13 ธ.ค. 2020 เวลา 09:47 • ยานยนต์
วิเคราะห์มุมข่าวเมื่อ “TESLA” จ้องลงทุนในอาเซียน
ไทย - อินโดนีเซีย แย่งโชว์จุดแข็งดึงดูดตั้งโรงงาน
1
หลังจากที่มีข่าวออกมาว่า Tesla ได้พูดคุยเจรจากับทางรัฐบาลอินโดนีเซียเรื่องการเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นคำถามว่า Tesla ได้เลือกแล้วที่จะลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคันในอินโดนีเซียเลยหรือไม่? แสดงว่าไทยจะพลาดโอกาสการฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ไปแล้วหรือเปล่า? เพราะก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ก็ได้พูดคุยกับทาง Tesla เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเหมือนกัน
1
เรื่องนี้อาจต้องทำความเข้าใจแยกออกเป็น 2 กรณี เพื่อกันความสับสนจากข่าวสารที่ได้รับมาดังนี้
กรณีที่ 1 : Tesla ลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
กรณีที่ 2 : Tesla ลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าไฟฟ้า
ข่าวที่ออกมาจากฝั่งอินโดนีเซียในเวลานี้ก็คือ ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด และลูฮุท ปันด์ใจตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านการลงทุนของอินโดนีเซีย ได้พูดคุยกับ อีลอน มัสก์ ซีอีโอ Tesla เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนของเทสลาในอินโดนีเซีย ซึ่งสิ่งที่อินโดนีเซียจะมีโอกาสสูงมากที่ Tesla จะเข้ามาลงทุนก็น่าจะเป็นเรื่องของการเป็นแหล่งผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และมีต้นทุนที่ถูกกว่า
2
แต่มัสก์มีเงื่อนไขอยู่ก็คือ ถ้าจะลงทุนในอินโดนีเซีย ทำเหมืองแร่นิกเกิลจะต้องมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างจะพันตัวเองของอินโดนีเซียพอสมควร เนื่องจากอินโดนีเซียมีปัญหาเรื่องของมลพิษจากการทำเหมืองแร่และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง พูดง่ายๆ ก็คือมาตรฐานการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียยังไม่ค่อยให้ความใส่ใจเท่าที่ควร และเกิดปัญหามลพิษปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำและอากาศบ่อยครั้ง เช่น การทำเหมืองถ่านหินในจังหวัดกาลิมันตันใต้ ที่ได้ปล่อยมลพิษสู่แหล่งน้ำโดยไม่มีการจัดการบำบัด แม่น้ำมีสภาพเป็นกรด เพราะมีสารแขวนลอยปนเปื้อนในน้ำสูงทั้งแร่เหล็ก แมงกานีส และอะลูมิเนียม จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ต้องใช้แหล่งน้ำเหล่านี้
3
หากตัดประเด็นเรื่องมลพิษออกไป แล้วมาดูเรื่องของมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลอินโดนีเซีย รวมทั้งรสนิยมและกำลังซื้อของประชากรที่จะสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาขับขี่ได้นั้น ก็อาจเป็นอุปสรรคได้เช่นกัน
สำหรับมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนหรือมียุทธศาสตร์แน่ชัดว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการขยายโครงข่ายของการพัฒนาแหล่งจ่ายไฟสำหรับชาร์ตพลังงานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้แต่ในกรุงจาการ์ตาเมืองหลวงของประเทศก็ยังไม่สามารถหาแหล่งชาร์ตไฟได้ง่าย เนื่องจากความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียยังไม่มากเพียงพอ เพราะแต่ละปีมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายได้ในตลาดที่มีประชากร 260 ล้านคนเพียงไม่เกิน 100 คันต่อปี
อุปสรรคต่อมาก็คือ รสนิยมการซื้อรถของชาวอินโดนีเซีย ที่นิยมรถยนต์ประเภทรถอเนกประสงค์ หรือ SUV มากกว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลประเภทอื่นๆ ทั้งเก๋ง และกระบะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ต่างถอนการลงทุนและไลน์การผลิตรถยนต์ประเภทอื่นออกจากอินโดนีเซียกลับมาประเทศไทย เพราะรถเก๋งและกระบะไม่ค่อยได้รับความนิยม และยังคงไลน์การผลิตรถยนต์ SUV ที่ตลาดต้องการเอาไว้แทน
หากลองนำรุ่นรถยนต์ของ Tesla มาแมทช์กับตลาดอินโดนีเซียจะเห็นช่องโหว่ทันที เพราะรุ่นรถยนต์ที่ขายดีที่สุดของ Tesla ก็คือรุ่น Model 3 เป็นรถเก๋งที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในตลาด ส่วนรุ่น SUV อย่าง Model X ก็ไม่ใช้รถราคาตลาดทั่วไปเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง อย่างในอเมริการถรุ่นนี้ตัวเริ่มต้นคือ TESLA MODEL X 75D ซึ่งค่าตัวเริ่มต้นที่ 81,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับประมาณ 2.84 ล้านบาทไทย แต่ในอินโดนีเซียราคาอยู่ที่ 3,000 ล้านรูเปีย หรือราว 6.4 ล้านบาท แพงกว่ากันถึง 1.5 เท่า
3
ส่วนรถยนต์ SUV ที่กำลังได้รับความนิยมในปีนี้ที่อินโดนีเซียก็คือ Mitsubishi Xpander Spesifikasi มีราคาเพียง 217 ล้านรูเปีย หรือราว 4.65 แสนบาทเท่านั้น
1
ดังนั้นตลาดภายในประเทศอินโดนีเซียแม้จะมีประชากรมหาศาลก็จริง แต่กำลังซื้อของประชากรและรสนิยมการซื้อรถยนต์อาจจะไม้ตอบโจทย์หรับการขายในประเทศแน่นอน เพราะราคารถยนต์ของ Tesla ค่อนข้างสูงอย่างปฏิเสธไม่ได้
แล้วถ้าไม่ขายในประเทศ แต่เน้นผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศล่ะ?
