มีผู้เล่นเพียง 1.2 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถเข้าสู่ NBA กีฬาอย่างเบสบอลกลับมีผู้เล่นมากถึง 9.5 เปอร์เซนต์ ที่เข้าสู่ลีกท็อปอย่าง MLB และกีฬาฮ็อคกี้น้ำแข็ง ได้มีผู้เล่นถึง 6.4 เปอร์เซนต์ ที่สามารถเข้าสู่ลีก NHL ได้สำเร็จ
ด้วยความยากลำบากของการเข้าสู่ลีกบาสเกตบอล ทำให้ผู้เล่นทุกคนที่ถูกดราฟต์เข้าสู่ NBA ถูกเชื่อโดยสนิทใจ ว่าเขาคือผู้เล่นที่ดีจริงเท่านั้น ถึงสามารถถูกเลือกเข้ามาเล่นลีกนี้ได้ NBA จึงเป็นลีกกีฬาที่จ่ายค่าเหนื่อยให้นักกีฬาแพงมากที่สุดในโลก
NBA มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อนักกีฬาหนึ่งคนอยู่ที่ 7.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี มากกว่าลีกอันดับสองอย่าง IPL ลีกคริกเก็ตประจำประเทศอินเดียอยู่ถึง 2 ล้านดอลลาร์เหรียญสหรัฐฯ (เฉลี่ยรายได้ผู้เล่นของลีก IPL อยู่ที่ 5.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี)
ขณะที่ลีกชั้นนำอื่นๆ รายได้ของนักกีฬาถือว่าห่างจาก NBA อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นลีกกีฬาอันดับหนึ่งของชาวสหรัฐฯ อย่าง NFL ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.91 ล้านเหรียญต่อปี ขณะที่พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ลีกฟุตบอลขวัญใจคนทั้งโลก ผู้เล่นมีรายได้ตกอยู่ที่ 3.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ห่างจาก NBA เกือบ 2 เท่า
ทั้งแรงกดดัน ความเชื่อ และค่าจ้างที่สูงลิบ คือเหตุผลที่ทำให้ไม่มีพื้นที่ว่างให้กับความล้มเหลวสำหรับผู้เล่นใน NBA
ประกอบกับกีฬาบาสเกตบอล เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความสามารถส่วนตัวสูง มากกว่ากีฬาชนิดอื่น เนื่องจากมีจำนวนผู้เล่นที่น้อย ทำให้ผู้เล่นที่ได้โอกาสลงสนาม ทุกคนต้องสามารถทำแต้มเป็นกอบเป็นกำให้กับทีมได้ หากไม่สามารถทำได้สำเร็จ ทีมก็พร้อมจะเขี่ยผู้เล่นทิ้ง เพื่อหาผู้เล่นคนอื่นเข้ามาทดแทนอย่างรวดเร็ว
Photo : thebiglead.com
คนทั่วโลกเห็นนักบาสหลายคนกลายเป็น “ซูเปอร์สตาร์” ทั้ง ไมเคิล จอร์แดน, โคบี ไบรอันต์, เลบรอน เจมส์ หรือ สตีเฟน เคอร์รี พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่สุดยอดนักบาสของยุคสมัย แต่เป็นนักกีฬาที่ทำรายได้อยู่ระดับต้นๆของโลก จากการเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า รวมถึงออกสินค้าคอลเลคชั่นพิเศษของตัวเอง
นั่นเป็นเพราะพวกเขามีความสามารถเฉพาะตัวที่ยอดเยี่ยม และสามารถสร้างชื่อและมูลค่าให้กับตัวเองได้อย่างง่ายดาย
ในทางตรงกันข้าม หากนักบาสใน NBA ไม่สามารถโชว์ความสามารถแสดงให้เห็นว่าตัวเองคือผู้เล่นที่มีมูลค่าทั้งในฐานะนักกีฬาและทางการตลาด อาชีพการเป็นนักบาสของพวกเขา อาจถึงจุดจบอยู่ในความมืดมิดและไม่สามารถกลับมาอีกเลย...