ในมุมนี้ต้องย้อนไปที่การที่ Tesla เลือกลงทุนสร้างโรงงาน Gigafactory บนแผ่นดินจีนก็เพื่อต้องการสร้างดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนที่มีมหาศาล ทั้งกำลังซื้อและความต้องการในตลาดขนาดใหญ่กว่า 1,400 ล้านคน อีกทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนก็มีผู้เล่นท้องถิ่นอยู่แล้ว ดังนั้นคนจีนจึงมีความคุ้นเคยกับรถยนต์ไฟฟ้ามานาน และการที่ Tesla เลือกเข้ามาลงทุนในจีนมันมาในจังหวะที่ช่วยเสริมอัตราเร่งในการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนให้พัฒนามากขึ้น เพื่อแข่งกันเป็นเจ้าตลาด ก่อนพัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อแข่งขันกันส่งออก
1
แต่ในอินโดนีเซียกลับตรงกันข้ามเพราะในประเทศก็ยังไม่มีดีมานด์มากเพียงพอ ส่วนการส่งออกไปขายต่างประเทศก็ติดปัญหาอุปสรรคการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่ยังไม่พัฒนาดีเพียงพอ เพราะการจะส่งไปขายยังภูมิภาคอื่นๆ ได้มีเพียงทางเดียวคือทางเรือ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะทำให้ต้นทุนการขนส่งย่อมสูงมากกว่าการขนส่งทางบกของประเทศที่อยู่บนแผ่นดินเดียวเชื่อมติดกับประเทศอื่น
นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำไมค่ายรถยนต์อื่นๆ ต่างถอนการลงทุนจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กลับมาประเทศไทย หรือไปประเทศอื่นที่อยู่บนแผ่นดินแทน เพราะการขนส่งมันทำได้หลายช่องทางมากกว่านั่นเอง
ความเป็นไปได้มากที่สุดที่อินโดจะเป็นฐานการผลิตของ Tesla ก็คือเป็นแหล่งผลิตแบตเตอรี่รถยนต์จากจุดแข็งของตัวเองที่เป็นแหล่งแร่จำนวนมหาศาล ส่วนการประกอบเป็นคันรถสำเร็จรูป อาจจะส่งไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อประกอบเป็นตัวรถแล้วส่งขายแทน ซึ่งอาจจะเป็นประเทศไทย หรือประเทศอื่นๆ ที่ Tesla ไปดีลเอาไว้ก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นประเทศในอาเซียนด้วยกันแล้วการขนส่งแบตเตอรี่มาประกอบยังโรงงานที่อยู่ในประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะทั้งอาเซียนมีภาษีทางการค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์แทบเป็น 0 พูดง่ายๆ คือต้นทุนทางภาษีแทบไม่มี มีเพียงต้นทุนขนส่งเท่านั้น
แต่ต้องไม่ลืมว่า Tesla ไม่ได้ใช้แบตเตอรี่แบบนิเกิลเพียงอย่างเดียวเท่านั้ เพราะรถยนต์ที่ประกอบจำหน่ายทั้งในจีนและยุโรปก็เป็นแบตเตอรี่อีกชนิดที่เรียกว่า แบตเตอรี่ลิเธียมเฟอร์โรฟอสเฟต หรือ LFP โดยใช้ LiFePO4 เป็นวัตถุดิบแทนนิเกิล ดังนั้น Tesla ก็มีตัวเลือกแบตเตอรี่กว่าแค่ชนิดเดียว
1
หันกลับมาที่ประเทศไทยกันบ้างว่า Tesla จะสนใจมาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ คำตอบคือ...ไม่รู้ แต่ถามว่ามีแนวโน้มหรือไม่ที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์สำเร็จรูปในไทย คำตอบคือ...มี
เพราะอย่างที่ทราบกันคือประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ย้ำว่าของโลก ไม่ใช่แค่ของอาเซียนหรือเอเชีย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้ออำนวย ความชำนาญของซัพพลายเออร์ ระบบโลจิสติกส์ที่ครอบคลุม รวมทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยที่มีค่อนข้างสูง จากการสั่งสมประสบการณ์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ
ทำให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีตลาดเกิดใหม่ที่แรงงานถูกกว่าพยายามดึงดูดการลงทุนก็ตาม แต่การย้ายฐานไปจากประเทศไทยทั้งหมดของค่ายรถยนต์นั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนขนของย้ายบ้านใส่ท้ายรถกระบะ และการไปลงทุนในประเทศอื่นทั้งระบบก็ไม่ง่ายเช่นกัน แถมอาจเจอต้นทุนที่สูงกว่าลงทุนต่อในประเทศไทย
1