ความล้มเหลว ที่ทำลายชีวิต
ชื่อของผู้ชายที่ชื่อ โรเบิร์ต สวิฟท์ (Robert Swift) อาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนักสำหรับแฟนบาสรุ่นใหม่ แต่ครั้งหนึ่งย้อนไปเมื่อ 15 ที่แล้ว เขาคือหนึ่งในผู้เล่นที่ถูกคาดหมายว่าจะเจิดจรัสเป็นซูเปอร์สตาร์ บนเวทีของ NBA
Photo : sonicsrising.com
ด้วยความสูงมากถึง 216 เซนติเมตร บวกกับผลงานการเล่นที่ยอดเยี่ยมตลอดช่วง 3 ปีที่เขาเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้เขาถูกดราฟต์เข้าสู่ NBA ด้วยวัยเพียงแค่ 18 ปี เมื่อปี 2004 โดยที่ยังไม่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ
แต่แทนที่เขาจะประกายแสงเป็นดวงดาวของวงการบาสฯ ตามที่หลายคนคาดคิด สวิฟท์กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิงกับชีวิตใน NBA เมื่อในฤดูกาลแรกกับทีมซีแอตเทิล ซูเปอร์โซนิคส์ เขาไม่มีโอกาสลงเล่นในฐานะตัวจริง แม้แต่เกมเดียว และมีค่าเฉลี่ยลงสนามต่อเกมเพียง 4.5 นาที และมีค่าเฉลี่ยทำแต้มต่อเกม เพียงแค่แต้มเดียวเท่านั้น
สวิฟท์ถูกพบว่า เขายังไม่พร้อมกับการเล่นใน NBA การตัดสินใจที่จะไม่เข้าลีกมหาวิทยาลัย และข้ามมาเล่นลีกอาชีพเลยคือความผิดพลาดอย่างร้ายกาจ ตลอดช่วงเวลา 4 ฤดูกาลใน NBA (ปี 2004-2006 และ 2007-2009) เขาไม่เคยทำผลงานได้ยอดเยี่ยมเหมือนที่ทุกคนคาดหวังไว้ ก่อนที่เขาจะเข้าสู่ลีก
และสวิฟต์ต้องปิดอาชีพตัวเองในฐานะนักบาสของ NBA ด้วยวัยเพียงแค่ 23 ปีเท่านั้น
“ผมไม่เคยเปลี่ยนแปลงทีมได้ตามที่ผู้คนคาดหวัง ด้วยการเล่นที่เป็นตัวของตัวเองมากเกินไป มันทำให้ผมไปได้ไม่ดีใน NBA ผมไม่มีความสุขเลยตลอดช่วงเวลาที่เล่นในลีก สุดท้ายผมต้องออกมาเพื่อหาความสุขให้ตัวเองอีกครั้ง”
Photo : celebritynetworthnow.com
สวิฟท์ตัดสินใจหนีความกดดันอันหนักอึ้งใน NBA ลงไปเล่นในลีกรองอย่าง NBA D-League (ชื่อปัจจุบัน NBA G-League) แต่กลับต้องออกจากลีกอีกครั้ง หลังเล่นไปได้เพียงแค่ 2 เกมเท่านั้น
หลังจากนั้น สวิฟท์ต้องบินข้ามไปเริ่มต้นอาชีพใหม่อีกครั้งที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เขาก็เล่นบาสที่นั่นได้เพียงแค่ 2 ปี (2009-2011) ก่อนจะถูกตำรวจด้วยข้อหาเมาแล้วขับ
เขาไม่สามารถหาทีมที่จะให้โอกาสได้กลับมาเป็นนักบาสอาชีพอีกครั้ง ชีวิตของเขาตกต่ำลงเรื่อยๆ เขาคลุกอยู่แต่กับเบียร์ สิ่งมึนเมาและ ยาเสพติด เขาเสียบ้านของตัวเอง ซึ่งซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2006 สมัยเล่นอยู่ NBA ในปี 2013
และปี 2014 เขาถูกจับอีกครั้ง ด้วยข้อหาไม่มีใบอนุญาตพกปืน หลังตำรวจพบเขาในขณะพกปืนลูกซองหลังตำรวจบุกจับบ้านผู้ต้องหาค้ายาเสพติด ก่อนที่ในปี 2015 เขาจะถูกจับอีกครั้ง และคราวนี้เขาถูกสื่อขุดคุ้ยจนโลกรับรู้ว่า จากอดีตนักบาสในเวที NBA สวิฟท์กลายเป็นคนติดยาที่ต้องเสพเฮโรอีนเข้าตัวเองทุกวันไปเสียแล้ว
สื่อหลายคนมองว่าชีวิตที่ล้มเหลวของสวิฟท์ มีต้นเหตุมาจากเรื่องเดียวเท่านั้น คือความล้มเหลวในฐานะนักบาสขณะที่เขาเล่นอยู่ในลีก NBA
“ผมไม่ต้องการใช้ช่วงเวลาหลังจากนี้ในการพัฒนาตัวเองให้มีความพร้อม หรือต้องไปเรียนรู้จากใคร ในจุดนี้ของอาชีพ ผมมีความพร้อมแล้ว” นี่คือคำพูดของสวิฟท์ หลังจากถูกดราฟต์เข้าสู่ NBA ได้ไม่นาน มันแสดงถึงความมั่นใจอันเต็มเปี่ยมของเขาในฐานะนักบาสอาชีพ
Photo : celebritynetworthnow.com
แต่ความล้มเหลวของเขาในฤดูกาลแรกทำลายความเชื่อมั่นของเขาไปจนหมด มีการเปิดเผยว่าเขาพยายามเรียกความมั่นใจของตัวเองกลับมา แต่คนรอบข้างทั้งเจ้าของทีม โค้ช เพื่อนร่วมทีม และแฟนบาส ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของเขาอีกต่อไป
สุดท้ายเขาเอาความเครียดที่เขามีจากการเล่นบาสไปลงกับ เหล้า เบียร์ ปืน และยาเสพติด กว่าคนรอบข้างของเขาจะรู้ตัวว่าเด็กคนนี้กำลังจะเสียคน ทุกอย่างได้สายเกินกว่าจะแก้ไขเสียแล้ว
เพราะความเจ็บปวดจากการล้มเหลวใน NBA เป็นเรื่องที่หนักเกินกว่าสวิฟท์จะรับไหว เขาเคยพยายามเปลี่ยนตัวเองไปเป็นนักกีฬา MMA เพื่อลืมความปวดร้าวในฐานะนักบาสเกตบอล แต่กลายเป็นอีกครั้งที่เขาล้มเหลวในฐานะนักกีฬา
แม้ปากของสวิฟท์จะบอกว่า การหนีจาก NBA คือความสุขของเขา แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะเมื่อปี 2011 สวิฟท์พยายามจะกลับไปที่ NBA ด้วยการไปทดสอบกับทีม พอร์ตแลนด์ เทรล เบลซเซอร์ (Portland Trail Blazers) แต่ก็ไม่ได้รับการเซ็นสัญญา
สุดท้ายหลังจากที่เขาถูกจับจากการเสพติดเฮโรอีน เขากล่าวกับตำรวจว่าเหตุผลที่เขาเล่นยาเพราะ “เขาอยากหลับให้นานที่สุด” และ “เขาอยากตาย”
แม้ในปัจจุบัน สวิฟท์จะกลับตัวห่างจากยาเสพติดมาหลายปี และกลับมาเป็นนักบาสอีกครั้ง ในลีกสมัครเล่นที่ประเทศสเปน แต่จากหนุ่มที่เคยมีรายได้ 20 ล้านเหรียญต่อปี กับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ตอนนี้ เป็นชีวิตที่เกินความคาดหมายเหลือเกิน จากคนที่เคยถูกหมายตาว่าจะเป็นดวงดาวที่เจิดจรัสใน NBA
จากดาวดัง...สู่ดาวดับ
ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่ล้มเหลวใน NBA ต้องพบกับชีวิตที่โหดร้ายแบบ โรเบิร์ต สวิฟท์ แต่ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า หากนักบาสรายใดไม่สามารถสร้างชื่อในลีกได้ตามที่คาดหวัง โอกาสที่จะมีที่ยืนใน NBA ก็มีน้อยเหลือเกิน
Photo : grantland.com