สิ่งที่สะท้อนออกมาถึงทิศทางในอนาคตเกี่ยวกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยก็คือ ทุกวันนี้เราเห็นความคืบหน้าของการพัฒนายานยนต์ที่เป็นระบบไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนเรื่องสถานีจ่ายไฟ ที่ค่อยๆ กระจายไปทั่วประเทศ แม้แต่ ปตท. ที่ขายน้ำมันให้รถยนต์เครื่องยนต์พลังงานฟอสซิล ก็ยังกระโดดมาลงทุนเรื่องการติดตั้งหัวชาร์จจ่ายไฟในสถานีบริการเช่นกัน
1
รวมไปถึงโครงการขนส่งสาธารณะต่างๆ ทั้งรถเมล์ไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า แท็กซี่ไฟฟ้า ก็มีความคืบหน้าที่พร้อมจะได้ใช้งานในทุกมิติ บางอย่างได้ใช้งานแล้วในปัจจุบัน ซึ่งการพัฒนาในลักษณะนี้ที่ภาครัฐลงทุนเป็นส่วนใหญ่ มันจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อระบบยานยนต์ไฟฟ้าได้กว้างกว่าเอกชนทำเอง เพราะเมื่อประกาศเป็นนโยบายมาแล้วมันจะต้องทำตามกรอบงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย
และอีกสิ่งที่สะท้อนอย่างเห็นได้ชัดคือพฤติกรรมของผู้คนในประเทศที่เริ่มมองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกของยานพาหนะสำหรับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นระบบไฮบริดลูกผสมระหว่างไฟฟ้าและน้ำมัน (HEV) รถยนต์แบบที่พ่วง 2 ระบบในคันเดียว (PHEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบแท้ๆ 100% (BEV) ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นรวมๆ แล้วกว่า 1.7 แสนคัน
ดังนั้นเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเองก็ค่อยๆ เปลี่ยนโฉมไปทีละขั้น ไม่ได้ก้าวกระโดดทีเดียว เพราะก็ต้องให้เวลาทั้งผู้ประกอบการและประชาชนได้ปรับตัว ซึ่งอีกไม่นานสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศก็จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแน่นอน
1
ส่วนปัจจัยที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยก็มี เช่นเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการดึงดูดการลงทุน เพราะอินโดนีเซียถือได้ว่าออกตัวเล่นใหญ่ด้วยการเชิญให้ SpaceX บริษัทด้านอวกาศยานมาสร้างฐานปล่อยจรวดบนเกาะของอินโดนีเซียอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เอื้อต่อการปล่อยยานอวกาศก็คือ การมีฐานปล่อยยายที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เพราะความเร็วในการหมุนรอบตัวเองบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมากกว่าที่บริเวณขั้วโลก ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการส่งยานเข้าสู่วงโคจรรอบโลกน้อยลง และส่งยานขึ้นสู่อวกาศได้เร็วขึ้น ประหยุดต้นทุนขึ้นนั่นเอง ซึ่งนี่เป็นออฟชั่นไม้ตายที่อินโดนีเซียเสนอต่อมัสก์
1
อีกเรื่องก็คือการครองตลาดของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีไทยเป็นฐานการผลิตหลักมาเนินนาน อาจเป็นตัวขวางการเข้ามาลงทุนของ Tesla ได้เช่นกัน เพราะแน่นอนว่าค่ายรถญี่ปุ่นจะต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ และกดดันเหล่าซัพพลายเออร์ และซัพลลายเชนของตัวเองไม่ให้ผลิตส่วนประกอบของรถยนต์ให้ Tesla ด้วยการอ้างสิทธิบัตรทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งอาจจะต้องไปแก้ไขในขั้นของกฎหมายก็เพื่อลดการผูกขาด และอาจกลายเป็นแต้มต่อให้อินโดนีเซียใช้จุดนี้ในการให้ซัพพลายเออร์ในประเทศสามารถส่งวัตถุดิบการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ Tesla ได้แทน
อย่างไรก็ตามเวลานี้ Tesla ยังไม่ได้เลือกว่าจะปักหมุดลงทุนที่ประเทศไหน เพราะทั้งไทย และอินโดนีเซียต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่าหมุดหมายสำคัญจะปักลงที่หัวใคร เพราะถ้าปักถูกประเทศเมื่อไหร่ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศนั้นอาจจะได้รับอานิสงส์ทันที
ติดตามข่าวสารดีๆ จาก Reporter Journey ในช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่:
👉🏻 Blockdit : https://n9.cl/ufvxm
👉🏻 Tiktok : https://n9.cl/r08rq
👉🏻 YouTube : https://n9.cl/gnsw
โฆษณา