เกร็ก โอเดน (Greg Oden) คือหนึ่งในรายชื่อนั้น เขาเคยถูกคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดการของ NBA เขามีรางวัลส่วนตัวยาวเป็นหน้ากระดาษสมัยที่เล่นในระดับมหาวิทยาลัย และเขาถูกดราฟต์เข้าสู่ NBA เป็นคนแรก สำหรับการดราฟต์เมื่อปี 2007
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของโอเดน ไม่เคยเป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์ เพราะก่อนเปิดฤดูกาล 2007 เขาบาดเจ็บที่เข่าข้างขวา จนไม่สามารถลงเล่นได้ตลอดทั้งฤดูกาล การถูกดราฟต์มาเป็นคนแรก แต่กลับเล่นไม่ได้แม้แต่นัดเดียว กลายเป็นความเครียดและความกดดันที่เกิดขึ้นกับโอเดน แบบที่ไม่มีใครสามารถเข้าใจได้นอกจากตัวเขาเอง
เวลายิ่งผ่านไปความกดดันและความคาดหวังในตัวโอเดนยิ่งสูงขึ้น สุดท้ายเขารับมันไว้ไม่ไหว โอเดนไม่สามารถเอาชนะอาการบาดเจ็บและจิตใจของตัวเอง ไม่มีแฟนบาสรายใดเคยเห็นฟอร์มการเล่นสุดมหัศจรรย์ที่อยากเห็นจากชายคนนี้ก่อนเข้าลีก
สุดท้ายโอเดนต้องออกจาก NBA ในปี 2014 และแม้จะพยายามฝึกอย่างหนักเพื่อกลับมาให้ได้ในปี 2015 และไปทดสอบกับทีม เมมฟิส กริซลีส์ (Memphis Grizzlies) แต่ก็ไม่ได้รับการเซ็นสัญญา
Photo : www.cbssports.com
ซึ่งในช่วงปี 2014-2015 โอเดนถูกตำรวจจับถึงสองครั้ง ด้วยข้อหาทำร้ายร่างกาย อันเป็นภาพสะท้อนได้อย่างดี ว่าการหลุดจากลีก NBA ส่งผลต่อสภาพจิตใจเช่นไรต่อนักบาสรายนี้
สุดท้ายชีวิตในฐานะนักบาสของโอเดนต้องไปจบที่ประเทศจีน ก่อนที่เขาจะรีไทร์ไปในปี 2016 และไม่เคยเข้าใกล้ชีวิตในฐานะ “ซูเปอร์สตาร์” แบบที่แฟนบาสเคยคาดหวังเลยแม้แต่น้อย
โอกาสที่ 2 ใน NBA ?
ความฝันที่พังทลาย จากความกดดันของผู้เล่นใน NBA กลายเป็นปัญหาใหญ่ของลีกบาสเกตบอลอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งทาง NBA ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาทางออกให้กับปัญหานี้
Photo : dailyknicks.com
NBA G League (เอ็นบีเอ จี ลีก) หรือชื่อเก่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง NBA Development League (เอ็นบีเอ ดีเวล็อปเมนต์ ลีก) คือทางออกของเรื่องนี้ ซึ่ง G League คือลีกรองที่ NBA ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2001 เพื่อเป็นลีกทางเลือกให้ผู้เล่น ซึ่งไม่ถูกดราฟต์เข้า NBA ได้มาเริ่มต้นอาชีพในฐานะนักบาสเกตบอลที่ลีกนี้
หลังจากปัญหาของผู้เล่นหลายคน ซึ่งต้องเผชิญมรสุมชีวิตหลังต้องออกจาก NBA ก่อนเวลาอันควร ทำให้ในช่วงระยะหลัง NBA พยายามผลักดันให้อดีตผู้เล่นของ NBA ย้ายมาเล่นที่ G League เพื่อให้เหล่านักบาส มีโอกาสหวนคืนสู่สนามอีกครั้ง ดีกว่าดันทุรังกลับเข้าไปร่วมในลีกใหญ่ ซึ่งผลสุดท้ายมักจบด้วยการไม่ถูกเซ็นสัญญาเข้าร่วมทีม
มีการสำรวจในปี 2013 ว่า ผู้เล่นถึง 33 เปอร์เซนต์ใน G League เคยเล่นใน NBA มาก่อน และจวบจนถึงปัจจุบัน อดีตผู้เล่นของ NBA หันมาเล่นในลีกรองนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะลีกนี้กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ ทำให้ผู้เล่นได้โชว์ฝีมือและเรียกความมั่นใจกลับมา ในลีกที่ไม่แข็งแกร่งมากนัก
แอนโทนี เบนเน็ตท์ (Anthony Bennett) หนึ่งในผู้เล่นที่ถูกเรียกขานว่าล้มเหลวที่สุดตลอดการของ NBA ในฐานะดราฟต์อันดับหนึ่งของปี 2013 แต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงตลอด 4 ปีกับ 4 ทีม ใน NBA จนต้องอพยพไปเล่นที่ตุรกี ได้รับโอกาสกลับมามีที่ยืนในวงการบาสอเมริกาอีกครั้งที่ G League
เบนเน็ตท์ เริ่มต้นชีวิตใหม่ในลีกรองกับทีมนอร์เทิร์น แอริโซนา ซันส์ (Northern Arizona Suns) ในปี 2017 ที่เขากลับมาทำผลงานได้ดีจนกลับไปมีชื่อติดทีมชาติแคนาดาอีกครั้ง และเจ้าตัวยังคงเล่นอยู่ใน G League เพื่อรอวันกลับไปเล่นใน NBA อีกครั้ง
Photo : www.dcourier.com
นอกจากนี้แล้ว G League ยังเป็นลีกที่เปิดพื้นที่ให้จอมยัดห่วงสูงอายุหลายราย ที่เคยเลิกเล่นหลังหมดอายุการใช้งานใน NBA ได้กลับมาเล่นบาสอีกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็น บารอน เดวิส (Baron Davis) อดีตผู้เล่นดีกรีออล-สตาร์ ที่เคยต้องเลิกเล่นบาสนานถึง 4 ปี จากอาการบาดเจ็บ ก็ได้โอกาสกลับมาคืนสนามที่ G League
รวมถึง อีเมกา โอคาฟอร์ (Emeka Okafor) อดีตดราฟต์อันดับสองของปี 2004 ซึ่งต้องหยุดเล่นบาสไปเมื่อปี 2013 ด้วยอาการบาดเจ็บบริเวณคอ ได้กลับมาเล่นบาสอีกครั้งในปี 2017 ที่ G League
ก่อนที่โอคาฟอร์จะทำในสิ่งที่ช็อคแฟนบาสทั่วโลก เมื่อเขากลับสู่ NBA ได้อีกครั้ง ด้วยการเซ็นสัญญากับทีมนิวออร์ลีนส์ พีลิแกนส์ (New Orleans Pelicans) ในฤดูกาล 2018 ได้รับโอกาสลงสนามไปถึง 26 เกม รวมถึงมีส่วนร่วมกับทีมในรอบเพลย์ออฟอีกด้วย
NBA G League อาจไม่ใช่ลีกชื่อดังเป็นที่รู้จักของแฟนบาสแบบ NBA คุณภาพของการแข่งขัน, รายได้และมูลค่าของลีกล้วนยังห่างไกลกับลีกบาสอันดับหนึ่งของโลกมากนัก
แต่การจะเล่น NBA ลีกไหน คงไม่สำคัญเท่ากับการมีลีกแข่งขัน ซึ่งเป็นพื้นที่ให้นักบาส ได้รักษาความฝันที่จะเล่นใน NBA ให้คงอยู่ไม่สูญสลายไป เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องเจ็บปวด จากความฝันที่พังทลาย และเกิดเรื่องราวน่าเศร้าแบบโรเบิร์ต สวิฟท์ และ เกร็ก โอเดน กับผู้เล่นบาสคนอื่นในอนาคต
บทความโดย ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา